คำวินิจฉัยที่ 16/2556

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

เอกชนทั้งหกเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินมีโฉนดได้รับความเดือดร้อนเสียหายจากการถูกเทศบาลตำบลก่อสร้างถนนในที่ดินดังกล่าว ทำให้ไม่สามารถใช้ที่ดินเพื่อเกษตรกรรมได้ ทั้งต้นไม้และกอไผ่ในที่ดินถูกโค่นล้ม ขอให้บังคับจำเลยรื้อถอนและขนย้ายถนนที่ก่อสร้างออกจากที่ดินพิพาท และทำให้ที่ดินกลับคืนสภาพเดิม ให้ชดใช้ค่าเสียหาย ห้ามจำเลยและบริวารเข้าเกี่ยวข้อง ส่วนจำเลยให้การว่า โจทก์ทั้งหกไม่ใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดิน โจทก์ที่ ๕ ทำหนังสืออุทิศให้จำเลยเพื่อสร้างถนนเป็นสาธารณประโยชน์ การสร้างถนนของจำเลยเป็นการกระทำตามหน้าที่และเพื่อประโยชน์สาธารณะและถนนที่สร้างขึ้นเป็นสมบัติของแผ่นดิน การกระทำของจำเลยไม่เป็นการละเมิดต่อโจทก์ทั้งหก เห็นว่า การที่ศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งตามคำขอของโจทก์ทั้งหกได้นั้น จำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่า ที่ดินส่วนที่พิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ทั้งหกตามที่กล่าวอ้าง หรือเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ได้มาโดยการอุทิศให้เป็นสำคัญ แล้วจึงจะพิจารณาประเด็นอื่นต่อไป จึงเป็นคดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๑๖/๒๕๕๖

วันที่ ๒๑ มีนาคม ๒๕๕๖

เรื่อง คดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน

ศาลจังหวัดอุบลราชธานี
ระหว่าง
ศาลปกครองอุบลราชธานี

การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลจังหวัดอุบลราชธานีส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น

ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๕๔ นางสาวมลิจันทร์ มุทาวัน ที่ ๑ นางสาวจารุวรรณ มุทาวัน ที่ ๒ นางพรทิพย์ พรมขรยาง ที่ ๓ นายฤาชัย มุทาวัน ที่ ๔ นายอำนวย มุทาวัน ที่ ๕ นางนารี ธรรมพิทักษ์ ที่ ๖ โจทก์ ยื่นฟ้องเทศบาลตำบลอ่างศิลา จำเลย ต่อศาลจังหวัดอุบลราชธานี เป็นคดีแพ่งหมายเลขดำที่ ๑๙๐๗/๒๕๕๔ ความว่า โจทก์ทั้งหกเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ ๑๒๒๖๒ ตำบลอ่างศิลา อำเภอพิบูลมังสาหาร จังหวัดอุบลราชธานี เนื้อที่ ๒๘ ไร่ ๓ งาน ๗๐ ตารางวา ในระหว่างวันที่ ๗ ถึง ๑๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๓ จำเลยว่าจ้างผู้รับเหมาก่อสร้างเข้าไปก่อสร้างถนนดินลงในที่ดินของโจทก์ทั้งหกโดยการใช้รถจักรกลขุดและไถปรับหน้าดิน ทำให้ที่ดินของโจทก์เสียหาย โจทก์ทั้งหกไม่สามารถใช้ที่ดินเพื่อเกษตรกรรมได้ และทำให้ต้นไม้และกอไผ่ในที่ดินถูกโค่นล้ม โจทก์ที่ ๑ มีหนังสือแจ้งให้จำเลยดำเนินการรื้อถอนถนนออกไปจากที่ดิน และปรับสภาพที่ดินให้กลับสู่สภาพเดิมแล้ว แต่จำเลยปฏิเสธ อ้างว่าจำเลยมีสิทธิก่อสร้างถนนในที่ดินของโจทก์ทั้งหก การกระทำดังกล่าวเป็นการกระทำละเมิดทำให้โจทก์ทั้งหกได้รับความเสียหายไม่สามารถทำนาได้เป็นปกติ ขอให้บังคับจำเลยรื้อถอนและขนย้ายถนนที่ก่อสร้างเนื้อที่ประมาณ ๕ ไร่ ๒ งาน ออกจากที่ดินของโจทก์ทั้งหก และทำให้ที่ดินกลับคืนสภาพเดิม หากจำเลยไม่ดำเนินการ ให้โจทก์ทั้งหกเป็นผู้ดำเนินการโดยจำเลยเป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย กับให้จำเลยชำระค่าเสียหายจำนวน ๒๖๐,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี จนกว่าจะชำระเสร็จ และค่าเสียหายอีกปีละ ๑๑๐,๐๐๐ บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าที่ดินจะกลับคืนสภาพเดิม และห้ามจำเลยและบริวารเกี่ยวข้องกับที่ดินอีกต่อไป
จำเลยให้การว่า โจทก์ทั้งหกไม่ใช่เจ้าของผู้มีกรรมสิทธิ์ในที่ดิน จึงไม่ใช่ผู้เสียหายและไม่มีอำนาจฟ้อง ฟ้องโจทก์ทั้งหกขาดอายุความ การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิด เพราะโจทก์ที่ ๕ ซึ่งเป็นผู้ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินแต่เพียงผู้เดียวเป็นผู้เสนอให้จำเลยสร้างถนนผ่านที่ดินเพื่อความสะดวกของตนเองและเพื่อประโยชน์สาธารณะ โดยโจทก์ที่ ๕ เป็นผู้ร่วมทำประชาคมกับชาวบ้านหมู่ที่ ๒ และ ๔ ในเขตเทศบาลตำบลอ่างศิลา และเป็นผู้ชี้แนวเขตที่ดินให้จำเลยสร้างถนน ทั้งยังทำหนังสืออุทิศทรัพย์สินให้จำเลยเพื่อสร้างถนนเป็นสาธารณประโยชน์ การสร้างถนนของจำเลยจึงเป็นการกระทำตามหน้าที่และเพื่อประโยชน์สาธารณะและถนนที่สร้างขึ้นเป็นสมบัติของแผ่นดินไม่ใช่ของจำเลย จำเลยใช้ความระมัดระวังในการสร้างถนนตามปกติวิสัยแล้ว โดยก่อนสร้างถนนได้ขออนุญาตเจ้าของที่ดินที่จะสร้างถนนผ่านแล้ว การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นการละเมิดต่อโจทก์ทั้งหก
จำเลยยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า คำฟ้องของโจทก์ทั้งหกในคดีนี้เป็นการที่เอกชนฟ้ององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นซึ่งเป็นนิติบุคคล ซึ่งการฟ้องดังกล่าวตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ มาตรา ๒๑๘ และมาตรา ๒๒๓ ประกอบกับพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) บัญญัติให้ศาลที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีคือศาลปกครอง ไม่ใช่ศาลยุติธรรม
ศาลจังหวัดอุบลราชธานีพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้โจทก์ทั้งหกยื่นฟ้องจำเลยว่ากระทำละเมิดโดยการก่อสร้างถนนรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของโจทก์ทั้งหกซึ่งเป็นเอกชน ทำให้ได้รับความเสียหาย ขอให้ชดใช้ค่าเสียหาย กับให้รื้อถอนถนนส่วนที่รุกล้ำออกและทำที่ดินให้เป็นสภาพเดิม ส่วนจำเลยให้การว่า โจทก์ที่ ๕ ยินยอมให้สร้างถนนเข้าไปในที่ดินโดยทำหนังสืออุทิศทรัพย์สินให้สร้างถนนเป็นสาธารณประโยชน์ การสร้างถนนของจำเลยจึงเป็นการกระทำตามหน้าที่และทำเพื่อประโยชน์สาธารณะ ดังนั้น การที่ศาลจะมีคำพิพากษาหรือมีคำสั่งตามคำขอของโจทก์ได้นั้น ต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่าที่ดินพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์หรือได้มีการยกที่ดินให้เป็นที่สาธารณะแล้ว จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินซึ่งต้องพิจารณาถึงสิทธิครอบครองและการใช้ประโยชน์ในที่ดินของคู่ความเป็นสำคัญ อันจะต้องเป็นไปตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายที่ดิน และประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ คดีจึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองอุบลราชธานีพิจารณาแล้วเห็นว่า ศาลยุติธรรมเป็นศาลที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีโดยทั่วไป เว้นแต่คดีที่มีรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายบัญญัติให้อยู่ในอำนาจของศาลอื่น ในขณะที่ศาลปกครองเป็นศาลที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีพิพาทระหว่างหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกับเอกชน หรือระหว่างหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐด้วยกัน อันเนื่องมาจากการกระทำหรือการละเว้นการกระทำที่มีลักษณะเป็นการใช้อำนาจทางปกครองตามกฎหมายหรือการกระทำหรือการละเว้นการกระทำที่ต้องรับผิดชอบในการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายหรือเป็นการดำเนินกิจการทางปกครองตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย รวมถึงคดีพิพาทตามที่กฎหมายบัญญัติให้อยู่ในอำนาจของศาลปกครองด้วย ทั้งนี้ เว้นแต่เรื่องที่กฎหมายบัญญัติยกเว้นไม่ให้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ดังนั้น หากคดีใดอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองและไม่เข้าข้อยกเว้นตามที่กฎหมายบัญญัติ ศาลปกครองย่อมมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีดังกล่าวได้ ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๒๑๘ ประกอบมาตรา ๒๒๓ และพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙
เมื่อคดีนี้จำเลยเป็นราชการส่วนท้องถิ่นและมีฐานะเป็นนิติบุคคล จำเลยจึงเป็นหน่วยงานทางปกครอง ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ จำเลยมีอำนาจหน้าที่ในการจัดให้มีและบำรุงรักษาทางบก ตามมาตรา ๕๐ (๒) แห่งพระราชบัญญัติเทศบาล พุทธศักราช ๒๔๙๖ และมาตรา ๑๖ (๒) แห่งพระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. ๒๕๔๒ การดำเนินการก่อสร้างถนนพิพาทของจำเลยจึงเป็นการใช้อำนาจทางปกครองเพื่อประโยชน์สาธารณะและปฏิบัติหน้าที่ในการดำเนินกิจการทางปกครองตามที่กฎหมายกำหนด เมื่อโจทก์อ้างว่าการที่จำเลยดำเนินกิจการตามอำนาจหน้าที่ก่อสร้างถนนพิพาทโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้ชดใช้ค่าเสียหาย และให้รื้อถอนถนนส่วนที่รุกล้ำออกและทำให้ที่ดินกลับคืนสภาพเดิม กรณีตามคำฟ้องและคำขอของโจทก์จึงมีลักษณะเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายดังกล่าวข้างต้นที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ตามมาตรา ๒๒๓ วรรคหนึ่ง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ประกอบมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ซึ่งศาลปกครองมีอำนาจกำหนดคำบังคับตามคำขอของโจทก์ทั้งหกให้จำเลยดำเนินการทำให้ที่ดินกลับคืนสภาพเดิมและหรือให้มีการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนได้ตามมาตรา ๗๒ วรรคหนึ่ง (๓) ประกอบกับมาตรา ๗๑ (๔) แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว และกรณีไม่เข้าข้อยกเว้นที่ไม่อยู่ในอำนาจของศาลปกครองตามมาตรา ๙ วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติเดียวกัน คดีนี้จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ศาลยุติธรรมจึงไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีนี้
สำหรับประเด็นปัญหาที่ต้องพิจารณาว่าที่ดินพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ทั้งหกหรือโจทก์ที่ ๕ เป็นผู้ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทแต่เพียงผู้เดียวและเป็นผู้ทำหนังสืออุทิศทรัพย์สินให้แก่จำเลยเพื่อสร้างถนนเป็นสาธารณประโยชน์หรือไม่นั้น เป็นเพียงปัญหาข้อเท็จจริงที่ใช้ประกอบในการพิจารณาข้อหาการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย แม้การพิจารณาในเรื่องกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินจะต้องพิจารณาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์หรือประมวลกฎหมายที่ดินซึ่งเป็นกฎหมายทั่วไปก็ตาม แต่การนำบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวมาใช้บังคับแก่คดีก็หาได้ทำให้คดีดังกล่าวต้องเป็นคดีแพ่งเสมอไปไม่ เพราะการปรับบทกฎหมายให้เข้ากับคดีเป็นอำนาจดุลพินิจของศาล บทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์หรือประมวลกฎหมายที่ดินจึงไม่ใช่เกณฑ์การพิจารณาลักษณะคดีว่าอยู่ในอำนาจของศาลใด อีกทั้งไม่มีบทบัญญัติในกฎหมายใดห้ามศาลปกครองมิให้นำบทบัญญัติในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาใช้บังคับแก่คดี หรือมีบทบัญญัติแห่งกฎหมายใดกำหนดให้เป็นอำนาจพิจารณาของศาลหนึ่งศาลใดที่จะนำบทบัญญัติในกฎหมายดังกล่าวมาวินิจฉัยข้อพิพาทแห่งคดีไว้โดยเฉพาะศาลปกครองจึงนำบทบัญญัติในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์และประมวลกฎหมายที่ดินมาวินิจฉัยข้อพิพาทแห่งคดีได้ นอกจากนั้น มาตรา ๗๑ (๔) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ได้บัญญัติให้คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลปกครองที่เกี่ยวกับสิทธิแห่งทรัพย์สินมีผลผูกพันบุคคลภายนอก คู่กรณีที่เกี่ยวข้องอาจอ้างกับบุคคลภายนอกได้ เว้นแต่บุคคลภายนอกจะมีสิทธิดีกว่า อันเป็นบทบัญญัติยืนยันให้เห็นว่าศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีที่เกี่ยวกับสิทธิแห่งทรัพย์สินและนำบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวมาวินิจฉัยข้อพิพาทในคดีนี้ได้

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้แม้จำเลยจะเป็นหน่วยงานทางปกครองก็ตาม แต่ตามคำฟ้องโจทก์ทั้งหกอ้างว่า โจทก์ทั้งหกเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ ๑๒๒๖๒ ตำบลอ่างศิลา อำเภอพิบูลมังสาหาร จังหวัดอุบลราชธานี เนื้อที่ ๒๘ ไร่ ๓ งาน ๗๐ ตารางวา แต่ถูกจำเลยก่อสร้างถนนในที่ดินของโจทก์ทั้งหก ทำให้โจทก์ทั้งหกเสียหายไม่สามารถใช้ที่ดินเพื่อเกษตรกรรมได้ ทั้งต้นไม้และกอไผ่ในที่ดินถูกโค่นล้ม ขอให้บังคับจำเลยรื้อถอนและขนย้ายถนนที่ก่อสร้างเนื้อที่ประมาณ ๕ ไร่ ๒ งาน ออกจากที่ดินของโจทก์ทั้งหก และทำให้ที่ดินกลับคืนสภาพเดิม ให้ชดใช้ค่าเสียหาย ห้ามจำเลยและบริวารเกี่ยวข้องกับที่ดินพิพาท ส่วนจำเลยให้การว่า โจทก์ทั้งหกไม่ใช่เจ้าของผู้มีกรรมสิทธิ์ในที่ดิน จึงไม่ใช่ผู้เสียหายและไม่มีอำนาจฟ้อง ฟ้องโจทก์ทั้งหก ขาดอายุความ การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิด เพราะโจทก์ที่ ๕ ซึ่งเป็นผู้ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินแต่เพียงผู้เดียวเป็นผู้เสนอให้จำเลยสร้างถนนผ่านที่ดินเพื่อความสะดวกของตนเองและเพื่อประโยชน์สาธารณะ โดยโจทก์ที่ ๕ เป็นผู้ร่วมทำประชาคมกับชาวบ้าน และเป็นผู้ชี้แนวเขตที่ดินให้จำเลยสร้างถนน ทั้งยังทำหนังสืออุทิศทรัพย์สินให้จำเลยเพื่อสร้างถนนเป็นสาธารณประโยชน์ การสร้างถนนของจำเลยจึงเป็นการกระทำตามหน้าที่และเพื่อประโยชน์สาธารณะและถนนที่สร้างขึ้นเป็นสมบัติของแผ่นดินไม่ใช่ของจำเลย จำเลยใช้ความระมัดระวังในการสร้างถนนตามปกติวิสัยแล้ว โดยก่อนสร้างถนนได้ขออนุญาตเจ้าของที่ดินที่จะสร้างถนนผ่านแล้ว การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นการละเมิดต่อโจทก์ทั้งหก เห็นว่า การที่ศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งตามคำขอของโจทก์ทั้งหกได้นั้น จำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่า ที่ดินส่วนที่พิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ทั้งหกตามที่กล่าวอ้าง หรือเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ได้มาโดยการอุทิศให้เป็นสำคัญ แล้วจึงจะพิจารณาประเด็นอื่นต่อไป คดีนี้จึงเป็นคดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่างนางสาวมลิจันทร์ มุทาวัน ที่ ๑ นางสาวจารุวรรณ มุทาวัน ที่ ๒ นางพรทิพย์ พรมขรยาง ที่ ๓ นายฤาชัย มุทาวัน ที่ ๔ นายอำนวย มุทาวัน ที่ ๕ นางนารี ธรรมพิทักษ์ ที่ ๖ โจทก์ เทศบาลตำบลอ่างศิลา จำเลย อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) ไพโรจน์ วายุภาพ (ลงชื่อ) สุวัฒน์ วรรธนะหทัย
(นายไพโรจน์ วายุภาพ) (นายสุวัฒน์ วรรธนะหทัย)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) หัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล ติดราชการ
(นายหัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล) (นายจรัญ หัตถกรรม)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) พลโท สถาพร เกียรติภิญโญ (ลงชื่อ) พลโท อาชวัน อินทรเกสร
(สถาพร เกียรติภิญโญ) (อาชวัน อินทรเกสร)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

Share