คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10967/2554

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ขณะเกิดเหตุเป็นเวลากลางวัน โจทก์ร่วมและ บ. รู้จักจำเลยมาก่อน เมื่อโจทก์ร่วมได้ยินเสียงปืนและเสียงสุกรร้องก็ไปยังที่เกิดเหตุทันที ส่วน บ. เมื่อได้รับแจ้งจากโจทก์ร่วมแล้วก็เข้าไปในสวนเพื่อเฝ้าสุกรทันทีเช่นกัน โจทก์ร่วมเห็นจำเลยอยู่ห่างประมาณ 3 เมตร และได้พูดโต้ตอบกับจำเลยด้วย โดยจำเลยยอมรับว่ายิงสุกรจริง ส่วน บ. เห็นจำเลยกับพวกในขณะอยู่ห่างประมาณ 30 ถึง 40 เมตร บริเวณที่เกิดเหตุ มีสภาพเป็นที่โล่ง เชื่อว่าโจทก์ร่วมและ บ. เห็นและจดจำจำเลยกับพวกได้ หลังเกิดเหตุโจทก์ร่วมเล่าเรื่องที่พบเห็นให้ ป. และ บ. ฟัง และให้ ป. ไปแจ้งผู้ใหญ่บ้าน ส่วน บ. ก็เล่าเรื่องที่เห็นจำเลยกับ อ. ให้ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านทราบ โดยโจทก์และโจทก์ร่วมมี ป. และบันทึกเอกสารหมาย จ.5 ที่ผู้ใหญ่บ้านจัดทำขึ้นมีเหตุการณ์ตรงตามที่โจทก์ร่วมเบิกความไว้มาสนับสนุนคำเบิกความของโจทก์ร่วมทำให้มีน้ำหนัก แม้โจทก์ร่วมและ บ. จะไม่เห็นในขณะที่จำเลยใช้อาวุธปืนลูกซองยิงสุกร แต่พยานพฤติเหตุแวดล้อมที่โจทก์ร่วมพบจำเลยถืออาวุธปืนอยู่ในสวนใกล้กับสุกรที่ถูกยิง และ บ. เห็นจำเลยกับพวกวิ่งหนีไปหลังจากที่มีการลากซากสุกรจากบริเวณที่โจทก์ร่วมพบครั้งแรกไปถึงริมคลอง เชื่อได้ว่าจำเลยกับพวกเข้าไปในสวนแล้วร่วมกันใช้อาวุธปืนยิงสุกรของโจทก์ร่วมจนตาย พยานหลักฐานโจทก์และโจทก์ร่วมจึงมีน้ำหนักมั่นคง ส่วนที่จำเลยฎีกาว่า เหตุเกิดเวลากลางวันเป็นการผิดวิสัยของคนร้ายที่มีเจตนาประทุษร้ายต่อทรัพย์จะไม่อำพรางตนหรือปกปิดสิ่งผิดกฎหมายที่นำมาใช้ในการกระทำความผิด ทั้งยังพูดและยอมรับผิดต่อโจทก์ร่วมอีก นั้น เห็นว่า บ. และ ป. เบิกความว่าปกติได้ยินเสียงปืนเป็นประจำเพราะมีการยิงนกกัน แสดงว่าบริเวณที่เกิดเหตุมีการนำอาวุธปืนยิงล่าสัตว์เป็นประจำ จำเลยกับพวกอาจถือโอกาสที่เห็นว่าปลอดคนบุกรุกเข้าไปยิงสุกรของโจทก์ร่วม แต่เมื่อโจทก์ร่วมได้ยินเสียงปืนและมาพบสุกรที่ถูกยิงในทันที จึงเป็นเหตุให้จำเลยต้องจำนนแก่หลักฐานยอมรับกับโจทก์ร่วมในขณะนั้นว่าได้ยิงสุกรจริง และที่จำเลยฎีกาว่า สวนที่เกิดเหตุเป็นของพี่สาวของ ป. ซึ่งให้ ป. ดูแล โจทก์ร่วมมิใช่เจ้าของสวนที่เกิดเหตุจึงมิใช่ผู้เสียหายในความผิดฐานบุกรุกนั้น เห็นว่า ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2 (4) ผู้เสียหายไม่จำต้องเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในทรัพย์ที่อ้างว่าจำเลยกับพวกร่วมกันบุกรุก ทั้งได้ความจาก ป. ว่า พี่สาวของ ป. ให้ ป. ดูแลสวนแทน ป. อยู่กินกับโจทก์ร่วมได้ 10 ปีเศษ และพักอาศัยอยู่ด้วยกันที่สวนที่เกิดเหตุ โจทก์ร่วมจึงเป็นผู้ดูแลสวนที่เกิดเหตุร่วมกับ ป. ด้วย โจทก์ร่วมในฐานะผู้ดูแลครอบครองสวนที่เกิดเหตุ จึงเป็นผู้เสียหายในความผิดฐานบุกรุก

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33, 83, 91, 358, 362, 365 (2), 371 และริบของกลาง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณานางสาว จ. ผู้เสียหาย ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาตเฉพาะข้อหาร่วมกันบุกรุกและร่วมกันทำให้เสียทรัพย์
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 8 ทวิ วรรคหนึ่ง, 72 วรรคสาม, 72 ทวิ วรรคสอง ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 358, 362, 365 (2) (ที่ถูก 365 (2) ประกอบด้วยมาตรา 362), 371 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานมีอาวุธปืนมีทะเบียนและเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำคุก 6 เดือน ฐานพาอาวุธปืนไปในเมือง หมู่บ้านหรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาตและโดยไม่มีเหตุสมควรเป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 6 เดือน ฐานร่วมกันบุกรุกเข้าไปในอสังหาริมทรัพย์โดยมีอาวุธ และฐานร่วมกันทำให้เสียทรัพย์ เป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 365 (2) ประกอบด้วยมาตรา 362 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 2 ปี รวมจำคุก 2 ปี 12 เดือน คำขออื่นให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า ตามวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุในฟ้อง มีคนร้ายเข้าไปในสวนส้มโอซึ่งนายปรีชา สามีของโจทก์ร่วม เป็นผู้ดูแล แล้วใช้อาวุธปืนลูกซองยิงสุกร 1 ตัว น้ำหนักประมาณ 80 กิโลกรัม ราคาประมาณ 4,000 บาท ของโจทก์ร่วมจนตาย พนักงานสอบสวนยึดลูกกระสุนปรายปืนลูกซอง 28 ลูก ที่ฝังอยู่ในซากสุกรเป็นของกลาง และศาลชั้นต้นสั่งริบของกลางดังกล่าวแล้วในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 850/2542 ของศาลชั้นต้น ต่อมาเจ้าพนักงานตำรวจจับจำเลยได้
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยกระทำความผิดตามที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามาหรือไม่ เห็นว่า ขณะเกิดเหตุเป็นเวลากลางวัน โจทก์ร่วมและนายบุญยืนรู้จักจำเลยมาก่อน เมื่อโจทก์ร่วมได้ยินเสียงปืนและเสียงสุกรร้องก็ไปยังที่เกิดเหตุทันที ส่วนนายบุญยืนเมื่อได้รับแจ้งจากโจทก์ร่วมแล้วก็เข้าไปในสวนเพื่อเฝ้าสุกรทันทีเช่นกัน โจทก์ร่วมเห็นจำเลยอยู่ห่างประมาณ 3 เมตร และได้พูดโต้ตอบกับจำเลยด้วยโดยจำเลยยอมรับว่ายิงสุกรจริง ส่วนนายบุญยืนเห็นจำเลยกับพวกในขณะอยู่ห่างประมาณ 30 ถึง 40 เมตร บริเวณที่เกิดเหตุตามภาพถ่ายมีสภาพเป็นที่โล่ง เชื่อว่าโจทก์ร่วมและนายบุญยืนเห็นและจดจำจำเลยกับพวกได้ หลังเกิดเหตุโจทก์ร่วมเล่าเรื่องที่พบเห็นให้นายปรีชาและนายบุญยืนฟัง และให้นายปรีชาไปแจ้งผู้ใหญ่บ้าน ส่วนนายบุญยืนก็เล่าเรื่องที่เห็นจำเลยกับนายอุดมให้ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านทราบ โดยโจทก์และโจทก์ร่วมมีนายปรีชาและบันทึกเอกสารหมาย จ.5 ที่ผู้ใหญ่บ้านจัดทำขึ้นมีเหตุการณ์ตรงตามที่โจทก์ร่วมเบิกความไว้มาสนับสนุนคำเบิกความของโจทก์ร่วมทำให้มีน้ำหนัก แม้โจทก์ร่วมและนายบุญยืนจะไม่เห็นในขณะที่จำเลยใช้อาวุธปืนลูกซองยิงสุกร แต่พยานพฤติเหตุแวดล้อมที่โจทก์ร่วมพบจำเลยถืออาวุธปืนอยู่ในสวนใกล้กับสุกรที่ถูกยิง และนายบุญยืนเห็นจำเลยกับพวกวิ่งหนีไปหลังจากที่มีการลากซากสุกรจากบริเวณที่โจทก์ร่วมพบครั้งแรกไปถึงริมคลอง เชื่อได้ว่าจำเลยกับพวกเข้าไปในสวนแล้วร่วมกันใช้อาวุธปืนยิงสุกรของโจทก์ร่วมจนตาย พยานหลักฐานโจทก์และโจทก์ร่วมจึงมีน้ำหนักมั่นคง
ที่จำเลยฎีกาว่า โจทก์ร่วมเห็นจำเลยถืออาวุธปืน แต่นายบุญยืนซึ่งเข้าไปในสวนหลังจากที่ได้รับแจ้งจากโจทก์ร่วมแล้วกลับไม่เห็นจำเลยถืออาวุธปืนขัดแย้งกันรับฟังไม่ได้นั้น เห็นว่า ช่วงเวลาที่โจทก์ร่วมและนายบุญยืนเห็นจำเลยเป็นช่วงเวลาที่ต่างกัน ทั้งนายปรีชาเบิกความว่าบริเวณที่เกิดเหตุอยู่ห่างจากบ้านโจทก์ร่วมประมาณครึ่งกิโลเมตร ห่างจากรั้วที่แบ่งแนวเขตประมาณ 50 เมตร และอยู่ติดกับสวนของบิดามารดาจำเลย จำเลยจึงมีเวลาและโอกาสที่จะนำอาวุธปืนไปซุกซ่อนในสวนของบิดามารดาจำเลยได้ คำเบิกความของโจทก์ร่วมและนายบุญยืนจึงไม่ขัดแย้งกัน
ที่จำเลยฎีกาว่า เหตุเกิดเวลากลางวันเป็นการผิดวิสัยของคนร้ายที่มีเจตนาประทุษร้ายต่อทรัพย์จะไม่อำพรางตนหรือปกปิดสิ่งผิดกฎหมายที่นำมาใช้ในการกระทำความผิด ทั้งยังพูดและยอมรับผิดต่อโจทก์ร่วมอีกนั้น เห็นว่า นายบุญยืนและนายปรีชาเบิกความว่าปกติได้ยินเสียงปืนเป็นประจำเพราะมีการยิงนกกัน แสดงว่าบริเวณที่เกิดเหตุมีการนำอาวุธปืนยิงล่าสัตว์เป็นประจำ จำเลยกับพวกอาจถือโอกาสที่เห็นว่าปลอดคนบุกรุกเข้าไปยิงสุกรของโจทก์ร่วม แต่เมื่อโจทก์ร่วมได้ยินเสียงปืนและมาพบสุกรที่ถูกยิงในทันที จึงเป็นเหตุให้จำเลยต้องจำนนแก่หลักฐานยอมรับกับโจทก์ร่วมในขณะนั้นว่าได้ยิงสุกรจริง
ที่จำเลยฎีกาว่า สวนที่เกิดเหตุเป็นของพี่สาวนายปรีชาซึ่งให้นายปรีชาดูแล โจทก์ร่วมมิใช่เจ้าของสวนที่เกิดเหตุ จึงมิใช่ผู้เสียหายในความผิดฐานบุกรุกนั้น เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2 (4) ผู้เสียหายไม่จำต้องเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในทรัพย์ที่อ้างว่าจำเลยกับพวกร่วมกันบุกรุก ทั้งได้ความจากนายปรีชาว่า พี่สาวนายปรีชาให้นายปรีชาดูแลสวนแทน นายปรีชาอยู่กินกับโจทก์ร่วมได้ 10 ปีเศษ และพักอาศัยอยู่ด้วยกันที่สวนที่เกิดเหตุ โจทก์ร่วมจึงเป็นผู้ดูแลสวนที่เกิดเหตุร่วมกับนายปรีชาด้วย โจทก์ร่วมในฐานะผู้ครอบครองดูแลสวนที่เกิดเหตุ จึงเป็นผู้เสียหายในความผิดฐานบุกรุก
และที่จำเลยฎีกาว่า โจทก์ร่วมเบิกความว่าขณะออกจากบ้าน นายบุญยืนอยู่ที่บ้านโจทก์ร่วมแล้ว แต่นายบุญยืนกลับเบิกความว่าเมื่อมาถึงบ้าน โจทก์ร่วมเข้าไปในสวนแล้ว แตกต่างกันรับฟังไม่ได้นั้น เห็นว่า ข้อแตกต่างดังกล่าวเป็นเพียงพลความ มิใช่ข้อสาระสำคัญจนถึงกับทำให้คำเบิกความของโจทก์ร่วมและนายบุญยืนมีน้ำหนักลดน้อยลง พยานหลักฐานของจำเลยไม่อาจหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์และโจทก์ร่วมได้ ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น แต่ที่ศาลล่างทั้งสองลงโทษจำเลยในความผิดฐานร่วมกันบุกรุกเข้าไปในอสังหาริมทรัพย์โดยมีอาวุธแล้วทำให้เสียทรัพย์ โดยให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 365 (2) ประกอบด้วยมาตรา 362 ซึ่งเป็นบทหนักที่สุด จำคุก 2 ปี นั้น หนักเกินไป เห็นสมควรกำหนดโทษเฉพาะความผิดกระทงนี้เสียใหม่ให้เหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งคดี
พิพากษาแก้เป็นว่า เฉพาะความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 365 (2) ประกอบด้วยมาตรา 362 จำคุก 1 ปี เมื่อรวมกับโทษจำคุกในความผิดฐานมีอาวุธปืนมีทะเบียนและเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต และฐานพาอาวุธปืนไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาตและไม่มีเหตุสมควรตามคำพิพากษาศาลล่างทั้งสองแล้ว เป็นจำคุก 1 ปี 12 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2

Share