คำวินิจฉัยที่ 66/2556

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

คดีที่เอกชนยื่นฟ้ององค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) ที่ ๑ และผู้อำนวยการ ส.ส.ท. ที่ ๒ จำเลย อ้างว่าเลิกจ้างโจทก์โดยขัดต่อกฎหมายและไม่เป็นธรรม ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองจ่ายเงินค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีและเงินค่าตอบแทนอื่นเพิ่มพร้อมดอกเบี้ย เห็นว่า แม้พระราชบัญญัติองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย พ.ศ. ๒๕๕๑ จะบัญญัติให้จำเลยที่ ๑ เป็นหน่วยงานของรัฐที่ไม่ใช่ส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการบริการสาธารณะด้านการกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะ จึงเป็นหน่วยงานอื่นของรัฐและเป็นหน่วยงานทางปกครอง แต่เมื่อสัญญาพิพาทเข้าลักษณะเป็นสัญญาจ้างแรงงาน นิติสัมพันธ์ระหว่างโจทก์และจำเลยที่ ๑ จึงอยู่ในฐานะลูกจ้างและนายจ้าง แม้มาตรา ๑๐ แห่งพระราชบัญญัติองค์การกระจายเสียงฯ จะบัญญัติให้กิจการของจำเลยที่ ๑ ไม่อยู่ภายใต้บังคับแห่งกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน กฎหมายว่าด้วยแรงงานสัมพันธ์ กฎหมายว่าด้วยการประกันสังคม และกฎหมายว่าด้วยเงินทดแทน แต่บทบัญญัติดังกล่าวก็มิใช่เกณฑ์การพิจารณาเขตอำนาจศาล เพียงแต่กำหนดว่าการจ้างแรงงานตามพระราชบัญญัติดังกล่าวไม่อยู่ในบังคับของกฎหมายแรงงานทั่วไป อีกทั้งการที่จำเลยที่ ๑ ทำสัญญาจ้างโจทก์เข้าเป็นพนักงานก็เป็นเพียงการดำเนินงานด้านทรัพยากรบุคคลซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้จำเลยที่ ๑ สามารถจัดทำบริการสาธารณะไปได้ตามภารกิจเท่านั้น หาใช่การจ้างพนักงานให้เข้าร่วมจัดทำบริการสาธารณะ ดังนั้น คดีนี้จึงมิใช่คดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง แต่เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ตามสัญญาจ้างแรงงานและกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๘ (๑) (๒) อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๖๖/๒๕๕๖

วันที่ ๔ กรกฎาคม ๒๕๕๖

เรื่อง เขตอำนาจศาลเกี่ยวกับพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒

ศาลแรงงานกลาง
ระหว่าง
ศาลปกครองกลาง

การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลแรงงานกลางโดยสำนักงานศาลยุติธรรมส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องคดีโต้แย้งอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องอำนาจศาลในคดีนั้น

ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๔ ตุลาคม ๒๕๕๓ นายบุญชาย ศิริโภคทรัพย์ โจทก์ ยื่นฟ้ององค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) ที่ ๑ นายเทพชัย หย่อง ที่ ๒ จำเลย ต่อศาลแรงงานกลาง เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๔๘๕๗/๒๕๕๓ หมายเลขแดงที่ ๔๑๑๑/๒๕๕๔ ความว่า เมื่อวันที่ ๑ มิถุนายน ๒๕๕๑ จำเลยที่ ๑ โดยจำเลยที่ ๒ ทำสัญญาจ้างโจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ ๑ ตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายผลิตรายการ สังกัดฝ่ายผลิตรายการ โดยได้รับค่าจ้างในอัตราเดือนละ ๒๐๗,๕๒๐ บาท โจทก์ครบเกษียณอายุการทำงานในวันที่ ๑ มกราคม ๒๕๕๓ ในตำแหน่งรักษาการรองผู้อำนวยการ ส.ส.ท. และนายสถานี แต่จำเลยทั้งสองเลิกจ้างโจทก์โดยไม่มีการบอกกล่าวล่วงหน้าและจ่ายเฉพาะค่าจ้างเดือนสุดท้ายกับเงินค่าตอบแทนอื่นตามระเบียบของจำเลยที่ ๑ ว่าด้วยการบริหารงานบุคคล (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๒ ข้อ ๒๔ เป็นเงินจำนวน ๒๐๗,๕๒๐ บาท อันเป็นการกระทำที่ขัดต่อกฎหมายและระเบียบปฏิบัติของจำเลยที่ ๑ ก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำไม่เป็นไปตามมาตรฐานเดียวกันกับพนักงานภายในองค์กร เพราะโจทก์มีสิทธิที่จะได้รับประโยชน์ตอบแทนไม่น้อยกว่าที่กำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน ตามมาตรา ๑๐ แห่งพระราชบัญญัติองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย พ.ศ. ๒๕๕๑ เมื่อจำเลยทั้งสองเลิกจ้างโจทก์ โจทก์จึงมีสิทธิได้รับค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีที่โจทก์ไม่ได้ใช้และเงินค่าตอบแทนอื่น โดยคำนวณเปรียบเทียบกับค่าตอบแทนตามมาตรา ๙ แห่งพระราชกฤษฎีกาค่าตอบแทนและประโยชน์ตอบแทนอื่นของประธานกรรมการนโยบาย กรรมการนโยบาย และกรรมการบริหารอื่นขององค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย พ.ศ. ๒๕๕๑ ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองจ่ายเงินค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีและเงินค่าตอบแทนอื่น รวมเป็นเงิน ๑,๐๕๑,๔๓๔ บาท พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยทั้งสองให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเนื่องจากการบรรจุแต่งตั้งหรือการให้โจทก์ออกจากงานเป็นคำสั่งทางปกครอง การพ้นสภาพพนักงานของโจทก์มิได้เป็นการเลิกจ้างตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน แต่เป็นการพ้นสภาพตามระเบียบองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย ว่าด้วยการบริหารงานบุคคล พ.ศ. ๒๕๕๑ ข้อ ๔๓ (๒) เนื่องจากเกษียณอายุ โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าชดเชยการเลิกจ้างหรือสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าหรือค่าเสียหายประการอื่น และจำเลยที่ ๑ ได้จ่ายเงินค่าตอบแทนอื่นตามระเบียบของจำเลยที่ ๑ ว่าด้วยการบริหารงานบุคคล (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๒ ข้อ ๒๔ วรรคท้าย ให้แก่โจทก์โดยชอบแล้ว โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยทั้งสองจ่ายค่าตอบแทนอื่นเพิ่มอีก นอกจากนี้ เมื่อกิจการของจำเลยที่ ๑ ไม่อยู่ภายใต้บังคับแห่งกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานและกฎหมายว่าด้วยแรงงานสัมพันธ์ การที่โจทก์ไม่ได้ใช้สิทธิลาพักผ่อนประจำปีถือว่าโจทก์สละสิทธิในการลาซึ่งไม่มีบทกฎหมายบัญญัติให้โจทก์เรียกร้องได้ ส่วนค่าตอบแทนอื่นที่โจทก์กล่าวอ้างตามมาตรา ๙ แห่งพระราชกฤษฎีกาค่าตอบแทนและประโยชน์ตอบแทนอื่นฯ พ.ศ. ๒๕๕๑ เป็นกรณีที่กฎหมายกำหนดไว้เป็นการเฉพาะสำหรับบุคคลซึ่งไม่ได้เป็นพนักงานของจำเลยที่ ๑ แตกต่างจากโจทก์ที่เป็นพนักงานประจำได้รับสวัสดิการต่างๆ นอกเหนือจากเงินเดือนปกติ โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องเงินค่าตอบแทนใดๆ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยทั้งสองยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า ความสัมพันธ์ระหว่างจำเลยที่ ๑ กับโจทก์เป็นความสัมพันธ์ระหว่างหน่วยงานทางปกครองกับลูกจ้างในสังกัดที่มีขึ้นเพื่อร่วมกันจัดทำบริการสาธารณะ อันเป็นความสัมพันธ์ตามกฎหมายมหาชน ข้อตกลงจ้างทำงานระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๑ จึงเป็นสัญญาทางปกครอง เมื่อกรณีพิพาทคดีนี้สืบเนื่องมาจากสัญญาทางปกครองคดีจึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ตามนัยคำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลที่ ๓๖/๒๕๔๘ และที่ ๒๙/๒๕๕๓
ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้วเห็นว่า แม้พระราชบัญญัติองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย พ.ศ. ๒๕๕๑ จะกำหนดสถานะจำเลยที่ ๑ ให้เป็นนิติบุคคลและเป็นหน่วยงานของรัฐซึ่งไม่ใช่ส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจ ทำหน้าที่เป็นองค์การสื่อสาธารณะด้านวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์เพื่อประโยชน์สาธารณะ โดยกิจการของจำเลยที่ ๑ ไม่ตกอยู่ภายใต้กฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน กฎหมายว่าด้วยแรงงานสัมพันธ์ กฎหมายว่าด้วยการประกันสังคม และกฎหมายว่าด้วยเงินทดแทน จำเลยที่ ๑ จึงมีลักษณะเป็นหน่วยงานทางปกครองที่จัดตั้งขึ้นเพื่อดำเนินงานบริการสาธารณะด้านวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ของประเทศ แต่โดยที่มาตรา ๑๐ แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวกำหนดให้ผู้อำนวยการ พนักงาน และลูกจ้างของจำเลยต้องได้รับประโยชน์ตอบแทนไม่น้อยกว่าที่กำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน กฎหมายว่าด้วยการประกันสังคม และกฎหมายว่าด้วยเงินทดแทน แสดงให้เห็นเป็นอย่างดีว่าสิทธิประโยชน์ของพนักงานลูกจ้างของจำเลยต้องเป็นไปตามที่กฎหมายแรงงานกำหนดไว้ เมื่อพิจารณาจากสัญญาจ้างที่พิพาท ก็ปรากฏเรื่องที่จำเลยในฐานะนายจ้างตกลงจ้างโจทก์เข้าทำงาน โดยจ่ายค่าจ้างเพื่อตอบแทนการทำงานให้ อันมีลักษณะเป็นนิติสัมพันธ์ตามสัญญาจ้างแรงงานที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งตามสัญญาดังกล่าวจำเลยยอมสละเอกสิทธิ์ของฝ่ายปกครองที่มีอำนาจเหนือเอกชน โดยลดฐานะให้มีสิทธิเสรีภาพในการทำสัญญาจ้างพนักงานที่เท่าเทียมกันกับโจทก์ แม้ในสัญญาดังกล่าวจะปรากฏถึงสิทธิของจำเลยฝ่ายเดียว ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงข้อบังคับ ระเบียบ ประกาศและคำสั่งต่างๆ การมีอำนาจเลิกจ้างโจทก์ และมีอำนาจเปลี่ยนแปลงตำแหน่งหน้าที่กับค่าจ้างของโจทก์ตามความจำเป็นและตามสมควร แต่การตกลงให้อำนาจจำเลยฝ่ายเดียวดังกล่าวก็ไม่ใช่ข้อกำหนดที่มีลักษณะพิเศษอันจะแสดงอำนาจของจำเลยที่เป็นฝ่ายปกครองในการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงแก้ไขสัญญาได้แต่เพียงฝ่ายเดียวเพื่อสนองความต้องการและความต่อเนื่องของการบริการสาธารณะ เพราะเป็นเพียงการยืนยันอำนาจของจำเลยซึ่งเป็นนายจ้างที่มีสิทธิแสดงเจตนาฝ่ายเดียวในการเลิกจ้างลูกจ้าง การใช้อำนาจบังคับบัญชาในการเปลี่ยนแปลงตำแหน่งหน้าที่ และการใช้อำนาจบริหารกิจการในการเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อบังคับ ระเบียบ ประกาศ และคำสั่งต่างๆ รวมถึงการปรับอัตราค่าจ้าง อันเป็นอำนาจของนายจ้างโดยทั่วไปที่ปรากฏในสัญญาจ้างแรงงานตามระบบกฎหมายเอกชนทั้งสิ้น หาใช่เป็นการแสดงอำนาจเหนือของฝ่ายปกครองตามระบบกฎหมายมหาชนไม่ สัญญาพิพาทจึงไม่มีลักษณะเป็นสัญญาทางปกครอง คงเป็นเพียงสัญญาจ้างแรงงานตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เท่านั้น การที่โจทก์ใช้สิทธิในฐานะลูกจ้างตามสัญญาจ้างแรงงานเรียกร้องค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีและเงินตอบแทนอื่นจากจำเลยตามสัญญาจ้างพนักงานข้อ ๘ ประกอบมาตรา ๑๐ แห่งพระราชบัญญัติองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย พ.ศ. ๒๕๕๑ จึงเป็นกรณีที่โจทก์ฟ้องว่าจำเลยกระทำผิดสัญญาจ้างแรงงาน และเป็นการเรียกร้องให้คุ้มครองสิทธิในการให้ได้รับค่าตอบแทนจากการทำงานกับการหยุดงานตามหลักเกณฑ์ของกฎหมายคุ้มครองแรงงาน โดยเป็นกรณีพิพาทในส่วนของการขอรับความคุ้มครองให้ได้รับค่าจ้าง ค่าตอบแทน และการมีหลักประกันการทำงานที่เหมาะสม คดีนี้จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวด้วยสิทธิหรือหน้าที่ตามสัญญาจ้างแรงงานและตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน ตามมาตรา ๘ (๑) และ (๒) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองกลางพิจารณาแล้วเห็นว่า การจัดตั้งจำเลยที่ ๑ ให้มีฐานะเป็นหน่วยงานของรัฐที่ไม่เป็นส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณตามพระราชบัญญัติองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย พ.ศ. ๒๕๕๑ มีเจตนารมณ์ให้การบริหารและการดำเนินงานของจำเลยที่ ๑ เป็นไปอย่างอิสระและปราศจากการแทรกแซง โดยให้คณะกรรมการนโยบายของจำเลยที่ ๑ มีอำนาจหน้าที่กำหนดระเบียบกฎเกณฑ์เกี่ยวกับการดำเนินกิจการของจำเลยที่ ๑ กิจการของจำเลยที่ ๑ จึงไม่ตกอยู่ภายใต้บังคับของกฎหมายที่ใช้บังคับกับข้าราชการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ โดยจะอยู่ภายใต้บังคับของระเบียบกฎเกณฑ์และข้อบังคับต่างๆ ที่คณะกรรมการนโยบายของจำเลยที่ ๑ กำหนดขึ้น และเพื่อเป็นการคุ้มครองและรับรองสิทธิประโยชน์ตอบแทนของผู้อำนวยการ พนักงาน และลูกจ้างของจำเลยที่ ๑ กฎหมายจึงบัญญัติให้ได้รับประโยชน์ตอบแทนไม่น้อยกว่าที่กำหนดในกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน กฎหมายว่าด้วยการประกันสังคม และกฎหมายว่าด้วยเงินทดแทน ทั้งนี้ เพื่อให้คณะกรรมการนโยบายของจำเลยที่ ๑ ออกระเบียบกฎเกณฑ์ในส่วนที่เกี่ยวกับประโยชน์ตอบแทนไม่น้อยกว่าประโยชน์ตอบแทนที่ลูกจ้างในหน่วยงานเอกชนได้รับตามกฎหมายดังกล่าว ซึ่งการที่กฎหมายบัญญัติรับรองสิทธิประโยชน์ในลักษณะดังกล่าวไว้ ไม่ใช่เกณฑ์สำหรับใช้ในการพิจารณาเรื่องเขตอำนาจศาล และศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาว่าข้อบังคับ ระเบียบ กฎเกณฑ์ดังกล่าวกำหนดสิทธิประโยชน์ตอบแทนน้อยกว่าที่กฎหมายทั้งสามฉบับกำหนดไว้หรือไม่ การที่จำเลยที่ ๑ ทำสัญญาจ้างบุคคลที่ผ่านกระบวนการสรรหาและคัดเลือกเข้าเป็นพนักงานของจำเลยที่ ๑ เป็นเพียงวิธีการในการบรรจุแต่งตั้งพนักงานของจำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นกลไกหรือเครื่องมือในการบริหารงานบุคคลของจำเลยที่ ๑ ตามที่คณะกรรมการนโยบายของจำเลยที่ ๑ กำหนดไว้ในระเบียบข้อบังคับของจำเลยที่ ๑ เพื่อให้การดำเนินการบริหารงานบุคคลของจำเลยที่ ๑ เป็นไปด้วยความคล่องตัวและมีประสิทธิภาพ หาใช่เป็นกรณีที่จำเลยที่ ๑ ได้สละเอกสิทธิ์ของฝ่ายปกครองหรือยอมลดฐานะของตนลงในการเข้าทำสัญญาจ้างผู้อำนวยการ พนักงาน หรือลูกจ้าง อันมีผลทำให้สัญญาจ้างผู้อำนวยการ พนักงาน หรือลูกจ้างของจำเลยที่ ๑ มีลักษณะเป็นสัญญาจ้างแรงงานตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ สัญญาจ้างพนักงานระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๑ โดยจำเลยที่ ๒ จึงเป็นสัญญาที่คู่สัญญาอย่างน้อยฝ่ายหนึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครอง มีวัตถุประสงค์ในการจ้างโจทก์เข้าทำงานเป็นพนักงานประจำของจำเลยที่ ๑ เพื่อให้โจทก์เข้าร่วมปฏิบัติภารกิจในการจัดทำบริการสาธารณะหรือการดำเนินกิจการทางปกครองตามอำนาจหน้าที่ของจำเลยที่ ๑ ตามที่กฎหมายกำหนด สัญญาจ้างพนักงานดังกล่าวจึงเป็นสัญญาทางปกครอง คดีนี้จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครองซึ่งอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ และโดยที่จำเลยที่ ๑ เป็นหน่วยงานทางปกครองซึ่งมีภารกิจเพื่อบริการสาธารณะจึงมีอำนาจเหนือลูกจ้าง เพื่อบังคับการให้การบริการสาธารณะบรรลุผล และมีเอกสิทธิ์ในการทำสัญญาจ้างโจทก์ด้วย นิติสัมพันธ์ระหว่างจำเลยที่ ๑ กับโจทก์จึงเป็นนิติสัมพันธ์ระหว่างหน่วยงานทางปกครองซึ่งมีอำนาจเหนือลูกจ้างที่เป็นคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งเพื่อให้เข้าร่วมปฏิบัติภารกิจบริการสาธารณะของหน่วยงานทางปกครอง อันเป็นนิติสัมพันธ์ตามกฎหมายมหาชน ไม่ใช่นิติสัมพันธ์ในฐานะนายจ้างกับลูกจ้างที่เท่าเทียมกันตามสัญญาจ้างแรงงานในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ดังนั้น ข้อตกลงจ้างทำงานระหว่างจำเลยที่ ๑ กับโจทก์จึงไม่เป็นสัญญาจ้างแรงงานตามกฎหมายแพ่ง คดีนี้จึงไม่ใช่คดีพิพาทเกี่ยวด้วยสิทธิหรือหน้าที่ตามสัญญาจ้างแรงงาน อันจะอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลแรงงาน ตามมาตรา ๘ วรรคหนึ่ง (๑) ตามนัยคำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลที่ ๓๖/๒๕๔๘ อีกทั้งมาตรา ๑๐ แห่งพระราชบัญญัติองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย พ.ศ. ๒๕๕๑ บัญญัติให้กิจการของจำเลยที่ ๑ ไม่อยู่ภายใต้บังคับแห่งกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน กฎหมายว่าด้วยแรงงานสัมพันธ์ กฎหมายว่าด้วยการประกันสังคม และกฎหมายว่าด้วยเงินทดแทน คดีนี้จึงไม่ใช่คดีพิพาทเกี่ยวด้วยสิทธิหรือหน้าที่ตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน กฎหมายว่าด้วยแรงงานสัมพันธ์อันจะอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลแรงงาน ตามมาตรา ๘ วรรคหนึ่ง (๒) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า ข้อเท็จจริงตามคำฟ้องคดีนี้ เดิมโจทก์เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ ๑ ยื่นฟ้องจำเลยทั้งสองอ้างว่าเลิกจ้างโจทก์ซึ่งครบเกษียณอายุการทำงานแล้วโดยไม่มีการบอกกล่าวล่วงหน้าและจ่ายเฉพาะค่าจ้างเดือนสุดท้ายกับเงินค่าตอบแทนอื่นซึ่งขัดต่อกฎหมายและไม่เป็นธรรม ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองจ่ายเงินค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีและเงินค่าตอบแทนอื่นเพิ่มพร้อมดอกเบี้ย ส่วนจำเลยทั้งสองให้การว่าโจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าชดเชยการเลิกจ้างหรือสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าหรือค่าเสียหายประการอื่น เนื่องจากการพ้นสภาพพนักงานของโจทก์มิได้เป็นการเลิกจ้างตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน แต่เป็นการพ้นสภาพเนื่องจากเกษียณอายุ โจทก์ไม่มีสิทธิได้รับค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีเพราะกิจการของจำเลยที่ ๑ ไม่อยู่ภายใต้บังคับแห่งกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานและกฎหมายว่าด้วยแรงงานสัมพันธ์ และจำเลยที่ ๑ ได้จ่ายเงินค่าตอบแทนอื่นตามระเบียบของจำเลยที่ ๑ โดยชอบแล้ว ดังนั้น คดีนี้จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิและหน้าที่ของโจทก์และจำเลยทั้งสองที่เกิดขึ้นจากความสัมพันธ์ตามสัญญาจ้างทำงานระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๑ กรณีจึงมีประเด็นต้องพิจารณาว่าสัญญาพิพาทดังกล่าวเป็นสัญญาทางแพ่งหรือสัญญาทางปกครอง
พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔) และมาตรา ๓ บัญญัติให้ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง ซึ่งสัญญาทางปกครองหมายความรวมถึง สัญญาที่คู่สัญญาอย่างน้อยฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองหรือเป็นบุคคลซึ่งกระทำการแทนรัฐ และมีลักษณะเป็นสัญญาสัมปทาน สัญญาที่ให้จัดทำบริการสาธารณะหรือจัดให้มีสิ่งสาธารณูปโภคหรือแสวงประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ เห็นว่า แม้พระราชบัญญัติองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย พ.ศ. ๒๕๕๑ จะบัญญัติให้จำเลยที่ ๑ เป็นหน่วยงานของรัฐที่ไม่ใช่ส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการบริการสาธารณะด้านการกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะ จึงเป็นหน่วยงานอื่นของรัฐและเป็นหน่วยงานทางปกครอง แต่เมื่อสัญญาพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๑ ฉบับลงวันที่ ๑ มิถุนายน ๒๕๕๑ มีสาระสำคัญว่าจำเลยที่ ๑ ตกลงจ้างโจทก์และโจทก์ตกลงรับจ้างทำงานให้จำเลยโดยจ่ายค่าจ้างเป็นรายเดือน จึงเป็นกรณีที่โจทก์ตกลงจะทำงานให้แก่จำเลยที่ ๑ และจำเลยที่ ๑ ตกลงจะให้สินจ้างแก่โจทก์ตลอดเวลาที่ทำงานให้ อันเข้าลักษณะของสัญญาจ้างแรงงานตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๕๗๕ นิติสัมพันธ์ระหว่างโจทก์และจำเลยที่ ๑ จึงอยู่ในฐานะลูกจ้างและนายจ้าง แม้มาตรา ๑๐ แห่งพระราชบัญญัติองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย พ.ศ. ๒๕๕๑ จะบัญญัติให้กิจการของจำเลยที่ ๑ ไม่อยู่ภายใต้บังคับแห่งกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน กฎหมายว่าด้วยแรงงานสัมพันธ์ กฎหมายว่าด้วยการประกันสังคม และกฎหมายว่าด้วยเงินทดแทน แต่บทบัญญัติดังกล่าวก็มิใช่เกณฑ์การพิจารณาเขตอำนาจศาล เพียงแต่กำหนดว่าการจ้างแรงงานตามพระราชบัญญัติดังกล่าวไม่อยู่ในบังคับของกฎหมายแรงงานทั่วไป อีกทั้งการที่จำเลยที่ ๑ ทำสัญญาจ้างโจทก์เข้าเป็นพนักงานก็เป็นเพียงการดำเนินงานด้านทรัพยากรบุคคล ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้จำเลยที่ ๑ สามารถจัดทำบริการสาธารณะไปได้ตามภารกิจเท่านั้น หาใช่การจ้างพนักงานให้เข้าร่วมจัดทำบริการสาธารณะ ดังนั้น คดีพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งสองจึงมิใช่คดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครองตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ อันจะอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง แต่เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ตามสัญญาจ้างแรงงานและกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๘ (๑) (๒) อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่างนายบุญชาย ศิริโภคทรัพย์ โจทก์ องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) ที่ ๑ นายเทพชัย หย่อง ที่ ๒ จำเลย อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) ไพโรจน์ วายุภาพ (ลงชื่อ) สุวัฒน์ วรรธนะหทัย
(นายไพโรจน์ วายุภาพ) (นายสุวัฒน์ วรรธนะหทัย)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) หัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล (ลงชื่อ) จรัญ หัตถกรรม
(นายหัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล) (นายจรัญ หัตถกรรม)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) พลโท สุขสันต์ สิงหเดช (ลงชื่อ) พลโท อาชวัน อินทรเกสร
(สุขสันต์ สิงหเดช) (อาชวัน อินทรเกสร)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

Share