คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4462/2543

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

++ เรื่อง ยืม บัญชีเดินสะพัด จำนอง ++
++ ทดสอบทำงานในระบบ CW เพื่อค้นหาข้อมูลทาง online ++
++
++
++ พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้แย้งกันฟังได้ยุติว่า เมื่อวันที่ 17 กันยายน 2533 จำเลยทำสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีกับโจทก์จำนวน 2,000,000 บาท ตามเอกสารหมาย จ.4และในวันเดียวกันจำเลยทำสัญญากู้เงินจากโจทก์จำนวน3,000,000 บาท อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 16.5 ต่อปี ตามเอกสารหมาย จ.5 โดยจดทะเบียนจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 30146 ตำบลมาบตาพุด อำเภอเมืองระยอง จังหวัดระยอง เป็นประกันในวงเงิน5,000,000 บาท ตามสัญญาจำนองเอกสารหมาย จ.6 จำเลยตกลงให้บัญชีเงินฝากกระแสรายวันเลขที่ 001-1-06240-3 เป็นบัญชีเดินสะพัด ต่อมาวันที่ 18 มีนาคม 2536 จำเลยทำสัญญากู้เงินโจทก์จำนวน 2,500,000 บาท อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 18.5 ต่อปีตามสัญญากู้เงินเอกสารหมาย จ.7 และจดทะเบียนจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 22653 ตำบลสันกลาง อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่เป็นประกันตามสัญญาจำนองเอกสารหมาย จ.8 ต่อมาจำเลยผิดนัดไม่ชำระหนี้ให้โจทก์
++ ปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยในประการแรกมีว่า โจทก์ปรับเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยที่กำหนดไว้ในสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีและสัญญากู้เงินอีก 2 ฉบับ โดยไม่แจ้งให้จำเลยทราบหรือไม่ซึ่งจะได้วินิจฉัยพร้อมกันไป
++
++ ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีเอกสารหมายจ.4 ข้อ 3 สัญญากู้เงินฉบับลงวันที่ 17 กันยายน 2533 เอกสารหมาย จ.5 ข้อ 3 และสัญญากู้เงินฉบับลงวันที่ 18 มีนาคม 2536เอกสารหมาย จ.7 ข้อ 3 มีข้อความอย่างเดียวกันว่า หากตามประเพณีการค้าซึ่งธนาคารปฏิบัติกันโดยมีการเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยที่ประกาศโดยผู้ให้กู้ก็ดี หรือหากมีกฎหมายหรือประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยสูงสุดสำหรับเงินกู้ประเภทต่าง ๆ ก็ดี ผู้กู้ยอมให้ผู้ให้กู้มีอำนาจที่จะปรับอัตราดอกเบี้ยตามสัญญานี้ได้ตามสมควรตามดุลพินิจของผู้ให้กู้ โดยไม่จำต้องได้รับความยินยอมจากผู้กู้ก่อน แต่หลังจากการเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยดังกล่าวแล้ว ผู้ให้กู้จะต้องแจ้งให้ผู้กู้ทราบในเวลาอันสมควร โจทก์นำสืบว่าได้ปิดประกาศอัตราดอกเบี้ยตามประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทยตามเอกสารหมาย จ.18 และตามประกาศของธนาคารโจทก์ไว้ที่ธนาคารของโจทก์ทุกสาขา และทำสำเนาบัญชีกระแสรายวันตามเอกสารหมาย จ.11 ส่งให้แก่จำเลยทุกสิ้นเดือน ฝ่ายจำเลยนำสืบว่าได้นำเงินไปผ่อนชำระหนี้ให้แก่โจทก์ด้วยตนเองเกือบทุกเดือนไม่ทราบว่าโจทก์ได้ปิดประกาศแจ้งการเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยให้ลูกค้าทราบหรือไม่เพราะไม่ได้สังเกต เมื่อได้รับสำเนาบัญชีกระแสรายวันแล้วจำเลยไม่เคยโต้แย้งเรื่องอัตราดอกเบี้ย ไม่ได้นำสืบโต้แย้งให้เห็นว่าโจทก์ไม่ได้ปิดประกาศแจ้งการเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยดังกล่าว
++ จึงฟังได้ว่าโจทก์ได้ปิดประกาศไว้ที่ธนาคารโจทก์ทุกสาขาเพื่อให้ลูกค้าทราบแล้วจริง เมื่อตามข้อสัญญาเอกสารหมาย จ.4 จ.5 และ จ.7 ข้อ 3 ไม่ได้กำหนดวิธีการแจ้งการปรับเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยให้ผู้กู้ทราบว่าจะต้องกระทำโดยวิธีใดการที่โจทก์ปิดประกาศไว้ดังกล่าวถือได้ว่าได้แจ้งให้จำเลยทราบแล้ว ++
++ ปัญหาวินิจฉัยประการต่อไปมีว่า หลังจากเลิกสัญญาบัญชีเดินสะพัดแล้วโจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยแบบไม่ทบต้นในอัตราเท่าใด
++ จำเลยฎีกาว่า นับถัดจากวันเลิกสัญญาแล้ว โจทก์คงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยแบบไม่ทบต้นได้ในอัตราร้อยละ 16.5 ต่อปี ไม่ใช่ร้อยละ 18 ต่อปี นั้น
++ เห็นว่าโจทก์มีอำนาจปรับเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยขึ้นลงได้ตามประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทย ทั้งนี้เป็นไปตามข้อตกลงในสัญญาระหว่างโจทก์จำเลยระหว่างเดินสะพัดทางบัญชีกันอยู่นั้น โจทก์คิดดอกเบี้ยจากจำเลยในอัตราร้อยละ 18 ต่อปี ตามประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทยเอกสารหมาย จ.18 หลังเลิกสัญญาแล้วโจทก์จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยในอัตราดังกล่าวนั้นได้ต่อไป มิใช่ต้องคิดในอัตราร้อยละ 16.5 ต่อปีมิฉะนั้นแล้วก็จะกลายเป็นว่าการปฏิบัติผิดสัญญาทำให้จำเลยได้ประโยชน์ ++
++ ปัญหาต่อไปตามฎีกาของจำเลยมีว่า โจทก์มีสิทธิปรับเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยตามสัญญากู้เงินเอกสารหมาย จ.5 และ จ.7 ภายหลังจากที่จำเลยผิดนัดแล้วได้หรือไม่
++ เห็นว่า ตามสัญญากู้เงินดังกล่าวกำหนดข้อตกลงกันไว้ในข้อ 4 ว่า หากผู้กู้ผิดนัดไม่ส่งชำระตามอัตราและข้อกำหนดแห่งระยะเวลาที่กล่าวในข้อ 2 ผู้กู้ยอมให้คิดดอกเบี้ยในอัตราที่กำหนดไว้ในสัญญานี้ เมื่อตามสัญญาในข้อ 3 ตกลงกันให้โจทก์เปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยได้ตามที่ประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด โจทก์จึงปรับเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยได้แม้หลังวันที่จำเลยผิดนัดแล้ว กรณีเป็นการปรับเปลี่ยนตามข้อตกลงในสัญญามิใช่เพราะเหตุจำเลยไม่ชำระหนี้ให้ถูกต้อง จึงไม่มีลักษณะเป็นเบี้ยปรับ ++
++ ปัญหาข้อสุดท้ายตามฎีกาของจำเลยมีว่า โจทก์บอกกล่าวบังคับจำนองแก่จำเลยโดยชอบแล้วหรือไม่
++ นางชุตินันท์ ยุววิทยาพาณิชนิติกรของโจทก์เบิกความว่า ได้มีหนังสือบอกกล่าวทวงถามให้จำเลยชำระหนี้บอกเลิกสัญญาและบอกกล่าวบังคับจำนองเมื่อวันที่ 11 ตุลาคม2537 โดยส่งไปยังภูมิลำเนาของจำเลยตามที่จำเลยให้ไว้ในสัญญากู้และสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีตามหนังสือบอกกล่าวและใบตอบรับเอกสารหมาย จ.9 และ จ.10 การบอกกล่าวทวงถามบอกเลิกสัญญาและบอกกล่าวบังคับจำนองเป็นหน้าที่ของนิติกร ซึ่งตามระเบียบของธนาคารได้มอบอำนาจให้อยู่แล้ว การใดที่นิติกรได้กระทำไปถือว่าธนาคารโจทก์ให้สัตยาบัน จำเลยฎีกาโต้แย้งว่า โจทก์มิได้นำสืบหรือส่งระเบียบของธนาคารหรือมีหลักฐานการมอบอำนาจเป็นหนังสือ เป็นการฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 728 และ 798นั้น
++ เห็นว่า แม้โจทก์จะไม่ได้ส่งระเบียบหรือหนังสือมอบอำนาจ จึงยังไม่พอฟังว่าได้มีการมอบอำนาจให้บอกกล่าวบังคับจำนองโดยทำเป็นหนังสือก็ตาม แต่นางชุตินันท์เป็นนิติกรของโจทก์ได้บอกกล่าวบังคับจำนองในนามของโจทก์ เมื่อจำเลยได้รับหนังสือแล้วไม่ชำระหนี้โจทก์จึงนำคดีมาฟ้อง แสดงว่าโจทก์ยอมรับเอาการบอกกล่าวบังคับจำนองของนางชุตินันท์ เป็นการให้สัตยาบันในการกระทำของนางชุตินันท์ซึ่งเป็นตัวแทนแล้ว ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 823การบอกกล่าวบังคับจำนองแก่จำเลยจึงชอบแล้ว ++
++ พิพากษายืน ให้จำเลยใช้ค่าทนายความชั้นฎีกา 5,000 บาทแทนโจทก์. ++

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า โจทก์ประกอบกิจการธนาคารพาณิชย์ จำเลยเป็นลูกค้าของโจทก์โดยเปิดบัญชีเงินฝากกระแสรายวันเลขที่ ๐๐๑-๑-๐๖๒๔๐-๓ เมื่อวันที่ ๑๗ กันยายน ๒๕๓๓ จำเลยทำสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีวงเงิน ๒,๐๐๐,๐๐๐ บาท ดอกเบี้ยแบบทบต้นอัตราร้อยละ๑๖.๕ ต่อปี การเบิกถอนเงินและการนำเงินเข้าฝากชำระหนี้ให้ถือตามบัญชีเงินฝากกระแสรายวันดังกล่าวเป็นบัญชีเดินสะพัดระหว่างโจทก์และจำเลยมีกำหนดระยะเวลา ๑ ปี และในวันเดียวกันนั้นจำเลยทำสัญญากู้เงินโจทก์จำนวน ๓,๐๐๐,๐๐๐ บาท ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๑๖.๕ ต่อปีและยอมให้โจทก์ปรับอัตราดอกเบี้ย ตามประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทยจำเลยสัญญาจะผ่อนชำระต้นเงินและดอกเบี้ยเป็นรายเดือน เดือนละ๗๓,๗๕๓ บาท ตั้งแต่เดือนกันยายน ๒๕๓๓ เป็นต้นไป จำเลยจดทะเบียนจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ ๓๐๑๔๖ ตำบลมาบตาพุด อำเภอเมืองระยอง จังหวัดระยอง พร้อมสิ่งปลูกสร้างเป็นประกันหนี้ทั้งสองรายการดังกล่าววงเงิน๕,๐๐๐,๐๐๐ บาท ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๑๖.๕ ต่อปี หากบังคับจำนองแล้วได้เงินไม่พอชำระหนี้ จำเลยยินยอมชำระหนี้จนกว่าจะครบ และเมื่อวันที่ ๑๘ มีนาคม ๒๕๓๖ จำเลยทำสัญญากู้เงินโจทก์อีก ๒,๕๐๐,๐๐๐ บาทดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๑๘.๕ ต่อปี ยอมให้โจทก์ปรับอัตราดอกเบี้ยได้ตามประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทย จำเลยสัญญาจะผ่อนชำระต้นเงินและดอกเบี้ยเป็นรายเดือน เดือนละ ๔๑,๒๐๐ บาท ตั้งแต่เดือนมีนาคม๒๕๓๖ เป็นต้นไป จำเลยจดทะเบียนจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ ๒๒๖๕๓ตำบลสันกลาง อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ พร้อมสิ่งปลูกสร้างเป็นประกันในวงเงิน ๒,๕๐๐,๐๐๐ บาท ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๑๘.๕ ต่อปีหากบังคับจำนองแล้วได้เงินไม่พอชำระหนี้จำเลยยินยอมชำระหนี้จนกว่าจะครบ จำเลยนำเงินฝากเข้าบัญชีและใช้เช็คเบิกถอนเงินหักทอนบัญชีอันเป็นการเดินสะพัดบัญชีกับโจทก์หลายครั้ง กระทั่งมียอดหนี้ค้างชำระจำนวนมาก โจทก์ทวงถามให้จำเลยชำระหนี้ และบอกกล่าวบังคับจำนองโดยชอบแล้วจำเลยเพิกเฉย โจทก์คิดดอกเบี้ยทบต้นถึงวันที่๑๕ พฤศจิกายน ๒๕๓๗ จำเลยเป็นหนี้โจทก์ ๒,๓๗๑,๓๕๐.๔๘ บาทแล้วคิดดอกเบี้ยแบบไม่ทบต้นตั้งแต่วันที่ ๑๖ พฤศจิกายน ๒๕๓๗ จนถึงวันฟ้องเป็นดอกเบี้ย ๑๐๑,๗๔๐.๖๘ บาท รวมหนี้ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีจำนวน ๒,๔๗๓,๐๙๑.๑๖ บาท สำหรับหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงินจำเลยผิดนัดและค้างชำระต้นเงินและดอกเบี้ย โจทก์ไม่ประสงค์ให้จำเลยกู้ยืมต่อไปจึงทวงถามและบอกกล่าวบังคับจำนองโดยชอบแล้วจำเลยเพิกเฉย สัญญากู้เงินฉบับลงวันที่ ๑๗ กันยายน ๒๕๓๓ จำเลยค้างชำระต้นเงินจำนวน ๒,๗๑๒,๔๘๗.๘๙ บาท ค้างชำระดอกเบี้ยตั้งแต่วันที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๓๖ ถึงวันฟ้องเป็นเงิน ๖๔๔,๑๙๗.๓๐ บาทสัญญากู้เงินฉบับลงวันที่ ๑๘ มีนาคม ๒๕๓๖ จำเลยค้างชำระต้นเงินจำนวน ๒,๔๙๑,๙๖๔.๔๗ บาท ค้างชำระดอกเบี้ยตั้งแต่วันที่ ๒๙ตุลาคม ๒๕๓๖ ถึงวันฟ้องเป็นเงิน ๓๒๕,๑๔๔.๑๒ บาท รวมหนี้ทุกประเภทแล้วจำเลยเป็นหนี้โจทก์ทั้งสิ้น ๘,๖๔๖,๘๘๔.๙๔ บาทขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน ๘,๖๔๖,๘๘๔.๙๔ บาท และดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๑๘ ต่อปี จากต้นเงิน ๗,๕๗๕,๘๐๒.๘๔ บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระให้โจทก์เสร็จสิ้น หากบังคับจำนองแล้วได้เงินไม่พอชำระหนี้ให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยออกขายทอดตลาดชำระหนี้จนกว่าจะชำระหนี้โจทก์ได้ครบถ้วน
จำเลยให้การว่า สัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีสิ้นสุดวันที่๑๖ กันยายน ๒๕๓๔ แล้วไม่มีการต่ออายุสัญญา โจทก์จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้นเพียงวันที่ ๑๖ กันยายน ๒๕๓๔ โจทก์ปรับอัตราดอกเบี้ยสูงขึ้นโดยไม่แจ้งให้จำเลยทราบ โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยเกินกว่าอัตราร้อยละ๑๖.๕ ต่อปี จำนวนหนี้อันเกิดจากสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีที่ระบุในคำฟ้องจึงไม่ถูกต้อง สัญญากู้เงินฉบับแรกโจทก์ไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยเกินกว่าอัตราร้อยละ ๑๖.๕ ต่อปี และสัญญากู้เงินฉบับที่ ๒ โจทก์ไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยเกินกว่าอัตราร้อยละ ๑๓ ต่อปี ตามบันทึกข้อตกลงท้ายสัญญากู้เงินกู้ตามสัญญากู้เงินฉบับแรกจำนวน ๓,๐๐๐,๐๐๐ บาท โจทก์นำเข้าบัญชีเงินฝากของจำเลยเพื่อหักทอนหนี้เมื่อวันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๕ จำเลยจึงไม่ต้องเสียดอกเบี้ยในเงินกู้จำนวน ๓,๐๐๐,๐๐๐ บาท ระหว่างเดือนกันยายน ๒๕๓๓ ถึงเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๓๕ จำเลยผ่อนชำระดอกเบี้ยเดือนละ ๗๓,๗๕๓ บาท รวม ๑๗ เดือน เป็นเงิน ๑,๒๕๓,๘๐๑ บาทโจทก์ต้องนำเงินดังกล่าวมาหักออกจากหนี้ที่ค้างชำระเสียก่อน นางชุตินันท์ยุววิทยาพานิช ไม่มีอำนาจบอกกล่าวบังคับจำนองแทนโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน๘,๔๑๓,๘๕๐.๖๓ บาท และดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๑๘ ต่อปี ไม่ทบต้นจากต้นเงิน ๒,๒๔๐,๐๕๖.๘๕ บาท ตั้งแต่วันที่ ๒๘ มิถุนายน ๒๕๓๗ จากต้นเงิน ๒,๗๑๒,๔๘๗.๘๙ บาท ตั้งแต่วันที่ ๑๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๘ จากต้นเงิน ๒,๔๙๑,๙๖๔.๔๗ บาท ตั้งแต่วันที่ ๑๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๘ เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ หากจำเลยไม่ชำระให้บังคับยึดทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาด ถ้าไม่พอชำระหนี้ให้บังคับเอาจากทรัพย์สินอื่นของจำเลยจนกว่าจะครบถ้วน ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ ๘๕,๐๐๐ บาท
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน โจทก์ไม่ยื่นคำแก้อุทธรณ์จึงไม่กำหนดค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ให้
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว ทางพิจารณาโจทก์นำสืบว่า นางชุตินันท์ ยุววิทยาพานิช นิติกร ฝ่ายหนี้สินและนิติการของโจทก์ทำหน้าที่ทวงถามและบอกกล่าวบังคับจำนองแทนโจทก์ เมื่อวันที่๑๗ กันยายน ๒๕๓๓ จำเลยเปิดบัญชีเงินฝากกระแสรายวัน เลขที่๐๐๑-๑-๐๖๒๔๐-๓ และทำสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีกับโจทก์สำนักงานใหญ่ในวงเงิน ๒,๐๐๐,๐๐๐ บาท ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๑๖.๕ ต่อปี ชำระดอกเบี้ยทุกวันที่ ๒๖ ของแต่ละเดือน หากผิดนัดยอมให้โจทก์นำดอกเบี้ยที่ค้างชำระทบเป็นต้นเงินได้ กำหนดชำระหนี้ทั้งหมดภายในวันที่ ๑๖กันยายน ๒๕๓๔ ตามคำขอเปิดบัญชีเงินฝากและสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีเอกสารหมาย จ.๓ และ จ.๔ จำเลยใช้เช็คเบิกถอนเงินและนำเงินเข้าฝากเพื่อหักทอนหนี้กับโจทก์หลายครั้ง ครบกำหนดระยะเวลาตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชี โจทก์จำเลยตกลงให้บัญชีเดินสะพัดมีผลต่อเนื่องเรื่อยมา ภายหลังจำเลยไม่นำเงินเข้าบัญชีเพื่อหักทอนหนี้ ทำให้ยอดหนี้ค้างชำระมีจำนวนสูงมาก โจทก์โดยพนักงานสินเชื่อทวงถามแล้ว จำเลยเพิกเฉย โจทก์คิดดอกเบี้ยแบบทบต้นถึงวันที่ ๑๕ พฤศจิกายน ๒๕๓๗ซึ่งเป็นวันที่โจทก์บอกเลิกสัญญา จำเลยเป็นลูกหนี้ ๒,๓๗๑,๓๕๐.๔๘ บาทแล้วคิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๑๘ ต่อปี แบบไม่ทบต้น นับแต่วันที่ ๑๖พฤศจิกายน ๒๕๓๗ เป็นต้นมาจนถึงวันฟ้องเป็นดอกเบี้ย ๑๐๑,๗๔๐.๖๘ บาทตามการ์ดบัญชีกระแสรายวัน รายการคำนวณดอกเบี้ยและประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทย และของโจทก์เอกสารหมาย จ.๑๑ จ.๑๒และ จ.๑๘ เมื่อวันที่ ๑๗ กันยายน ๒๕๓๓ จำเลยทำสัญญากู้เงินโจทก์ฉบับแรกจำนวน ๓,๐๐๐,๐๐๐ บาท ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๑๖.๕ ต่อปีผ่อนชำระต้นเงินและดอกเบี้ยเดือนละ ๗๓,๗๕๓ บาท ตั้งแต่เดือนกันยายน ๒๕๓๓ เป็นต้นไป และเมื่อวันที่ ๑๘ มีนาคม ๒๕๓๖ จำเลยทำสัญญากู้เงินโจทก์ฉบับที่ ๒ จำนวนเงิน ๒,๕๐๐,๐๐๐ บาท ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๑๘.๕ ต่อปี ผ่อนชำระต้นเงินและดอกเบี้ยเดือนละ๔๑,๒๐๐ บาท ตั้งแต่เดือนมีนาคม ๒๕๓๖ ถึงเดือนมีนาคม ๒๕๔๑สำหรับสัญญาเงินกู้ฉบับแรก จำเลยได้รับเงินกู้จากโจทก์เมื่อวันที่๒๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๕ ส่วนเงินกู้ฉบับที่ ๒ จำเลยได้รับเงินกู้จากโจทก์เป็นรายงวด งวดแรกวันที่ ๑๘ มีนาคม ๒๕๓๖ จำนวน ๒๐๐,๐๐๐ บาทงวดที่ ๒ เมื่อวันที่ ๒๕ มีนาคม ๒๕๓๖ จำนวน ๖๐๐,๐๐๐ บาท งวดที่ ๓เมื่อวันที่ ๒๒ เมษายน ๒๕๓๖ จำนวน ๑,๒๐๐,๐๐๐ บาท งวดที่ ๔ เมื่อวันที่ ๑๑ สิงหาคม ๒๕๓๖ จำนวน ๒๐๐,๐๐๐ บาท งวดที่ ๕ เมื่อวันที่๒ กันยายน ๒๕๓๖ จำนวน ๓๐๐,๐๐๐ บาท รวม ๒,๕๐๐,๐๐๐ บาทโจทก์เริ่มคิดดอกเบี้ยจากสัญญากู้ฉบับแรกตั้งแต่วันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์๒๕๓๕ เป็นต้นไป ตามทะเบียนเงินกู้เอกสารหมาย จ.๑๔ จำเลยเบิกรับเงินตามสัญญากู้ฉบับที่ ๒ งวดแรกเมื่อวันที่ ๑๘ มีนาคม ๒๕๓๖ จากโจทก์สาขาเชียงใหม่ แต่โจทก์ได้รับเอกสารการเบิกรับเงินของจำเลยเมื่อวันที่ ๒๕ มีนาคม ๒๕๓๖ จึงคิดดอกเบี้ยจากต้นเงินจำนวน ๒๐๐,๐๐๐ บาทตั้งแต่วันที่ ๑๘ มีนาคม ๒๕๓๖ และเริ่มบันทึกรายการในทะเบียนเงินกู้เอกสารหมาย จ.๑๖ ตั้งแต่วันที่ ๒๕ มีนาคม ๒๕๓๖ ต้นเงินตามสัญญากู้ฉบับที่ ๒ งวดที่ ๒ ถึงงวดที่ ๕ โจทก์คิดดอกเบี้ยตั้งแต่วันที่จำเลยเบิกและรับเงินเรียงลำดับเป็นต้นไป สัญญากู้ฉบับแรกจำเลยผ่อนชำระตรงตามกำหนดเวลาในช่วงแรกแล้วผิดนัด โจทก์ทวงถามแล้วจำเลยเพิกเฉยโจทก์จึงมอบให้ทนายความมีหนังสือทวงถามและบอกกล่าวบังคับจำนองตามเอกสารหมาย จ.๙ และ จ.๑๐ จำเลยเพิกเฉย จำเลยชำระหนี้ตามสัญญากู้ฉบับแรกครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๓๖ จำนวน๗๓,๗๕๓ บาท หักชำระดอกเบี้ยที่ค้างชำระได้ทั้งหมดแล้วนำไปชำระหนี้ต้นเงินได้บางส่วน ปรากฏว่าจำเลยค้างชำระต้นเงินตามสัญญากู้ฉบับแรกจำนวน ๒,๗๑๒,๔๘๗.๘๙ บาท โจทก์คิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๑๘.๕ ต่อปีตั้งแต่วันที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๓๖ ถึงวันที่ ๒๖ ตุลาคม ๒๕๓๖ อัตราร้อยละ๑๖.๕ ต่อปี ตั้งแต่ ๒๗ ตุลาคม ๒๕๓๖ ถึงวันที่ ๑ มิถุนายน ๒๕๓๗ อัตราร้อยละ ๑๘ ต่อปี ตั้งแต่วันที่ ๒ มิถุนายน ๒๕๓๗ ถึงวันฟ้องรวมเป็นดอกเบี้ยที่จำเลยค้างชำระ ๖๔๔,๑๙๗.๓๐ บาท อัตราดอกเบี้ยดังกล่าวเป็นไปตามประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทยและประกาศของโจทก์เอกสารหมาย จ.๑๘ จำเลยผ่อนชำระหนี้ตามสัญญากู้ฉบับที่ ๒ ตรงตามกำหนดในช่วงแรกแล้วผิดนัด โจทก์ทวงถามแล้วจำเลยเพิกเฉย โจทก์จึงมอบให้ทนายความมีหนังสือทวงถามและบอกกล่าวบังคับจำนองจำเลยได้รับหนังสือทวงถามโดยชอบแล้วเพิกเฉยจำเลยค้างชำระต้นเงินจำนวน ๒,๔๙๑,๙๖๔.๔๗ บาท และค้างชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๑๖.๕ ต่อปี ตั้งแต่วันที่ ๒๙ ตุลาคม ๒๕๓๖ ถึงวันที่ ๑ มิถุนายน๒๕๓๗ อัตราร้อยละ ๑๘ ต่อปี ตั้งแต่วันที่ ๒ มิถุนายน ๒๕๓๗ ถึงวันฟ้องเป็นเงิน ๕๕๕,๔๖๙.๑๒ บาท จำเลยชำระหนี้ครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่๔ พฤศจิกายน ๒๕๓๗ จำนวน ๒๓๐,๓๒๕ บาท หักแล้วคงเหลือดอกเบี้ยค้างชำระทั้งสิ้น ๓๒๕,๑๔๔.๑๒ บาท ตามทะเบียนเงินกู้และรายการคำนวณยอดหนี้เอกสารหมาย จ.๑๓ จ.๑๔ จ.๑๕ จ.๑๖ และคำแปลเอกสารหมาย จ.๑๗ เพื่อเป็นหลักประกันการชำระหนี้ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชี และสัญญากู้เงินฉบับแรก จำเลยจดทะเบียนจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ ๓๐๑๔๖ ตำบลมาบตาพุด อำเภอเมืองระยอง จังหวัดระยองพร้อมสิ่งปลูกสร้างวงเงิน ๕,๐๐๐,๐๐๐ บาท ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ๑๖.๕ ต่อปี และเพื่อเป็นประกันการชำระหนี้ตามสัญญากู้ฉบับที่ ๒ จำเลยจดทะเบียนจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ ๒๒๖๕๓ ตำบลสันกลาง อำเภอสันกำแพงจังหวัดเชียงใหม่ พร้อมสิ่งปลูกสร้างวงเงิน ๒,๕๐๐,๐๐๐ บาท ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๑๘.๕ ต่อปี ตามหนังสือสัญญาจำนองเอกสารหมาย จ.๖และ จ.๘
จำเลยนำสืบว่า จำเลยเปิดบัญชีกระแสรายวันกับโจทก์สำนักงานใหญ่ ตามเอกสารหมาย จ.๓ เพื่อใช้เป็นบัญชีเดินสะพัด ในการเบิกเงินเกินบัญชีตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีเอกสารหมาย จ.๔ ซึ่งมีข้อตกลงชำระดอกเบี้ยเป็นรายเดือน ทุกวันที่ ๒๖ ของเดือน และในวันเดียวกันจำเลยทำสัญญากู้เงินโจทก์จำนวน ๓,๐๐๐,๐๐๐ บาท ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๑๖.๕ ต่อปี ตามสัญญากู้เงินเอกสารหมาย จ.๕ จำเลยจดทะเบียนจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ ๓๐๑๔๖ ตำบลมาบตาพุด อำเภอเมืองระยอง จังหวัดระยอง เป็นประกันหนี้เงินกู้เบิกเงินเกินบัญชีและสัญญากู้เงินดังกล่าววงเงิน ๕,๐๐๐,๐๐๐ บาท ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๑๖.๕ ต่อปีปี ๒๕๓๖ จำเลยทำสัญญากู้ยืมเงินสินเชื่อการเคหะจากโจทก์จำนวน๒,๕๐๐,๐๐๐ บาท ดอกเบี้ยสินเชื่อเพื่อการเคหะอัตราร้อยละ ๑๓ ต่อปีตามสัญญากู้และบันทึกต่อท้ายเอกสารหมาย จ.๗ แต่โจทก์พิมพ์อัตราดอกเบี้ยเป็นร้อยละ ๑๘.๕ ต่อปี ขึ้นในภายหลัง จำเลยจดทะเบียนจำนองที่ดินซึ่งตั้งอยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่เป็นประกันเงินกู้วงเงิน ๒,๕๐๐,๐๐๐ บาทตามเอกสารหมาย จ.๘ สัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีครบกำหนดวันที่๑๖ กันยายน ๒๕๓๔ แล้วจำเลยยังคงเบิกถอนเงินและนำเงินเข้าบัญชีเพื่อชำระหนี้หลายครั้งโดยโจทก์ยินยอม จำเลยได้รับสำเนาการ์ดบัญชีกระแสรายวัน ซึ่งถ่ายสำเนามาจากเอกสารหมาย จ.๑๑ เป็นครั้งแรกซึ่งส่งมาพร้อมกับหมายเรียกและสำเนาคำฟ้อง จำเลยจึงทราบว่าโจทก์คิดดอกเบี้ยตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีเกินกว่าร้อยละ ๑๖.๕ ต่อปีการเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยและการคิดดอกเบี้ยตามเอกสารหมายจ.๑๑ จึงไม่ถูกต้อง โจทก์ไม่เคยแจ้งเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยให้จำเลยทราบ จำเลยผ่อนชำระหนี้เดือนละประมาณ ๕๐,๐๐๐ บาท บางเดือน ๒๐๐,๐๐๐ บาท โดยมิได้ระบุว่าเป็นการชำระหนี้รายการใดเป็นเงินเท่าใดจึงเป็นหน้าที่โจทก์ไปจัดสรรเอง การเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยให้สูงกว่าอัตราที่กำหนดไว้ในเอกสารหมาย จ.๕ และ จ.๗โดยจำเลยมิได้รู้เห็นยินยอมด้วยจึงไม่ถูกต้อง ดังนั้นจำนวนหนี้ตามฟ้องของโจทก์ทั้งสามประเภทจึงไม่ถูกต้องด้วย โจทก์มอบเงินตามสัญญากู้เอกสารหมาย จ.๕ จำนวน ๓,๐๐๐,๐๐๐ บาท เมื่อกลางปี ๒๕๓๖โดยทยอยจ่าย ๓ ถึง ๔ งวด แล้วนำเงินดังกล่าวไปหักชำระหนี้ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชี โจทก์ทยอยจ่ายเงินกู้สินเชื่อเพื่อการเคหะตามเอกสารหมาย จ.๗ ไม่ครบถ้วน ยังขาดอยู่อีก ๑๐๐,๐๐๐ บาทเนื่องจากโจทก์นำไปหักชำระดอกเบี้ย จำเลยไม่เคยได้รับหนังสือทวงถามหรือหนังสือบอกกล่าวบังคับจำนองจากโจทก์
พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้แย้งกันฟังได้ยุติว่า เมื่อวันที่ ๑๗ กันยายน ๒๕๓๓ จำเลยทำสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีกับโจทก์จำนวน ๒,๐๐๐,๐๐๐ บาท ตามเอกสารหมาย จ.๔และในวันเดียวกันจำเลยทำสัญญากู้เงินจากโจทก์จำนวน๓,๐๐๐,๐๐๐ บาท อัตราดอกเบี้ยร้อยละ ๑๖.๕ ต่อปี ตามเอกสารหมาย จ.๕ โดยจดทะเบียนจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ ๓๐๑๔๖ ตำบลมาบตาพุด อำเภอเมืองระยอง จังหวัดระยอง เป็นประกันในวงเงิน๕,๐๐๐,๐๐๐ บาท ตามสัญญาจำนองเอกสารหมาย จ.๖ จำเลยตกลงให้บัญชีเงินฝากกระแสรายวันเลขที่ ๐๐๑-๑-๐๖๒๔๐-๓ เป็นบัญชีเดินสะพัด ต่อมาวันที่ ๑๘ มีนาคม ๒๕๓๖ จำเลยทำสัญญากู้เงินโจทก์จำนวน ๒,๕๐๐,๐๐๐ บาท อัตราดอกเบี้ยร้อยละ ๑๘.๕ ต่อปีตามสัญญากู้เงินเอกสารหมาย จ.๗ และจดทะเบียนจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ ๒๒๖๕๓ ตำบลสันกลาง อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่เป็นประกันตามสัญญาจำนองเอกสารหมาย จ.๘ ต่อมาจำเลยผิดนัดไม่ชำระหนี้ให้โจทก์ ปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยในประการแรกมีว่า โจทก์ปรับเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยที่กำหนดไว้ในสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีและสัญญากู้เงินอีก ๒ ฉบับ โดยไม่แจ้งให้จำเลยทราบหรือไม่ซึ่งจะได้วินิจฉัยพร้อมกันไป ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีเอกสารหมายจ.๔ ข้อ ๓ สัญญากู้เงินฉบับลงวันที่ ๑๗ กันยายน ๒๕๓๓ เอกสารหมาย จ.๕ ข้อ ๓ และสัญญากู้เงินฉบับลงวันที่ ๑๘ มีนาคม ๒๕๓๖เอกสารหมาย จ.๗ ข้อ ๓ มีข้อความอย่างเดียวกันว่า หากตามประเพณีการค้าซึ่งธนาคารปฏิบัติกันโดยมีการเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยที่ประกาศโดยผู้ให้กู้ก็ดี หรือหากมีกฎหมายหรือประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยสูงสุดสำหรับเงินกู้ประเภทต่าง ๆ ก็ดี ผู้กู้ยอมให้ผู้ให้กู้มีอำนาจที่จะปรับอัตราดอกเบี้ยตามสัญญานี้ได้ตามสมควรตามดุลพินิจของผู้ให้กู้ โดยไม่จำต้องได้รับความยินยอมจากผู้กู้ก่อน แต่หลังจากการเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยดังกล่าวแล้ว ผู้ให้กู้จะต้องแจ้งให้ผู้กู้ทราบในเวลาอันสมควร โจทก์นำสืบว่าได้ปิดประกาศอัตราดอกเบี้ยตามประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทยตามเอกสารหมาย จ.๑๘ และตามประกาศของธนาคารโจทก์ไว้ที่ธนาคารของโจทก์ทุกสาขา และทำสำเนาบัญชีกระแสรายวันตามเอกสารหมาย จ.๑๑ ส่งให้แก่จำเลยทุกสิ้นเดือน ฝ่ายจำเลยนำสืบว่าได้นำเงินไปผ่อนชำระหนี้ให้แก่โจทก์ด้วยตนเองเกือบทุกเดือนไม่ทราบว่าโจทก์ได้ปิดประกาศแจ้งการเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยให้ลูกค้าทราบหรือไม่เพราะไม่ได้สังเกต เมื่อได้รับสำเนาบัญชีกระแสรายวันแล้วจำเลยไม่เคยโต้แย้งเรื่องอัตราดอกเบี้ย ไม่ได้นำสืบโต้แย้งให้เห็นว่าโจทก์ไม่ได้ปิดประกาศแจ้งการเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยดังกล่าว จึงฟังได้ว่าโจทก์ได้ปิดประกาศไว้ที่ธนาคารโจทก์ทุกสาขาเพื่อให้ลูกค้าทราบแล้วจริง เมื่อตามข้อสัญญาเอกสารหมาย จ.๔ จ.๕ และ จ.๗ ข้อ ๓ ไม่ได้กำหนดวิธีการแจ้งการปรับเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยให้ผู้กู้ทราบว่าจะต้องกระทำโดยวิธีใดการที่โจทก์ปิดประกาศไว้ดังกล่าวถือได้ว่าได้แจ้งให้จำเลยทราบแล้วฎีกาของจำเลยในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาวินิจฉัยประการต่อไปมีว่า หลังจากเลิกสัญญาบัญชีเดินสะพัดแล้วโจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยแบบไม่ทบต้นในอัตราเท่าใด จำเลยฎีกาว่า นับถัดจากวันเลิกสัญญาแล้ว โจทก์คงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยแบบไม่ทบต้นได้ในอัตราร้อยละ ๑๖.๕ ต่อปี ไม่ใช่ร้อยละ ๑๘ ต่อปี นั้น เห็นว่าโจทก์มีอำนาจปรับเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยขึ้นลงได้ตามประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทย ทั้งนี้เป็นไปตามข้อตกลงในสัญญาระหว่างโจทก์จำเลยระหว่างเดินสะพัดทางบัญชีกันอยู่นั้น โจทก์คิดดอกเบี้ยจากจำเลยในอัตราร้อยละ ๑๘ ต่อปี ตามประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทยเอกสารหมาย จ.๑๘ หลังเลิกสัญญาแล้วโจทก์จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยในอัตราดังกล่าวนั้นได้ต่อไป มิใช่ต้องคิดในอัตราร้อยละ ๑๖.๕ ต่อปีตามที่จำเลยฎีกา มิฉะนั้นแล้วก็จะกลายเป็นว่าการปฏิบัติผิดสัญญาทำให้จำเลยได้ประโยชน์ ฎีกาของจำเลยในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต่อไปตามฎีกาของจำเลยมีว่า โจทก์มีสิทธิปรับเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยตามสัญญากู้เงินเอกสารหมาย จ.๕ และ จ.๗ ภายหลังจากที่จำเลยผิดนัดแล้วได้หรือไม่ เห็นว่า ตามสัญญากู้เงินดังกล่าวกำหนดข้อตกลงกันไว้ในข้อ ๔ ว่า หากผู้กู้ผิดนัดไม่ส่งชำระตามอัตราและข้อกำหนดแห่งระยะเวลาที่กล่าวในข้อ ๒ ผู้กู้ยอมให้คิดดอกเบี้ยในอัตราที่กำหนดไว้ในสัญญานี้ เมื่อตามสัญญาในข้อ ๓ ตกลงกันให้โจทก์เปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยได้ตามที่ประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด โจทก์จึงปรับเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยได้แม้หลังวันที่จำเลยผิดนัดแล้ว กรณีเป็นการปรับเปลี่ยนตามข้อตกลงในสัญญามิใช่เพราะเหตุจำเลยไม่ชำระหนี้ให้ถูกต้อง จึงไม่มีลักษณะเป็นเบี้ยปรับคำพิพากษาฎีกาที่จำเลยอ้างมา ข้อเท็จจริงไม่ตรงกับคดีนี้ ฎีกาของจำเลยในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาข้อสุดท้ายตามฎีกาของจำเลยมีว่า โจทก์บอกกล่าวบังคับจำนองแก่จำเลยโดยชอบแล้วหรือไม่ นางชุตินันท์ ยุววิทยาพาณิชนิติกรของโจทก์เบิกความว่า ได้มีหนังสือบอกกล่าวทวงถามให้จำเลยชำระหนี้บอกเลิกสัญญาและบอกกล่าวบังคับจำนองเมื่อวันที่ ๑๑ ตุลาคม๒๕๓๗ โดยส่งไปยังภูมิลำเนาของจำเลยตามที่จำเลยให้ไว้ในสัญญากู้และสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีตามหนังสือบอกกล่าวและใบตอบรับเอกสารหมาย จ.๙ และ จ.๑๐ การบอกกล่าวทวงถามบอกเลิกสัญญาและบอกกล่าวบังคับจำนองเป็นหน้าที่ของนิติกร ซึ่งตามระเบียบของธนาคารได้มอบอำนาจให้อยู่แล้ว การใดที่นิติกรได้กระทำไปถือว่าธนาคารโจทก์ให้สัตยาบัน จำเลยฎีกาโต้แย้งว่า โจทก์มิได้นำสืบหรือส่งระเบียบของธนาคารหรือมีหลักฐานการมอบอำนาจเป็นหนังสือ เป็นการฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๗๒๘ และ ๗๙๘นั้น เห็นว่า แม้โจทก์จะไม่ได้ส่งระเบียบหรือหนังสือมอบอำนาจ จึงยังไม่พอฟังว่าได้มีการมอบอำนาจให้บอกกล่าวบังคับจำนองโดยทำเป็นหนังสือก็ตาม แต่นางชุตินันท์เป็นนิติกรของโจทก์ได้บอกกล่าวบังคับจำนองในนามของโจทก์ เมื่อจำเลยได้รับหนังสือแล้วไม่ชำระหนี้โจทก์จึงนำคดีมาฟ้อง แสดงว่าโจทก์ยอมรับเอาการบอกกล่าวบังคับจำนองของนางชุตินันท์ เป็นการให้สัตยาบันในการกระทำของนางชุตินันท์ซึ่งเป็นตัวแทนแล้ว ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๘๒๓การบอกกล่าวบังคับจำนองแก่จำเลยจึงชอบแล้ว ศาลล่างทั้งสองพิพากษาชอบแล้ว ฎีกาจำเลยทุกข้อฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ให้จำเลยใช้ค่าทนายความชั้นฎีกา ๕,๐๐๐ บาทแทนโจทก์.

Share