แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
มารดาโจทก์เป็นโรคความดันโลหิตสูงซึ่งได้รับการรักษาตามปกติไม่ปรากฏว่ามีอาการรุนแรงและเฉียบพลัน และไม่ได้ป่วยหนักจนเป็นเหตุให้โจทก์ต้องรีบเดินทางไปทันที การที่โจทก์ขาดงานไปเยี่ยมมารดาโดยไม่ลากิจ ให้ถูกต้อง จึงเป็นการละทิ้งหน้าที่โดยไม่มีเหตุอันสมควร การที่ นาย จ้างมีระเบียบห้ามมิให้ลูกจ้างลาหยุดโดยไม่มีเหตุอันสมควรหรือลาหยุดเป็นประจำนั้น มิได้หมายความว่าถ้าลูกจ้างฝ่าฝืนแล้วจะต้องมีความผิด เพราะถ้าลูกจ้างยื่นใบลาโดยไม่มีเหตุสมควรหรือลาหยุดบ่อย นายจ้างก็สามารถจะไม่อนุญาตให้ลาหยุดได้ถ้าลูกจ้างลาหยุดโดยนายจ้างอนุญาตแล้ว แม้เป็นการลาหยุดโดยไม่มีเหตุอันสมควรหรือลาหยุดเป็นประจำ จะถือว่าเป็นความผิดของลูกจ้างไม่ได้ และการลากิจ ลาป่วยบ่อย ๆ ของลูกจ้าง ไม่ใช่การกระทำผิดไม่ต้องด้วยประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน ข้อ 47(3) ในอันที่จะเลิกจ้างโดยไม่จ่ายค่าชดเชย
ย่อยาว
คดีทั้งสองสำนวนนี้ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งให้รวมพิจารณาพิพากษาเข้า โดยให้เรียกโจทก์ตามลำดับสำนวนว่าโจทก์ที่ 1 และโจทก์ที่ 2
โจทก์ทั้งสองสำนวนฟ้องว่า จำเลยรับโจทก์ทั้งสองเข้าทำงานเป็นลูกจ้างประจำครั้งสุดท้ายโจทก์ที่ 1 ทำหน้าที่เครื่องขัดเล็กได้รับค่าจ้างวันละ 83 บาท โจทก์ที่ 2 ทำหน้าที่คนงานจัดส่งหินอ่อนสำเร็จรูป ได้รับค่าจ้างวันละ 90 บาท จำเลยได้เลิกจ้างโจทก์ทั้งสองโดยอ้างว่าโจทก์ที่ 1 ได้กระทำผิดระเบียบข้อบังคับซ้ำเตือนและโจทก์ที่ 2 ละทิ้งหน้าที่เป็นเวลา 3 วันทำงานติดต่อกัน โดยไม่มีเหตุอันสมควร ซึ่งไม่เป็นความจริง จึงเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าชดเชยให้โจทก์ที่ 1จำนวน 14,940 บาท โจทก์ที่ 2 จำนวน 16,200 บาท และให้จำเลยรับโจทก์ทั้งสองกลับเข้าทำงานในหน้าที่และอัตราค่าจ้างไม่ต่ำกว่าเดิม หรือมิฉะนั้นให้จำเลยจ่ายค่าเสียหายเนื่องจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมให้โจทก์ที่ 1 เป็นเงิน 20,750 บาท โจทก์ที่ 2เป็นเงิน 22,500 บาท
จำเลยทั้งสองสำนวนให้การว่า โจทก์ที่ 1 จงใจทำให้จำเลยได้รับความเสียหายและฝ่าฝืนข้อบังคับระเบียบเกี่ยวกับการำทงานและไม่ตั้งใจปฏิบัติงาน ได้ลาป่วยและลากิจฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับของจำเลยอยู่เป็นประจำ ทั้ง ๆ ที่โจทก์ที่ 1 มิได้ป่วยและมีกิจอันจำเป็นแต่อย่างใด อันเป็นความเท็จและเป็นการทุจริตจำเลยได้ตักเตือนโจทก์ด้วยวาจาหลายครั้งและได้ตักเตือนเป็นหนังสือมาแล้ว 2 ครั้ง หลังจากนั้นโจทก์ที่ 1 ก็ยังคงดื้อดึงไม่ปฏิบัติตามคำแนะนำว่ากล่าวตักเตือนของจำเลยและกระทำผิดซ้ำคำเตือนอีก ส่วนโจทก์ที่ 2 ละทิ้งหน้าที่เป็นเวลา 3 วันทำงานติดต่อกันโดยไม่มีเหตุอันสมควร จำเลยจึงมีสิทธิเลิกจ้าง โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายหรือค่าชดเชยหรือเงินจำนวนใด ๆ จากจำเลยหรือให้จำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงาน ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลาง พิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยจำนวน 14,940 บาทให้โจทก์ที่ 1 คำขออย่างอื่นของโจทก์ให้ยก
โจทก์ที่ 2 และจำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “โจทก์ที่ 2 อุทธรณ์ว่าในระหว่างที่โจทก์ที่ 2 ขาดงานนั้น โจทก์ที่ 2 ได้เดินทางไปเยี่ยมมารดาซึ่งป่วยด้วยโรคความดันโลหิตสูง ก่อนไปโจทก์ที่ 2 ได้ลาด้วยวาจาต่อนายสุวิทย์ ธีรกิจไพบูลย์ ผู้รักษาการณ์แทนผู้จัดการโรงงานและนายสุริยะ หลักเงิน หัวหน้าแผนกแล้ว การขาดงานของโจทก์จึงมีเหตุอันสมควร อีกประการหนึ่งโจทก์ที่ 2 ไม่เคยได้รับคำตักเตือนจากจำเลยมาก่อน จำเลยจึงต้องชดใช้ค่าเสียหายและค่าชดเชยแก่โจทก์ หรือรับโจทก์ที่ 2 กลับเข้าทำงาน พิเคราะห์แล้วเห็นว่ากรณีนี้ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่าโจทก์ที่ 2 ลางานไม่ถูกต้องตามระเบียบของจำเลย การที่โจทก์ที่ 2 อ้างว่าจำเป็นต้องไปเยี่ยมมารดานั้น มารดาโจทก์ที่ 2 เป็นโรคความดันโลหิตสูง ซึ่งก็ได้รับการรักษาตามปกติไม่ได้ปรากฏว่ามีอาการรุนแรงและเฉียบพลันแต่อย่างใด อาการป่วยของมารดาโจทก์ที่ 2 เช่นนี้ เห็นว่า ไม่มีความจำเป็นที่โจทก์ที่ 2 จะต้องรีบเดินทางไปเยี่ยม เมื่อโจทก์ที่ 2ลางาน โดยไม่ถูกต้องแล้วไม่มาทำงานจึงเป็นการละทิ้งหน้าที่เกินสามวันทำงานติดต่อกันโดยไม่มีเหตุอันสมควร ข้อเท็จจริงตามที่ศาลแรงงานกลางรับฟังมานี้ ศาลฎีกาเห็นว่า การขาดงานของโจทก์ไม่มีเหตุจำเป็น วินัยและความผิดสถานหนักข้อ 9 ว่า “ไม่มาทำงานสายหรือลาหยุดโดยไม่มีเหตุผลอันสมควรหรือลาหยุดเป็นประจำ” ระเบียบนี้แม้มีข้อห้ามมิให้ลูกจ้างลาหยุดโดยไม่มีเหตุอันสมควรหรือลาหยุดเป็นประจำก็เป็นเพียงข้อห้ามเท่านั้น มิได้หมายความว่าถ้าลูกจ้างฝ่าฝืนแล้วจะต้องมีความผิด เพราะว่าถ้าลูกจ้างผู้ใดได้ยื่นใบลาโดยไม่มีเหตุอันสมควรหรือลาหยุดบ่อยเกินไป จำเลยผู้เป็นนายจ้างชอบที่จะมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ลูกจ้างผู้นั้นลาหยุดได้ ถ้าลูกจ้างลาหยุดโดยได้รับอนุญาตจากจำเลยแล้ว แม้เป็นการลาหยุดโดยไม่มีเหตุอันสมควรหรือลาหยุดเป็นประจำ จะถือว่าเป็นความผิดของลูกจ้างหาได้ไม่ เพราะนายจ้างเป็นผู้อนุญาตเอง เว้นแต่ในกรณีที่นายจ้างเห็นว่าลูกจ้างลาหยุดบ่อย ๆ ไม่มีสมรรถภาพในการทำงานนายจ้างก็อาจเลิกจ้างได้ แต่หาใช่เป็นการเลิกจ้างที่ลูกจ้างกระทำความผิดไม่ เอกสารหมาย ล.3 และ ล.4 ที่จำเลยอ้างว่าเป็นคำเตือนนั้น ก็ปรากฏข้อความตักเตือนโจทก์ที่ 1 ว่าลาป่วยมากถ้าป่วยจริงก็แสดงว่ามีสุขภาพไม่แข็งแรงเท่านั้น ส่วนข้อความว่าถ้าไม่ป่วยจริงก็เป็นการทุจริต จะถูกเลิกจ้างโดยไม่จ่ายค่าชดเชยนั้น ก็เป็นเพียงข้อความที่จำเลยเน้นให้โจทก์ที่ 1 ทราบว่าถ้าไม่ป่วยจริงก็จะถูกลงโทษเท่านั้นไม่ปรากฏว่ามีการกล่าวหาว่าโจทก์ที่ 1 ลาป่วยเท็จแต่อย่างใด จึงถือไม่ได้ว่าเป็นคำตักเตือนของโจทก์ที่ 1 เพราะกระทำผิดระเบียบของจำเลย อีกทั้งการลากิจลาป่วย บ่อย ๆ ของโจทก์ที่ 1 ก็ไม่ใช่เป็นการกระทำผิดแต่อย่างใดจึงไม่ต้องด้วยประกาศแห่งประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน ข้อ 47(3) ที่จะเลิกจ้างโดยไม่จ่ายค่าชดเชยตามที่จำเลยอุทธรณ์ ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ที่ 1 ชอบแล้ว อุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน.