แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
คดีนี้จำเลยที่ 1 ให้การว่าจำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่าซื้อแทนจำเลยร่วม คดีจึงมีประเด็นว่า จำเลยร่วมต้องรับผิดตามสัญญาเช่าซื้อต่อโจทก์หรือไม่ โดยโจทก์นำสืบว่าโจทก์ไม่ทราบว่าจำเลยร่วมเกี่ยวข้องกับการเช่าซื้อรถยนต์พิพาท ส่วนจำเลยร่วมยอมรับว่าจำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่าซื้อแทนจำเลยร่วมจริง ซึ่งศาลชั้นต้นได้วินิจฉัยว่า จำเลยร่วมในฐานะตัวการไม่เปิดเผยชื่อต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 2 ต่อโจทก์ จึงถือว่าประเด็นที่ว่าจำเลยร่วมเป็นตัวการไม่เปิดเผยชื่อหรือไม่ เป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น
การที่จำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่าซื้อกับโจทก์แทนจำเลยร่วมโดยโจทก์ไม่ทราบมาก่อน จำเลยร่วมจึงอยู่ในฐานะเป็นตัวการไม่เปิดเผยชื่อยอมให้จำเลยที่ 1 ตัวแทนแสดงออกนอกหน้าเป็นตัวการไปทำสัญญาเช่าซื้อกับโจทก์ ซึ่งเป็นบุคคลภายนอก ซึ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 806 ตอนท้ายบัญญัติว่า ถ้าตัวการผู้ใดได้ยอมให้ตัวแทนของตนทำการออกหน้าเป็นตัวการไซร้ ท่านว่าตัวการผู้นั้นหาอาจทำให้เสื่อมเสียถึงสิทธิของบุคคลภายนอกอันเขามีต่อตัวแทน และเขาขวนขวายได้มาแต่ก่อนที่รู้ว่าเป็นตัวแทนนั้นได้ไม่ ดังนั้น เมื่อมีการผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อ และโจทก์ได้บอกเลิกสัญญาแล้ว จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นตัวแทนย่อมผูกพันและต้องรับผิดตามสัญญาเช่าซื้อที่ทำไว้กับโจทก์ จำเลยร่วมหาอาจทำให้เสื่อมเสียถึงสิทธิของโจทก์ในอันที่จะฟ้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลยที่ 1 เนื่องจากจำเลยที่ 1 ผิดสัญญากับโจทก์ได้ไม่ และเมื่อจำเลยทั้งสองชำระหนี้ให้โจทก์แล้วจะไปไล่เบี้ยเอากับจำเลยร่วมได้อย่างไรก็ชอบที่จะไปว่ากล่าวกันต่อไป จำเลยที่ 1 จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 2
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 578,010 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ให้การขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การ
ระหว่างพิจารณาจำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องขอให้เรียกนาย ส. เข้าเป็นจำเลยร่วม ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาต
จำเลยร่วมไม่ยื่นคำให้การ แต่รับว่าเป็นผู้ให้จำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่าซื้อแทน
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยร่วมและจำเลยที่ 2 ร่วมกันชำระเงิน 396,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 31 มีนาคม 2558) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยร่วมและจำเลยที่ 2 ร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 5,000 บาท เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี ค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีให้เป็นพับ คำขออื่นให้ยก ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 แผนกคดีผู้บริโภคพิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ในศาลชั้นต้น และค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา โดยศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภคอนุญาตให้ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภควินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้เป็นยุติว่า เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2555 จำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์ยี่ห้อโตโยต้า หมายเลขทะเบียน ฌผ 6036 กรุงเทพมหานคร จากโจทก์ในราคา 977,112 บาท ตกลงชำระค่าเช่าซื้อเป็นงวดทุกวันที่ 5 ของเดือน งวดละ 13,571 บาท รวม 72 งวด มีจำเลยที่ 2 ทำสัญญาค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม จำเลยที่ 1 ชำระค่าเช่าซื้อ 12 งวด แล้วผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อตั้งแต่งวดที่ 13 ประจำวันที่ 5 กันยายน 2556 ติดต่อกันเกินกว่าสามงวด โจทก์มีหนังสือบอกเลิกสัญญาแล้ว ต่อมาวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2557 โจทก์ยึดรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนแล้วนำออกขายทอดตลาดได้เงิน 288,000 บาท สำหรับค่าขาดราคา ค่าขาดประโยชน์ และค่าติดตามรถคืนที่โจทก์เรียกมานั้น ศาลฎีกาไม่อนุญาตให้โจทก์ฎีกา จึงเป็นอันยุติไปตามที่ศาลชั้นต้นกำหนดให้แก่โจทก์
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามที่โจทก์ได้รับอนุญาตให้ฎีกาว่า ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ไม่รับวินิจฉัยประเด็นที่ว่า จำเลยร่วมเป็นตัวการไม่เปิดเผยชื่อชอบหรือไม่ เห็นว่า คดีนี้จำเลยที่ 1 ให้การว่าจำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่าซื้อแทนจำเลยร่วม คดีจึงมีประเด็นว่า จำเลยร่วมต้องรับผิดตามสัญญาเช่าซื้อต่อโจทก์หรือไม่ โดยโจทก์นำสืบว่าโจทก์ไม่ทราบว่าจำเลยร่วมเกี่ยวข้องกับการเช่าซื้อรถยนต์พิพาท ส่วนจำเลยร่วมยอมรับว่าจำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่าซื้อแทนจำเลยร่วมจริง ซึ่งศาลชั้นต้นได้วินิจฉัยว่า จำเลยร่วมในฐานะตัวการไม่เปิดเผยชื่อต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 2 ต่อโจทก์ จึงถือว่าประเด็นที่ว่าจำเลยร่วมเป็นตัวการไม่เปิดเผยชื่อหรือไม่ เป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ไม่รับวินิจฉัยในประเด็นดังกล่าว จึงไม่ชอบ ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
เนื่องจากศาลอุทธรณ์ภาค 2 ยังไม่ได้วินิจฉัยในประเด็นดังกล่าว ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยโดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิจารณาพิพากษาใหม่อีก ในประเด็นข้อนี้เห็นว่า ขณะทำสัญญาเช่าซื้อกับโจทก์ จำเลยที่ 1 ทำสัญญาในนามตนเอง โดยระบุชื่อจำเลยที่ 1 เป็นผู้เช่าซื้อ ในสัญญามิได้ระบุว่าทำแทนใคร และนางสาวสุภาภรณ์ ผู้รับมอบอำนาจช่วงโจทก์เบิกความยืนยันว่า โจทก์ไม่ทราบว่าจำเลยร่วมเป็นผู้ติดต่อเกี่ยวข้องกับการเช่าซื้อรถยนต์พิพาท และผู้ที่ส่งมอบรถยนต์พิพาทคืนก็มิใช่จำเลยร่วม ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่าซื้อกับโจทก์แทนจำเลยร่วมโดยโจทก์ไม่ทราบมาก่อน ดังนั้น แม้ข้อเท็จจริงจะฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่าซื้อกับโจทก์แทนจำเลยร่วมก็ตาม แต่จำเลยร่วมก็อยู่ในฐานะเป็นตัวการไม่เปิดเผยชื่อยอมให้จำเลยที่ 1 ตัวแทนแสดงออกนอกหน้าเป็นตัวการไปทำสัญญาเช่าซื้อกับโจทก์ โดยโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกไม่รู้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นตัวแทน ซึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 806 ตอนท้ายบัญญัติว่า ถ้าตัวการผู้ใดได้ยอมให้ตัวแทนของตนทำการออกหน้าเป็นตัวการไซร้ ท่านว่าตัวการผู้นั้นหาอาจทำให้เสื่อมเสียถึงสิทธิของบุคคลภายนอกอันเขามีต่อตัวแทน และเขาขวนขวายได้มาแต่ก่อนที่รู้ว่าเป็นตัวแทนนั้นได้ไม่ ดังนั้น เมื่อมีการผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อ และโจทก์ได้บอกเลิกสัญญาแล้ว จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นตัวแทนย่อมผูกพันและต้องรับผิดตามสัญญาเช่าซื้อที่ทำไว้กับโจทก์ จำเลยร่วมหาอาจทำให้เสื่อมเสียถึงสิทธิของโจทก์ในอันที่จะฟ้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลยที่ 1 เนื่องจากจำเลยที่ 1 ผิดสัญญากับโจทก์ได้ไม่ และเมื่อจำเลยทั้งสองชำระหนี้ให้โจทก์แล้วจะไปไล่เบี้ยเอากับจำเลยร่วมได้อย่างไรก็ชอบที่จะไปว่ากล่าวกันต่อไป จำเลยที่ 1 จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 2 ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาในประเด็นข้อนี้มานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 2 ชำระเงิน 396,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 31 มีนาคม 2558) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยที่ 1 ร่วมกับจำเลยที่ 2 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 5,000 บาท เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยร่วม ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยร่วมให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ