คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5710/2541

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

จำเลยซึ่งเป็นผู้จุดไฟจนเกิดไฟไหม้บ้านเป็นเจ้าของ บ้านเกิดเหตุรวมอยู่ด้วยและเนื่องจากบทบัญญัติมาตรา 218 แห่งประมวลกฎหมายอาญา เป็นเหตุฉกรรจ์ของมาตรา 217 โดย มาตรา 218 บัญญัติให้ผู้กระทำความผิดต่อทรัพย์ที่ระบุไว้ ในมาตรา 218(1) ถึง (6) ต้องได้รับโทษหนักขึ้น ดังนั้น การกระทำอันมิได้เป็นความผิดตามมาตรา 217 แม้กระทำต่อ ทรัพย์ที่ระบุในมาตรา 218 ผู้กระทำย่อมไม่มีความผิดเช่นกัน เมื่อมาตรา 217 บัญญัติไว้แต่เพียงว่า การวางเพลิงเผาทรัพย์ ของผู้อื่นเป็นความผิดโดยไม่มีข้อความว่า “หรือผู้อื่น เป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย” ก็เป็นความผิดแล้ว จึงต้อง ตีความคำว่า “ทรัพย์ของผู้อื่น” โดยเคร่งครัด เพราะเป็น การตีความบทกฎหมายที่มีโทษทางอาญา มิอาจตีความขยายความ ออกไปให้รวมถึงทรัพย์ที่ผู้อื่นมีส่วนเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย เพื่อให้เป็นผลร้ายแก่จำเลยหรือผู้ต้องหาได้ ฉะนั้น เมื่อจำเลยเป็นเจ้าของบ้านเกิดเหตุรวมอยู่ด้วย การกระทำของ จำเลยจึงไม่เป็นความผิดตามมาตรา 217 และย่อมไม่เป็นความผิดตามมาตรา 218(1) เช่นเดียวกัน การที่โจทก์ฎีกาว่าหากศาลฎีกาฟังว่าจำเลยไม่มีความผิด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 218(1) ก็เป็นความผิดตาม มาตรา 220 วรรคสอง แต่เมื่อพิจารณาความผิดตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 220 แล้ว กรณีจะต้องเป็นการกระทำให้เกิดเพลิงไหม้แก่วัตถุใด ๆ แม้เป็นของผู้กระทำเองจนน่าจะเป็นอันตรายแก่บุคคลอื่นหรือทรัพย์ของผู้อื่นซึ่งโจทก์มิได้กล่าวมาในฟ้อง จึงต้องห้ามมิให้พิพากษาลงโทษตามบทบัญญัติดังกล่าวตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 192 วรรคหนึ่ง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยวางเพลิงเผาโรงเรือนบ้านพัก อันเป็นที่อยู่อาศัยของนางสิน บุญยอ ผู้เสียหาย ซึ่งเป็นมารดาของจำเลย จนบ้านพักของผู้เสียหายได้รับความเสียหายทั้งหลัง เจ้าพนักงานจับจำเลยและยึดเศษผ้า 2 ชิ้น ที่จำเลยใช้เป็นเชื้อเพลิงเป็นของกลางขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33, 218 และริบของกลาง
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 217 จำคุก 4 ปี จำเลยให้การรับสารภาพ มีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 2 ปีริบของกลาง ข้อหาอื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 217 เสียด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่า จำเลยเป็นผู้จุดไฟจนเกิดไฟไหม้บ้านอันเป็นโรงเรือนที่คนอยู่อาศัย คงมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานวางเพลิงเผาทรัพย์โรงเรือนที่คนอยู่อาศัยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 218(1) หรือไม่โจทก์ฎีกาว่านางสิน บุญยอ มารดาจำเลยมีชื่อเป็นเจ้าบ้านเกิดเหตุตามสำเนาทะเบียนบ้านที่แนบมาพร้อมอุทธรณ์ประกอบกับจำเลยเบิกความว่า ทั้งมารดาและน้องของจำเลยมีส่วนร่วมในการปลูกสร้างบ้านดังกล่าวโดยใช้ไม้บางส่วนของบิดา จึงถือว่าบ้านเกิดเหตุเป็นของนางสิน บุญยอ มารดาจำเลย จำเลยจึงมีความผิดตามฟ้องศาลฎีกาเห็นว่า ลำพังทะเบียนบ้านมิใช่หลักฐานแสดงกรรมสิทธิ์ส่วนนางสิน บุญยอ มารดาจำเลยซึ่งเป็นพยานโจทก์ก็เบิกความตอบทนายจำเลยถามค้านว่า บ้านเกิดเหตุจำเลยเป็นคนปลูกสร้างโดยหาเงินมาก่อสร้างต่อเติมบ้านเป็นเวลา 2 ถึง 3 ปี ทั้งจำเลยเป็นคนทำมาหาเลี้ยงพยานและครอบครัวซึ่งเจือสมกับคำให้การของจำเลยที่ยื่นต่อศาลลงวันที่ 7 มีนาคม 2540 ที่ว่า บ้านที่ถูกไฟไหม้เป็นบ้านของจำเลยกับมารดาเป็นเจ้าของร่วมกันโดยจำเลยเป็นผู้ก่อสร้างเอง และคำเบิกความของจำเลยที่ว่าบ้านเกิดเหตุจำเลย มารดาจำเลยและน้องของจำเลยร่วมกันสร้างโดยใช้ไม้บางส่วนของบิดาซึ่งถึงแก่ความตายไปแล้ว นอกจากนี้ยังปรากฏว่านางอนงค์ บุญยอ พี่สาวของจำเลยยังให้การไว้ในชั้นสอบสวนตามบันทึกคำให้การของนางอนงค์เอกสารหมาย จ.12 ซึ่งโจทก์อ้างส่งเป็นพยานว่าบ้านเกิดเหตุจำเลยมีส่วนในการก่อสร้างต่อเติมโดยมีส่วนเป็นเจ้าของด้วย ดังนั้น ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่าจำเลยเป็นเจ้าของบ้านเกิดเหตุรวมอยู่ด้วยและเนื่องจากบทบัญญัติมาตรา 218 แห่งประมวลกฎหมายอาญาเป็นเหตุฉกรรจ์ของมาตรา 217โดยมาตรา 218 บัญญัติให้ผู้กระทำความผิดต่อทรัพย์ที่ระบุไว้ในมาตรา 218(1) ถึง (6) ต้องได้รับโทษหนักขึ้น ดังนั้นการกระทำอันมิได้เป็นความผิดตามมาตรา 217 แม้กระทำต่อทรัพย์ที่ระบุในมาตรา 218 ผู้กระทำย่อมไม่มีความผิดเช่นกัน เมื่อมาตรา 217 บัญญัติไว้แต่เพียงว่า การวางเพลิงเผาทรัพย์ของผู้อื่นเป็นความผิดโดยไม่มีข้อความว่า “หรือผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย” ก็เป็นความผิดแล้วจึงต้องตีความคำว่า”ทรัพย์ของผู้อื่น” โดยเคร่งครัดเพราะเป็นการตีความบทกฎหมายที่มีโทษทางอาญา มิอาจตีความขยายความออกไปให้รวมถึงทรัพย์ที่ผู้อื่นมีส่วนเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วยเพื่อให้เป็นผลร้ายแก่จำเลยหรือผู้ต้องหาได้ ฉะนั้นเมื่อจำเลยเป็นเจ้าของบ้านเกิดเหตุรวมอยู่ด้วย การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดตามมาตรา 217และย่อมไม่เป็นความผิดตามมาตรา 218(1) เช่นเดียวกันส่วนที่โจทก์ฎีกาว่า หากศาลฎีกาฟังว่าการกระทำของจำเลยเป็นการเผาบ้านซึ่งจำเลยมีส่วนเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วยไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 218(1) ก็เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 220 วรรคสอง ซึ่งจำเลยจะต้องได้รับโทษนั้นเห็นว่า ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 220 จะต้องเป็นการกระทำให้เกิดเพลิงไหม้แก่วัตถุใด ๆ แม้เป็นของผู้กระทำเองจนน่าจะเป็นอันตรายแก่บุคคลอื่นหรือทรัพย์ของผู้อื่นซึ่งโจทก์มิได้กล่าวมาในฟ้อง จึงต้องห้ามมิให้พิพากษาลงโทษตามบทบัญญัติดังกล่าวตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 192 วรรคหนึ่ง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษามานั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share