แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ทั้งสองกับจำเลยตกลงร่วมเดินรถด้วยกันโดยจะนำรถยนต์โดยสารเข้าวิ่งในเส้นทางที่ได้รับอนุญาตบริษัทละเท่าๆ กัน เมื่อกรมการขนส่งทางบกออกใบอนุญาตให้จำเลยเป็นผู้ได้รับอนุญาตประกอบการขนส่งประจำทางซึ่งสิ้นอายุวันที่ 2 พฤศจิกายน 2537 การที่โจทก์ที่ 2 ยื่นคำร้องขอให้ศาลบังคับให้จำเลยปฏิบัติตามคำพิพากษาที่ให้จำเลยบรรจุรถยนต์โดยสารของโจทก์ทั้งสองเข้าร่วมเดินรถเมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2539 เป็นการขอบังคับคดีที่ล่วงพ้นเวลาที่จำเลยต้องรับผิด ศาลจึงไม่อาจบังคับคดีได้
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยบรรจุรถยนต์โดยสารของโจทก์ทั้งสองเข้าร่วมเดินรถในเส้นทางสายที่ 644 พิษณุโลก – อุดรธานี กับให้ชำระค่าเสียหายแก่โจทก์ทั้งสองบริษัทละ 6,000 บาทต่อวัน นับแต่วันที่ 3 เมษายน 2531 เป็นต้นไปจนกว่าจำเลยจะบรรจุรถยนต์โดยสารของโจทก์ทั้งสองบริษัทละ 2 คัน เข้าร่วมเดินรถในเส้นทางสายที่ 644 พิษณุโลก – อุดรธานี แต่ค่าเสียหายคิดถึงวันฟ้องไม่เกิน 4,092,000 บาท ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน ศาลฎีกาพิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระค่าเสียหายแก่โจทก์ที่ 1 เป็นเงิน 3,000 บาท ต่อวัน นับตั้งแต่วันที่ 7 เมษายน 2531 และแก่โจทก์ที่ 2 เป็นเงิน 3,000 บาท ต่อวัน นับตั้งแต่วันที่ 13 เมษายน 2531 จนกว่าจำเลยจะบรรจุรถยนต์โดยสารของโจทก์ทั้งสองบริษัทละ 2 คัน เข้าร่วมเดินรถในเส้นทางสายที่ 644 พิษณุโลก – อุดรธานี แต่ทั้งนี้ไม่เกินวันที่ 2 พฤศจิกายน 2537 และค่าเสียหายคิดถึงวันฟ้องต้องไม่เกิน 4,092,000 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 ต่อมาโจทก์ที่ 2 ยื่นคำร้องลงวันที่ 14 สิงหาคม 2539 ขอให้ศาลชั้นต้นบังคับจำเลยให้ยอมให้โจทก์ที่ 2 นำรถยนต์โดยสารเข้าร่วมเดินรถในเส้นทางสายที่ 644 พิษณุโลก – อุดรธานี
จำเลยยื่นคำคัดค้าน ขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วมีคำสั่งยกคำร้อง
โจทก์ที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์เป็นพับ
โจทก์ที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ที่ 2 ว่า โจทก์ที่ 2 ขอให้ศาลชั้นต้นบังคับให้จำเลยบรรจุรถยนต์โดยสารของโจทก์ที่ 2 เข้าร่วมเดินรถในเส้นทางสายที่ 644 พิษณุโลก – อุดรธานี ได้หรือไม่ เห็นว่า แม้คำพิพากษาศาลฎีกาจะไม่ได้แก้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 ที่พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่พิพากษาให้จำเลยบรรจุรถยนต์โดยสารของโจทก์ทั้งสองเข้าร่วมเดินรถในเส้นทางสายที่ 644 พิษณุโลก – อุดรธานี ก็ตาม แต่เมื่อโจทก์ทั้งสองกับจำเลยตกลงร่วมเดินรถด้วยกันโดยจะนำรถยนต์โดยสารเข้าวิ่งในเส้นทางที่ได้รับอนุญาตบริษัทละเท่า ๆ กัน และเมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2530 กรมการขนส่งทางบกได้ออกใบอนุญาตให้จำเลยเป็นผู้ได้รับอนุญาตประกอบการขนส่งประจำทางด้วย ซึ่งสิ้นอายุวันที่ 2 พฤศจิกายน 2537 เมื่อพ้นกำหนดดังกล่าวจำเลยไม่ต้องรับผิด โจทก์ที่ 2 ยื่นคำร้องขอให้ศาลบังคับให้จำเลยปฏิบัติตามคำพิพากษาดังกล่าว เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2539 เป็นการขอบังคับคดีที่ล่วงพ้นเวลาที่จำเลยต้องรับผิด ศาลไม่อาจบังคับได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นและชั้นฎีกาให้เป็นพับ.