คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3064/2545

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

การที่จำเลยมีหนังสือแจ้งโจทก์ว่าจำเลยยื่นฟ้องขับไล่ ส. และจำเลยเป็นฝ่ายชนะคดี ให้โจทก์ในฐานะบริวารของ ส. ออกจากที่พิพาท เมื่อโจทก์เห็นว่าตนมิใช่บริวารของ ส. แต่เป็นเจ้าของครอบครองทำประโยชน์ในที่พิพาทมานานแล้ว แสดงว่ามีข้อโต้แย้งเกิดขึ้นเกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ระหว่างโจทก์กับจำเลยตามกฎหมายแพ่งอันเกี่ยวกับสิทธิในที่พิพาทแล้ว โจทก์มีสิทธิเสนอคดีของตนต่อศาลโดยยื่นฟ้องจำเลยซึ่งเป็นผู้โต้แย้งสิทธิของโจทก์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 55 ได้ แม้โจทก์จะยื่นฟ้องจำเลยก่อนที่เจ้าพนักงานบังคับคดีจะปิดประกาศกำหนดเวลาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 296 จัตวา (3)ในคดีที่จำเลยฟ้องขับไล่ ส. ออกจากที่พิพาทก็ตาม เพราะบทบัญญัติดังกล่าวแม้หากบุคคลนั้นไม่ยื่นคำร้องแสดงอำนาจพิเศษต่อศาลภายในเวลาตามที่กฎหมายกำหนด ก็เป็นเพียงให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าบุคคลนั้นเป็นบริวารของลูกหนี้ตามคำพิพากษาหาได้มีผลเป็นการตัดสิทธิห้ามบุคคลนั้นจะฟ้องร้องเป็นคดีใหม่ไม่ และเมื่อโจทก์มิได้ร้องขอเข้าไปในคดีที่จำเลยบังคับขับไล่ ส. โจทก์จึงมิได้อยู่ในฐานะเป็นคู่ความในคดีนั้นย่อมไม่ผูกพันในผลแห่งคดีดังกล่าวหรือจะถูกต้องห้ามมิให้ฟ้องร้องไม่ว่าจะด้วยบทบัญญัติแห่งกฎหมายในเรื่องฟ้องซ้ำหรือดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเป็นโจทก์ในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 1576/2535 ของศาลชั้นต้น ซึ่งคดีดังกล่าวจำเลยฟ้องนายเสย สิงตะโคตร เป็นจำเลย ขอให้ขับไล่ออกจากที่พิพาทและเรียกค่าเสียหาย คดีถึงที่สุดแล้ว ต่อมาจำเลยได้มีหนังสือถึงโจทก์ว่าจำเลยชนะคดีนายเสย โจทก์เป็นบริวารนายเสยและให้โจทก์ออกจากที่พิพาท โจทก์ไม่ใช่บริวารของนายเสย โจทก์ซื้อที่พิพาทซึ่งเป็นที่ดินมือเปล่ามาจากนายอ่ำ สิงตะโคตร และจำเลยไม่เคยโต้แย้งสิทธิของโจทก์มาก่อน ขอให้พิพากษาว่าที่พิพาทเป็นของโจทก์ ห้ามจำเลยและบริวารเกี่ยวข้อง

จำเลยให้การว่า จำเลยฟ้องนายเสยในคดีก่อนในฐานะที่จำเลยเป็นผู้จัดการมรดกของนายเสรี สุชาตะประคัลภ์ การซื้อขายที่พิพาทระหว่างโจทก์กับนายอ่ำไม่ชอบด้วยกฎหมาย คดีก่อนอยู่ระหว่างบังคับคดี โจทก์ฟ้องคดีนี้ไม่ชอบ ขอให้ยกฟ้อง

ชั้นชี้สองสถาน ศาลชั้นต้นพิจารณาคำแถลงของคู่ความแล้ว วินิจฉัยว่า โจทก์ชอบที่จะไปยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อแสดงอำนาจพิเศษในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 1576/2535ของศาลชั้นต้น ไม่มีสิทธิฟ้องเป็นคดีใหม่ต่างหาก การที่ศาลมีคำสั่งรับฟ้องเป็นการสั่งโดยผิดหลงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 27 จึงให้เพิกถอนคำสั่งดังกล่าวและมีคำสั่งไม่รับฟ้องของโจทก์ คืนค่าขึ้นศาลทั้งหมด

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายกคำสั่งศาลชั้นต้นให้รับฟ้องของโจทก์ตามคำสั่งเดิมของศาลชั้นต้น และให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปตามรูปคดี

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ปัญหาตามฎีกาของจำเลยมีว่า โจทก์มีสิทธิฟ้องจำเลยหรือไม่จำเลยฎีกาพอสรุปได้ว่า โจทก์ยังไม่ถูกโต้แย้งสิทธิ หากโจทก์ถูกโต้แย้งสิทธิก็เป็นเรื่องที่โจทก์ต้องร้องเข้าไปในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 1576/2535 ของศาลชั้นต้น โจทก์สืบสิทธิมาจากจำเลยในคดีแพ่งดังกล่าว จึงไม่มีสิทธิฟ้องจำเลย ฟ้องโจทก์เป็นฟ้องซ้ำและดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ ศาลฎีกาเห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องว่าจำเลยมีหนังสือแจ้งโจทก์ว่า จำเลยเป็นฝ่ายชนะคดีที่จำเลยยื่นฟ้องขับไล่นายเสย สิงตะโคตร ให้ออกจากที่พิพาทตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 1576/2535 ของศาลชั้นต้น โจทก์เป็นบริวารของนายเสยให้โจทก์ออกจากที่พิพาท โจทก์มิใช่บริวารของนายเสย โจทก์ได้ซื้อที่พิพาทซึ่งเป็นที่ดินมือเปล่ามาจากนายอ่ำ สิงตะโคตร ตั้งแต่ปี 2517 แล้วได้เข้าครอบครองทำประโยชน์ตั้งแต่นั้นมา โจทก์ไม่เคยทราบเรื่องที่จำเลยฟ้องนายเสย คำฟ้องของโจทก์ดังกล่าวแสดงว่ามีข้อโต้แย้งเกิดขึ้นเกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ระหว่างโจทก์กับจำเลยตามกฎหมายแพ่งอันเกี่ยวกับสิทธิในที่พิพาทแล้ว โจทก์จึงมีสิทธิเสนอคดีของตนต่อศาล โดยยื่นฟ้องจำเลยซึ่งเป็นผู้ที่โต้แย้งสิทธิของโจทก์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55 ได้ แม้โจทก์จะได้ยื่นฟ้องจำเลยก่อนที่เจ้าพนักงานบังคับคดีจะปิดประกาศกำหนดเวลาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 296 จัตวา (3) ในคดีที่จำเลยฟ้องขับไล่นายเสยออกจากที่พิพาทต่อศาลชั้นต้น ซึ่งศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ขับไล่นายเสยออกจากที่พิพาทก็ตาม ทั้งนี้เพราะตามบทบัญญัติดังกล่าวแม้หากบุคคลนั้นไม่ยื่นคำร้องแสดงอำนาจพิเศษต่อศาลภายในกำหนดเวลาตามกฎหมาย กฎหมายก็เพียงแต่ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นบริวารของลูกหนี้ตามคำพิพากษาหาได้มีผลเด็ดขาดเป็นการตัดสิทธิห้ามบุคคลนั้นจะฟ้องร้องเป็นคดีใหม่ไม่และเมื่อโจทก์มิได้ร้องเข้าไปในคดีที่จำเลยบังคับขับไล่นายเสย โจทก์จึงมิได้อยู่ในฐานะเป็นคู่ความในคดีนั้นย่อมไม่ผูกพันในผลแห่งคดีดังกล่าวหรือจะถูกต้องห้ามมิให้ฟ้องร้องไม่ว่าจะด้วยบทบัญญัติแห่งกฎหมายในเรื่องฟ้องซ้ำหรือดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษามานั้นชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share