แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
เงินค่าเสียหายที่จำเลยผู้แพ้คดีในศาลชั้นต้นวางศาลเพื่อใช้หนี้โจทก์ตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้นในระหว่างอุทธรณ์นั้นเมื่อศาลอุทธรณ์พิพากษากลับคำพิพากษาศาลชั้นต้น เหตุแห่งการวางเงินย่อมหมดสิ้นไป ศาลชอบที่จะคืนเงินจำนวนที่วางคืนแก่จำเลยโดยไม่จำต้องรอให้คดีถึงที่สุด.(ที่มา-ส่งเสริม)
ย่อยาว
คดีนี้สืบเนื่องจากศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยและบริวารออกจากห้องเช่าตามฟ้อง พร้อมทั้งส่งมอบห้องที่เช่าให้แก่โจทก์ ให้จำเลยใช้ค่าเสียหายเดือนละ 7,500 บาท นับแต่วันที่สัญญาเช่าระงับ จนกว่าจำเลยและบริวารจะออกจากห้องเช่าให้แก่โจทก์ จำเลยอุทธรณ์และวางเงินค่าเสียหายเป็นเงิน 67,500 บาท ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้องระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกาจำเลยแถลงขอรับเงินค่าเสียหายที่วางไว้ระหว่างอุทธรณ์คืน
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้รอคดีถึงที่สุดก่อน
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้คืนเงินจำนวน 67,500 บาท แก่จำเลย
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่โจทก์ฎีกาว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 251 เพียงแต่ให้สิทธิผู้แพ้คดีในศาลชั้นต้น ซึ่งชนะคดีในศาลอุทธรณ์ยื่นคำขอคืนเงินจำนวนที่วางไว้ต่อศาลเท่านั้นหาได้บัญญัติให้ศาลต้องสั่งคืนเสมอไปไม่ นั้นเห็นว่าตามบทมาตราดังกล่าวบัญญัติให้สิทธิคู่ความฝ่ายที่กลับชนะคดีในชั้นอุทธรณ์ที่จะได้รับเงินที่วางไว้ต่อศาลคืนได้ไม่ใช่เพียงมีสิทธิยื่นคำขอแล้วศาลจะสั่งคืนหรือไม่ก็ได้ดังอ้างมาในฎีกา เพราะเงินที่วางศาลและจำเลยขอรับคืนในคดีนี้คือเงินค่าเสียหายซึ่งจำเลยวางเพื่อใช้หนี้โจทก์ตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น เมื่อศาลอุทธรณ์พิพากษากลับคำพิพากษาศาลชั้นต้นเป็นให้ยกฟ้อง เหตุแห่งการวางเงินดังกล่าวย่อมหมดสิ้นไปจำเลยไม่มีภาระในการที่จะต้องวางเงินนั้นไว้ใช้หนี้โจทก์อีกต่อไปแล้ว และไม่มีบทกฎหมายใดที่ให้อำนาจศาลยึดเงินที่วางไว้ในกรณีดังกล่าวต่อไปได้ ศาลจึงชอบที่จะคืนเงินค่าเสียหายให้จำเลยรับไปโดยไม่จำต้องรอให้คดีถึงที่สุด…”
พิพากษายืน.