คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4275/2562

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันบุกรุกเข้าไปในบ้านของผู้เสียหายที่ 1 เพื่อร่วมกันทำร้ายผู้เสียหายที่ 1 ซึ่งยังไม่ถือว่าเป็นการรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของผู้เสียหายที่ 1 จึงไม่เป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 362 ตามฟ้อง แต่การที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 เข้าไปในบ้านอันเป็นเคหสถานของผู้เสียหายที่ 1 เพื่อทำร้ายผู้เสียหายที่ 1 เป็นการเข้าไปในเคหสถานของผู้เสียหายที่ 1 โดยไม่มีเหตุอันสมควร จึงเป็นความผิดฐานบุกรุกตาม ป.อ. มาตรา 364 แม้โจทก์ไม่ได้อ้างบทมาตรา 364 แต่ได้ขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1 และที่ 2 ตามบทฉกรรจ์มาตรา 365 และได้บรรยายฟ้องเกี่ยวกับการกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 2 มีข้อความอันเป็นความผิดตามมาตรา 364 เช่นนี้ ศาลย่อมมีอำนาจลงโทษจำเลยที่ 1 และที่ 2 ตามมาตรา 364 และบทฉกรรจ์ตามมาตรา 365 (1) (2) ได้ ทั้งมิใช่เป็นการพิพากษาเกินคำขอหรือที่มิได้กล่าวในฟ้อง หรือเป็นเรื่องที่โจทก์ไม่ประสงค์ให้ลงโทษจำเลยที่ 1 และที่ 2 ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคหนึ่ง และวรรคสี่ นอกจากนี้ การที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันบุกรุกเข้าไปในบ้านของผู้เสียหายที่ 1 เพื่อร่วมกันทำร้ายผู้เสียหายที่ 1 และร่วมกันทำให้เสียทรัพย์ซึ่งเป็นของผู้เสียหายที่ 1 ในคราวเดียวและเป็นการกระทำต่อผู้เสียหายที่ 1 ต่อเนื่องกันไปไม่ขาดตอน การกระทำความผิดของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ฐานร่วมกันทำร้ายร่างกายผู้อื่นและฐานร่วมกันทำให้เสียทรัพย์ดังกล่าว จึงเป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท แม้โจทก์บรรยายฟ้องแต่ละข้อหาต่างกรรมกันมา ก็ไม่ทำให้การกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกันได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33, 83, 91, 295, 358, 362, 365 ริบของกลาง
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การรับสารภาพ ส่วนจำเลยที่ 3 ให้การปฏิเสธ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้โจทก์แยกฟ้องจำเลยที่ 3 เป็นคดีใหม่
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 295, 358, 365 ประกอบมาตรา 362 การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานร่วมกันเข้าไปในอสังหาริมทรัพย์ของผู้อื่น อันเป็นการรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของเขาโดยปกติสุข โดยใช้กำลังประทุษร้าย โดยมีอาวุธ และโดยร่วมกันกระทำความผิดด้วยกันตั้งแต่สองคนขึ้นไปในเวลากลางคืน จำคุกจำเลยทั้งสองคนละ 1 ปี และปรับจำเลยที่ 2 จำนวน 20,000 บาท ฐานร่วมกันทำร้ายร่างกายผู้อื่น จำคุกจำเลยทั้งสองคนละ 6 เดือน และปรับจำเลยที่ 2 จำนวน 10,000 บาท ฐานร่วมกันทำให้เสียทรัพย์ จำคุกจำเลยทั้งสองคนละ 6 เดือน และปรับจำเลยที่ 2 จำนวน 6,000 บาท รวมจำคุกจำเลยทั้งสองคนละ 1 ปี 12 เดือน และปรับจำเลยที่ 2 จำนวน 36,000 บาท จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์ต่อการพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กระทงละกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกจำเลยทั้งสองคนละ 12 เดือน และปรับจำเลยที่ 2 จำนวน 18,000 บาท บวกโทษจำคุก 6 เดือน ของจำเลยที่ 1 ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 400/2557 ของศาลชั้นต้น เข้ากับโทษคดีนี้ เป็นจำคุก 18 เดือน ให้รอการลงโทษจำคุกจำเลยที่ 2 ไว้มีกำหนด 2 ปี ให้คุมความประพฤติจำเลยที่ 2 มีกำหนด 1 ปี ให้จำเลยที่ 2 ไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติทุก 3 เดือน และให้ทำงานบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์เป็นเวลา 12 ชั่วโมง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 หากจำเลยที่ 2 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ริบของกลาง
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ขอให้รอการลงโทษ
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษาแก้เป็นว่า ความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ตามฟ้อง ข้อ 1 ค. และ ข้อ 1 ง. เป็นความผิดต่างกรรมกัน ข้อหาตามฟ้องข้อ 1 ข. และข้อ 1 ค. จำเลยที่ 1 และที่ 2 มีความผิดฐานร่วมกันทำร้ายร่างกายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายแก่กาย และฐานร่วมกันทำให้เสียทรัพย์ผู้เสียหายที่ 1 เป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานร่วมกันทำให้เสียทรัพย์ ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ให้จำคุกจำเลยทั้งสองคนละ 6 เดือน และปรับจำเลยที่ 2 จำนวน 6,000 บาท ลดโทษให้คนละกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 แล้ว จำเลยที่ 1 คงจำคุก 3 เดือน จำเลยที่ 2 คงจำคุก 3 เดือน และปรับ 3,000 บาท บวกโทษจำคุก 6 เดือน ของจำเลยที่ 1 ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 400/2557 ของศาลชั้นต้น เข้ากับโทษคดีนี้ เป็นจำคุก 9 เดือน ยกฟ้องโจทก์ ข้อ 1 ก. เสีย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการแรกว่า ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษายกฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในความผิดฐานบุกรุกตามฟ้องข้อ 1 ก. ชอบหรือไม่ เห็นว่า คดีนี้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การรับสารภาพตามฟ้อง ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันบุกรุกเข้าไปในบ้านของผู้เสียหายที่ 1 เพื่อร่วมกันทำร้ายผู้เสียหายที่ 1 ซึ่งยังไม่ถือว่าเป็นการรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของผู้เสียหายที่ 1 จึงไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 362 ตามฟ้อง แต่การที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 เข้าไปในบ้านอันเป็นเคหสถานของผู้เสียหายที่ 1 เพื่อทำร้ายผู้เสียหายที่ 1 เป็นการเข้าไปในเคหสถานของผู้เสียหายที่ 1 โดยไม่มีเหตุอันสมควร จึงเป็นความผิดฐานบุกรุกตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 364 แม้โจทก์ไม่ได้อ้างบทมาตรา 364 แต่ได้ขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1 และที่ 2 ตามบทฉกรรจ์มาตรา 365 และได้บรรยายฟ้องเกี่ยวกับการกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 2 มีข้อความอันเป็นความผิดตามมาตรา 364 เช่นนี้ ศาลย่อมมีอำนาจลงโทษจำเลยที่ 1 และที่ 2 ตามมาตรา 364 และบทฉกรรจ์ตามมาตรา 365 (1) (2) ได้ ทั้งมิใช่เป็นการพิพากษาเกินคำขอหรือที่มิได้กล่าวในฟ้อง หรือเป็นเรื่องที่โจทก์ไม่ประสงค์ให้ลงโทษจำเลยที่ 1 และที่ 2 ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคหนึ่ง และวรรคสี่ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษายกฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในความผิดฐานบุกรุกตามฟ้องข้อ 1 ก. นั้น เป็นการไม่ชอบ ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้น
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการสุดท้ายว่า การกระทำความผิดของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ฐานร่วมกันทำร้ายร่างกายผู้เสียหายที่ 1 และฐานร่วมกันทำให้เสียทรัพย์ซึ่งเป็นของผู้เสียหายที่ 1 เป็นการกระทำกรรมเดียวตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5 หรือไม่ เห็นว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ตามคำฟ้องข้อ 1 ก. ถึงข้อ 1 ค. ซึ่งจำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การรับสารภาพว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 บุกรุกเข้าไปในบ้านของผู้เสียหายที่ 1 เพื่อร่วมกันทำร้ายผู้เสียหายที่ 1 และร่วมกันทำให้เสียทรัพย์ซึ่งเป็นของผู้เสียหายที่ 1 ในคราวเดียวและเป็นการกระทำต่อผู้เสียหายที่ 1 ต่อเนื่องกันไปไม่ขาดตอน การกระทำความผิดของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ฐานร่วมกันทำร้ายร่างกายผู้อื่นและฐานร่วมกันทำให้เสียทรัพย์ดังกล่าว จึงเป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท แม้โจทก์บรรยายฟ้องแต่ละข้อหาต่างกรรมกันมา ก็ไม่ทำให้การกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกันได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษามานั้นชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น นอกจากนี้ความผิดฐานร่วมกันบุกรุกของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ตามฟ้องข้อ 1 ก. ยังเป็นการกระทำความผิดในคราวเดียวกันและต่อเนื่องกันไปไม่ขาดตอนกับความผิดฐานร่วมกันทำร้ายร่างกายผู้อื่น และความผิดฐานร่วมกันทำให้เสียทรัพย์ซึ่งเป็นของผู้เสียหายที่ 1 ด้วย จึงเป็นความผิดกรรมเดียวมิใช่ความผิดต่างกรรมกันดังที่ศาลชั้นต้นพิพากษามา ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้จำเลยที่ 1 และที่ 2 มิได้อุทธรณ์ ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 215 และ 225
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 365 (1) (2) (3) ประกอบมาตรา 364, 83 ฐานร่วมกันบุกรุกในเวลากลางคืนโดยใช้กำลังประทุษร้ายโดยมีอาวุธและโดยร่วมกันกระทำความผิดด้วยกันตั้งแต่สองคนขึ้นไปด้วย เป็นการกระทำกรรมเดียวกับความผิดฐานร่วมกันทำร้ายร่างกายผู้อื่นเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายและจิตใจ และความผิดฐานร่วมกันทำให้เสียทรัพย์ซึ่งเป็นของผู้เสียหายที่ 1 เป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานร่วมกันบุกรุกในเวลากลางคืนโดยใช้กำลังประทุษร้ายโดยมีอาวุธและโดยร่วมกันกระทำความผิดด้วยกันตั้งแต่สองคนขึ้นไป ซึ่งเป็นบทหนักตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกคนละ 1 ปี และปรับจำเลยที่ 2 เป็นเงิน 20,000 บาท ลดโทษให้คนละกึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 แล้ว คงจำคุกคนละ 6 เดือน และปรับจำเลยที่ 2 เป็นเงิน 10,000 บาท บวกโทษจำคุก 6 เดือน ของจำเลยที่ 1 ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 400/2557 ของศาลชั้นต้น เข้ากับโทษคดีนี้ เป็นจำคุก 12 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5

Share