คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7470/2543

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ในวันนัดสืบพยานโจทก์ที่ 15 ธันวาคม 2540 ทนายโจทก์และทนายจำเลยตกลงนัดวันสืบพยานไว้ล่วงหน้า 2 นัด คือวันที่ 22 มกราคมและ 23 กุมภาพันธ์ 2541 ชอบที่ทนายจำเลยจะเอาใจใส่ไม่นัดความซ้ำซ้อนหากพลั้งเผลอไปนัดวันซ้ำซ้อนก็ควรรีบร้องขอเลื่อนคดีแต่เนิ่น ๆ เพราะศาลชั้นต้นในคดีนี้อาจไม่ให้เลื่อนคดีก็ได้ ซึ่งทนายจำเลยก็ยังไปร้องขอเลื่อนคดีต่อศาลชั้นต้นในคดีอื่นที่ตนนัดซ้ำซ้อนกับคดีนี้ไว้ได้ อีกทั้งวันที่ 22 มกราคม 2541 ทนายจำเลยก็หาได้ยื่นคำร้องขอเลื่อนการพิจารณาคดีในนัดหน้าต่อศาลชั้นต้นไม่ การที่เพิ่งมอบหมายให้ผู้รับมอบฉันทะมายื่นคำร้องขอเลื่อนคดีในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2541 โดยอ้างว่าทนายจำเลยติดว่าความอยู่ที่ศาลจังหวัดเชียงใหม่ และในวันใกล้เคียงกันก่อนหน้านี้ก็ติดว่าความอยู่ที่ศาลจังหวัดเชียงรายด้วย จึงจำต้องขอเลื่อนคดีเพื่อสะดวกแก่การเดินทางไปขึ้นศาลทางภาคเหนือในคราวเดียวกันแสดงว่าทนายจำเลยมุ่งแต่คำนึงถึงความสะดวกของตนฝ่ายเดียว ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่อนุญาตให้จำเลยเลื่อนคดีชอบแล้ว
แม้กองมรดกของผู้ตายมีผู้จัดการมรดกอยู่แล้วก็ไม่ตัดอำนาจของทายาทที่จะใช้สิทธิเรียกร้องต่อบุคคลภายนอกเพื่อประโยชน์แก่กองมรดกได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์มอบอำนาจให้นายไพโรจน์ ลิ่วมโนคุณ ดำเนินคดีแทนโจทก์ โจทก์เป็นมารดาของนายสมศักดิ์ ลิ่วเจริญลาภ ผู้เอาประกันภัยรถยนต์ไว้ต่อจำเลย โดยจำเลยรับประกันภัยรถยนต์เก๋งรับจ้าง ยี่ห้อโตโยต้าโคโรน่า คันหมายเลขตัวถังเอที 190-9004756 หมายเลขเครื่องยนต์4 เอ – เค 330809 ไว้จากนายสมศักดิ์ ลิ่วเจริญลาภ ในประเภทคุ้มครองรถยนต์คันที่เอาประกันภัยเฉพาะลักทรัพย์ ชิงทรัพย์ หรือปล้นทรัพย์ทั้งคันวงเงิน 350,000 บาท และในประเภทประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคล คุ้มครองบุคคลที่กำลังขับรถยนต์ หรือผู้ขับที่กำลังขึ้นหรือลงจากรถยนต์คันที่เอาประกันภัย วงเงิน 50,000 บาท มีอายุสัญญาประกันภัย 1 ปี นับแต่วันที่ 5มกราคม 2537 ถึงวันที่ 5 มกราคม 2538 เมื่อวันที่ 3 มกราคม 2538เวลาประมาณ 3 นาฬิกา นายสมศักดิ์ผู้เอาประกันภัยขณะขับรถยนต์คันที่เอาประกันภัยถูกคนร้ายฆ่าตายและถูกชิงทรัพย์เอารถยนต์คันที่เอาประกันภัยไปทั้งคัน แล้วคนร้ายทำให้รถคันที่เอาประกันภัยเสียหายโดยการเปลี่ยนแปลงสีรถ แก้ไขเลขเครื่องยนต์และขับฝ่าด่านตรวจค้นของเจ้าพนักงานตำรวจพลิกคว่ำเสียหายพังยับเยิน จำเลยในฐานะผู้รับประกันภัยต้องจัดการซ่อมแซมรถยนต์คันที่เอาประกันภัยก่อนส่งคืนแก่โจทก์ แต่จำเลยเพิกเฉย โจทก์ต้องนำรถยนต์ไปซ่อมเอง เสียค่าซ่อมไปเป็นเงิน 130,540 บาท และโจทก์ยังสำรองจ่ายค่าติดตามรถคืนไปอีกไม่น้อยกว่า 6,000 บาท แต่โจทก์ขอคิดเพียง 6,000 บาท ผลจากการชิงทรัพย์ประกอบกับการจัดการสินไหมทดแทนที่ผิดพลาดและบ่ายเบี่ยงประวิงเวลาของจำเลย ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายต้องขาดประโยชน์จากการใช้รถยนต์คันที่เอาประกันภัยวันละไม่ต่ำกว่า600 บาท นับแต่วันเกิดเหตุจนถึงวันที่ซ่อมเสร็จเป็นเวลา 440 วันคิดเป็นเงินค่าขาดประโยชน์ 264,000 บาท และจำเลยต้องรับผิดในส่วนประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคลอีก 50,000 บาท รวมเป็นค่าเสียหายทั้งสิ้น 450,540 บาท จำเลยต้องรับผิดชำระเงินจำนวนดังกล่าวแก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันเกิดเหตุจนถึงวันฟ้องเป็นเวลา 23 เดือนเศษ แต่โจทก์ขอคิดเพียง 23 เดือน เป็นเงินดอกเบี้ย64,765 บาท รวมเป็นเงิน 515,305 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระค่าเสียหายแก่โจทก์ 515,305 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5ต่อปี ของต้นเงิน 450,540 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ

จำเลยให้การว่า จำเลยมอบอำนาจให้นายอภิรักษ์ รุ่งปลาทองดำเนินคดีแทนรถยนต์คันที่เอาประกันภัยมิได้สูญหายหรืออาจถือได้ว่าสูญหายไปชั่วขณะหนึ่งแล้วได้คืนมา จำเลยจึงไม่มีหน้าที่ต้องชดใช้แก่ผู้เอาประกันภัยหรือทายาท และค่าเสียหายของโจทก์ไม่เกิน 30,000บาท โจทก์ไม่มีสิทธิที่จะเรียกค่าประกันภัยอุบัติเหตุเพราะเป็นการฆาตกรรมไม่อยู่ในเงื่อนไขความคุ้มครอง ค่าติดตามรถคืนหากมีก็ไม่เกิน 600 บาท ก่อนตายผู้เอาประกันภัยมีรายได้วันละไม่เกิน100 บาท ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินแก่โจทก์ 236,540 บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 10 กุมภาพันธ์2538 ไปจนกว่าจะชำระเสร็จ แต่ดอกเบี้ยนับถึงวันฟ้องไม่ให้เกิน64,765 บาท

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงินจำนวน186,540 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับตั้งแต่วันที่ 10กุมภาพันธ์ 2538 เป็นต้นไปจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่ดอกเบี้ยนับถึงวันฟ้องต้องไม่เกิน 64,765 บาท เท่าที่โจทก์ขอ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่าผู้ตายทำสัญญาประกันภัยรถยนต์คันพิพาทไว้กับจำเลยตามแบบกรมธรรม์เอกสารหมาย จ.5 มีข้อตกลงว่าจำเลยจะรับผิดชดใช้ราคารถยนต์ในกรณีที่ถูกคนร้ายลักทรัพย์ ชิงทรัพย์ หรือปล้นทรัพย์โดยจำกัดวงเงินไว้จำนวน350,000 บาท ระหว่างอยู่ในระยะเวลาประกันภัย ผู้ตายถูกคนร้ายใช้อาวุธปืนยิงถึงแก่ความตายแล้วชิงทรัพย์เอารถยนต์คันพิพาทไป ต่อมาเจ้าพนักงานตำรวจสถานีตำรวจภูธรอำเภอเขาสมิง จังหวัดตราด ยึดรถยนต์คันพิพาทมาได้เพราะคนร้ายขับรถฝ่าด่านตรวจพลิกคว่ำเสียหาย ปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยในข้อแรกมีว่า การที่ศาลชั้นต้นไม่อนุญาตให้จำเลยเลื่อนคดีและทำการสืบพยานโจทก์ไป ทำให้จำเลยเสียเปรียบไม่มีโอกาสถามค้านพยานโจทก์เป็นการชอบหรือไม่ เห็นว่า วันนัดสืบพยานโจทก์ในวันที่ 23 กุมภาพันธ์2541 นั้น ทนายโจทก์และทนายจำเลยตกลงนัดวันสืบพยานไว้ล่วงหน้าจากนัดครั้งก่อนไป 2 นัด คือในวันนัดสืบพยานโจทก์ที่ 15 ธันวาคม 2540จึงชอบที่ทนายจำเลยจะเอาใจใส่ ไม่นัดความซ้ำซ้อนกับคดีนี้ หากจะพลั้งเผลอไปนัดวันซ้ำซ้อนกับคดีนี้เข้าก็ควรที่จะรีบร้องขอเลื่อนคดีเสียแต่เนิ่น ๆเพราะศาลชั้นต้นในคดีนี้อาจไม่ให้เลื่อนคดีก็ได้ ซึ่งกรณีเช่นนี้ทนายจำเลยก็ยังมีทางไปร้องขอเลื่อนคดีต่อศาลชั้นต้นในคดีอื่นที่ตนนัดซ้ำซ้อนกับคดีนี้ไว้ได้ แต่ปรากฏว่าก่อนถึงวันนัดสืบพยานโจทก์ในวันที่ 23 กุมภาพันธ์2541 นั้น ยังมีวันนัดสืบพยานโจทก์อีกวันหนึ่งในวันที่ 22 มกราคม 2541แต่ทนายจำเลยก็หาได้ยื่นคำร้องขอเลื่อนการพิจารณาคดีต่อศาลชั้นต้นไม่ข้อที่อ้างว่าทนายจำเลยได้แถลงด้วยวาจาต่อศาลชั้นต้นถึงเหตุขัดข้องในวันนัดดังกล่าวนั้น ทนายจำเลยก็ยอมรับว่าศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งให้ทนายจำเลยทำเป็นคำร้องยื่นเข้ามาในสำนวน แต่ทนายจำเลยก็มิได้นำพาที่จะยื่นคำร้องขอเลื่อนคดีไว้ล่วงหน้าแต่อย่างใดไม่ กลับอ้างว่าในทางปฏิบัติที่ผ่านมาไม่สู้จะมีการทำเช่นนี้ เพิ่งจะมอบหมายให้ผู้รับมอบฉันทะมายื่นคำร้องขอเลื่อนคดีในวันนัดครั้งหลัง โดยอ้างว่าทนายจำเลยติดว่าความอยู่ที่ศาลจังหวัดเชียงใหม่และในวันใกล้เคียงกันก่อนหน้านี้ทนายจำเลยก็ติดว่าความอยู่ที่ศาลจังหวัดเชียงรายด้วย ทนายจำเลยจึงจำต้องขอเลื่อนคดีเพื่อสะดวกแก่การเดินทางไปขึ้นศาลทางภาคเหนือในคราวเดียวกัน จึงแสดงให้เห็นว่าทนายจำเลยมุ่งแต่คำนึงถึงความสะดวกของตนถ่ายเดียวเป็นที่ตั้ง มิได้สนใจต่อพันธะที่ตนมีต่อศาลและคู่ความฝ่ายอื่น ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่อนุญาตให้จำเลยเลื่อนคดีและศาลอุทธรณ์พิพากษายืนมานั้นชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

ปัญหาต่อไปตามฎีกาของจำเลยมีว่า ก่อนโจทก์ฟ้องคดีนี้กองมรดกของผู้ตายมีผู้จัดการมรดกแล้ว ทายาทอื่น ๆ ที่มิใช่ผู้จัดการมรดกจึงไม่มีอำนาจฟ้องคดีนี้ ซึ่งปัญหานี้จำเลยไม่ได้ให้การต่อสู้ไว้ เพิ่งจะยกขึ้นอ้างในชั้นฎีกาอันเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์แต่ก็เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนศาลฎีการับวินิจฉัยให้ ปัญหานี้ศาลฎีกาเห็นว่า แม้กองมรดกของผู้ตายจะมีผู้จัดการมรดกอยู่แล้ว ก็ไม่เป็นการตัดอำนาจของทายาทในอันที่จะใช้สิทธิเรียกร้องต่อบุคคลภายนอกเพื่อประโยชน์แก่กองมรดกได้ ฎีกาของจำเลยในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

ปัญหาต่อไปตามฎีกาของจำเลยมีว่า จำเลยต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อค่าซ่อมรถยนต์คันพิพาทให้แก่โจทก์หรือไม่ ตามกรมธรรม์ประกันภัยเอกสารหมาย จ.5 ข้อ 3.5.3 มีข้อตกลงว่าในกรณีรถยนต์สูญหายอันเกิดจากการลักทรัพย์ ชิงทรัพย์หรือปล้นทรัพย์จำเลยจะจ่ายค่าสินไหมทดแทนเต็มตามจำนวนที่จะต้องรับผิดตามสัญญาโดยผู้เอาประกันภัยต้องโอนกรรมสิทธิ์รถยนต์ให้แก่จำเลย ในกรณีได้รับรถยนต์กลับคืนมาข้อ 3.5.3.1 มีข้อตกลงว่าจำเลยยอมให้ผู้เอาประกันภัยใช้สิทธิขอรับรถยนต์คืน โดยผู้เอาประกันภัยต้องคืนเงินที่ได้รับชดใช้ไปทั้งหมดให้แก่จำเลย ถ้ารถยนต์นั้นเกิดความเสียหายจำเลยต้องจัดการซ่อมโดยค่าใช้จ่ายของจำเลยก่อนคืน จำเลยฎีกาว่าสัญญาประกันภัยตามเอกสารหมาย จ.5เป็นสัญญาสำเร็จรูปซึ่งออกและควบคุมโดยกรมการประกันภัยเพื่อให้บริษัทผู้รับประกันภัยรับผิดตามความเสี่ยงที่ผู้เอาประกันได้เสียเบี้ยประกันภัยแต่หากผู้เอาประกันไม่ได้ซื้อความคุ้มครองจะยกเอาเงื่อนไขแห่งสัญญามาใช้เต็มรูปแบบมิได้ คดีนี้ผู้เอาประกันภัยซื้อความคุ้มครองรถยนต์เฉพาะประกันภัยค้ำจุนกับรถหายไว้เท่านั้น ไม่ได้ซื้อความคุ้มครองในส่วนการชนไว้ด้วย จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดในการซ่อมนั้น เห็นว่า นายอภิรักษ์ รุ่งปลาทองหัวหน้าส่วนอุบัติเหตุรถยนต์ของจำเลยเบิกความว่า สัญญาประกันภัยตามเอกสารหมาย จ.5 ข้อ 3.5.3.1 ไม่มีข้อความระบุว่าให้ใช้สำหรับการประกันภัยในประเภท 1 เท่านั้น นายณรงค์ศักดิ์ วุฒิสุทธิ์ นักวิชาการ 6 กรมการประกันภัยพยานโจทก์เบิกความว่า กรณีที่มีการเปลี่ยนแปลงหรือเพิ่มเติมกรมธรรม์ ผู้เอาประกันภัยและผู้รับประกันภัยต้องทำหนังสือแนบท้ายไว้ด้วยความเสียหายของรถยนต์คันพิพาทซึ่งเกิดจากคนร้ายขับและพลิกคว่ำนั้นถือว่าเป็นความเสียหายที่เกิดจากการลักทรัพย์ ชิงทรัพย์ หรือปล้นทรัพย์มิใช่อุบัติเหตุซึ่งตามตารางกรมธรรม์ประกันภัยให้ความคุ้มครองด้วยเห็นได้ว่าแม้สัญญาประกันภัยจะเป็นสัญญาสำเร็จรูปซึ่งออกแบบและควบคุมโดยกรมการประกันภัย แต่คู่สัญญาอาจทำการเปลี่ยนแปลงแก้ไขเพิ่มเติมโดยทำเป็นหนังสือแนบท้ายไว้ได้ เมื่อข้อความในกรมธรรม์ประกันภัยตามเอกสารหมาย จ.5 ระบุไว้ชัดว่าในกรณีรถยนต์สูญหายอันเกิดจากการลักทรัพย์ ชิงทรัพย์ และปล้นทรัพย์ แล้วได้รถยนต์คืนมา ผู้เอาประกันภัยมีสิทธิขอรับรถคืน โดยคืนเงินที่ได้รับชดใช้ไปทั้งหมดแก่ผู้รับประกันภัยถ้ารถยนต์นั้นเกิดความเสียหาย ผู้รับประกันภัยต้องจัดการซ่อมก่อนคืนโดยไม่มีข้อยกเว้นความรับผิดไว้ จำเลยจึงต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อค่าซ่อมรถยนต์คันพิพาทซึ่งเสียหายให้โจทก์ ฎีกาจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

ปัญหาต่อไปตามฎีกาของจำเลยมีว่า จำเลยต้องรับผิดชดใช้ค่าขาดประโยชน์จากการที่ไม่ได้ใช้รถยนต์คันพิพาทแก่โจทก์หรือไม่ เห็นว่าโจทก์มิได้ฟ้องให้จำเลยรับผิดฐานเป็นผู้ทำละเมิดชิงทรัพย์เอารถยนต์คันพิพาทไป หากแต่ฟ้องให้รับผิดตามสัญญาประกันภัย ทั้งตามกรมธรรม์ประกันภัยก็ปรากฏข้อตกลงชัดแจ้งในข้อ 3.7.5 ว่าการประกันภัยนี้ไม่คุ้มครองถึงความเสียหายอันเกิดจากการขาดการใช้รถยนต์ ดังนี้จำเลยหาต้องรับผิดใช้ค่าขาดประโยชน์แก่โจทก์ไม่ ที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดให้จำเลยใช้ค่าขาดประโยชน์แก่โจทก์เป็นเงิน 50,000 บาท นั้นศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาจำเลยข้อนี้ฟังขึ้น

ปัญหาข้อสุดท้ายตามฎีกาของจำเลยมีว่า ค่าซ่อมรถและค่าใช้จ่ายในการรับรถคืน ที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดให้นั้นสูงเกินเหตุหรือไม่ เห็นว่ารถยนต์คันพิพาทเสียหายทั้งคันเพราะพลิกคว่ำ นายวิชัย ทองดอนปุ้ม ผู้จัดการอู่ซ่อมรถยนต์พยานโจทก์เบิกความว่าพยานได้จัดการซ่อมรถยนต์คันพิพาทเป็นเวลานานหลายเดือนเพราะรถยนต์คันพิพาทได้รับความเสียหายเป็นจำนวนมาก เป็นเงินค่าซ่อมทั้งสิ้น 130,540 บาท ส่วนค่าใช้จ่ายในการรับรถคืนมานั้น ก็ปรากฏว่าจำเลยแจ้งให้ทางโจทก์ไปรับรถคืนเอง อ้างเหตุว่าจำเลยไม่ต้องรับผิดชอบในส่วนนี้ โจทก์ต้องเสียค่าใช้จ่ายแก่เจ้าพนักงานตำรวจในการไปนำรถยนต์คันพิพาทจากอำเภอเขาสมิง จังหวัดตราดกลับมาที่กรุงเทพมหานครสิ้นเงินไป 6,000 บาท จำเลยไม่มีพยานมาสืบหักล้างว่าค่าใช้จ่ายมีไม่ถึงจำนวนดังที่โจทก์อ้าง ฉะนั้นที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดค่าซ่อมรถเป็นเงิน 130,540 บาท และค่าใช้จ่ายในการรับรถคืนเป็นเงิน 6,000 บาท จึงชอบด้วยรูปคดีแล้ว ไม่มีเหตุที่ศาลฎีกาจะเปลี่ยนแปลงแก้ไข ฎีกาจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น”

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงินจำนวน 136,540 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2538เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share