แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ
ย่อสั้น
คดีที่เอกชนยื่นฟ้องผู้ใหญ่บ้าน นายกองค์การบริหารส่วนตำบล และนายอำเภอเรื่องที่ดิน โดยจำเลยให้การโต้แย้งเขตอำนาจศาลในคำให้การว่า เป็นคดีปกครองอยู่ในอำนาจของศาลปกครอง ศาลจังหวัดจัดทำความเห็นว่าคดีอยู่ในเขตอำนาจของตนแล้วส่งให้ศาลปกครองจัดทำความเห็นเกี่ยวกับอำนาจศาล เมื่อพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง กำหนดว่า หากคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องเห็นว่า คดีอยู่ในเขตอำนาจของอีกศาลหนึ่งก็จะต้องยื่นคำร้องก่อนวันสืบพยานของศาลยุติธรรม การโต้แย้งอำนาจศาลจึงต้องทำเป็นคำร้อง แต่การโต้แย้งของจำเลยไว้ในคำให้การจึงเป็นเพียงข้อต่อสู้คดีเท่านั้น ไม่ได้จัดทำเป็นคำร้องยื่นต่อศาลเป็นการเฉพาะ จึงเป็นการโต้แย้งอำนาจศาลที่ไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติดังกล่าว ส่วนในกรณีที่ศาลเห็นเองเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลนั้น ตามพระราชบัญญัติดังกล่าว มาตรา ๑๐ วรรคสาม ให้ใช้ความตามมาตรา ๑๐ บังคับกับกรณีที่ศาลเห็นเองโดยอนุโลมซึ่งจะต้องเป็นกรณีที่ศาลเห็นเองว่า คดีอยู่ในเขตอำนาจของศาลอื่น มิใช่เห็นว่าอยู่ในอำนาจของศาลตน เมื่อปรากฏว่าจำเลยมิได้ดำเนินกระบวนพิจารณาตามที่กฎหมายกำหนด ทั้งมิใช่กรณีที่ศาลเห็นเองว่าคดีอยู่ในอำนาจของศาลอื่น จึงถือไม่ได้ว่ามีการขัดแย้งกันเกี่ยวกับอำนาจศาล กรณีไม่ต้องด้วยบทบัญญัติตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่งและวรรคสาม ให้จำหน่ายเรื่องออกจากสารบบความ
ย่อยาว
(สำเนา)
คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
(คำสั่ง) ที่ ๖๕/๒๕๕๖
วันที่ ๖ มิถุนายน ๒๕๕๖
เรื่อง การส่งเรื่องกรณีโต้แย้งเขตอำนาจศาลตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่งและวรรคสาม
ศาลจังหวัดนครสวรรค์
ระหว่าง
ศาลปกครองพิษณุโลก
การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลจังหวัดนครสวรรค์ส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒
ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๕ เมษายน ๒๕๕๕ นายเกษม พวงจำปา ที่ ๑ นางแห้ง พวงจำปา ที่ ๒ โจทก์ ยื่นฟ้องนายธนพัฒน์ บูรณศักดิ์ภิญโญ ที่ ๑ นายเสงี่ยม ขำสุข ที่ ๒ นายพงศ์อินทร์ ติยะโสภณจิต ที่ ๓ จำเลย ต่อศาลจังหวัดนครสวรรค์ เป็นคดีแพ่งหมายเลขดำที่ ๔๗๐/๒๕๕๕ หมายเลขแดงที่ ๑๕๓๔/๒๕๕๕ ความว่า โจทก์ทั้งสองเป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินมือเปล่า ตั้งอยู่หมู่ที่ ๑ ตำบลหนองกลับ อำเภอหนองบัวจังหวัดนครสวรรค์ แต่ถูกจำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นนายอำเภอหนองบัวมอบอำนาจให้จำเลยที่ ๒ ซึ่งเป็นผู้ใหญ่บ้านนำเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดนครสวรรค์ สาขาหนองบัว รังวัดชี้แนวเขตในที่ดินของโจทก์ทั้งสองเพื่อออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง โดยอ้างว่าเป็นที่ดินสาธารณประโยชน์ โจทก์ทั้งสองทำการคัดค้านการรังวัดแล้ว แต่จำเลยที่ ๓ ซึ่งเป็นนายกองค์การบริหารส่วนตำบลหนองบัว มีหนังสือแจ้งต่อเจ้าพนักงานที่ดินว่าที่ดินของโจทก์ทั้งสองเป็นที่สาธารณประโยชน์ ทำให้เจ้าพนักงานที่ดินเชื่อตามหนังสือดังกล่าว ทั้งที่ที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ทั้งสองซึ่งได้ครอบครองทำประโยชน์มากว่า ๕๐ ปี โดยสงบ เปิดเผย เจตนาเป็นเจ้าของโดยไม่มีผู้ใดคัดค้านตลอดมา ขอให้พิพากษาว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ทั้งสองให้โจทก์ทั้งสองมีสิทธิยื่นขอออกโฉนดที่ดินพิพาทและห้ามจำเลยทั้งสามเข้าไปเกี่ยวข้องกับที่ดินพิพาท
จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ให้การว่า มูลคดีที่โจทก์ทั้งสองฟ้องจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ เป็นการอ้างว่า จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำละเมิดเป็นเหตุให้โจทก์ทั้งสองเสียหาย คดีจึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ที่ดินพิพาทเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน โจทก์ทั้งสองจึงไม่ใช่เจ้าของหรือเป็นผู้มีสิทธิครอบครองในการออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ได้ปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายและระเบียบของทางราชการ โจทก์ทั้งสองจึงไม่มีอำนาจฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ ๓ ขาดนัดยื่นคำให้การ แต่ศาลมีคำสั่งจำหน่ายคดีโจทก์เฉพาะจำเลยที่ ๓ ออกจากสารบบความ เนื่องจากโจทก์มีคำขอให้ตนเป็นฝ่ายชนะคดีโดยจำเลยที่ ๓ ขาดนัดยื่นคำให้การเกินกำหนดระยะเวลาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๙๘ วรรคสอง
ศาลจังหวัดนครสวรรค์พิจารณาคำให้การของจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ แล้วจัดทำความเห็นส่งไปยังศาลปกครองว่า คดีนี้เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม โดยจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ไม่ได้ยื่นคำร้องว่า คดีอยู่ในเขตอำนาจของศาลปกครอง
ศาลปกครองพิษณุโลกพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่ของรัฐ อันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) และ (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ และศาลปกครองมีอำนาจออกคำบังคับตามคำขอของโจทก์ทั้งสองได้ตามมาตรา ๗๒ วรรคหนึ่ง (๑) และ (๓) แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว จึงเป็นคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง โดยมีข้อสังเกตเพิ่มเติมว่า จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ โต้แย้งเขตอำนาจศาลไว้ในคำให้การโดยมิได้จัดทำเป็นคำร้องยื่นต่อศาลเป็นการเฉพาะตามมาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ และการทำความเห็นของศาลจังหวัดนครสวรรค์ไม่ใช่กรณีที่ศาลเห็นเองเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลตามมาตรา ๑๐ วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว ซึ่งจะต้องเป็นกรณีที่ศาลเห็นเองว่าคดีอยู่ในเขตอำนาจของศาลอื่น ไม่ใช่คดีอยู่ในเขตอำนาจของศาลตน ทั้งนี้ตามนัยคำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล (คำสั่ง) ที่ ๔๒/๒๕๕๔
คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา การส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลชอบด้วยพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่งและวรรคสาม หรือไม่
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้โจทก์ทั้งสองฟ้องจำเลยทั้งสามเรื่องที่ดินต่อศาลจังหวัดนครสวรรค์ จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ให้การโต้แย้งเขตอำนาจศาลในคำให้การว่า คดีนี้เป็นคดีปกครองอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง โดยไม่ได้ยื่นคำร้องว่าคดีอยู่ในเขตอำนาจของศาลปกครองแต่อย่างใด ศาลจังหวัดนครสวรรค์จัดทำความเห็นว่าคดีอยู่ในเขตอำนาจของตนแล้วส่งให้ศาลปกครองจัดทำความเห็นเกี่ยวกับอำนาจศาล เมื่อพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง กำหนดว่า หากคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องเห็นว่า คดีอยู่ในเขตอำนาจของอีกศาลหนึ่งก็จะต้องยื่นคำร้องก่อนวันสืบพยานของศาลยุติธรรม การโต้แย้งอำนาจศาลจึงต้องทำเป็นคำร้อง ทั้งการที่ศาลจะทำความเห็นเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลจะต้องเป็นกรณีที่ศาลจัดทำความเห็นตามข้อโต้แย้งที่เริ่มกระบวนการโดยการที่คู่ความยื่นคำร้องโต้แย้งอำนาจศาลเสียก่อน แต่การโต้แย้งของจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ในกรณีนี้เป็นการโต้แย้งไว้ในคำให้การซึ่งเป็นเพียงข้อต่อสู้คดีเท่านั้น ไม่ได้จัดทำเป็นคำร้องยื่นต่อศาลเป็นการเฉพาะ จึงเป็นการโต้แย้งอำนาจศาลที่ไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติดังกล่าว ส่วนในกรณีที่ศาลเห็นเองเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลนั้น ตามพระราชบัญญัติดังกล่าว มาตรา ๑๐ วรรคสาม ให้ใช้ความตามมาตรา ๑๐ บังคับกับกรณีที่ศาลเห็นเองโดยอนุโลมซึ่งจะต้องเป็นกรณีที่ศาลเห็นเองว่า คดีอยู่ในเขตอำนาจของศาลอื่น มิใช่เห็นว่าอยู่ในอำนาจของศาลตน เมื่อปรากฏว่าจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ มิได้ดำเนินกระบวนพิจารณาตามที่กฎหมายกำหนด ทั้งมิใช่กรณีที่ศาลเห็นเองว่าคดีอยู่ในอำนาจของศาลอื่น จึงถือไม่ได้ว่ามีการขัดแย้งกันเกี่ยวกับอำนาจศาล กรณีไม่ต้องด้วยบทบัญญัติตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่งและวรรคสาม ชอบที่คณะกรรมการจะมีคำสั่งให้จำหน่ายเรื่องออกจากสารบบความ ตามข้อบังคับคณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล ว่าด้วยวิธีการเสนอเรื่อง การพิจารณาและวินิจฉัย พ.ศ. ๒๕๔๔ ข้อ ๒๙ (๒)
จึงมีคำสั่งว่า การส่งเรื่องกรณีระหว่างศาลจังหวัดนครสวรรค์และศาลปกครองพิษณุโลกที่เกี่ยวข้องกับโจทก์ทั้งสองและจำเลยทั้งสามในคดีนี้ไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่งและวรรคสาม อาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๗ วรรคสอง ประกอบข้อบังคับคณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล ว่าด้วยวิธีการเสนอเรื่อง การพิจารณาและวินิจฉัย พ.ศ. ๒๕๔๔ ข้อ ๒๙ (๒) ให้จำหน่ายเรื่องออกจากสารบบความ
(ลงชื่อ) ไพโรจน์ วายุภาพ (ลงชื่อ) สุวัฒน์ วรรธนะหทัย
(นายไพโรจน์ วายุภาพ) (นายสุวัฒน์ วรรธนะหทัย)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม
(ลงชื่อ) หัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล (ลงชื่อ) จรัญ หัตถกรรม
(นายหัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล) (นายจรัญ หัตถกรรม)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง
(ลงชื่อ) พลโท สุขสันต์ สิงหเดช (ลงชื่อ) พลโท อาชวัน อินทรเกสร
(สุขสันต์ สิงหเดช) (อาชวัน อินทรเกสร)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร
(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ