คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 961/2541

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตามมาตรา 26 วรรคห้า แห่ง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมป.รัษฎากร (ฉบับที่ 30) พ.ศ.2534 นั้น เป็นเรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการที่ผ่อนผันให้ผู้ประกอบการการขายสินค้าหรือการให้บริการได้รับสิทธิชำระภาษีการค้าต่อไปโดยได้รับการยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการขายสินค้าตามสัญญาจะขายหรือให้เช่าซื้อสินค้า การให้เช่าเครื่องจักร เครื่องมือ หรือเครื่องกลที่ใช้ในการผลิตหรือการให้บริการ ที่ได้มีการทำสัญญาจะขาย สัญญาเช่าซื้อ สัญญาเช่าและมีการผ่อนชำระหรือชำระค่าเช่าตามสัญญาก่อนวันที่ 1 มกราคม 2535 ซึ่งวรรคห้าของมาตรา 26 บัญญัติว่า “ในกรณีที่มีปัญหาในการปฏิบัติตามมาตรานี้ให้อธิบดีมีอำนาจวินิจฉัย และคำวินิจฉัยของอธิบดีให้ถือเป็นที่สุด” นั้น หมายความว่า บทบัญญัติดังกล่าวให้อำนาจแก่อธิบดีกรมสรรพากรที่จะวินิจฉัยปัญหาข้อขัดข้องต่าง ๆ ในชั้นที่ผู้ประกอบการยื่นคำขอรับสิทธิเสียภาษีการค้าต่อไปอีกว่า กรณีเข้าหลักเกณฑ์และถูกต้องตามวิธีการที่กฎหมายกำหนดหรือไม่ ดังนั้น ที่กฎหมายบัญญัติว่า คำวินิจฉัยของอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับปัญหาในการปฏิบัติตามมาตรานี้เป็นที่สุด จึงย่อมต้องหมายความว่าเป็นที่สุดในขั้นตอนของการปฏิบัติงานในชั้นนี้เท่านั้น เพื่อที่จะได้ดำเนินการตามขั้นตอนตามมาตราอื่นต่อไป หาได้ทำให้ขั้นตอนอื่นที่กฎหมายกำหนดเป็นอันยุติไปด้วยไม่ หากจะแปลตามมาตรา 26 วรรคห้า ว่า คำวินิจฉัยอธิบดีกรมสรรพากรกรณีนี้เป็นที่สุด ไม่สามารถยกขึ้นพิจารณาทบทวนได้อีก แม้คำวินิจฉัยนั้นไม่มีกฎหมายให้อำนาจหรือปราศจากพยานหลักฐานและเหตุผลสนับสนุนเพียงพอก็จะเป็นการให้อำนาจเด็ดขาดแก่อธิบดีกรมสรรพากรแต่เพียงผู้เดียว ทั้งจะเป็นการทำลายระบบการอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์และการฟ้องคดีต่อศาลภาษีอากรที่กฎหมายบัญญัติไว้ด้วย ดังนั้น เมื่อคำวินิจฉัยของอธิบดีกรมสรรพากรที่ว่าโจทก์ไม่ได้รับสิทธิเสียภาษีการค้าหรือยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นการโต้แย้งสิทธิโจทก์ โจทก์ได้อุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์และคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ได้มีคำวินิจฉัยอุทธรณ์แล้ว โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องคดีต่อศาลได้
โจทก์บรรยายฟ้องว่าโจทก์เป็นผู้ขายวัสดุอุปกรณ์ เช่นเหล็ก หิน ปูน ทราย ซีเมนต์ ไม้ อิฐ กระเบื้อง พรม สุขภัณฑ์ ท่อ สายไฟฟ้า สีที่ใช้ในการตกแต่งห้องชุด ซึ่งแยกต่างหากจากโครงสร้างอาคาร โดยทำสัญญาจะซื้อจะขายกับลูกค้า จำเลยหาได้ให้การปฏิเสธว่า เหล็ก หิน ทราย ซีเมนต์ ไม้และอิฐ ที่โจทก์ทำสัญญาจะขายให้แก่ลูกค้ามิใช่วัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ในการตกแต่งอาคารชุดแต่อย่างใดไม่ ข้อเท็จจริงจึงฟังเป็นยุติตามคำฟ้องว่า เหล็ก หิน ทราย ซีเมนต์ ไม้และอิฐ ที่โจทก์ทำสัญญาจะขายตามฟ้องเป็นวัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ในการตกแต่งห้องชุดอุทธรณ์ของจำเลยที่ว่า เหล็ก หิน ทราย ซีเมนต์ ไม้ อิฐ ที่โจทก์ทำสัญญาจะขายให้แก่ลูกค้า มิได้เป็นวัสดุอุปกรณ์ในการตกแต่งห้องชุด แต่เป็นวัสดุก่อสร้างตัวอาคารโดยตรงนั้น จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลภาษีอากร ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ.มาตรา 225 ประกอบด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 29 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ที่จำเลยอุทธรณ์ว่า สัญญาจะซื้อจะขายมีได้เฉพาะอสังหาริมทรัพย์แต่ทรัพย์สินที่โจทก์ขายแก่ลูกค้าเป็นสังหาริมทรัพย์ จึงไม่อาจจะเป็นสัญญาจะซื้อขายได้นั้น เกี่ยวกับการประเมินภาษีรายนี้ นอกจากจะมีคำวินิจฉัยของอธิบดีกรมสรรพากรว่า โจทก์ไม่ได้รับสิทธิเสียภาษีการค้าต่อไปแล้ว อธิบดีกรมสรรพากรยังได้มีคำวินิจฉัยเกี่ยวกับสัญญาซื้อขายวัสดุอุปกรณ์ที่โจทก์ทำกับลูกค้านั้นว่า “กรณีเป็นสัญญาจะขายหากมีการผ่อนชำระเงินตามสัญญา โดยมีหลักฐานชัดแจ้ง บริษัท (โจทก์) ก็ย่อมได้รับสิทธิเสียภาษีการค้า หรือยกเว้นภาษีการค้าต่อไปตามมาตรา 26” คำวินิจฉัยดังกล่าวเป็นคำวินิจฉัยของอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับปัญหาในทางปฏิบัติตามมาตรา26 แห่ง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติม ป.รัษฎากร (ฉบับที่ 30) พ.ศ.2534 โดยวินิจฉัยว่าสัญญาซื้อขายวัสดุอุปกรณ์ที่โจทก์ทำกับลูกค้าที่ซื้อห้องชุดโครงการ ส.และโครงการก.เป็นสัญญาจะขายไม่ปรากฏว่าโจทก์และจำเลยได้กล่าวอ้างว่าคำวินิจฉัยของอธิบดีกรมสรรพากรฉบับนี้ไม่ชอบแต่อย่างใด ทั้งไม่มีคู่ความฝ่ายใดขอให้ยกเลิกเพิกถอนด้วยคำวินิจฉัยของอธิบดีกรมสรรพากรที่ว่า กรณีเป็นสัญญาจะขายจึงถึงที่สุด ตามมาตรา26 วรรคห้า แห่ง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติม ป.รัษฎากร (ฉบับที่ 30) พ.ศ.2534จำเลยจึงโต้เถียงว่าสัญญาซื้อขายวัสดุอุปกรณ์มิใช่สัญญาจะขายอีกไม่ได้
การรับเงินค่างวดจากลูกค้าผู้ทำสัญญาซื้อวัสดุอุปกรณ์ในการตกแต่งห้องชุด ซึ่งมีการผ่อนชำระตามสัญญาก่อนวันที่ 1 มกราคม 2535 นั้น เพื่อความสะดวกแก่ลูกค้าที่จะได้ชำระเงินในคราวเดียว โจทก์จึงให้บริษัท ส. และบริษัท ก. ซึ่งเป็นเจ้าของโครงการรับเงินจากลูกค้าแทน ตามตัวอย่างใบเสร็จรับเงินค่างวดจากลูกค้าของบริษัท ส. ลงวันที่ 31 พฤษภาคม 2534 ออกให้แก่ ว.ระบุรายละเอียดว่าเป็นการชำระค่างวดที่ 12 ห้อง 2015 จำนวน 20,000 บาทแยกเป็น รับชำระค่างวดบริษัท ส.จำนวน 9,000 บาท รับชำระค่างวดแทนบริษัทโจทก์จำนวน 10,000 บาท และรับชำระค่างวดแทนบริษัท ย.จำนวน 1,000บาท ส่วนใบเสร็จรับเงินของบริษัท ก.ลงวันที่ 30 สิงหาคม 2534 ออกให้แก่ ร.ระบุรายละเอียดว่าชำระค่างวดที่ 6 ห้อง 1810 จำนวน 18,000 บาท แยกเป็นรับชำระค่างวดบริษัท ก.จำนวน 9,200 บาท รับชำระค่างวดแทนบริษัทโจทก์จำนวน8,000 บาท และรับชำระค่างวดแทนบริษัท ย.จำนวน 800 บาท แสดงว่าลูกค้าซึ่งได้ทำสัญญาซื้อขายวัสดุอุปกรณ์อันเป็นสัญญาจะขายกับโจทก์ได้ผ่อนชำระเงินตามสัญญานั้นแล้วก่อนวันที่ 1 มกราคม 2535 โดยชำระแก่บริษัท ส.หรือบริษัท ก.ซึ่งเป็นตัวแทนของโจทก์
การรับชำระเงินที่ลูกค้าผ่อนชำระตามสัญญาจะซื้อขายนั้นกฎหมายมิได้บังคับว่าต้องทำเป็นหนังสือ ดังนั้น การที่โจทก์ตั้งบริษัท ส. และบริษัท ก.เป็นตัวแทนรับชำระเงินจึงไม่ต้องทำเป็นหนังสือ
วิธีการใช้เกณฑ์สิทธิเพื่อคำนวณรายได้และรายจ่าย ที่บัญญัติไว้ใน ป.รัษฎากร มาตรา 65 เป็นข้อกฎหมาย คู่ความจึงไม่ต้องนำสืบ
โจทก์เป็นผู้ประกอบการการขายสินค้าซึ่งได้ทำสัญญาจะขายและลูกค้าได้ผ่อนชำระตามสัญญานั้นแล้วก่อนวันที่ 1 มกราคม 2535 เมื่อโจทก์ยื่นคำขอรับสิทธิเพื่อเสียภาษีการค้าต่อไปภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ 1 มกราคม2535 โจทก์ย่อมได้รับสิทธิเสียภาษีการค้าตามหมวด 4 ในลักษณะ 2 แห่งป.รัษฎากร ก่อนการแก้ไขเพิ่มเติม ทั้งนี้ตาม พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติม ป.รัษฎากร(ฉบับที่ 30) พ.ศ.2534 มาตรา 26

Share