คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8467/2555

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ความรับผิดของจำเลยเกิดจากที่ดินที่จำเลยขายให้แก่โจทก์ถูกรอนสิทธิ หาใช่เพราะจำเลยทำละเมิดต่อโจทก์ อันจะอ้างอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 448 มาปรับใช้หาได้ไม่ ซึ่งอายุความในเรื่องการรอนสิทธิมีบัญญัติไว้ในมาตรา 481 เฉพาะกรณีที่ผู้ซื้อได้ประนีประนอมยอมความกับบุคคลภายนอก หรือยอมตามที่บุคคลภายนอกเรียกร้อง เมื่อที่ดินถูกเพิกถอนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ จึงไม่เข้าบทบัญญัติดังกล่าว เมื่อไม่มีกฎหมายกำหนดอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงต้องใช้อายุความทั่วไปตามที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 193/30 มีกำหนดสิบปี

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยชดใช้ค่าที่ดิน 800,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวนดังกล่าวนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 800,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวนดังกล่าวนับแต่วันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 2 พฤศจิกายน 2549) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความ 5,000 บาท
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า เรื่องความรับผิดในการรอนสิทธินั้น ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 479 บัญญัติว่า ถ้าทรัพย์สินซึ่งซื้อขายกันหลุดไปจากผู้ซื้อทั้งหมดหรือแต่บางส่วนเพราะเหตุการณ์รอนสิทธิก็ดี หรือว่าทรัพย์สินนั้นตกอยู่ในบังคับแห่งสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดซึ่งเป็นเหตุให้เสื่อมราคา หรือเสื่อมความเหมาะสมแก่การที่จะใช้ หรือเสื่อมความสะดวกในการใช้สอย หรือเสื่อมประโยชน์อันจะพึงได้แต่ทรัพย์สินนั้น และซึ่งผู้ซื้อหาได้รู้ในเวลาซื้อขายไม่ก็ดี ท่านว่าผู้ขายต้องรับผิด ดังนั้น เมื่อปรากฏว่าที่ดินที่จำเลยขายให้แก่โจทก์ต้องหลุดไปจากโจทก์ผู้ซื้อทั้งหมดเพราะอธิบดีกรมที่ดินมีคำสั่งเพิกถอนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ เนื่องจากการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ของที่ดินแปลงดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย อันเป็นการรอนสิทธิของโจทก์ในอันที่จะครอบครองและใช้ประโยชน์ในที่ดินแปลงดังกล่าวนั้น ซึ่งโจทก์ผู้ซื้อหาได้รู้ในเวลาที่ซื้อขายกับจำเลยไม่ ดังนั้น จำเลยผู้ขายจึงต้องรับผิดตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว ฉะนั้น แม้จะได้ความตามฎีกาของจำเลยว่าจำเลยได้ที่ดินมาโดยสุจริตเสียค่าตอบแทน และการซื้อขายกระทำที่สำนักงานที่ดินโดยมีพนักงานเจ้าหน้าที่เป็นผู้ดำเนินการก็ตาม ก็ไม่อาจทำให้จำเลยพ้นความรับผิดไปได้ ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ความรับผิดของจำเลยในเรื่องนี้เกิดจากทรัพย์คือที่ดินที่จำเลยขายให้แก่โจทก์ถูกรอนสิทธิจนทำให้ที่ดินหลุดไปจากโจทก์ผู้ซื้อทั้งหมด หาใช่เพราะจำเลยกระทำละเมิดต่อโจทก์อันจะอ้างอายุความตาม มาตรา 448 มาปรับใช้หาได้ไม่ ซึ่งอายุความในเรื่องการรอนสิทธิที่บัญญัติไว้ในมาตรา 481 มีเฉพาะกรณีที่ผู้ซื้อฟ้องหรือถูกฟ้องคดีได้ประนีประนอมยอมความกับบุคคลภายนอก หรือยอมตามที่บุคคลภายนอกเรียกร้องเท่านั้น เมื่อข้อเท็จจริงคดีนี้ได้ความว่า ที่ดินที่จำเลยขายให้แก่โจทก์ถูกเพิกถอนหนังสือรับรองการทำประโยชน์โดยคำสั่งของอธิบดีกรมที่ดิน จึงไม่เข้าบทบัญญัติมาตราดังกล่าว และเมื่อไม่มีกฎหมายกำหนดอายุความไว้โดยเฉพาะจึงต้องใช้อายุความทั่วไปตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 193/30 ซึ่งมีกำหนดสิบปี และการนับอายุความเป็นไปตามบทบัญญัติของมาตรา 193/12 ที่ว่าอายุความให้เริ่มนับแต่ขณะที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไป ซึ่งการรอนสิทธิที่ดินที่จำเลยขายให้แก่โจทก์เกิดขึ้นเมื่ออธิบดีกรมที่ดินมีคำสั่งเพิกถอนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ที่ดินแปลงดังกล่าวเมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2548 อายุความจึงเริ่มนับตั้งแต่วันดังกล่าวเป็นต้นไป เมื่อนับถึงวันที่ 2 พฤศจิกายน 2549 ซึ่งโจทก์ฟ้องคดีนี้ยังไม่เกิน 10 ปี คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share