คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3874-3878/2543

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างกับ ช. และ อ. และได้ทำสัญญาต่อเติมตกแต่งอาคารกับโจทก์ โดยคำฟ้องของโจทก์แสดงข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาว่าเป็นเรื่องจ้างทำของ และสภาพแห่งข้อหาคือ ไม่ชำระเงินค่าว่าจ้างให้ครบตามสัญญา โดยไม่ได้กล่าวอ้างถึงนิติสัมพันธ์ตามสัญญาอื่นรวมอยู่กับสัญญาว่าจ้างต่อเติมตกแต่งอาคารด้วย สัญญาจะซื้อจะขายดังกล่าวมี ช. กับ อ. เป็นคู่สัญญาฝ่ายผู้จะขาย แต่สัญญาว่าจ้างต่อเติมตกแต่งอาคารมีโจทก์เป็นคู่สัญญาฝ่ายผู้รับจ้าง สัญญาทั้งสองฉบับไม่ปรากฏว่ามีข้อความใด ๆ ที่อ้างถึงสัญญาอีกฉบับหนึ่งหรือระบุให้เห็นว่าสัญญาทั้งสองฉบับมีส่วนเกี่ยวข้องกัน ดังนั้นสัญญาทั้งสองฉบับจึงแยกต่างหากจากกัน เมื่อโจทก์กับจำเลยทำสัญญาว่าจ้างต่อเติมตกแต่งอาคารซึ่งอยู่ในลักษณะจ้างทำของ แต่สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างอยู่ในลักษณะซื้อขาย การนำสัญญาทั้งสองฉบับมารวมกันแล้วถือว่าเป็นสัญญาฉบับเดียวกัน ย่อมไม่ชอบด้วยเจตนารมณ์ของกฎหมายที่ได้กำหนดลักษณะของสัญญาแต่ละชนิดไว้ ดังนั้นในระหว่างโจทก์กับจำเลย การปฏิบัติต่อกันระหว่างคู่สัญญากับการบังคับตามสัญญาต้องเป็นไปตามลักษณะจ้างทำของ จึงต้องใช้อายุความ 2 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/34 (7)

ย่อยาว

คดีทั้งห้าสำนวน ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้รวมพิจารณาเป็นคดีเดียวกัน โดยให้เรียกจำเลยสำนวนแรกว่าจำเลยที่ 1 จำเลยในสำนวนต่อ ๆ ไปว่าจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ตามลำดับ
โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งห้าสำนวนขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ชำระเงินให้แก่โจทก์ 2,170,496 บาท จำเลยที่ 2 ชำระ 1,990,496 บาท จำเลยที่ 3 ชำระ 3,980,928 บาท จำเลยที่ 4 ชำระ 3,980,928 บาท และจำเลยที่ 5 ชำระ 2,230,496 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ และให้โจทก์มีสิทธิยึดหน่วงตึกแถวที่ซื้อจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งห้าให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งห้าชำระเงินพร้อมดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ (โดยคำนวณให้ใหม่ไม่ตรงตามที่โจทก์ขอ) กับให้โจทก์มีสิทธิยึดหน่วงตึกพิพาทของจำเลยทั้งห้าจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้จำเลยทั้งห้าสำนวนใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความสำนวนละ 30,000 บาท
จำเลยทั้งห้าอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ให้จำเลยทั้งห้าสำนวนใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์สำนวนละ 5,000 บาท แทนโจทก์
จำเลยทั้งห้าฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า สำหรับค่าไฟฟ้าและน้ำประปาที่โจทก์อ้างว่าได้สำรองจ่ายแทนจำเลยทั้งห้านั้น ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 ชำระเงิน 9,600 บาท 9,600 บาท 19,200 บาท 19,200 บาท และ 9,600 บาท ตามลำดับ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ จำเลยทั้งห้าไม่ได้ฎีกาโต้แย้งในส่วนนี้ ค่าไฟฟ้าและน้ำประปาดังกล่าวจึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลล่างทั้งสอง ดังนั้นจำเลยทั้งห้าจึงต้องชำระเงินดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ ส่วนที่จำเลยทั้งห้าฎีกาว่า สัญญาว่าจ้างต่อเติมตกแต่งอาคารพาณิชย์ระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งห้าเป็นสัญญาจ้างทำของ โจทก์นำคดีนี้มาฟ้องเกินเวลา 2 ปี จึงขาดอายุความนั้น เห็นว่า คำฟ้องของโจทก์ระบุชัดเจนว่า จำเลยทั้งห้าได้ตกลงว่าจ้างโจทก์ให้ตกแต่งต่อเติมอาคารโจทก์ตกลงรับจ้างและได้ทำสัญญาว่าจ้างตามสำเนาสัญญาว่าจ้างต่อเติมตกแต่งอาคารพาณิชย์เอกสารท้ายคำฟ้อง หลังจากโจทก์ตกลงรับจ้างตกแต่งต่อเติมอาคารตึกแถวแล้ว โจทก์กับผู้เป็นหุ้นส่วนได้ดำเนินการต่อเติมตกแต่งอาคารตึกแถวจนแล้วเสร็จภายในกำหนดตามสัญญาจ้าง จำเลยทั้งห้าชำระค่าจ้างให้แก่โจทก์เพียงบางส่วน โจทก์ได้ทวงถามให้จำเลยทั้งห้าชำระค่าจ้างที่ยังคงค้างชำระหลายครั้ง จนในที่สุดได้มอบให้ทนายความมีหนังสือทวงถาม หากจำเลยไม่ชำระเงินดังกล่าวภายในกำหนดโจทก์กับผู้เป็นหุ้นส่วนซึ่งได้ครอบครองอาคารพาณิชย์มาโดยตลอดขอใช้สิทธิยึดหน่วงตามกฎหมาย ทั้งเป็นหนี้บุริมสิทธิเหนืออสังหาริมทรัพย์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 273 แต่จำเลยทั้งห้าได้รับแล้วคงเพิกเฉยตามสำเนาหนังสือทวงถาม (ขอให้นำเงินค่าว่าจ้างต่อเติมตกแต่งอาคารพาณิชย์มาชำระ) เอกสารท้ายคำฟ้อง คำฟ้องของโจทก์และเอกสารท้ายคำฟ้องดังกล่าวล้วนแต่แสดงข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาว่าเป็นเรื่องจ้างทำของ และสภาพแห่งข้อหาคือไม่ชำระเงินค่าว่าจ้างให้ครบตามสัญญาว่าจ้างต่อเติมอาคารพาณิชย์ โดยคำฟ้องของโจทก์ไม่ได้กล่าวอ้างว่า โจทก์กับจำเลยทั้งห้ามีนิติสัมพันธ์กันตามสัญญาอื่นรวมอยู่กับสัญญาว่าจ้างต่อเติมตกแต่งอาคารพาณิชย์พิพาทด้วย และเมื่อพิจารณาสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างกับสัญญาว่าจ้างต่อเติมตกแต่งอาคารพาณิชย์ในสำนวนคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 1493-1497/2536 ของศาลชั้นต้น ซึ่งศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาไปแล้วตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 567-571/2540 จะเห็นได้ว่าสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างมีนางสาวอนงค์และนางช่วยมุ่ยเป็นคู่สัญญาฝ่ายผู้จะขาย แต่สัญญาว่าจ้างต่อเติมตกแต่งอาคารพาณิชย์มีโจทก์เป็นคู่สัญญาฝ่ายผู้รับจ้าง ข้อความในสัญญาทั้งสองฉบับดังกล่าวก็ไม่ปรากฏว่ามีข้อความใด ๆ ที่อ้างถึงสัญญาอีกฉบับหนึ่งหรือระบุให้เห็นว่าสัญญาทั้งสองฉบับมีส่วนเกี่ยวข้องกัน เมื่อเป็นเช่นนี้ก็ต้องฟังว่า สัญญาทั้งสองฉบับนี้แยกต่างหากจากกัน เมื่อโจทก์กับจำเลยทำสัญญาว่าจ้างต่อเติมตกแต่งอาคารพาณิชย์ซึ่งอยู่ในลักษณะจ้างทำของ แต่สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างอยู่ในลักษณะซื้อขายการนำสัญญาทั้งสองฉบับมารวมกันแล้วถือว่าเป็นสัญญาฉบับเดียวกัน ย่อมไม่ชอบด้วยเจตนารมณ์ของกฎหมายที่ได้กำหนดลักษณะของสัญญาแต่ชนิดไว้ ดังนั้นในระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งห้าการปฏิบัติต่อกันระหว่างคู่สัญญาและการบังคับตามสัญญาก็ต้องเป็นไปตามลักษณะจ้างทำของ ไม่อาจนำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างซึ่งอยู่ในลักษณะซื้อขายมารวมด้วยหาได้ไม่ เมื่อโจทก์กับจำเลยทั้งห้าต้องบังคับตามสัญญาจ้างทำของ จึงต้องใช้อายคุวาม 2 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/34 (7) ในประเด็นนี้คำฟ้องของโจทก์ระบุว่าจำเลยทั้งห้าต้องชำระเงินให้แก่โจทก์นับตั้งแต่วันที่โจทก์ทวงถามซึ่งเป็นวันที่ 2 กันยายน 2534 และโจทก์เบิกความว่า ได้แจ้งให้จำเลยทั้งห้าชำระเงินครั้งแรกเมื่อวันที่ 2 กันยายน 2534 นับถึงวันฟ้องเป็นเวลา 5 ปี 4 เดือน การฟ้องคดีของโจทก์จึงเกิน 2 ปี นับแต่วันที่โจทก์อาจใช้สิทธิเรียกร้องให้จำเลยทั้งห้าชำระหนี้ได้ คดีของโจทก์ในเรื่องนี้จึงขาดอายุความ
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 ชำระเงิน 9,600 บาท 9,600 บาท 19,200 บาท 19,200 บาท และ 9,600 บาท ตามลำดับ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับทุกสำนวน นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์.

Share