แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
กรณีผู้จัดการและกรรมการกระทำความผิดอาญาฐานยักยอก อันเป็นการกระทำต่อบริษัทโจทก์ เป็นที่เห็นได้ชัดว่าผู้กระทำผิดจะไม่ฟ้องคดีแทนนิติบุคคลเพื่อกล่าวหาตนเอง กรรมการอื่น หรือผู้ถือหุ้นคนใดคนหนึ่งซึ่งมีประโยชน์ได้เสียร่วมกับนิติบุคคลนั้นย่อมได้รับความเสียหาย จึงมีสิทธิฟ้องคดีอาญา แจ้งความร้องทุกข์ หรือถอนคำร้องทุกข์อันมีผลทำให้คดีอาญาระงับได้ แม้บุคคลดังกล่าวจะมิใช่กรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนบริษัทโจทก์.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสามกับพวกร่วมกันยักยอกเงินของบริษัทโจทก์ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91, 352, 353พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2526มาตรา 4
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่า คดีมีมูล ต่อมาโจทก์ถอนฟ้องจำเลยที่ 3 ศาลชั้นต้นจำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 3
จำเลยที่ 1 ที่ 2 ให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352, 353 ให้จำคุกจำเลยที่ 1 ที่ 2 คนละ 1ปี ปรับคนละ 4,000 บาท เนื่องจากจำเลยที่ 1 ที่ 2 ได้มีการบรรเทาผลร้ายในการกระทำความผิด เห็นสมควรให้โอกาสจำเลยที่ 1 ที่ 2 กลับตนเป็นพลเมืองดี ให้รอการลงโทษจำคุกไว้คนละ 2 ปี จำเลยที่ 1 ที่ 2ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30
โจทก์อุทธรณ์ขอให้ลงโทษจำคุกจำเลยโดยไม่รอการลงโทษ
จำเลยที่ 1 ที่ 2 อุทธรณ์ขอให้ยกฟ้อง
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…ปัญหาที่ว่า สิทธินำคดีอาญามาฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 ระงับไปหรือไม่นั้น ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยว่านายประเสริฐ วงศ์วรรณโชติในฐานะกรรมการของโจทก์ได้ร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนกล่าวหาว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 กับพวกร่วมกันยักยอกเงินตามเช็คที่นางพิน ชัยวงศ์ นำมาชำระให้โจทก์ เมื่อนายประเสริฐไปถอนคำร้องทุกข์ที่ให้ดำเนินคดีกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 โดยอ้างว่าสามารถตกลงกันได้แล้ว สิทธินำคดีอาญามาฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2ย่อมระงับไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 39(2) ฝ่ายโจทก์ฎีกาว่าที่นายประเสริฐไปร้องทุกข์ให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีแก่จำเลยที่ 1และที่ 2 ฐานยักยอกเงินตามเช็คเอกสารหมาย จ.1 และ จ.2 เป็นการกระทำในฐานะผู้ถือหุ้นโจทก์จะถือว่าเป็นการกระทำของโจทก์ไม่ได้นั้น คดีได้ความจากข้อนำสืบของจำเลยว่า ขณะที่นายประเสริฐไปร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีฐานยักยอกทรัพย์ของโจทก์กับจำเลยที่ 1 และที่ 2 เมื่อวันที่ 13 และ 15 กรกฎาคม 2528 บริษัทโจทก์มีกรรมการรวม 5 คน คือ จำเลยที่ 1 นายประเสริฐ วงศ์วรรณโชตินายกิมเล้ง แซ่ลี้ จำเลยที่ 2 และนางสาวสมจิตร ไชยกุล และผู้ที่มีอำนาจลงชื่อผูกพันโจทก์ คือจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นกรรมการผู้จัดการร่วมกับจำเลยที่ 2 หรือนายประเสริฐคนใดคนหนึ่งรวมเป็นสองคนและประทับตราสำคัญของโจทก์ เห็นว่า กรณีความผิดที่ได้กระทำต่อนิติบุคคลซึ่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 5(3)บัญญัติให้ผู้จัดการหรือผู้แทนอื่น ๆ ของนิติบุคคลเป็นผู้ฟ้องคดีแทนนั้น ถ้าผู้จัดการหรือผู้แทนอื่น ๆ เหล่านั้นกลับเป็นผู้กระทำผิดต่อนิติบุคคลนั้นเสียเอง ก้เป็นที่เห็นได้ชัดว่าผู้กระทำผิดจะไม่ฟ้องคดีแทนนิติบุคคลเพื่อกล่าวหาตนเอง เมื่อเป็นดังนี้ บรรดาผู้เป็นหุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้นซึ่งมีประโยชน์ได้เสียร่วมกับนิติบุคคลนั้นย่อมได้รับความเสียหาย ทั้งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1169 ก็บัญญัติไว้ว่า ถ้ากรรมการทำให้เกิดความเสียหายแก่บริษัทและบริษัทไม่ฟ้องคดี ผู้ถือหุ้นคนใดคนหนึ่งฟ้องคดีได้ดังนี้โดยนิตินัยย่อมถือว่านายประเสริฐซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นและเป็นกรรมการคนหนึ่งของโจทก์เป็นผู้เสียหาย จึงมีสิทธิฟ้องคดีอาญาหรือแจ้งความร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ฐานยักยอกทรัพย์ของโจทก์ดังกล่าวข้างต้นได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 28(2), 123 ประกอบด้วยมาตรา 2(4) เทียบตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่ 1680/2520 ระหว่างนางสาวสงวน คำจิ่ม โจทก์ นายประเมิน คำจิ่ม ที่ 1 กับพวก จำเลยเมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ตามที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า นายประเสริฐในฐานะกรรมการของโจทก์ได้ร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนกล่าวหาว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันยักยอกทรัพย์ของโจทก์แต่ต่อมานายประเสริฐได้ถอนคำร้องทุกข์นั้นแล้ว ดังนั้นไม่ว่านายประเสริฐจะดำเนินการดังกล่าวทั้งหมดในฐานะกระทำการแทนโจทก์หรือในฐานะผู้ถือหุ้นตามที่โจทก์ฎีกา สิทธิที่โจทก์จะนำคดีอาญามาฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 ย่อมระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 39 (2) เมื่อวินิจฉัยดังนี้แล้ว ย่อมไม่จำเป็นที่จะวินิจฉัยปัญหาอื่นอีก เพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลงไป ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายกฟ้องโจทก์ ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย”
พิพากษายืน.