คำวินิจฉัยที่ 10/2556

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

คดีที่ห้างหุ้นส่วนจำกัด โจทก์ ยื่นฟ้องหัวหน้าสำนักงานพัฒนาธุรกิจการค้าจังหวัดแพร่ จำเลย กรณีโจทก์ยื่นคำขอให้จำเลยจำหน่ายชื่อโจทก์ออกจากทะเบียนห้างหุ้นส่วนบริษัท แต่จำเลยไม่ดำเนินการโดยอ้างว่าโจทก์จะต้องดำเนินการชำระบัญชีให้ถูกต้องตามขั้นตอนและวิธีการตามที่กฎหมายกำหนด ขอให้พิพากษาหรือมีคำสั่งให้จำเลยจำหน่ายชื่อโจทก์ออกจากทะเบียนห้างหุ้นส่วนจำกัด เห็นว่า คดีนี้เป็นกรณีที่คู่ความโต้แย้งกันเกี่ยวกับการสิ้นสภาพของห้างหุ้นส่วนจำกัดว่าได้ดำเนินการตามขั้นตอนและวิธีการที่กฎหมายกำหนดไว้หรือไม่ เมื่อการจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนจำกัดเป็นนิติบุคคลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เป็นไปเพื่อรับรองสิทธิว่านิติบุคคลนั้นเป็นบุคคลตามกฎหมายแพ่ง การสิ้นสภาพของนิติบุคคลโจทก์จะเปลี่ยนแปลงไปหรือไม่ เป็นไปตามความประสงค์ของหุ้นส่วน มิใช่อยู่ที่การจดทะเบียนของจำเลย ดังนั้น คดีนี้ศาลจำต้องพิจารณาถึงการเลิกห้างหุ้นส่วนจำกัดของโจทก์ว่า ได้ดำเนินการตามที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยการชำระบัญชีห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัดและบริษัทจำกัดบัญญัติไว้แล้วหรือไม่ อันเป็นกรณีพิพาทเกี่ยวกับสภาพบุคคลของห้างหุ้นส่วนจำกัดในทางแพ่ง เมื่อศาลจำต้องพิจารณาถึงสิทธิในทางแพ่งเป็นสำคัญแล้ว คดีนี้จึงเป็นคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๑๐/๒๕๕๖

วันที่ ๒๑ มีนาคม ๒๕๕๖

เรื่อง เขตอำนาจศาลเกี่ยวกับพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง

ศาลจังหวัดแพร่
ระหว่าง
ศาลปกครองเชียงใหม่

การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลจังหวัดแพร่โดยสำนักงานศาลยุติธรรมส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องคดีโต้แย้งอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องอำนาจศาลในคดีนั้น

ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๑๑ กรกฎาคม ๒๕๔๖ ห้างหุ้นส่วนจำกัดแพร่การ์ด โดยนายศักดา ภู่พลับ หุ้นส่วนผู้จัดการ โจทก์ ยื่นฟ้องนายธงชัย อุบลแย้ม ในฐานะหัวหน้าสำนักงานพัฒนาธุรกิจการค้าจังหวัดแพร่ จำเลย ต่อศาลจังหวัดแพร่ เป็นคดีแพ่งหมายเลขดำที่ ๕๔๕/๒๕๔๖ หมายเลขแดงที่ ๘๖๑/๒๕๔๖ ความว่า โจทก์ได้จดทะเบียนห้างหุ้นส่วนจำกัดกับสำนักทะเบียนการค้าจังหวัดแพร่ เมื่อวันที่ ๑๘ สิงหาคม ๒๕๔๑ แต่เนื่องจากมิได้ดำเนินกิจการตามที่ได้จดทะเบียนไว้ บรรดาหุ้นส่วนจึงได้ประชุมและมีมติให้เลิกกิจการเมื่อวันที่ ๓๐ ธันวาคม ๒๕๔๔ และคืนเงินค่าหุ้นให้แก่หุ้นส่วนทุกคนพร้อมกับยื่นคำร้องต่อจำเลยเพื่อขอให้จำหน่ายชื่อโจทก์ออกจากทะเบียนห้างหุ้นส่วนบริษัท แต่จำเลยไม่ดำเนินการให้โดยอ้างว่า โจทก์ต้องดำเนินการชำระบัญชีให้ถูกต้อง ขอให้ศาลพิพากษาหรือมีคำสั่งให้จำเลยจำหน่ายชื่อโจทก์ออกจากทะเบียนห้างหุ้นส่วนจำกัด
จำเลยให้การว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนจำกัด การเลิกห้างหุ้นส่วนจำกัดต้องจดทะเบียนเลิกและให้ผู้ชำระบัญชียื่นจดทะเบียนเลิกห้าง จากนั้นจะต้องดำเนินการชำระบัญชีจนเสร็จ ตามที่มาตรา ๑๒๕๔ และมาตรา ๑๒๗๐ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์กำหนดไว้ มิใช่เลิกกันโดยความตกลงของผู้เป็นหุ้นส่วนอันเป็นการเลิกห้างหุ้นส่วนสามัญ ตามมาตรา ๑๐๖๑ ตามที่โจทก์อ้าง ขอให้ยกฟ้อง จำเลยเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ สังกัดกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เมื่อโจทก์ฟ้องว่าจำเลยละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร จึงเป็นคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง มาตรา ๙ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.๒๕๔๒
จำเลยยื่นคำร้อง ลงวันที่ ๒๐ สิงหาคม ๒๕๔๖ ขอให้วินิจฉัยข้อกฎหมายเบื้องต้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๔ ว่า ฟ้องโจทก์คดีนี้เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับเจ้าหน้าที่ของรัฐละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ ไม่อยู่ในอำนาจศาลยุติธรรม แต่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ซึ่งจะทำให้คดีเสร็จไปทั้งเรื่องและพิพากษายกฟ้องโจทก์ และจำหน่ายคดีหรือโอนคดีไปยังศาลปกครองต่อไป
โจทก์ยื่นคำร้อง ลงวันที่ ๑๘ กันยายน ๒๕๔๖ ขอให้โอนคดีไปยังศาลปกครองและยื่นคำร้อง ลงวันที่ ๒๓ กันยายน ๒๕๔๖ ขอถอนฟ้อง ศาลจังหวัดแพร่มีคำสั่ง ลงวันที่ ๓ พฤศจิกายน ๒๕๔๖ ไม่อนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้อง เนื่องจากข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำฟ้องและคำให้การเพียงพอที่จะพิจารณาวินิจฉัยได้ ประกอบกับหากอนุญาตให้โอนคดีหรือถอนฟ้องแล้วคดีก็ยังไม่เสร็จไป ต่อมาศาลจังหวัดแพร่มีคำสั่งให้งดสืบพยานทั้งสองฝ่ายแล้วพิพากษายกฟ้องโจทก์ โดยวินิจฉัยว่า การเลิกห้างหุ้นส่วนจำกัดของโจทก์ มิได้มีการชำระบัญชี แม้ห้างหุ้นส่วนโจทก์จะประชุมผู้ถือหุ้นและมีมติให้เลิกห้างหุ้นส่วนก็ตาม มติดังกล่าวหามีผลที่จะบังคับให้จำเลยซึ่งเป็นนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทต้องจดทะเบียนเลิกห้างหุ้นส่วนตามคำขอของโจทก์ โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค ๕ พิพากษายืน โจทก์ฎีกา ศาลฎีกาพิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค ๕ และให้ศาลชั้นต้นดำเนินการตามมาตรา ๑๐ แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒
ศาลจังหวัดแพร่พิจารณาแล้วเห็นว่า เหตุแห่งการฟ้องคดีนี้ สืบเนื่องมาจากโจทก์มีหนังสือถึงจำเลยขอยกเลิกห้างหุ้นส่วนจำกัด แต่จำเลยในฐานะนายทะเบียนซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐไม่ดำเนินการให้โดยให้เหตุผลว่า การเลิกห้างหุ้นส่วนจำกัดจะต้องยื่นจดทะเบียนชำระบัญชีและจัดส่งงบดุล บัญชีกำไรขาดทุนซึ่งโจทก์เห็นว่าไม่จำเป็นต้องชำระบัญชี ดังนั้น การวินิจฉัยชี้ขาดประเด็นข้อพิพาทแห่งคดีนี้ จำต้องพิจารณาถึงการเลิกห้างหุ้นส่วนจำกัดของโจทก์ว่าปฏิบัติถูกต้องตามที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยการชำระบัญชีห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัดและบริษัทจำกัด บัญญัติไว้แล้วหรือไม่ เนื่องจากเป็นขั้นตอนวิธีการที่มีกฎหมายกำหนดไว้โดยเฉพาะแล้ว จากนั้นจึงพิจารณาการกระทำของจำเลยต่อไป อีกทั้งอำนาจหน้าที่ของนายทะเบียนในการถอนทะเบียนห้างหุ้นส่วนจำกัดได้มีบทบัญญัติไว้อย่างชัดเจนในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ ๓ ลักษณะ ๒๒ หมวด ๖ ว่าด้วยการถอนทะเบียนห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด และบริษัทจำกัดร้าง มาตรา ๑๒๗๓/๑ ถึง ๑๓๗๒/๔ ดังนั้น กรณีพิพาทในคดีนี้จึงไม่ได้เกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายหรือจากกฎ คำสั่งทางปกครอง หรือคำสั่งอื่น หรือจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ อันจะถือเป็นการกระทำทางปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ คดีนี้จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองเชียงใหม่พิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้โจทก์ยื่นฟ้องว่าจำเลยไม่ดำเนินการจดทะเบียนเลิกห้างหุ้นส่วนจำกัดให้แก่โจทก์ตามคำขอและมีคำขอให้ศาลสั่งให้จำเลยดำเนินการจำหน่ายชื่อโจทก์ออกจากทะเบียนห้างหุ้นส่วนจำกัด เมื่อโจทก์ยื่นฟ้องจำเลยฐานะนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทจังหวัด ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ และการรับจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนบริษัทเป็นหน้าที่ ที่กฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการกรมพัฒนาธุรกิจการค้ากระทรวงพาณิชย์ พ.ศ. ๒๕๔๕ ข้อ๑ (๓) กำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ซึ่งจำเลยรับราชการเป็นข้าราชการในสังกัดและได้รับการแต่งตั้งให้เป็นนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทจังหวัด ตามข้อ ๓ ตรี ของกฎกระทรวง ฉบับที่ ๕ (พ.ศ. ๒๔๙๑) ออกตามความในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๒๑ (พ.ศ. ๒๕๓๖) ออกตามความในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ว่าด้วยหุ้นส่วนบริษัท) การรับจดทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทตามคำขอของผู้ยื่นคำขอ จึงเป็นหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้นายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทจังหวัดต้องปฏิบัติ โดยเหตุแห่งการฟ้องคดีตามคำฟ้องเป็นกรณีที่โจทก์อ้างว่า ได้ยื่นคำขอต่อจำเลยเพื่อให้จดทะเบียนเลิกห้างหุ้นส่วนจำกัดให้แก่โจทก์ตามคำขอแล้ว แต่จำเลยไม่ดำเนินการจดทะเบียนเลิกห้างหุ้นส่วนจำกัดให้แก่โจทก์ตามคำขอ ข้อหาของคดีนี้จึงมีเพียงข้อหาเดียวว่าจำเลยในฐานะนายทะเบียนซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐและมีหน้าที่ในการรับจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนบริษัทตามคำขอของผู้ยื่นได้ละเลยไม่ดำเนินการจดทะเบียนเลิกห้างหุ้นส่วนจำกัดให้แก่โจทก์ตามคำขอ อันเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร ตามนัยมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๒) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ และเมื่อคดีนี้มีเพียงข้อหาเดียวอันเป็นคดีปกครอง การพิจารณาพิพากษาคดีดังกล่าวจะมีประเด็นปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยเบื้องต้นอย่างไร หรือไม่ ย่อมไม่อาจมีผลเปลี่ยนแปลงลักษณะของคดีพิพาทให้เป็นคดีพิพาททางแพ่งได้ เพราะมิฉะนั้นกรณีก็จะกลายเป็นการหยิบยกเอาประเด็นเพียงบางประเด็นในคดีมาเปลี่ยนแปลงลักษณะของคดีพิพาท ซึ่งเป็นหลักสำคัญในการพิจารณาเขตอำนาจศาลตามที่รัฐธรรมนูญและกฎหมายบัญญัติไว้ อีกทั้งการที่มีบทบัญญัติที่ศาลปกครองจะนำมาปรับใช้บัญญัติเอาไว้ไนประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ก็มิได้หมายความว่ากฎหมายดังกล่าวเป็นกฎหมายเอกชนหรือกฎหมายแพ่ง แต่จะต้องพิจารณาจากเนื้อหาสาระของกฎหมายนั้นๆ ว่า เป็นเรื่องความสัมพันธ์ทางกฎหมายมหาชนหรือกฎหมายปกครอง กล่าวคือ เป็นส่วนที่ปรากฏความสัมพันธ์ระหว่างรัฐหรือฝ่ายปกครองกับเอกชนหรือไม่ ซึ่งบทบัญญัติในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ในส่วนที่ว่าด้วยการถอนทะเบียนหุ้นส่วนจำกัด เห็นได้อย่างแจ้งชัดว่า เป็นส่วนที่กำหนดความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับเอกชน จึงเห็นว่าคดีนี้เป็นคดีที่อยู่ในเขตอำนาจของศาลปกครอง

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า ข้อเท็จจริงตามคำฟ้องคดีนี้สรุปได้ว่า โจทก์กับพวกได้จดทะเบียนห้างหุ้นส่วนจำกัดกับสำนักทะเบียนการค้าจังหวัดแพร่ แต่เนื่องจากมิได้ดำเนินกิจการตามที่ได้จดทะเบียนไว้ บรรดาหุ้นส่วนจึงมีมติให้เลิกกิจการและคืนเงินค่าหุ้นให้แก่หุ้นส่วนทุกคน พร้อมกับยื่นคำขอให้จำเลยจำหน่ายชื่อโจทก์ออกจากทะเบียนห้างหุ้นส่วนบริษัท แต่จำเลยไม่ดำเนินการ โดยอ้างว่า โจทก์จะต้องดำเนินการชำระบัญชีให้ถูกต้อง ขอให้ศาลพิพากษาหรือมีคำสั่งให้จำเลยจำหน่ายชื่อโจทก์ออกจากทะเบียนห้างหุ้นส่วนจำกัด ส่วนจำเลยให้การว่า ได้กระทำการตามขั้นตอนวิธีการที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์กำหนด การเลิกกันของห้างหุ้นส่วนจำกัดจะต้องให้ผู้ชำระบัญชียื่นจดทะเบียนเลิกห้าง จากนั้นจะต้องดำเนินการชำระบัญชีจนเสร็จ ตามที่มาตรา ๑๒๕๔ และมาตรา ๑๒๗๐ กำหนด มิใช่เลิกกันโดยความตกลงของผู้เป็นหุ้นส่วนอันเป็นการเลิกห้างหุ้นส่วนสามัญ ตามมาตรา ๑๐๖๑ ตามที่โจทก์อ้าง เห็นว่า ประเด็นพิพาทคดีนี้จึงเป็นกรณีที่คู่ความโต้แย้งกันเกี่ยวกับการสิ้นสภาพของห้างหุ้นส่วนจำกัดว่าได้ดำเนินการตามขั้นตอนและวิธีการที่กฎหมายกำหนดไว้หรือไม่ เมื่อห้างหุ้นส่วนจำกัดจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มีวัตถุประสงค์ในการประกอบกิจการค้าเพื่อแสวงหากำไรและเกี่ยวข้องกับคนจำนวนมาก รัฐจึงได้กำหนดไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ให้การก่อตั้ง การดำเนินกิจการ ตลอดจนการเลิกกิจการของนิติบุคคลต้องเป็นไปตามขั้นตอนและจดทะเบียน หากมีการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญก็ต้องนำความไปแจ้งต่อนายทะเบียนด้วยเช่นกัน ทั้งนี้ เพื่อเป็นการรับรองสิทธิว่านิติบุคคลนั้นเป็นบุคคลตามกฎหมาย มีความสามารถที่จะทำนิติกรรมได้และเพื่อเปิดเผยให้บุคคลภายนอกได้รับรู้ซึ่งกระบวนการและขั้นตอนตามกฎหมายเหล่านี้เป็นไปเพื่อรับรองสิทธิของนิติบุคคลในทางแพ่ง การสิ้นสภาพของนิติบุคคลโจทก์จะเปลี่ยนแปลงไปหรือไม่ เป็นไปตามความประสงค์ของหุ้นส่วน มิใช่อยู่ที่การจดทะเบียนของจำเลย ดังนั้น คดีนี้ศาลจำต้องพิจารณาถึงการเลิกห้างหุ้นส่วนจำกัดของโจทก์ว่า ได้ดำเนินการตามที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยการชำระบัญชีห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัดและบริษัทจำกัดบัญญัติไว้แล้วหรือไม่ อันเป็นกรณีพิพาทเกี่ยวกับสภาพบุคคลของห้างหุ้นส่วนจำกัดในทางแพ่ง เมื่อศาลจำต้องพิจารณาถึงสิทธิในทางแพ่งเป็นสำคัญแล้ว ข้อพิพาทในคดีนี้จึงมิใช่คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๒) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ แต่เป็นคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่างห้างหุ้นส่วนจำกัดแพร่การ์ด โดยนายศักดา ภู่พลับ หุ้นส่วนผู้จัดการ โจทก์ นายธงชัย อุบลแย้ม ในฐานะหัวหน้าสำนักงานพัฒนาธุรกิจการค้าจังหวัดแพร่ จำเลย อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) ไพโรจน์ วายุภาพ (ลงชื่อ) สุวัฒน์ วรรธนะหทัย
(นายไพโรจน์ วายุภาพ) (นายสุวัฒน์ วรรธนะหทัย)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) หัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล ติดราชการ
(นายหัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล) (นายจรัญ หัตถกรรม)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) พลโท สถาพร เกียรติภิญโญ (ลงชื่อ) พลโท อาชวัน อินทรเกสร
(สถาพร เกียรติภิญโญ) (อาชวัน อินทรเกสร)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

Share