คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 501/2543

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การเดินทางออกนอกราชอาณาจักรทางเครื่องบิน ผู้เดินทางจำต้องมีบัตรโดยสารเครื่องบินสำหรับเที่ยวบนที่ตนจะเดินทางให้ถูกต้องเสียก่อนมิฉะนั้นการเดินทางดังกล่าวจะเกิดขึ้นมิได้เพราะพนักงานสายการบินจะยินยอมให้เฉพาะผู้มีบัตรโดยสารเครื่องบินเท่านั้นผ่านขึ้นเครื่องบินได้ ผู้คัดค้านมีบัตรโดยสารเครื่องบินของกลางที่ระบุชื่อผู้เดินทางคือผู้คัดค้านถูกต้องตรงกับหนังสือเดินทางที่จะช่วยให้ผู้คัดค้านสามารถเดินทางออกนอกราชอาณาจักรได้สำเร็จ และหากผู้คัดค้านเดินทางถึงที่หมายก็จะได้รับผลจากการนำยาเสพติดให้โทษออกนอกราชอาณาจักร เช่นนี้ บัตรโดยสารเครื่องบินของกลางจึงเป็นทรัพย์ที่ช่วยเหลือเกื้อหนุนหรืออีกนัยหนึ่งคือเป็นอุปกรณ์ให้ผู้คัดค้าน สามารถรับผลในการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดต้องถูกริบเป็นของกองทุนป้องกันและปราบปรามยาเสพติดตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. 2534 มาตรา 30,31
ฎีกาผู้คัดค้านที่ว่า การกระทำของผู้คัดค้านยังไม่ถึงขั้นพยายามส่งยาเสพติดออกนอกราชอาณาจักรโดยกล่าวอ้างข้อเท็จจริงต่าง ๆ เพิ่มเติมนอกเหนือจากที่ได้กล่าวไว้ในคำร้องคัดค้าน จึงเป็นข้อเท็จจริงที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่งประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 แม้ศาลอุทธรณ์จะรับวินิจฉัยให้ก็ไม่ทำให้ฎีกาของผู้คัดค้านข้อนี้กลับเป็นฎีกาที่ชอบด้วยกฎหมายขึ้นมาได้ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้

ย่อยาว

ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า ผู้คัดค้านเป็นจำเลยในคดีอาญาข้อหามียางกัญชาไว้ในครอบครองและพยายามส่งยางกัญชาออกนอกราชอาณาจักร คดีดังกล่าวเจ้าพนักงานยึดบัตรโดยสารเครื่องบินสายการบิน ออลนิปปอนแอร์เวย์ เลขที่ 31522708402 จำนวน 1 ฉบับ อันเป็นทรัพย์ที่ใช้เป็นอุปกรณ์ให้ได้รับผลในการกระทำความผิดเป็นของกลาง จึงขอให้ริบบัตรโดยสารเครื่องบินดังกล่าวเป็นของกองทุนป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษพ.ศ. 2534 มาตรา 30, 31

ผู้คัดค้านยื่นคำร้องคัดค้านว่า บัตรโดยสารเครื่องบินสายการบินออลนิปปอนแอร์เวย์ เลขที่ 31522708402 ของผู้คัดค้าน เป็นเพียงบัตรโดยสาร ซึ่งทำให้ผู้คัดค้านมีสิทธิเดินทางโดยเครื่องบินเท่านั้น ขอให้ยกคำร้องและคืนบัตรโดยสารเครื่องบินดังกล่าวให้แก่ผู้คัดค้าน

ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ริบบัตรโดยสารสายการบินออลนิปปอนแอร์เวย์เลขที่ 31522708402 ของกลางให้ตกเป็นของกองทุนป้องกันและปราบปรามยาเสพติด

ผู้คัดค้านอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

ผู้คัดค้านฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า ผู้คัดค้านเป็นชาวต่างประเทศ มีภูมิลำเนาอยู่นอกราชอาณาจักรเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2541ผู้คัดค้านถูกเจ้าหน้าที่ปราบปรามยาเสพติดประจำท่าอากาศยานกรุงเทพจับกุมข้อหาพยายามนำยาเสพติดให้โทษออกนอกราชอาณาจักร ขณะที่ผู้คัดค้านแสดงตัวต่อพนักงานสายการบินออลนิปปอนแอร์เวย์ว่าเป็นผู้เดินทางด้วยสายการบินดังกล่าวเที่ยวบินที่เอ็นเอช 916 ออกเดินทางจากกรุงเทพมหานคร ไปยังกรุงโตเกียวประเทศญี่ปุ่น โดยมีหนังสือเดินทางและบัตรโดยสารเครื่องบินสายการบินออลนิปปอนแอร์เวย์เลขที่ 31522708402 อยู่ในมือของผู้คัดค้าน ผู้จับกุมจึงยึดบัตรโดยสารเครื่องบินดังกล่าวเป็นของกลาง ต่อมาพนักงานอัยการยื่นฟ้องผู้คัดค้านต่อศาลชั้นต้นในความผิดต่อพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ

ปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาผู้คัดค้านมีว่า บัตรโดยสารเครื่องบินของกลางเป็นทรัพย์ที่ผู้คัดค้านใช้เป็นอุปกรณ์ให้ได้รับผลในการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดหรือไม่ เห็นว่าการเดินทางออกนอกราชอาณาจักรทางเครื่องบิน ผู้เดินทางจำต้องมีบัตรโดยสารเครื่องบินสำหรับเที่ยวบินที่ตนจะเดินทางให้ถูกต้องเสียก่อน มิฉะนั้นการเดินทางดังกล่าวจะเกิดขึ้นมิได้ด้วยพนักงานสายการบินจะยินยอมให้เฉพาะผู้มีบัตรโดยสารเครื่องบินเท่านั้นผ่านขึ้นเครื่องบินได้ ผู้คัดค้านมีบัตรโดยสารเครื่องบินของกลางที่ระบุชื่อผู้เดินทางคือผู้คัดค้านถูกต้องตรงกับหนังสือเดินทางที่จะช่วยให้ผู้คัดค้านสามารถเดินทางออกนอกราชอาณาจักรได้สำเร็จ และหากผู้คัดค้านเดินทางถึงที่หมายก็จะได้รับผลจากการนำยาเสพติดให้โทษออกนอกราชอาณาจักรเชนนี้ บัตรโดยสารเครื่องบินของกลางจึงเป็นทรัพย์ที่ช่วยเหลือเกื้อหนุนหรืออีกนัยหนึ่งคือเป็นอุปกรณ์ให้ผู้คัดค้าน สามารถรับผลในการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ต้องถูกริบเป็นของกองทุนป้องกันและปราบปรามยาเสพติดตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. 2534 มาตรา 30, 31

สำหรับฎีกาผู้คัดค้านที่ว่าการกระทำของผู้คัดค้านยังไม่ถึงขั้นพยายามส่งยาเสพติดออกนอกราชอาณาจักรโดยกล่าวอ้างข้อเท็จจริงต่าง ๆ เพิ่มเติมนอกเหนือจากที่ได้กล่าวไว้ในคำร้องคัดค้าน จึงเป็นข้อเท็จจริงที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 แม้ศาลอุทธรณ์จะรับวินิจฉัยให้ก็ไม่ทำให้ฎีกาของผู้คัดค้านข้อนี้กลับเป็นฎีกาที่ชอบด้วยกฎหมายขึ้นมาได้ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้

พิพากษายืน

Share