คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2455/2533

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาสั่งให้จำเลยรื้ออาคารเหลือความสูง 8 เมตรโดยไม่ได้ระบุชัดแจ้งว่าวัดจากจุดไหนถึงจุดไหน จำเลยได้รื้ออาคารออกไปแล้ว 2 ชั้น เหลือพื้นชั้นที่ 3 เป็นหลังคา ถ้าวัดส่วนสูงสุดของอาคารถึงพื้นที่ทำการจะสูง 8.59 เมตร แต่ถ้าวัดถึงพื้นโดยรอบอาคารจะสูง 7.90 เมตร หากจะให้จำเลยรื้อออกอีก 1 ชั้น ก็จะทำให้อาคารของจำเลยมีความสูงต่ำกว่า 8 เมตรมาก ทั้งจะเป็นการก่อให้เกิดความเสียหายแก่จำเลยมากเกินควร สำหรับห้องคลุมบันไดนั้นห่างจากผนังตึกที่ติดกับอาคารของโจทก์ 4 เมตร และผนังตึกของอาคารพิพาทห่างจากชายคาบ้านโจทก์ถึง 3 เมตร รวมแล้วห่างจากชายคาบ้านโจทก์ 7 เมตร ไม่มีผลที่จะบังลมหรือแสงอาทิตย์ที่จะเข้าบ้านโจทก์ได้ จำเลยจึงไม่ได้กระทำการฝ่าฝืนคำพิพากษาศาลฎีกาแต่อย่างใด.

ย่อยาว

โจทก์ยื่นคำร้องว่า จำเลยไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ให้รื้ออาคารพิพาทลงให้เหลือความสูง 8 เมตร ทั้งยังต่อเติมห้องคลุมบันไดต่อไปอีกจนมีความสูง 12.22 เมตร ขอให้บังคับจำเลยรื้ออาคารพิพาทต่อไปตามคำพิพากษาศาลฎีกา
ศาลชั้นต้นยกคำร้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ปัญหามีว่า จำเลยได้ปฏิบัติตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ให้รื้ออาคารพิพาทลงให้เหลือ 8 เมตร แล้วหรือไม่
จากการเดินเผชิญสืบอาคารพิพาทของศาลชั้นต้นเมื่อวันที่27 พฤษภาคม 2529 นั้น ปรากฏว่าพื้นอาคารของจำเลยมีความสูงสองระดับ คือ พื้นที่ทำการของจำเลย และพื้นโดยรอบอาคารซึ่งสูงกว่าพื้นที่ทำการ 69 เซนติเมตร จากการวัดโดยการทิ้งดิ่งจากส่วนสูงสุดของอาคาร (ไม่รวมห้องคลุมบันได) ถึงพื้นโดยรอบอาคารมีความสูง 7.90 เมตร ดังนั้น ถ้าวัดส่วนสูงสุดของอาคารถึงพื้นที่ทำการจะสูง 8.59 เมตร นอกจากนี้พื้นที่รอบอาคารสูงกว่าถนน1.05 เมตร ถ้าวัดส่วนสูงสุดของอาคารถึงถนนจะมีความสูง 8.95 เมตรคำพิพากษาศาลฎีกาที่ให้จำเลยรื้ออาคารให้เหลือความสูง 8 เมตรนั้น ไม่ระบุโดยชัดแจ้งว่านับจากจุดไหนถึงจุดไหน ได้ความว่าจำเลยรื้ออาคารออกไปแล้ว 2 ชั้น เหลือพื้นชั้นที่ 3 เป็นหลังคาหากต้องให้จำเลยรื้ออาคารลงอีก จำเลยจะต้องรื้อออกอีก 1 ชั้นซึ่งจะทำให้อาคารของจำเลยมีความสูงต่ำกว่า 8 เมตรมาก ทั้งจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่จำเลยมากเกินควร นอกจากนี้ โจทก์เองก็ไม่ได้รับความเสียหายอีกแต่อย่างใด ดังนั้น การที่จำเลยรื้อถอนอาคารพิพาทนั้น จึงเป็นไปตามคำพิพากษาของศาลฎีกาแล้ว อนึ่งในการนัดเดินเผชิญสืบกันนั้น คู่ความตกลงกันให้ทิ้งดิ่งลงจากอาคารส่วนสูงสุดถึงถนนซอยสุทธิพร 2 ว่า สูงเท่าใด ปรากฏตามรายงานกระบวนพิจารณาลงวันที่ 16 พฤษภาคม 2529 นั้นเป็นเพียงการตกลงกำหนดวิธีหาความสูงเท่านั้น เพราะปรากฏในรายงานนั้นเองว่าเมื่อได้ผลการทิ้งดิ่งประการใดจะได้พิจารณาสั่งอีกครั้ง จึงหาได้ถือว่า คู่กรณีถือเอาการตกลงดังกล่าวเป็นยุติตามที่โจทก์ฎีกาไม่สำหรับห้องคลุมบันไดนั้น จากการเดินเผชิญสืบได้ความว่าอยู่ห่างจากผนังตึกที่ติดกับอาคารของโจทก์ 4 เมตร และผนังตึกของอาคารพิพาทห่างจากชายคาบ้านโจทก์ถึง 3 เมตร รวมแล้วห่างจากชายคาบ้านโจทก์ 7 เมตร ทั้งเป็นเพียงห้องคลุมบันไดเล็ก ๆเพื่อขึ้นไปสู่ดาดฟ้า ไม่มีผลที่จะบังลมหรือแสงอาทิตย์ที่จะเข้าบ้านโจทก์ได้ เห็นได้ว่า ห้องคลุมบันไดนี้จำเลยสร้างขึ้นเพื่อป้องกันน้ำฝนมิให้สาดเข้าไปภายในอาคารของจำเลย ดังนั้น การที่จำเลยสร้างห้องคลุมบันไดดังกล่าวขึ้น จึงไม่เป็นการฝ่าฝืนคำพิพากษาฎีกาดังกล่าว คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกาฎีกาโจทก์ทั้งสามฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน.

Share