คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 962/2541

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์มีสำนักงานสาขาแยกต่างหากจากสำนักงานใหญ่ถือว่าโจทก์มีสถานประกอบการหลายแห่ง โจทก์จึงมีหน้าที่ต้องแยกยื่นแบบแสดงรายการภาษีและชำระภาษีเป็นรายสถานประกอบการ การที่โจทก์ยื่นแบบแสดงรายการภาษีและชำระภาษีของสำนักงานใหญ่และสำนักงานสาขารวมกันโดยไม่ได้รับอนุมัติจากอธิบดีกรมสรรพากร จึงเป็นการฝ่าฝืนประมวลรัษฎากร มาตรา 83 วรรคสี่ เมื่อโจทก์ได้รับใบทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.20) เฉพาะของสำนักงานใหญ่ แบบแสดงรายการภาษีที่ยื่นจึงเป็นแบบแสดงรายการภาษีเฉพาะของสำนักงานใหญ่ การที่โจทก์นำภาษีซื้อของสำนักงานสาขามาหักในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มของสำนักงานใหญ่โดยไม่ได้รับอนุมัติจากอธิบดีกรมสรรพากรจึงไม่ชอบ แม้คำฟ้องโจทก์จะบรรยายว่า การที่อธิบดีกรมสรรพากรไม่อนุมัติให้โจทก์ยื่นแบบแสดงรายการภาษีและชำระภาษีรวมกันไม่ชอบ แต่โจทก์ก็มิได้มีคำขอท้ายฟ้องให้เพิกถอนคำสั่งไม่อนุมัติดังกล่าว คำสั่งไม่อนุมัติดังกล่าวจะชอบหรือไม่ จึงไม่เป็นประเด็นในคดีนี้ แม้ศาลภาษีอากรกลางจะรับวินิจฉัยปัญหาดังกล่าวให้ก็เป็นการวินิจฉัยนอกประเด็น ถือเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลภาษีอากรกลาง ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ. 2528มาตรา 29 ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้ ตามหนังสือแจ้งการประเมินภาษีมูลค่าเพิ่ม เจ้าพนักงานประเมินอาศัยอำนาจตามมาตรา 88(2) แห่งประมวลรัษฎากรประเมินภาษีโจทก์ ดังนั้น เจ้าพนักงานประเมินจะมีอำนาจ ประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา (1) แห่งประมวลรัษฎากร หรือไม่ จึงไม่เป็นประเด็นในคดีนี้ อุทธรณ์ของโจทก์ในข้อนี้ จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาแล้วโดยชอบในศาลภาษีอากรกลางตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากรพ.ศ. 2528 มาตรา 29 ประกอบด้วย ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 ศาลฎีกา ไม่รับวินิจฉัยให้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนหนังสือแจ้งการประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มเลขที่ 1016/5/102697 ถึง 102701 ลงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2536และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์เลขที่ 465 กถึง 465 จ ลงวันที่ 17 เมษายน 2539
จำเลยทั้งสี่ให้การว่า การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ชอบด้วยข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าโจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด เดิมใช้ชื่อว่า”บริษัทบูติคแพคตอรี่ จำกัด” มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่เลขที่ 36ถึง 42 ซอยปิยะวัชร ถนนสุขุมวิท แขวงพระโขนง เขตคลองเตยกรุงเทพมหานคร มีสำนักงานสาขาอยู่เลขที่ 1112/53 ถึง 57ซอยปิยะวัชร ถนนสุขุมวิท แขวงพระโขนง เขตคลองเตยกรุงเทพมหานคร โจทก์ได้ยื่นแบบคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม(ภ.พ.01) ต่อสำนักงานภาษีสรรพากรเขตพื้นที่ 5 ของจำเลยที่ 1เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2534 ระบุที่ตั้งทั้งของสำนักงานใหญ่และสำนักงานสาขา ต่อมาเมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2534 สรรพากรเขตพื้นที่ 5 ได้ออกใบทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.20)ให้โจทก์โดยระบุสถานประกอบการเฉพาะสำนักงานใหญ่เท่านั้น ต่อมาโจทก์ได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่มโดยนำภาษีซื้อและภาษีขายทั้งของสำนักงานใหญ่และสำนักงานสาขามายื่นรวมกันตั้งแต่เดือนภาษีมกราคม 2535 โดยเฉพาะในเดือนภาษีมิถุนายนถึงเดือนภาษีตุลาคม 2535 โจทก์ได้นำภาษีซื้อของสำนักงานสาขามายื่นรวมกับสำนักงานใหญ่ โดยไม่ได้รับอนุมัติจากอธิบดีของจำเลยที่ 1 เจ้าพนักงานประเมินจึงได้ประเมินภาษีมูลค่าเพิ่ม พร้อมเบี้ยปรับและเงินเพิ่มและแจ้งให้โจทก์ทราบตามหนังสือแจ้งการประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มลงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2536 ต่อมาเมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2536โจทก์ได้ทำหนังสือขออนุมัติยื่นแบบแสดงรายการภาษีและชำระภาษีของสำนักงานใหญ่และสำนักงานสาขารวมกัน แต่อธิบดีของจำเลยที่ 1 ไม่อนุมัติ ต่อมาเมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2536โจทก์อุทธรณ์การประเมินต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์วินิจฉัยว่า การประเมินภาษีของเจ้าพนักงานประเมินชอบด้วยกฎหมายแล้ว แต่เห็นว่าโจทก์ไม่มีเจตนาหลีกเลี่ยงภาษีจึงให้งดเบี้ยปรับ
ปัญหาจะต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์โจทก์มีว่า การประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ประมวลรัษฎากร มาตรา 83 วรรคสี่ บัญญัติว่า”ถ้าผู้ประกอบการจดทะเบียนมีสถานที่ประกอบการหลายแห่งการยื่นแบบแสดงรายการภาษีและการชำระภาษีให้แยกยื่นและชำระเงินเป็นรายสถานประกอบการทั้งนี้เว้นแต่ผู้ประกอบการจดทะเบียนจะยื่นคำร้องต่ออธิบดีขออนุมัติยื่นแบบแสดงรายการภาษีและชำระภาษีรวมกัน ณ ที่ว่าการอำเภอท้องที่แห่งใดแห่งหนึ่งหรือ ณ สถานที่ที่อธิบดีกำหนดตามวรรคสามก็ได้ และเมื่อได้รับอนุมัติจากอธิบดีแล้วให้ถือปฏิบัติตั้งแต่เดือนภาษีที่อธิบดีกำหนดเป็นต้นไป” การที่โจทก์มีสำนักงานสาขาแยกต่างหากจากสำนักงานใหญ่ถือว่าโจทก์มีสถานประกอบการหลายแห่งโจทก์จึงมีหน้าที่ต้องแยกยื่นแบบแสดงรายการภาษีและชำระภาษีเป็นรายสถานประกอบการการที่โจทก์ยื่นแบบแสดงรายการภาษีและชำระภาษีและชำระภาษีของสำนักงานใหญ่และสำนักงานสาขารวมกันโดยไม่ได้รับอนุมัติจากอธิบดีของจำเลยที่ 1 จึงเป็นการฝ่าฝืนบทบัญญัติ มาตรา 83 วรรคสี่ดังกล่าว เมื่อโจทก์ได้รับใบทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม(ภ.พ.20) เฉพาะของสำนักงานใหญ่ แบบแสดงรายการภาษีที่ยื่นจึงเป็นแบบแสดงรายการภาษีเฉพาะของสำนักงานใหญ่การที่โจทก์นำภาษีซื้อของสำนักงานสาขามาหักในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มของสำนักงานใหญ่ในเดือนภาษีมิถุนายนถึงเดือนภาษีตุลาคม 2535 โดยไม่ได้รับอนุมัติจากอธิบดีของจำเลยที่ 1จึงไม่ชอบ ถือว่าโจทก์ยื่นแบบแสดงรายการภาษีไว้ไม่ถูกต้องโจทก์จึงต้องรับผิดชำระภาษีตามหนังสือแจ้งการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ชอบด้วยกฎหมายแล้ว ข้อที่โจทก์อ้างว่าโจทก์ยื่นแบบแสดงรายการภาษีและชำระภาษีรวมกันตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่จำเลยที่ 1 แม้จะเป็นความจริงก็ไม่เป็นเหตุทำให้โจทก์พ้นผิดที่จะต้องชำระภาษีเพราะตามมาตรา 83 วรรคสี่ โจทก์จะมีสิทธิยื่นแบบแสดงรายการภาษีและชำระภาษีรวมกันได้ต่อเมื่อได้รับอนุมัติจากอธิบดีของจำเลยที่ 1 เท่านั้น
ส่วนข้อที่โจทก์อุทธรณ์ว่า การที่อธิบดีของจำเลยที่ 1ไม่อนุมัติให้โจทก์ยื่นแบบแสดงรายการภาษีและชำระภาษีรวมกันไม่ชอบนั้น แม้โจทก์จะได้บรรยายความข้อนี้ในคำฟ้อง แต่โจทก์ก็มิได้มีคำขอท้ายฟ้องให้เพิกถอนคำสั่งไม่อนุมัติดังกล่าวคำสั่งไม่อนุมัติดังกล่าวจะชอบหรือไม่ จึงไม่เป็นประเด็นในคดีนี้แม้ศาลภาษีอากรกลางจะรับวินิจฉัยปัญหาดังกล่าวให้ก็เป็นการวินิจฉัยนอกประเด็น ถือเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลภาษีอากรกลาง ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ. 2528 มาตรา 29ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
สำหรับอุทธรณ์ของโจทก์ที่ว่า เจ้าพนักงานประเมินของจำเลยที่ 1 ไม่มีอำนาจประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มโจทก์ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 88(1) นั้น เห็นว่า ตามหนังสือแจ้งการประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มเอกสารหมาย ล.1 แผ่นที่ 54 ถึง 58ปรากฏว่าเจ้าพนักงานประเมินอาศัยอำนาจตามมาตรา 88(2) แห่งประมวลรัษฎากร ประเมินภาษีโจทก์ ฉะนั้น เจ้าพนักงานประเมินจะมีอำนาจประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 88(1) แห่งประมวลรัษฎากรหรือไม่ จึงไม่เป็นประเด็นในคดีนี้ ดังนั้นอุทธรณ์ของโจทก์ในข้อนี้จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาแล้วโดยชอบในศาลภาษีอากรกลางตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ. 2528 มาตรา 29ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้เช่นเดียวกัน
พิพากษายืน

Share