คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3182/2543

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

จำเลยที่ 2 เป็นกรรมการผู้จัดการของจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 4ถึงที่ 6 ย่อมทราบดีถึงศักยภาพในการประกอบธุรกิจของจำเลยที่ 1และจำเลยที่ 4 ถึงที่ 6 การที่จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 4 ถึงที่ 6ค้าขายขาดทุนจนไม่สามารถชำระหนี้เงินกู้ยืมแก่เจ้าหนี้ได้ ย่อมเป็นเพราะความประมาทหรือความผิดพลาดของจำเลยที่ 2 ด้วย จำเลยที่ 2 ก่อหนี้ตามสัญญาค้ำประกัน โดยไม่อาจแสดงให้เป็นที่พอใจต่อศาลได้ว่าจำเลยที่ 2 มีเหตุผลที่ควรเชื่อได้ว่าจะสามารถชำระหนี้แทนจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 4 ถึงที่ 6 จึงเป็นกรณีอันควรตำหนิจำเลยที่ 2 นอกจากนั้นจำเลยที่ 2 ยังมิได้แสดงให้เห็นว่าเศรษฐกิจตกต่ำมีผลกระทบอย่างไรแก่การประกอบธุรกิจ ซึ่งหากจำเลยที่ 2 บริหารงานไม่ผิดพลาด การค้าขายก็คงไม่ขาดทุนถึงเพียงนี้ พฤติการณ์ของจำเลยที่ 2 ต้องด้วยข้อสันนิษฐานว่าจำเลยที่ 2 ขืนกระทำการค้าขายต่อไปอีกโดยรู้อยู่แล้วว่าไม่สามารถชำระหนี้ได้

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยทั้งหกเด็ดขาดและพิพากษาให้จำเลยทั้งหกเป็นบุคคลล้มละลาย

ต่อมาจำเลยที่ 2 ขอให้ศาลสั่งปลดจำเลยที่ 2 จากล้มละลาย

เจ้าหนี้รายที่ 18 และที่ 40 ยื่นคำคัดค้านว่าจำเลยที่ 2 มีส่วนดำเนินธุรกิจประสบการขาดทุน จึงเป็นผู้รู้เห็นเกี่ยวข้อง และจากการบังคับคดีปรากฏว่าเจ้าหนี้ทั้งหลายได้รับชำระหนี้เพียงเล็กน้อยเมื่อเปรียบเทียบกับมูลหนี้ทั้งหมด จึงน่าเป็นเรื่องผิดปกติของการดำเนินการค้าขายขาดทุนโดยสุจริต ขอให้ยกคำร้อง

เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์รายงานว่า ได้ทำการแบ่งทรัพย์สินเงินที่ได้จากการทอดตลาดทรัพย์ของจำเลยที่ 2 เฉลี่ยให้เจ้าหนี้ได้ร้อยละ 2.25 เหตุที่ถูกฟ้องล้มละลายเนื่องจากจำเลยที่ 2 เป็นกรรมการผู้จัดการของจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 4 ถึงที่ 6 และเป็นผู้ค้ำประกันหนี้เงินกู้ของจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 4 ถึงที่ 6 ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 ประพฤติผิดกฎหมายล้มละลายอันจะมีโทษทางอาญาแต่ประการใด

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว มีคำสั่งปลดจำเลยที่ 2 จากล้มละลายตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 71

เจ้าหนี้รายที่ 18 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกคำร้องขอปลดจากล้มละลายของจำเลยที่ 2

จำเลยที่ 2 ฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายวินิจฉัยว่า “มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยที่ 2 ว่าสมควรปลดจำเลยที่ 2 จากล้มละลายหรือไม่ ตามรายงานของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้ความว่า ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 2 ล้มละลายเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2532 มีเจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้จากกองทรัพย์สินของจำเลยที่ 2 รวม 33 รายเป็นเงินทั้งสิ้น 1,128,938,229.76 บาท เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แบ่งทรัพย์สินของจำเลยที่ 2 ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 17 เมษายน 2538 เฉลี่ยให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้เพียงครั้งเดียวร้อยละ 2.25 ของหนี้ทั้งหมด เจ้าหนี้ทั้ง 33 รายยังมีสิทธิได้รับชำระหนี้อีกถึง 1,000,000,000 บาทเศษ และเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ไม่สามารถรวบรวมทรัพย์สินของจำเลยที่ 2 ได้อีก เห็นว่า จำเลยที่ 2 เป็นกรรมการผู้จัดการของจำเลยที่ 1และจำเลยที่ 4 ถึงที่ 6 เป็นเวลานานประมาณ 10 ปี จำเลยที่ 2 ย่อมเป็นผู้ที่มีส่วนสำคัญในการบริหารงานของจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 4 ถึงที่ 6 อันเป็นผลต่อกิจการของจำเลยดังกล่าว การที่จำเลยที่ 2 มีทรัพย์สินเหลือไม่ถึงห้าสิบในร้อยของหนี้ที่ไม่มีประกัน ไม่ใช่ผลธรรมดาอันเนื่องมาจากการค้าขายขาดทุน และไม่ใช่เหตุสุดวิสัยแต่เป็นเพราะความผิดพลาดในการบริหารงานของจำเลยที่ 2 อันควรตำหนิจำเลยที่ 2 นอกจากนี้จำเลยที่ 2 ไม่อาจแสดงให้เป็นที่พอใจต่อศาลได้ว่า จำเลยที่ 2 มีเหตุผลที่ควรเชื่อได้ว่าตนสามารถชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ทั้ง 33 รายได้จึงได้ก่อหนี้ขึ้นเป็นจำนวนมากทั้งจำเลยที่ 2 มิได้นำบัญชีในการประกอบธุรกิจและงบดุลประจำปีในระยะเวลา 3 ปี ก่อนล้มละลายมาแสดงต่อศาลเพื่อให้เห็นฐานะของกิจการโดยถูกต้องตามจริง พฤติการณ์ของจำเลยที่ 2 ต้องด้วยข้อสันนิษฐานตามมาตรา 74 ว่า จำเลยที่ 2 ขืนกระทำการค้าขายต่อไปอีกโดยรู้อยู่แล้วว่าไม่สามารถจะชำระหนี้ได้ เมื่อข้อเท็จจริงต้องด้วยข้อกำหนดตามมาตรา 73(1) และ(3) ประกอบกับเจ้าหนี้รายที่ 18 และรายที่ 40 คัดค้านการขอปลดจากล้มละลายของจำเลยที่ 2 จึงนับว่ามีเหตุที่ไม่สมควรปลดจำเลยที่ 2 จากล้มละลายที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า เหตุที่จำเลยที่ 2 ต้องตกเป็นบุคคลล้มละลายเพราะจำเลยที่ 2 ได้ค้ำประกันการกู้ยืมเงินของจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 4 ถึงที่ 6 ซึ่งจำเลยที่ 2 เป็นกรรมการผู้จัดการของจำเลยดังกล่าว ต่อมากิจการของจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 4 ถึงที่ 6 ขาดทุนไม่สามารถชำระหนี้ได้ ดังนั้น การที่จำเลยที่ 2 ต้องตกเป็นบุคคลล้มละลายจึงเนื่องมาจากการปฏิบัติหน้าที่ของจำเลยที่ 2 ในเชิงธุรกิจการค้าทั่วไป หาใช่เพราะเหตุกระทำการเสี่ยงโชคอันน่าจะขาดทุนหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงในการประกอบธุรกิจอันควรตำหนิจำเลยที่ 2 ไม่ เห็นว่า จำเลยที่ 2 เป็นกรรมการผู้จัดการของจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 4 ถึงที่ 6 เป็นผู้บริหารงานของจำเลยดังกล่าวย่อมทราบดีถึงศักยภาพในการประกอบธุรกิจของจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 4 ถึงที่ 6 ว่าสามารถนำเงินที่กู้ยืมไปลงทุนแล้วจะได้ผลตอบแทนเพียงพอจะชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ได้หรือไม่ การที่จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 4 ถึงที่ 6 ค้าขายขาดทุนจนไม่สามารถชำระหนี้เงินกู้ยืมแก่เจ้าหนี้ได้ ย่อมเป็นเพราะความประมาทหรือความผิดพลาดของจำเลยที่ 2 ด้วย อีกทั้งที่จำเลยที่ 2 ยอมทำสัญญาค้ำประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 4 ถึงที่ 6 จำเลยที่ 2 ก็ไม่อาจแสดงให้เป็นที่พอใจต่อศาลได้ว่าจำเลยที่ 2 มีเหตุผลที่ควรเชื่อได้ว่าหากจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 4 ถึงที่ 6 ไม่ชำระหนี้ จำเลยที่ 2 สามารถชำระหนี้แทนจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 4 ถึงที่ 6 ได้ จำเลยที่ 2 จึงได้ยอมก่อหนี้ตามสัญญาค้ำประกัน จึงเป็นกรณีอันควรตำหนิจำเลยที่ 2 ส่วนที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า จำเลยที่ 2 ล้มละลายเพราะมีปัญหามาจากเศรษฐกิจตกต่ำนั้นเห็นว่า จำเลยที่ 2 มิได้แสดงให้เห็นว่าเศรษฐกิจตกต่ำมีผลกระทบอย่างไรแก่การประกอบธุรกิจของจำเลยที่ 2 หากจำเลยที่ 2 บริหารงานของจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 4 ถึงที่ 6 ไม่ผิดพลาด การค้าขายก็คงไม่ขาดทุนถึงเพียงนี้ ส่วนฎีกาข้ออื่นของจำเลยที่ 2 แม้วินิจฉัยไปก็ไม่ทำให้ผลของคำพิพากษาเปลี่ยนแปลง จึงไม่วินิจฉัยให้ ศาลอุทธรณ์พิพากษาชอบแล้ว ฎีกาจำเลยที่ 2 ฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share