คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 290/2541

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่มีประกาศคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติฉบับที่ 44 เรื่องการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ มีผลใช้บังคับในวันที่ 1 มีนาคม 2534ได้แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 โดยเพิ่มเติมมาตรา 10 ทวิขึ้นโดยให้อำนาจในกรณีที่รัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชกฤษฎีกาที่ออกตามมาตรา 6 เห็นว่าเมื่อคณะกรรมการได้ประกาศราคาเบื้องต้นสำหรับที่ดินที่จะเวนคืนทั้งหมดหรือบางส่วนแล้วถ้าปรากฏว่าราคาของที่ดินได้เพิ่มสูงขึ้นเป็นลำดับ และราคาของอสังหาริมทรัพย์ที่เจ้าหน้าที่ได้จ่ายให้แก่ผู้ถูกเวนคืนตามมาตรา 10 หรือราคาเบื้องต้นของอสังหาริมทรัพย์ที่คณะกรรมการได้กำหนดและประกาศไปแล้วตามมาตรา 9 ก่อให้เกิด ความไม่เป็นธรรมแก่บุคคลตามมาตรา 18 รัฐมนตรีโดยอนุมัติ ของคณะรัฐมนตรีมีอำนาจสั่งให้คณะกรรมการตามมาตรา 9 หรือ คณะกรรมการที่แต่งตั้งขึ้นใหม่ตามหลักเกณฑ์ในมาตรา 9 แก้ไข ราคาของอสังหาริมทรัพย์หรือราคาเบื้องต้นสำหรับที่ดิน เสียใหม่ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติได้และให้ถือว่าราคาของอสังหาริมทรัพย์ที่แก้ไขแล้วเป็นราคาซื้อขายที่ตกลงกันใหม่แทนราคาเดิม และราคาเบื้องต้น ที่แก้ไขแล้วเป็นราคาเบื้องต้นที่คณะกรรมการกำหนดตามมาตรา 9แล้วแต่กรณี ดังนี้ เมื่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยโดย อนุมัติของคณะรัฐมนตรีได้อาศัยอำนาจตามมาตรา 10 ทวิ วรรคหนึ่งแต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อทำหน้าที่แก้ไขราคาเบื้องต้นและจำนวนเงินค่าทดแทนอสังหาริมทรัพย์ที่จะต้องเวนคืนและคณะกรรมการเพื่อทำหน้าที่แก้ไขราคาเบื้องต้นฯ ได้กำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินให้แก่ผู้ถูกเวนคืนใหม่ เงินค่าทดแทนที่ดินของผู้ถูกเวนคืนที่คณะกรรมการเพื่อทำหน้าที่แก้ไขราคาเบื้องต้นฯ ได้กำหนดใหม่นี้จึงเป็นราคาเบื้องต้นที่คณะกรรมการกำหนดตามมาตรา 9 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 หากผู้ถูกเวนคืน โจทก์ไม่พอใจในจำนวนเงินค่าทดแทนดังกล่าวก็ย่อมมีสิทธิอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยอีกตามมาตรา 25 วรรคหนึ่งการที่ผู้ถูกเวนคืนได้ยื่นอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยภายในกำหนดเวลาตามมาตรา 25 วรรคหนึ่ง และเมื่อพ้นกำหนดเวลาหกสิบวันนับแต่วันที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยได้รับอุทธรณ์ของผู้ถูกเวนคืน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ก็ยังวินิจฉัยอุทธรณ์ของผู้ถูกเวนคืนไม่เสร็จ ผู้ถูกเวนคืนย่อมมีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่พ้นกำหนดเวลาหกสิบวันนับแต่วันที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยได้รับอุทธรณ์ของโจทก์ตามมาตรา 26 วรรคหนึ่ง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินที่ดินโจทก์บางส่วนเนื้อที่ 325 ตารางวาซึ่งอยู่ในบริเวณที่ที่จะเวนคืนตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน ในท้องที่อำเภอปากเกร็ด อำเภอเมืองนนทบุรีพ.ศ. 2530 ในเบื้องต้นจำเลยกำหนดเงินค่าทดแทนให้โจทก์รวม 754,000 บาท ต่อมาพิจารณาเพิ่มให้อีก 3,471,000 บาทตามประกาศคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ฉบับที่ 44ซึ่งไม่เป็นธรรมสำหรับโจทก์ โจทก์ได้ยื่นอุทธรณ์เงินค่าทดแทนดังกล่าวต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ได้พิจารณาแล้วเพิ่มเงินค่าที่ดินให้โจทก์อีกตารางวาละ 2,000 บาท เป็นตารางวาละ 15,000 บาท ซึ่งโจทก์เห็นว่าราคาดังกล่าวยังต่ำเกินไป จำเลยต้องเพิ่มเงินค่าทดแทนให้โจทก์อีกตารางวาละ 5,000 บาท รวมเป็นเงิน 1,625,000 บาทและค่าเสียหายจากการเสื่อมราคาของที่ดินส่วนที่เหลืออีก300,000 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 1,925,000 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 1,925,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสินในต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า เงินค่าทดแทนที่ดินที่ฝ่ายจำเลยกำหนดให้แก่โจทก์เป็นธรรมแล้ว ฟ้องของโจทก์ขาดอายุความเนื่องจากโจทก์ได้ยื่นอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2534 และรัฐมนตรีฯ ได้รับเรื่องไว้ในวันเดียวกันนั้น รัฐมนตรีฯ ไม่ได้วินิจฉัยอุทธรณ์ให้เสร็จภายใน 60 วัน หรือภายในวันที่ 2 เมษายน 2534 โจทก์ต้องฟ้องคดีภายใน 1 ปี นับแต่วันที่ 2 เมษายน 2534 แต่โจทก์เพิ่งนำคดีนี้มาฟ้องเมื่อวันที่ 17 มกราคม 2537 ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 975,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสินนับแต่วันฟ้อง จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์คำขออื่นให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า กรณีของโจทก์การฟ้องคดีได้เสร็จเด็ดขาดแล้วในปี 2535 โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาคณะคดีปกครองวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 25664ที่ดินของโจทก์ดังกล่าวบางส่วนเนื้อที่ 325 ตารางวา อยู่ในบริเวณที่ที่จะเวนคืนตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน ในท้องที่อำเภอปากเกร็ด อำเภอเมืองนนทบุรีพ.ศ. 2530 ซึ่งมีผลใช้บังคับในวันที่ 1 มกราคม 2531คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นฯ กำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินให้แก่โจทก์รวมเป็นเงิน 754,000 บาท โจทก์ได้มารับหนังสือแจ้งการวางเงินค่าทดแทนเองเมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2533โจทก์ไม่พอใจเงินค่าทดแทนดังกล่าวจึงยื่นอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2534ขอให้กำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินตารางวาละ 20,000 บาท ต่อมารัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยมีคำสั่งให้ชะลอการพิจารณาอุทธรณ์ไว้เนื่องจากมีประกาศคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติฉบับที่ 44 เรื่องการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ออกใช้บังคับซึ่งตามข้อ 1 และข้อ 5 ของกฎหมายฉบับนี้ได้แก้ไขหลักเกณฑ์ในการกำหนดค่าทดแทนที่ดินจากเดิมซึ่งให้กำหนดโดยถือราคาตาม มาตรา 21(2) หรือ (3) แล้วแต่ราคาใดจะสูงกว่าเป็นเกณฑ์มาเป็นว่า ให้กำหนดโดยอาศัยหลักเกณฑ์ตามมาตรา 21 ทั้งมาตรา และให้มีผลใช้บังคับแก่การเวนคืนซึ่งการอุทธรณ์หรือการฟ้องคดียังไม่เสร็จเด็ดขาดในวันที่ประกาศฉบับนี้ใช้บังคับด้วย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยได้มีคำสั่งกระทรวงมหาดไทย ที่ 790/2534 แต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อทำหน้าที่แก้ไขราคาเบื้องต้นฯ คณะกรรมการเพื่อทำหน้าที่แก้ไขราคาเบื้องต้นฯ กำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินให้แก่โจทก์เป็นตารางวาละ 13,000 บาท แล้ววันที่ 20 พฤศจิกายน 2535จำเลยได้แจ้งให้โจทก์ไปรับเงินค่าทดแทนเพิ่มในวันเดียวกันนั้นโจทก์ได้รับเงินค่าทดแทนเพิ่มขึ้นอีก 3,471,000 บาท โจทก์ยังคงไม่พอใจจึงได้ยื่นอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยอีกครั้งเมื่อวันที่ 18 มกราคม 2536 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยพิจารณาแล้วกำหนดว่าค่าทดแทนที่ดินให้แก่โจทก์เป็นตารางวาละ15,000 บาท แล้วแจ้งให้โจทก์ทราบเมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2537ซึ่งเป็นเวลาภายหลังจากที่โจทก์ฟ้องคดีนี้แล้วเมื่อวันที่ 17มกราคม 2537
ปัญหาตามฎีกาของโจทก์ประการแรกมีว่า โจทก์ยังคงมีสิทธิฟ้องคดีนี้หรือไม่ เห็นว่า ประกาศคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติฉบับที่ 44 เรื่องการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ มีผลใช้บังคับในวันที่ 1 มีนาคม 2534 ได้แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์พ.ศ. 2530 โดยเพิ่มเติมมาตรา 10 ทวิ ด้วย มาตรา 10 ทวิวรรคหนึ่งบัญญัติว่า “ในกรณีที่รัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชกฤษฎีกาที่ออกตามมาตรา 6 เห็นว่า เมื่อคณะกรรมการได้ประกาศราคาเบื้องต้นสำหรับที่ดินที่จะเวนคืนทั้งหมดหรือบางส่วนแล้ว ถ้าปรากฏว่าราคาของที่ดินได้เพิ่มสูงขึ้นเป็นลำดับและราคาของอสังหาริมทรัพย์ที่เจ้าหน้าที่ได้จ่ายให้แก่ผู้ถูกเวนคืนตามมาตรา 10 หรือราคาเบื้องต้นของอสังหาริมทรัพย์ที่คณะกรรมการได้กำหนดและประกาศไปแล้วตามมาตรา 9 ก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมแก่บุคคลตามมาตรา 18รัฐมนตรีโดยอนุมัติของคณะรัฐมนตรีมีอำนาจสั่งให้คณะกรรมการตามมาตรา 9 หรือคณะกรรมการที่แต่งตั้งขึ้นใหม่ตามหลักเกณฑ์ในมาตรา 9 แก้ไขราคาของอสังหาริมทรัพย์หรือราคาเบื้องต้นสำหรับที่ดินเสียใหม่ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติได้ และให้ถือว่าราคาของอสังหาริมทรัพย์ที่แก้ไขแล้วเป็นราคาซื้อขายที่ตกลงกันใหม่แทนราคาเดิม และราคาเบื้องต้นที่แก้ไขแล้วเป็นราคาเบื้องต้นที่คณะกรรมการกำหนดตามมาตรา 9แล้วแต่กรณี” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยโดยอนุมัติของคณะรัฐมนตรีได้อาศัยอำนาจตามมาตรา 10 ทวิ วรรคหนึ่งแต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อทำหน้าที่แก้ไขราคาเบื้องต้นและจำนวนเงินค่าทดแทนอสังหาริมทรัพย์ที่จะต้องเวนคืนในท้องที่อำเภอเมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี ตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน ในท้องที่อำเภอปากเกร็ดอำเภอเมืองนนทบุรี พ.ศ. 2530 ตามคำสั่งกระทรวงมหาดไทยที่ 790/2534 คณะกรรมการเพื่อทำหน้าที่แก้ไขราคาเบื้องต้นฯได้กำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินให้แก่โจทก์ใหม่เป็นตารางวาละ13,000 บาท เนื้อที่ 325 ตารางวา รวมเป็นเงิน 4,225,000 บาทเงินค่าทดแทนที่ดินของโจทก์ที่คณะกรรมการเพื่อทำหน้าที่แก้ไขราคาเบื้องต้นฯ ได้กำหนดใหม่นี้จึงเป็นราคาเบื้องต้นที่คณะกรรมการกำหนดตามมาตรา 9 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 ดังนั้น เมื่อโจทก์ไม่พอใจในจำนวนเงินค่าทดแทนดังกล่าวย่อมมีสิทธิอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย อีกตามมาตรา 25 วรรคหนึ่ง ซึ่งโจทก์ก็ได้ยื่นอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เมื่อวันที่ 18 มกราคม 2536 อยู่ภายในกำหนดเวลาตามมาตรา 25 วรรคหนึ่งและเมื่อพ้นกำหนดเวลาหกสิบวันนับแต่วันที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยได้รับอุทธรณ์ของโจทก์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ก็ยังวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ไม่เสร็จโจทก์ย่อมมีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่พ้นกำหนดเวลาหกสิบวันนับแต่วันที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยได้รับอุทธรณ์ของโจทก์ตามมาตรา 26 วรรคหนึ่ง ซึ่งโจทก์ก็ได้ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2537 ภายในกำหนดเวลาตามมาตรา 26 วรรคหนึ่งแล้ว โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องคดีนี้
ปัญหาสุดท้ายโจทก์ฎีกาขอให้กำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินให้แก่โจทก์เพิ่มขึ้นพร้อมดอกเบี้ยตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้นปัญหานี้จำเลยอุทธรณ์ไว้ว่าค่าทดแทนที่โจทก์ได้รับเป็นธรรมแล้วจำเลยไม่ต้องจ่ายค่าทดแทนเพิ่มแก่โจทก์ และไม่ต้องรับผิดในดอกเบี้ย แต่ศาลอุทธรณ์ยังไม่ได้วินิจฉัย ศาลฎีกาเห็นว่าข้อเท็จจริงตามที่คู่ความทั้งสองฝ่ายนำสืบมาเพียงพอแก่การวินิจฉัยในปัญหานี้แล้วจึงเห็นควรวินิจฉัยไปโดยไม่ต้องย้อนสำนวนไม่ปรากฏว่ามีบทบัญญัติเกี่ยวกับการกำหนดเงินค่าทดแทนไว้เป็นพิเศษในพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ฉบับใดโดยเฉพาะ ดังนี้การกำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินให้แก่โจทก์จึงต้องบังคับตามมาตรา 21(1) ถึง (5) แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 ที่ศาลชั้นต้นกำหนดเงินค่าทดแทนให้แก่โจทก์เฉลี่ยตารางวาละ 18,000 บาทเพิ่มขึ้นจากที่คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์กำหนดอีกตารางวาละ3,000 บาท นั้น เป็นการกำหนดโดยได้คำนึงถึงมาตรา 21(1)ถึง (5) ซึ่งเป็นธรรมแก่โจทก์ผู้ถูกเวนคืนและสังคมแล้ว เมื่อจำเลยต้องชำระเงินค่าทดแทนเพิ่มให้แก่โจทก์ตามคำวินิจฉัยของศาล โจทก์จึงมีสิทธิได้รับดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประจำของธนาคารออมสินที่เปลี่ยนแปลงไปตามประกาศของธนาคารออมสินในจำนวนเงินที่เพิ่มขึ้นตามมาตรา 26 วรรคสาม นับแต่วันฟ้องตามที่โจทก์ขออันเป็นเวลาหลังจากวันที่ต้องมีการจ่ายหรือวางเงินค่าทดแทนซึ่งเป็นวันเริ่มต้นชำระดอกเบี้ยตามมาตรา 26 วรรคสาม
พิพากษากลับ ให้บังคับคดีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

Share