คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1387/2530

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยได้มีหนังสือแจ้งภาษีเงินได้นิติบุคคลสั่งให้โจทก์นำไปชำระภายหลังที่ พระราชกำหนด แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร(ฉบับที่ 14) พ.ศ. 2529 ใช้บังคับ โจทก์ได้ยื่นคำขอเสียภาษีอากรตามแบบที่อธิบดีกำหนด และชำระภาษีอากรตามจำนวนที่ต้องเสียภายในระยะเวลาและหลักเกณฑ์ โจทก์จึงชอบที่จะได้รับสิทธิประโยชน์ตาม มาตรา 30 แห่ง พระราชกำหนด ดังกล่าว โดยได้รับยกเว้นจากการเรียกตรวจสอบไต่สวน ประเมินหรือสั่งให้เสียภาษีอากรและความผิดทางอาญาตามประมวลรัษฎากร ผู้ที่จะไม่ได้รับสิทธิประโยชน์จากมาตรา 30 นั้น หมายถึงผู้ที่เจ้าพนักงานประเมินได้ทำการประเมินหรือสั่งให้เสียภาษีอากรหรือให้นำส่งภาษีอากรก่อนวันที่ พระราชกำหนด นี้ใช้บังคับเท่านั้น
เมื่อโจทก์ได้รับยกเว้นจากการตรวจสอบไต่สวน ประเมินหรือสั่งให้เสียภาษีอากรแล้ว การประเมินและคำสั่งของจำเลยจึงไม่ชอบด้วยกฎหมายไม่มีผลบังคับ เสมือนหนึ่งว่าไม่ได้มีการประเมินและไม่มีคำสั่งของเจ้าพนักงานประเมิน โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องโดยไม่ต้องอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์.

ย่อยาว

ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้เพิกถอนการประเมินภาษีเงินได้นิติบุคคลจำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า ‘ปัญหาที่ว่าโจทก์จะได้รับสิทธิประโยชน์โดยได้รับยกเว้นตามมาตรา 30 แห่งพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 14) พ.ศ.2529 หรือไม่นั้นเห็นว่ามาตรา 30 วรรคหก (2) แห่งพระราชกำหนดดังกล่าวได้บัญญัติมิให้นำมาตรา 30 มาใช้แก่บุคคลที่เจ้าพนักงานประเมินได้ทำการประเมินหรือสั่งให้เสียภาษีอากรหรือนำส่งภาษีอากรโดยได้ทำการประเมินหรือสั่งก่อนวันที่พระราชกำหนดนี้ใช้บังคับ ดังนั้นข้อที่จะต้องพิจารณาจึงมีว่าเจ้าพนักงานประเมินได้ทำการประเมินหรือสั่งให้โจทก์เสียภาษีอากรหรือนำส่งภาษีอากรก่อนวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2529อันเป็นวันที่พระราชกำหนด ฯ ใช้บังคับหรือไม่ ข้อเท็จจริงในเรื่องนี้ได้ตรวจสอบแล้วปรากฏว่าจำเลยที่ 2 ได้มีหนังสือลงวันที่30 เมษายน 2529 แจ้งภาษีเงินได้นิติบุคคลสั่งให้โจทก์นำภาษีเงินได้นิติบุคคลไปชำระอันเป็นเวลาภายหลังที่พระราชกำหนดดังกล่าวใช้บังคับแล้ว ทั้งโจทก์ได้ยื่นคำขอตามแบบ อ.1 และชำระภาษีอากรตามจำนวนที่ต้องเสียเมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2529ดังปรากฏตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 9 และ 10 อันเป็นการยื่นคำขอเสียภาษีอากรตามแบบที่อธิบดีกำหนดและชำระภาษีอากรตามจำนวนที่ต้องเสียภายในระยะเวลาและหลักเกณฑ์ที่อธิบดีกำหนดโจทก์จึงชอบที่จะได้รับสิทธิประโยชน์ตามมาตรา 30 แห่งพระราชกำหนด ฯ โดยได้รับยกเว้นจากการเรียกตรวจสอบไต่สวนประเมินหรือสั่งให้เสียภาษีอากรและความผิดทางอาญาตามประมวลรัษฎากร
สำหรับข้อที่จำเลยอุทธรณ์ว่าโจทก์ไม่มีสิทธิจะได้รับยกเว้นตามมาตรา 30 แห่งพระราชกำหนด ฯ เพราะจำเลยได้ประเมินภาษีเงินได้นิติบุคคลและแจ้งให้โจทก์ทราบแล้วตั้งแต่วันที่ 30เมษายน 2529 ก่อนที่โจทก์จะยื่นคำขอเสียภาษีตามแบบ อ.1 และชำระหนี้เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2529 นั้นเห็นว่ามาตรา 30 วรรคหก(2) หาได้บัญญัติไว้เช่นนั้นไม่ ผู้ที่จะไม่ได้รับสิทธิประโยชน์จากมาตรา 30 นั้นหมายถึงผู้ที่เจ้าพนักงานประเมินได้ทำการประเมินหรือสั่งให้เสียภาษีอากรหรือให้นำส่งภาษีอากรโดยได้ทำการประเมินหรือสั่งก่อนวันที่พระราชกำหนดนี้ใช้บังคับเท่านั้น เพราะมิฉะนั้นแล้วบทบัญญัติมาตรา 30 แห่งพระราชกำหนด ฯที่ผ่อนผันให้ผู้มีหน้าที่เสียภาษีอากรที่ยังไม่ได้เสียภาษีอากรหรือเสียไว้ไม่ถูกต้องตามความจริงหรือไม่บริบูรณ์ได้ยื่นคำขอเสียภาษีอากรภายในเดือนกรกฎาคมพ.ศ.2529 ก็จะไม่มีผลอุทธรณ์ของจำเลยในปัญหาข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ส่วนข้อที่จำเลยอุทธรณ์ว่าโจทก์ได้ยื่นอุทธรณ์คำสั่งประเมินต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ และคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ยังไม่ได้มีคำวินิจฉัยโจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องนั้นเห็นว่าเมื่อโจทก์ได้สิทธิประโยชน์ตามมาตรา 30 แห่งพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 18) พ.ศ.2529 โดยได้รับยกเว้นจากการเรียกตรวจสอบไต่สวนประเมินหรือสั่งให้เสียภาษีอากรแล้วการประเมินและคำสั่งของจำเลยลงวันที่ 30 เมษายน 2529 ทั้งสามฉบับจึงไม่ชอบด้วยกฎหมายไม่มีผลบังคับเสมือนหนึ่งว่าไม่ได้มีการประเมินและไม่มีคำสั่งของเจ้าพนักงานที่โจทก์จะต้องอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องอุทธรณ์ของจำเลยในปัญหาข้อนี้ฟังไม่ขึ้นอีกเช่นกัน คำพิพากษาของศาลภาษีอากรกลางชอบแล้ว
พิพากษายืนให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ค่าทนายความในชั้นฎีกา20,000 บาทแก่โจทก์’.

Share