คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 340/2527

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ขณะเกิดเหตุ จำเลย(มีใบอนุญาตขับรถยนต์ส่วนบุคคลชั่วคราว)ใช้รถยนต์รับจ้างในกิจการส่วนตัวมิได้ใช้รับจ้างบรรทุกคนโดยสาร จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานไม่มีใบอนุญาตขับรถยนต์สาธารณะ จำเลยมิได้เป็นผู้ก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลหรือทรัพย์สินของผู้อื่นจึงไม่มีหน้าที่จะต้องหยุดช่วยเหลือหรือแจ้งเหตุต่อพนักงานเจ้าหน้าที่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291,300, 91 ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 11 พ.ศ. 2514 ข้อ 2 พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 43, 78, 157, 160, 162 พระราชบัญญัติรถยนต์พ.ศ. 2522 มาตรา 42, 43, 64 ให้เพิกถอนใบอนุญาตขับขี่รถยนต์ชั่วคราว

จำเลยให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 291, 300, 390 พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 43, 157แต่ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291 จำคุก 4 ปี มีความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 78, 160, 162 จำคุก1 เดือน และมีความผิดตามพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. 2522 มาตรา 42, 43, 64ปรับ 200 บาท รวมจำคุก 4 ปี 1 เดือน และปรับ 200 บาท ให้เพิกถอนใบอนุญาตขับขี่ชั่วคราวของจำเลย

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยกับนายณรงค์เป็นเพื่อนกัน วันเกิดเหตุต่างฝ่ายต่างนำรถของบิดามาขับขี่ ก่อนเกิดเหตุรถยนต์ของจำเลยแล่นเข้าซอยทองหล่อก่อนนายณรงค์ฤทธิ์ขับรถตามแซงขึ้นหน้าไปเลี้ยวกลับรถแล้วจอดอยู่ข้างถนน จำเลยกลับรถแล้วขับรถผ่านรถนายณรงค์ฤทธิ์มุ่งหน้าออกปากซอยนายณงค์ฤทธิ์ขับตามไป จำเลยมิได้ขับรถโดยประมาทปราศจากความระมัดระวังโดยไม่ยอมให้นายณรงค์ฤทธิ์ขับแซงสำหรับข้อหาฐานไม่มีใบอนุญาตขับรถยนต์สาธารณะและข้อหาฐานไม่หยุดรถให้ความช่วยเหลือและแจ้งเหตุต่อพนักงานเจ้าหน้าที่นั้น ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ขณะเกิดเหตุจำเลยใช้รถยนต์รับจ้างในกิจการส่วนตัวมิได้ใช้รับจ้างบรรทุกคนโดยสารแต่อย่างใด และจำเลยเป็นฝ่ายถูกรถยนต์อื่นชน จำเลยมิได้เป็นผู้ก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลหรือทรัพย์สินของผู้อื่น จึงไม่มีหน้าที่จะต้องหยุดช่วยเหลือหรือแจ้งเหตุต่อพนักงานเจ้าหน้าที่จำเลยไม่มีความผิด

พิพากษายืน

Share