คำวินิจฉัยที่ 6/2556

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

คดีที่สภาการเหมืองแร่ยื่นคำร้องขอให้พิพากษาหรือมีคำสั่งให้ยกเลิกการประชุมวิสามัญเพื่อเลือกตั้งคณะกรรมการเลือกตั้งชุดที่สอง และการเลือกตั้งกรรมการสภาการเหมืองแร่ เห็นว่า สภาการเหมืองแร่เป็นนิติบุคคลที่มีลักษณะของการรวมตัวกันของกลุ่มผู้ประกอบการค้า เพื่อหากำไรจากเหมืองแร่ โดยมีภารกิจสำคัญในการประสานดูแลผลประโยชน์จากการประกอบอุตสาหกรรมเหมืองแร่และธุรกิจเหมืองแร่ของสมาชิกให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐ กระบวนการเลือกตั้งคณะกรรมการของสมาชิกสภาการเหมืองแร่จึงเป็นเพียงกระบวนการคัดเลือกตัวแทนจากสมาชิกผู้ประกอบการค้าด้วยกัน ซึ่งการคัดเลือกกรรมการของสภาการเหมืองแร่จะชอบด้วยข้อบังคับสภาการเหมืองแร่ ว่าด้วยการเลือกตั้งคณะกรรมการ พ.ศ. ๒๕๒๖ หรือไม่ มิใช่คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย อันเนื่องมาจากการใช้อำนาจทางปกครองหรือเนื่องมาจากการดำเนินกิจการทางปกครอง ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๒๒๓ วรรคหนึ่ง และพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) อันจะอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง แต่เป็นคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๖/๒๕๕๖

วันที่ ๒๑ มีนาคม ๒๕๕๖

เรื่อง เขตอำนาจศาลเกี่ยวกับพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑)

ศาลแพ่ง
ระหว่าง
ศาลปกครองกลาง

การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลแพ่งโดยสำนักงานศาลยุติธรรมส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องคดีโต้แย้งอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องอำนาจศาลในคดีนั้น

ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๒๔ กันยายน ๒๕๕๓ สภาการเหมืองแร่ โดยนายยงยุทธ เพ็ชร์สุวรรณ ประธานกรรมการสภาการเหมืองแร่ ที่ ๑ คณะกรรมการเลือกตั้ง โดยนายยงยุทธ เพ็ชร์สุวรรณ ประธานกรรมการเลือกตั้ง ที่ ๒ บริษัทสันทัดกรุ๊ป จำกัด โดยนายยงยุทธ เพ็ชร์สุวรรณ ผู้รับมอบอำนาจ ที่ ๓ ผู้ร้อง ยื่นคำร้องต่อศาลแพ่ง เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๓๖๐๓/๒๕๕๓ ความว่า ผู้ร้องที่ ๑ เป็นนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติสภาการเหมืองแร่ พ.ศ. ๒๕๒๖ มีนายยงยุทธ เพ็ชร์สุวรรณ เป็นประธานสภาการเหมืองแร่ มีวาระการดำรงตำแหน่งตั้งแต่วันที่ ๒๕ กันยายน ๒๕๕๑ ถึงวันที่ ๒๔ กันยายน ๒๕๕๓ ผู้ร้องที่ ๓ เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด มีวัตถุประสงค์ในการประกอบกิจการเหมืองแร่ เป็นสมาชิกสภาการเหมืองแร่ประเภทสามัญ เมื่อวันที่ ๑๐ สิงหาคม ๒๕๕๓ นายวิเชียร ปลอดประดิษฐ์ เลขาธิการสภาการเหมืองแร่ มีหนังสือถึงสมาชิกสภาการเหมืองแร่ทุกคนเพื่อเรียกประชุมวิสามัญสภาการเหมืองแร่ประจำปี ๒๕๕๓ ในวันที่ ๑๗ กันยายน ๒๕๕๓ เพื่อเลือกตั้งกรรมการแทนกรรมการที่พ้นจากตำแหน่งตามวาระ เมื่อถึงวันนัดประชุมมีสมาชิกเข้าร่วมประชุม ๔๒๔ คน ครบองค์ประชุม นายยงยุทธ เพ็ชร์สุวรรณ ประธานกรรมการสภาการเหมืองแร่ในขณะนั้นได้ดำเนินการประชุมเพื่อเลือกตั้งคณะกรรมการเลือกตั้งจำนวน ๕ คน โดยมีนายยงยุทธเป็นประธานกรรมการและมีผู้ร้องที่ ๒ เป็นกรรมการเลือกตั้ง ต่อมาคณะกรรมการเลือกตั้งและสมาชิกจำนวนมากอภิปรายแสดงความคิดเห็นและไม่พอใจเกี่ยวกับการดำเนินงานของสภาการเหมืองแร่ที่ถูกอธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่แทรกแซงการทำงาน จนเป็นเหตุให้สมาชิกเกินกว่าครึ่งหนึ่งเดินออกจากที่ประชุมจนมีสมาชิกที่เหลืออยู่ในที่ประชุมไม่ถึง ๒๒๗ ราย จึงไม่ครบองค์ประชุมตามข้อบังคับ ประธานกรรมการเลือกตั้งและกรรมการเลือกตั้งอีกสี่คนในขณะนั้นจึงเดินออกจากห้องประชุม อันมีผลให้ไม่มีกรรมการเลือกตั้งที่จะเลือกกรรมการ ต้องถือว่าการประชุมวาระดังกล่าวได้ยุติลงโดยไม่อาจเลือกตั้งกรรมการสภาการเหมืองแร่ที่ว่างลงตามวาระที่จะพ้นจากตำแหน่งได้ แต่นายวิเชียร ปลอดประดิษฐ์ เลขาธิการสภาการเหมืองแร่ ได้ดำเนินการเลือกตั้งต่อไปโดยพลการและไม่มีอำนาจ โดยจัดให้มีการเลือกตั้งคณะกรรมการเลือกตั้งชุดใหม่โดยขัดต่อข้อบังคับสภาการเหมืองแร่ เพื่อให้ดำเนินการเลือกกรรมการสภาการเหมืองแร่จำนวน ๙ คน แทนที่ตำแหน่งที่จะว่างลงตามวาระในวันที่ ๒๔ กันยายน ๒๕๕๓ โดยปราศจากอำนาจและการยินยอมของนายยงยุทธซึ่งดำรงตำแหน่งประธานกรรมการสภาการเหมืองแร่จนถึงวันที่ ๒๔ กันยายน ๒๕๕๓ และนายวิเชียรยังทำหนังสือลงวันที่ ๒๒ กันยายน ๒๕๕๓ เรียกประชุมคณะกรรมการสภาการเหมืองแร่จำนวน ๑๘ คน เพื่อประชุมลงมติเลือกประธานกรรมการสภาการเหมืองแร่คนใหม่ในวันที่ ๒๙ กันยายน ๒๕๕๓ ด้วย เป็นเหตุให้ผู้ร้องทั้งสามได้รับความเสียหายเนื่องจากเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายและข้อบังคับของสภาการเหมืองแร่ ขอให้พิพากษาหรือมีคำสั่งยกเลิกการเลือกตั้งทั้งหมดที่ดำเนินการโดยนายวิเชียรเมื่อวันที่ ๑๗ กันยายน ๒๕๕๓ ยกเลิกคณะกรรมการเลือกตั้งชุดใหม่ และกรรมการสภาการเหมืองแร่ที่ได้รับการเลือกตั้งโดยคณะกรรมการเลือกตั้งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และมีคำสั่งระงับการประชุมคณะกรรมการสภาการเหมืองแร่ในวันที่ ๒๙ กันยายน ๒๕๕๓
สภาการเหมืองแร่โดยรองศาสตราจารย์ ฉดับ ปัทมสูต ประธานกรรมการสภาการเหมืองแร่ ที่ ๑ และนายวิเชียร ปลอดประดิษฐ์ เลขาธิการสภาการเหมืองแร่ ที่ ๒ ผู้คัดค้าน ยื่นคำคัดค้านว่า สภาการเหมืองแร่เป็นนิติบุคคลที่มีวิธีการดำเนินกิจการ และบริหารกิจการที่อยู่ใต้การกำกับดูแลของรัฐ และหน่วยงานที่ใช้อำนาจรัฐหรืออำนาจปกครองของรัฐในการกลั่นกรองคุณสมบัติของผู้ต้องการประกอบการอุตสาหกรรมเหมืองแร่หรือธุรกิจเหมืองแร่ที่อยู่ในความควบคุมของรัฐตามพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. ๒๕๑๐ คดีนี้จึงไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลแพ่ง นอกจากนี้ขณะยื่นคำร้องผู้ร้องที่ ๑ และผู้ร้องที่ ๒ ไม่ได้เป็นประธานกรรมการสภาการเหมืองแร่ และคณะกรรมการเลือกตั้งสภาการเหมืองแร่ เนื่องจากตำแหน่งดังกล่าวมีผลถึงวันที่ ๑๗ กันยายน ๒๕๕๓ เท่านั้น ในการประชุมเมื่อวันที่ ๑๗ กันยายน ๒๕๕๓ นายยงยุทธ เพ็ชร์สุวรรณ ในฐานะประธานกรรมการสภาการเหมืองแร่และประธานกรรมการเลือกตั้งในขณะนั้นละเลยต่อหน้าที่ ร่วมกับกรรมการเลือกตั้งอีกสี่คน เดินออกจากที่ประชุมเนื่องจากไม่พอใจที่นายวิเชียร ปลอดประดิษฐ์ เลขาธิการสภาการเหมืองแร่ ได้ทักท้วงให้มีการเลือกตั้งกรรมการสภาการเหมืองแร่แทนตำแหน่งที่ว่างลง ๙ ตำแหน่ง เนื่องจากนายยงยุทธปล่อยให้สมาชิกที่ไม่พอใจนโยบายของอธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่อภิปรายแสดงความคิดเห็นที่ไม่พอใจเกี่ยวกับการดำเนินการของสภาการเหมืองแร่ แต่การประชุมยังไม่ยุติลง เนื่องจากรองศาสตราจารย์ ฉดับ ปัทมสูตร ซึ่งเป็นรองประธานกรรมการสภาการเหมืองแร่คนที่ ๑ ได้เสนอให้ที่ประชุมดำเนินการประชุมต่อไป โดยให้ที่ประชุมเลือกตั้งกรรมการเลือกตั้งขึ้นใหม่ ๕ คน ซึ่งกรรมการทั้งห้าคนนี้ได้ดำเนินการเลือกตั้งกรรมการสภาการเหมืองแร่ใหม่จำนวน ๙ คน เพื่อดำรงตำแหน่งแทนตำแหน่งที่ว่างลง อันเป็นการปฏิบัติโดยถูกต้องและชอบด้วยข้อบังคับของสภาการเหมืองแร่ ว่าด้วยการเลือกตั้งคณะกรรมการ พ.ศ. ๒๕๒๖ ทุกประการ เป็นการวินิจฉัยหรือแก้ไขปัญหาในการประชุมดังกล่าวโดยคณะกรรมการเลือกตั้งชุดที่สองแล้ว ตามข้อบังคับสภาการเหมืองแร่ ว่าด้วยการเลือกตั้งคณะกรรมการ พ.ศ. ๒๕๒๖ ข้อ ๑๓ ขอให้ยกคำร้องของผู้ร้องทั้งสาม
ผู้คัดค้านทั้งสองยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า คดีอยู่ในอำนาจศาลปกครอง
ศาลแพ่งพิจารณาแล้วเห็นว่า คู่ความโต้แย้งกันเกี่ยวกับการดำเนินการเลือกตั้งคณะกรรมการเลือกตั้งชุดที่สองของที่ประชุมสภาการเหมืองแร่ เมื่อวันที่ ๑๗ กันยายน ๒๕๕๓ และการดำเนินการเลือกตั้งกรรมการสภาการเหมืองแร่โดยคณะกรรมการเลือกตั้งชุดที่สอง เพื่อดำรงตำแหน่งแทนตำแหน่งที่ว่างลงนั้นชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ดังนี้การที่จะพิจารณาว่าการดำเนินการประชุมและการเลือกตั้งดังกล่าวชอบด้วยกฎหมายหรือไม่นั้น จำต้องพิจารณาในปัญหาว่าการดำเนินการประชุมและการลงมติของที่ประชุมดังกล่าวฝ่าฝืนบทบัญญัติของกฎหมายหรือฝ่าฝืนข้อบังคับของสภาการเหมืองแร่หรือไม่ ซึ่งเป็นเพียงวิธีการบริหารงานภายในของสภาการเหมืองแร่ว่าไม่ถูกต้องตามรูปแบบ ขั้นตอน หรือวิธีการอันเป็นสาระสำคัญอย่างไร จึงไม่มีลักษณะของคำสั่งทางปกครองหรือพิพาทกันในเรื่องสัญญาทางปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ และคดีต้องพิจารณาโดยอาศัยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ ๓ ลักษณะ ๒ หมวด ๔ ประกอบพระราชบัญญัติสภาการเหมืองแร่ พ.ศ. ๒๕๒๖ เป็นสำคัญ จึงไม่เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับคำสั่งทางปกครอง แต่เป็นคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองกลางพิจารณาแล้วเห็นว่า มาตรา ๒๒๓ วรรคหนึ่ง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ บัญญัติให้ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีพิพาทระหว่างหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือองค์กรตามรัฐธรรมนูญ หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ อันเนื่องมาจากการใช้อำนาจทางปกครองตามกฎหมาย หรือเนื่องมาจากการดำเนินกิจการทางปกครองของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือองค์กรตามรัฐธรรมนูญ หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ ทั้งนี้ตามที่กฎหมายบัญญัติ ซึ่งตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ บัญญัติให้หน่วยงานทางปกครอง หมายความรวมถึงหน่วยงานที่ได้รับมอบหมายให้ใช้อำนาจทางปกครองหรือให้ดำเนินกิจการทางปกครอง และเจ้าหน้าที่ของรัฐ หมายความว่า คณะกรรมการ และมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) บัญญัติให้ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นการออกกฎ คำสั่ง หรือการกระทำอื่นใดเนื่องจากกระทำโดยไม่มีอำนาจหรือนอกเหนืออำนาจหน้าที่ หรือไม่ถูกต้องตามกฎหมายหรือโดยไม่ถูกต้องตามรูปแบบ ขั้นตอน หรือวิธีการอันเป็นสาระสำคัญที่กำหนดไว้สำหรับการกระทำนั้น หรือโดยไม่สุจริต หรือมีลักษณะเป็นการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม หรือมีลักษณะเป็นการสร้างขั้นตอนโดยไม่จำเป็น หรือสร้างภาระให้เกิดกับประชาชนเกินสมควรหรือเป็นการใช้ดุลพินิจโดยมิชอบ
คดีนี้ผู้คัดค้านที่ ๑ เป็นนิติบุคคลที่จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติสภาการเหมืองแร่ พ.ศ. ๒๕๒๖ โดยมีเจตนารมณ์ในการจัดตั้งปรากฏตามเหตุผลท้ายพระราชบัญญัติคือ เนื่องจากแร่เป็นทรัพยากรของชาติที่ใช้หมดแล้วจะไม่สามารถหาสิ่งอื่นใดมาทดแทนได้ และอุตสาหกรรมเหมืองแร่และธุรกิจเหมืองแร่มีบทบาทสำคัญต่อเศรษฐกิจและทำรายได้ให้แก่ประเทศชาติ ดังนั้นเพื่อเป็นการสนับสนุนและส่งเสริมอุตสาหกรรมเหมืองแร่และธุรกิจเหมืองแร่ให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ จึงสมควรจัดตั้งผู้คัดค้านที่ ๑ขึ้นทำหน้าที่เป็นตัวแทนของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเหมืองแร่และธุรกิจเหมืองแร่ในการประสานนโยบายและการดำเนินงานระหว่างเอกชนกับรัฐ โดยผู้คัดค้านที่ ๑ มีอำนาจหน้าที่ในการดำเนินงานตามมาตรา ๕ วรรคหนึ่ง ประกอบกับมาตรา ๖ แห่งพระราชบัญญัติสภาการเหมืองแร่ พ.ศ. ๒๕๒๖ ได้แก่ (๑) เป็นตัวแทนของผู้ประกอบอุตสาหกรรมเหมืองแร่และธุรกิจเหมืองแร่ภาคเอกชนในการประสานนโยบายและการดำเนินงานระหว่างเอกชนกับรัฐ (๒) ส่งเสริมและพัฒนาการประกอบอุตสาหกรรมเหมืองแร่และธุรกิจเหมืองแร่ (๓) ศึกษาและหาทางแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับอุตสาหกรรมเหมืองแร่และธุรกิจเหมืองแร่ (๔) คุ้มครองและรักษาประโยชน์ของสมาชิกในการประกอบอุตสาหกรรมเหมืองแร่และธุรกิจเหมืองแร่ (๕) ส่งเสริม สนับสนุนการศึกษา ค้นคว้า วิจัยและทดลองเกี่ยวกับอุตสาหกรรมเหมืองแร่และธุรกิจเหมืองแร่ รวมทั้งเผยแพร่ผลงานดังกล่าวให้สมาชิกทราบ อีกทั้งผู้คัดค้านที่ ๑ ยังมีอำนาจในการอนุญาต อนุมัติ รับรอง หรือรับจดทะเบียนกรณีที่บุคคลใดขอขึ้นทะเบียนเป็นสมาชิกของผู้คัดค้าน อันนำไปสู่การได้สิทธิแห่งการเป็นสมาชิกของผู้คัดค้านในการขออาชญาบัตร ประทานบัตร และใบอนุญาตดำเนินการเกี่ยวกับแร่ตามพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. ๒๕๑๐ ต่อไป อันเห็นได้ว่าเป็นภารกิจที่ผู้คัดค้านต้องใช้อำนาจทางปกครองและดำเนินกิจการทางปกครองของรัฐ
นอกจากนั้น การดำเนินงานของผู้คัดค้านที่ ๑ ตามมาตรา ๕ วรรคหนึ่ง ประกอบกับมาตรา ๖ แห่งพระราชบัญญัติสภาการเหมืองแร่ พ.ศ. ๒๕๒๖ ยังต้องอยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐ โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมซึ่งเป็นผู้รักษาการตามพระราชบัญญัติดังกล่าวมีอำนาจในการควบคุมดูแล สั่งให้สอบสวนข้อเท็จจริง สั่งให้ชี้แจงข้อเท็จจริงและส่งเอกสารหรือรายงานการประชุม และสั่งโดยอนุมัติของคณะรัฐมนตรีให้ยับยั้งหรือแก้ไขการกระทำใดๆ ของผู้คัดค้านที่ ๑ ที่ปรากฏว่าขัดต่อนโยบายของรัฐบาลหรือมติของคณะรัฐมนตรีซึ่งเห็นได้ว่า แม้ผู้คัดค้านที่ ๑ จะมิได้มีฐานะเป็นองค์การในภาคราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานอื่นของรัฐโดยตรง แต่ด้วยภารกิจที่ต้องใช้อำนาจทางปกครองและการดำเนินกิจการทางปกครองของรัฐที่ผู้คัดค้านต้องดำเนินการเพื่อให้บรรลุตามวัตถุประสงค์ของกฎหมาย และยังต้องอยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐอีกชั้นหนึ่ง จึงทำให้ผู้คัดค้านที่ ๑มีฐานะเป็นหน่วยงานที่ได้รับมอบหมายให้ใช้อำนาจทางปกครองหรือให้ดำเนินกิจการทางปกครอง ผู้คัดค้านที่ ๑ จึงเป็นหน่วยงานทางปกครองตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ดังนั้น คณะกรรมการสภาการเหมืองแร่ซึ่งเป็นคณะกรรมการที่มีอำนาจหน้าที่ในการวางนโยบายและดำเนินงานในกิจการของผู้คัดค้านที่ ๑ เพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของกฎหมายตามมาตรา ๒๑ แห่งพระราชบัญญัติสภาการเหมืองแร่ พ.ศ. ๒๕๒๖ จึงเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒
โดยที่ในการประชุมดำเนินงานของผู้คัดค้านที่ ๑ ได้มีบทบัญญัติมาตรา ๓๓ แห่งพระราชบัญญัติสภาการเหมืองแร่ พ.ศ. ๒๕๒๖ กำหนดไว้เป็นการเฉพาะ โดยในส่วนของการประชุมเพื่อเลือกตั้งคณะกรรมการสภาการเหมืองแร่นั้น จำต้องเป็นไปตามข้อบังคับเกี่ยวกับการเลือกตั้งคณะกรรมการที่ออกโดยคณะกรรมการสภาการเหมืองแร่ ตามมาตรา ๒๑ วรรคหนึ่ง (๒) แห่งพระราชบัญญัติสภาการเหมืองแร่ พ.ศ. ๒๕๒๖ เท่านั้น คณะกรรมการสภาการเหมืองแร่จึงไม่อาจจัดการประชุมเพื่อเลือกตั้งคณะกรรมการที่นอกเหนือหรือไม่อยู่ในขอบเขตของข้อบังคับเกี่ยวกับการเลือกตั้งที่ออกตามบทกฎหมายดังกล่าวได้ โดยเฉพาะไม่อาจนำบทบัญญัติว่าด้วยการประชุมและการลงมติของที่ประชุมของบริษัทจำกัด ตามบรรพ ๓ ลักษณะ ๒๒ หมวด ๔ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งเป็นกฎหมายทั่วไปมาปรับใช้กับการประชุมและลงมติของผู้คัดค้านที่ ๑ได้แต่อย่างใด ประกอบกับการประชุมของผู้คัดค้านที่ ๑ เพื่อเลือกตั้งคณะกรรมการสภาการเหมืองแร่มาเป็นผู้มีอำนาจหน้าที่ดำเนินงานในกิจการตามกฎหมายของผู้คัดค้านที่ ๑ ก็ยังเป็นการเตรียมการและการดำเนินการของเจ้าหน้าที่เพื่อจัดให้มีคำสั่งทางปกครองคือ มติที่เลือกสมาชิกผู้ใดเป็นกรรมการสภาการเหมืองแร่ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐอันอยู่ในความหมายของการพิจารณาทางปกครองตามมาตรา ๕ แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙ การประชุมของผู้คัดค้านที่ ๑ จึงต้องอยู่ภายใต้บังคับของหมวด ๒ ส่วนที่ ๑ ว่าด้วยเจ้าหน้าที่ แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวด้วย
คดีนี้ผู้ร้องทั้งสามร้องว่า การประชุมเลือกตั้งคณะกรรมการเลือกตั้งชุดที่สองของผู้คัดค้านที่ ๑ และการประชุมเลือกตั้งกรรมการสภาการเหมืองแร่โดยคณะกรรมการเลือกตั้งชุดที่สองเพื่อดำรงตำแหน่งแทนตำแหน่งกรรมการสภาการเหมืองแร่ที่ว่างลงไม่ชอบด้วยข้อบังคับสภาการเหมืองแร่ ว่าด้วยการเลือกตั้งคณะกรรมการ พ.ศ. ๒๕๒๖ ทำให้ผู้ร้องทั้งสามในฐานะผู้มีส่วนได้เสียได้รับความเสียหาย ขอให้ศาลพิพากษาให้ยกเลิกการเลือกตั้งคณะกรรมการเลือกตั้งชุดที่สองของผู้คัดค้าน และการเลือกตั้งกรรมการสภาการเหมืองแร่โดยคณะกรรมการเลือกตั้งชุดที่สองในครั้งดังกล่าว และสั่งให้ระงับการประชุมของผู้คัดค้านในวันทื่ ๒๙ กันยายน ๒๕๕๓ คดีนี้จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นการออกกฎ คำสั่งหรือการกระทำอื่นใดเนื่องจากกระทำโดยไม่มีอำนาจหรือนอกเหนืออำนาจหน้าที่ หรือไม่ถูกต้องตามกฎหมาย หรือโดยไม่ถูกต้องตามรูปแบบ ขั้นตอน หรือวิธีการอันเป็นสาระสำคัญที่กำหนดไว้สำหรับการกระทำนั้น หรือโดยไม่สุจริต หรือมีลักษณะเป็นการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม หรือมีลักษณะเป็นการสร้างขั้นตอนโดยไม่จำเป็น หรือสร้างภาระให้เกิดกับประชาชนเกินสมควร หรือเป็นการใช้ดุลพินิจโดยมิชอบตามมาตรา ๒๒๓ วรรคหนึ่ง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ ประกอบมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า ข้อเท็จจริงตามคำร้องคดีนี้สรุปได้ว่า ผู้ร้องทั้งสามยื่นคำร้องว่า การประชุมวิสามัญสภาการเหมืองแร่เมื่อวันที่ ๑๗ กันยายน ๒๕๕๓ ที่มีการเลือกตั้งคณะกรรมการเลือกตั้งชุดที่สองซึ่งดำเนินการเลือกตั้งโดยผู้คัดค้านที่ ๒ และการประชุมเลือกตั้งกรรมการสภาการเหมืองแร่โดยคณะกรรมการเลือกตั้งชุดที่สองเพื่อดำรงตำแหน่งแทนตำแหน่งกรรมการสภาการเหมืองแร่ที่ว่างลงเป็นการดำเนินการที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายและข้อบังคับสภาการเหมืองแร่ว่าด้วยการเลือกตั้งคณะกรรมการ พ.ศ. ๒๕๒๖ ขอให้พิพากษาหรือมีคำสั่งให้ยกเลิกการเลือกตั้งคณะกรรมการเลือกตั้งชุดที่สองเมื่อวันที่ ๑๗ กันยายน ๒๕๕๓ และการเลือกตั้งกรรมการสภาการเหมืองแร่โดยคณะกรรมการเลือกตั้งชุดที่สองในครั้งดังกล่าว กับให้ระงับการประชุมของผู้คัดค้านที่ ๑ ในวันที่ ๒๙ กันยายน ๒๕๕๓ ส่วนผู้คัดค้านทั้งสองยื่นคำคัดค้านว่า ได้ปฏิบัติโดยถูกต้องและชอบด้วยข้อบังคับของสภาการเหมืองแร่ ว่าด้วยการเลือกตั้งคณะกรรมการ พ.ศ. ๒๕๒๖ แล้ว เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติสภาการเหมืองแร่ พ.ศ. ๒๕๒๖ มาตรา ๖ กำหนดวัตถุประสงค์ของสภาการเหมืองแร่ไว้ว่าให้เป็นตัวแทนของผู้ประกอบอุตสาหกรรมเหมืองแร่และธุรกิจเหมืองแร่ในการประสานนโยบายและดำเนินงานระหว่างเอกชนกับรัฐ คุ้มครองและรักษาประโยชน์ในการประกอบอุตสาหกรรมเหมืองแร่และธุรกิจเหมืองแร่ รวมถึงการพัฒนา ส่งเสริม ศึกษาแก้ไขปัญหา สนับสนุน การค้นคว้าวิจัยและทดลองที่เกี่ยวกับอุตสาหกรรมและธุรกิจเหมืองแร่ โดยในมาตรา ๑๖ บัญญัติให้มีคณะกรรมการสภาการเหมืองแร่ที่ประกอบไปด้วยสมาชิกสามัญที่เลือกตั้งโดยสมาชิกสามัญ และสมาชิกสมทบที่เลือกตั้งโดยสมาชิกสมทบซึ่งตามความในมาตรา ๑๓ นั้น สมาชิกสามัญ ได้แก่ ผู้ประกอบอุตสาหกรรมเหมืองแร่ ส่วนสมาชิกสมทบได้แก่ ผู้ประกอบธุรกิจเหมืองแร่ ฉะนั้นสภาการเหมืองแร่จึงเป็นนิติบุคคลที่มีลักษณะของการรวมตัวกันของกลุ่มผู้ประกอบการค้าเพื่อหากำไรจากเหมืองแร่ โดยมีภารกิจสำคัญในการประสานดูแลผลประโยชน์จากการประกอบอุตสาหกรรมเหมืองแร่และธุรกิจเหมืองแร่ของหมู่สมาชิกให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐเท่านั้น กระบวนการเลือกตั้งคณะกรรมการของสมาชิกสภาการเหมืองแร่จึงเป็นเพียงกระบวนการคัดเลือกตัวแทนจากสมาชิกผู้ประกอบการค้าด้วยกันโดยในข้อบังคับสภาการเหมืองแร่ว่าด้วยการเลือกตั้งคณะกรรมการ พ.ศ. ๒๕๒๖ ข้อ ๙ และข้อ ๑๑ นั้น สมาชิกแต่ละคนต่างก็มีสิทธิเสนอชื่อผู้เข้ารับการเลือกตั้งเป็นกรรมการและมีสิทธิออกเสียงละคะแนนเลือกกรรมการได้อย่างเท่าเทียมกัน การคัดเลือกกรรมการของสภาการเหมืองแร่จะชอบด้วยข้อบังคับสภาการเหมืองแร่ว่าด้วยการเลือกตั้งคณะกรรมการ พ.ศ. ๒๕๒๖ หรือไม่ มิใช่คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายอันเนื่องมาจากการใช้อำนาจทางปกครองหรือเนื่องมาจากการดำเนินกิจการทางปกครอง ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ มาตรา ๒๒๓ วรรคหนึ่ง และพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) อันจะอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง แต่เป็นคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่างสภาการเหมืองแร่ โดยนายยงยุทธ เพ็ชร์สุวรรณ ประธานกรรมการสภาการเหมืองแร่ ที่ ๑ คณะกรรมการเลือกตั้ง โดยนายยงยุทธ เพ็ชร์สุวรรณ ประธานกรรมการเลือกตั้ง ที่ ๒ บริษัทสันทัดกรุ๊ป จำกัด โดยนายยงยุทธ เพ็ชร์สุวรรณ ผู้รับมอบอำนาจ ที่ ๓ ผู้ร้อง สภาการเหมืองแร่ โดยรองศาสตราจารย์ ฉดับ ปัทมสูต ประธานกรรมการสภาการเหมืองแร่ ที่ ๑ และนายวิเชียร ปลอดประดิษฐ์ เลขาธิการสภาการเหมืองแร่ ที่ ๒ ผู้คัดค้าน อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) ไพโรจน์ วายุภาพ (ลงชื่อ) สุวัฒน์ วรรธนะหทัย
(นายไพโรจน์ วายุภาพ) (นายสุวัฒน์ วรรธนะหทัย)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) หัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล ติดราชการ
(นายหัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล) (นายจรัญ หัตถกรรม)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) พลโท สถาพร เกียรติภิญโญ (ลงชื่อ) พลโท อาชวัน อินทรเกสร
(สถาพร เกียรติภิญโญ) (อาชวัน อินทรเกสร)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

Share