คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6884/2543

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

การอ้างเหตุป้องกันตัวตามบทบัญญัติของประมวลกฎหมายอาญามาตรา 68 นั้น ผู้ยกขึ้นอ้างเป็นผู้ถูกกระทำโดยผู้กระทำได้กระทำโดยละเมิดต่อกฎหมาย จำเลยยอมรับว่าได้ใช้อาวุธปืนยิงในหมู่บ้านโดยใช่เหตุอันเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย การที่ผู้เสียหายซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตำรวจจะเข้าจับกุมจำเลย จึงเป็นการกระทำโดยชอบด้วยกฎหมาย แต่จำเลยวิ่งหนี เมื่อผู้เสียหายกับพวกไล่ตามไปเพื่อจับกุม จำเลยก็ใช้อาวุธปืนยิงผู้เสียหายแม้จะฟังอย่างที่จำเลยอ้างว่าเจ้าพนักงานตำรวจใช้อาวุธปืนยิงก็คงเป็นการยิงขู่เพื่อให้จำเลยยอมให้จับกุมมากกว่ามีเจตนาฆ่าจำเลย เพราะหากเป็นเช่นนั้นจำเลยคงต้องถูกกระสุนปืนบ้างไม่มากก็น้อย ข้อเท็จจริงจึงเป็นเรื่องที่จำเลยเป็นผู้กระทำผิดกฎหมาย โดยผู้เสียหายเป็นเจ้าพนักงานที่ปฏิบัติหน้าที่โดยชอบด้วยกฎหมาย จำเลยจึงไม่อาจยกเหตุป้องกันตัวขึ้นมาอ้างได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33, 80, 83, 91, 138, 140, 288, 289, 339, 340 ตรี, 371, 376 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิ ริบของกลาง

จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 140 วรรคสาม ประกอบด้วยมาตรา 138 วรรคสอง, 288, 289(2) ประกอบด้วยมาตรา 80, 340 ตรี ประกอบด้วยมาตรา 339 วรรคสี่, 371 และ 376 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 7, 8 ทวิ วรรคหนึ่ง, 72 วรรคหนึ่ง, 72 ทวิ วรรคสอง ซึ่งเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานพยายามฆ่าผู้อื่นให้จำคุกตลอดชีวิตกระทงหนึ่ง ฐานต่อสู้หรือขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติการตามหน้าที่โดยใช้กำลังประทุษร้ายโดยใช้อาวุธปืนและฐานพยายามฆ่าผู้อื่น กับพยายามฆ่าเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานพยายามฆ่าเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่ อันเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ให้จำคุกตลอดชีวิต กระทงหนึ่งฐานมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต ให้จำคุก 2 ปี กระทงหนึ่ง ฐานพาอาวุธปืนไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับอนุญาตและไม่มีเหตุสมควร (2 กระทง) ซึ่งเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบทให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด ให้จำคุกกระทงละ 1 ปี ฐานยิงปืนซึ่งใช้ดินระเบิดโดยใช่เหตุในเมือง หมู่บ้านหรือที่ชุมนุมชน ให้จำคุก 10 วันกระทงหนึ่ง ฐานชิงทรัพย์เป็นเหตุให้ผู้อื่นรับอันตรายสาหัสโดยใช้อาวุธปืน ให้จำคุก 30 ปี อีกกระทงหนึ่ง แม้จำเลยที่ 1 จะให้การรับสารภาพในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนก็เป็นเรื่องการจำนนต่อหลักฐาน และพฤติการณ์แห่งคดีเป็นภัยร้ายแรงต่อสังคมและผู้อื่น จึงไม่ลดโทษให้ เมื่อรวมโทษทุกกระทงแล้วคงจำคุกจำเลยที่ 1 ตลอดชีวิตสถานเดียว ริบของกลาง ให้ยกฟ้องทั้งหมดในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 2

จำเลยที่ 1 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า การที่จำเลยที่ 1 กระทำแก่ผู้เสียหายที่ 9 เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 ประกอบมาตรา 80 ลงโทษจำคุก 15 ปี เมื่อรวมความผิดทุกกระทงแล้วคงลงโทษจำคุกตลอดชีวิต นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

จำเลยที่ 1 ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ส่วนที่จำเลยที่ 1 ฎีกาข้อต่อไปว่า ความผิดฐานต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานตำรวจในการปฏิบัติหน้าที่โดยใช้กำลังประทุษร้ายโดยใช้อาวุธปืนและฐานพยายามฆ่าผู้อื่นกับพยายามฆ่าเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่ จำเลยที่ 1 ได้กระทำไปเพื่อป้องกันตนเองนั้น เห็นว่า ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 68 บัญญัติว่า “ผู้ใดจำต้องกระทำการใดเพื่อป้องกันสิทธิของตน หรือของผู้อื่นให้พ้นภยันตรายซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมาย และเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึงถ้าได้กระทำพอสมควรแก่เหตุ การกระทำนั้นเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายผู้นั้นไม่มีความผิด” ตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวเห็นได้ชัดแจ้งว่า การอ้างเหตุป้องกันตัวนั้น ผู้ยกขึ้นอ้างต้องเป็นผู้ถูกกระทำโดยผู้กระทำได้กระทำโดยละเมิดต่อกฎหมาย แต่ข้อเท็จจริงในคดีนี้จำเลยที่ 1 ยอมรับว่า จำเลยที่ 1 ได้ใช้อาวุธปืนยิงในหมู่บ้านโดยใช่เหตุอันเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย การที่ผู้เสียหายที่ 6 และที่ 7 ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตำรวจจะเข้าไปจับกุมจำเลยที่ 1 จึงเป็นการกระทำโดยชอบด้วยกฎหมาย แต่จำเลยที่ 1 วิ่งหนี เมื่อผู้เสียหายที่ 6 และที่ 7 กับพวกไล่ตามไปเพื่อจับกุม จำเลยที่ 1 ก็ใช้อาวุธปืนยิงผู้เสียหายที่ 6 และที่ 7 แม้จะฟังอย่างที่จำเลยที่ 1 อ้างว่าเจ้าพนักงานตำรวจใช้อาวุธปืนยิงก็คงเป็นการยิงขู่เพื่อให้จำเลยที่ 1 ยอมให้จับกุมมากกว่ามีเจตนาฆ่าจำเลยที่ 1 เพราะหากเป็นเช่นนั้นจำเลยที่ 1 คงต้องถูกกระสุนปืนบ้างไม่มากก็น้อย ข้อเท็จจริงจึงเป็นเรื่องที่จำเลยที่ 1 เป็นผู้กระทำผิดกฎหมายโดยผู้เสียหายที่ 6 และที่ 7 เป็นเจ้าพนักงานที่ปฏิบัติหน้าที่โดยชอบด้วยกฎหมายจำเลยที่ 1 จึงไม่อาจยกเหตุป้องกันตัวขึ้นมาอ้างได้ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาจำเลยที่ 1 ทุกข้อฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share