คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3478/2543

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

วันชี้สองสถาน ศาลชั้นต้นตรวจคำฟ้องและคำให้การแล้ววินิจฉัยว่าคดีนี้มูลคดีเดียวกันกับคดีก่อน จึงเป็น การดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 144 มีคำสั่งให้ยกฟ้อง ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้ให้รับฟ้องประเด็นเรื่องค่าเสียหาย การที่จำเลยฎีกาว่าไม่มีเหตุที่จะต้องวินิจฉัยประเด็นเรื่องค่าเสียหาย ขอให้บังคับคดีตามศาลชั้นต้น เป็นฎีกาที่ขอให้จำเลยชนะคดีในปัญหาเรื่องการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำตามคำวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมายซึ่งทำให้คดีเสร็จไปทั้งเรื่อง ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 24 ซึ่งต้องเสียค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาเพียง 200 บาท ตามตาราง 1 (2) (ข) ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้จำเลยนำเงินมาชำระค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาเพิ่มเติมอย่างคดีมีทุนทรัพย์จึงเป็น คำสั่งที่ไม่ชอบ เมื่อจำเลยไม่ปฏิบัติตาม จึงไม่เป็นการทิ้งฎีกา
ประเด็นเรื่องค่าเสียหายเพิ่มเป็นประเด็นที่จะต้องพิจารณาสืบต่อเนื่องจากประเด็นเรื่องผิดสัญญาหรือไม่ เมื่อคดีก่อนฟังได้ว่าสัญญาเป็นโมฆะ จึงไม่จำเป็นที่จะต้องวินิจฉัยในประเด็นเรื่องค่าเสียหายต่อไป และศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษาชี้ขาดในประเด็นที่เกี่ยวกับคดีนี้แล้ว จึงต้องห้ามดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำตาม ป.วิ.พ. มาตรา 144
โจทก์ชำระมัดจำหรือเงินราคาค่าซื้อขายที่ดินพิพาทแก่จำเลยตามสัญญาซื้อขายที่ดินที่ห้ามโอนซึ่งเป็นโมฆะ จึงเป็นการชำระหนี้อันเป็นการฝ่าฝืนกฎหมาย โจทก์จึงไม่อาจเรียกเงินจำนวนดังกล่าวคืนจากจำเลยฐานลาภมิควรได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 411

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยจดทะเบียนโอนสิทธิครอบครองที่ดินตาม น.ส.3 ก. เลขที่ 103 ตำบลริมกก อำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย แก่โจทก์ หากไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย ถ้าจำเลยไม่สามารถโอนที่ดินแก่โจทก์ ให้จำเลยชดใช้เงินค่าเสียหายจำนวน 1,228,326,885 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณาจำเลยถึงแก่กรรม นายครรชิต ผู้จัดการมรดกของจำเลย ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทน ศาลชั้นต้นอนุญาต
ในชั้นชี้สองสถาน ศาลชั้นต้นตรวจคำฟ้องและคำให้การแล้วเห็นว่าคดีนี้มูลคดีเดียวกันกับคดีแพ่ง หมายเลขแดงที่ 1967/2540 ของศาลจังหวัดเชียงราย จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำกับคดีดังกล่าว ต้องห้ามมิให้นำคดีมาฟ้องตาม ป.วิ.พ. มาตรา 144 จึงมีคำสั่งให้ยกฟ้อง ค่าขึ้นศาลให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ศาลชั้นต้นรับคำฟ้องตามคำขอท้ายฟ้องข้อ 2 ไว้ แล้วดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไป สำหรับค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาล ให้ศาลชั้นต้นรวมสั่งเมื่อมีคำพิพากษาใหม่
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ตามฎีกาของจำเลยนั้นเป็นฎีกาในปัญหาที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหา ข้อกฎหมาย ซึ่งทำให้คดีเสร็จไปทั้งเรื่องตาม ป.วิ.พ. มาตรา 24 ว่าฟ้องโจทก์คดีนี้เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำกับคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 1967/2540 ของศาลชั้นต้น และศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ศาลชั้นต้นรับฟ้องเฉพาะประเด็นเกี่ยวกับค่าเสียหายตามคำขอท้ายฟ้องข้อ 2 ไว้พิจารณา จำเลยฎีกาขอให้ศาลฎีกายกคำพิพากษา ศาลอุทธรณ์ภาค 2 และให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่ให้ยกฟ้อง จึงเป็นคำขอให้จำเลยชนะคดีในประเด็นเรื่องการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ ตามคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นอันเป็นปัญหาข้อกฎหมาย ซึ่งต้องชำระค่าขึ้น ศาลชั้นฎีกาเพียง 200 บาท ตามตาราง 1 (2) (ข) การที่จำเลยฎีกาและชำระค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาจำนวน 200 บาท จึงชอบแล้ว ที่ศาลชั้นต้นสั่งมีคำสั่งให้จำเลยนำเงินมาชำระค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาเพิ่มเติมอย่างคดีมีทุนทรัพย์จึงเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบ เมื่อจำเลยไม่ปฏิบัติตาม จึงไม่เป็นการทิ้งฎีกาตามกฎหมาย
ประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยต่อไปตามฎีกาของจำเลยมีว่า การที่โจทก์ฟ้องคดีนี้ในส่วนค่าเสียหายตามคำขอท้ายฟ้องข้อ 2 เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำตาม ป.วิ.พ. มาตรา 144 หรือไม่ เนื่องจากตามคำพิพากษาคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 1967/2540 ของศาลชั้นต้นได้วินิจฉัยไว้แล้วว่า สัญญาจะซื้อจะขายที่ดิน สัญญาจำนองและสัญญาก่อตั้งสิทธิเหนือ พื้นดินพิพาทตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 155 และคดีดังกล่าวอยู่ระหว่างพิจารณาคดีของศาลอุทธรณ์ภาค 2 เห็นว่า ศาลชั้นต้นได้พิจารณาพิพากษาคดีนี้เกี่ยวกับประเด็นเรื่องสัญญาจะซื้อจะขาย สัญญาจำนองและสัญญาก่อตั้งสิทธิเหนือพื้นดินแล้วว่าเป็นโมฆะ ไม่อาจบังคับใช้ได้ตามกฎหมาย ดังนั้นในประเด็นเรื่องค่าเสียหายค่าที่ดินเพิ่มขึ้น ค่าขาดรายได้ที่สร้างโรงแรมในที่ดิน ค่าปรับ ค่าทำเขื่อนกั้นดิน ค่าย้ายโรงสูบ และค่าย้ายหม้อแปลงไฟฟ้า ซึ่งเป็นประเด็นที่จะต้องพิจารณาสืบต่อเนื่องจากประเด็นเรื่องผิดสัญญาหรือไม่ เมื่อฟังได้ว่า สัญญาดังกล่าวเป็นโมฆะ จึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องวินิจฉัยในประเด็นเรื่องค่าเสียหายดังกล่าวต่อไป และศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษาชี้ขาดในประเด็นที่เกี่ยวกับคดีนี้แล้ว เป็นอันต้องห้ามมิให้ดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำอีก ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 144
ส่วนประเด็นที่ว่า เมื่อสัญญาจะซื้อจะขายเป็นโมฆะ จำเลยต้องคืนมัดจำหรือราคาค่าซื้อที่ดิน 8,000,000 บาท หรือไม่ นั้น จำเลยให้การต่อสู้ว่า โจทก์เรียกคืนไม่ได้ เพราะเป็นการกระทำเพื่อชำระหนี้เป็นการอันฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมาย เห็นว่าศาลชั้นต้นในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 1967/2540 ยังไม่ได้วินิจฉัยประเด็นดังกล่าว โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องจำเลยได้ แต่การที่โจทก์ชำระมัดจำหรือเงินราคาค่าซื้อขายที่ดินพิพาทแก่จำเลยตามสัญญาซึ่งเป็นโมฆะดังกล่าว ย่อมเป็นการชำระหนี้เป็นการอันฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมาย ต้องด้วย ป.พ.พ. ลักษณะ 4 ว่าด้วยลาภมิควรได้ ซึ่งตามมาตรา 411 บัญญัติว่า “บุคคลใดกระทำการเพื่อชำระหนี้ เป็นการอันฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมายหรือศีลธรรมอันดี ท่านว่าบุคคลนั้นหาอาจจะเรียกร้องคืนทรัพย์ได้ไม่” ดังนี้ มัดจำหรือเงินราคาค่าซื้อขายที่ดินพิพาท มีมูลมาจากสัญญา ที่มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย โจทก์จึงไม่อาจเรียกเงินจำนวนดังกล่าวคืนจากจำเลยฐาน ลาภมิควรได้…
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องในประเด็นที่ 2 เรื่องค่าเสียหายด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษา ศาลอุทธรณ์ภาค 2 คืนค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ส่วนที่เกิน 200 บาท ให้แก่โจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมอื่นนอกจากนี้ทั้งสามศาลให้เป็นพับ.

Share