คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 115/2535

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 ที่ 2 ผู้แทนบริษัทโจทก์ยักยอกทรัพย์ของโจทก์ป. ผู้ถือหุ้นของโจทก์ จึงเป็นผู้เสียหายมีสิทธิฟ้องคดีอาญาหรือแจ้งความร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่จำเลยที่ 1 ที่ 2 ได้เมื่อ ป. ได้แจ้งความร้องทุกข์แล้วต่อมาได้ถอนคำร้องทุกข์ไม่ว่าป. จะดำเนินการในฐานะกระทำการแทนโจทก์หรือในฐานะผู้ถือหุ้นก็ตาม สิทธิที่โจทก์จะนำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39(2)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83, 91, 352, 353 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2526 มาตรา 4
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้วเห็นว่า คดีมีมูลให้ประทับฟ้องต่อมาโจทก์ถอนฟ้อง จำเลยที่ 3 ศาลชั้นต้นจำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 3
จำเลยที่ 1 ที่ 2 ให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352, 353 เป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบทที่มีอัตราโทษเท่ากัน จึงให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 352 จำคุกคนละ 1 ปี ปรับคนละ 4,000 บาท โทษจำคุกรอการลงโทษไว้คนละ 2 ปี ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 29, 30
โจทก์และจำเลยที่ 1 ที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่โจทก์ฎีกาว่า นายประเสริฐไปร้องทุกข์ให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีแก่จำเลยที่ 1 ที่ 2 เป็นการกระทำในฐานะผู้ถือหุ้นจะถือว่าเป็นการกระทำของโจทก์ไม่ได้นั้น ได้ความว่าขณะที่นายประเสริฐไปร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีฐานยักยอกทรัพย์ของโจทก์กับจำเลยที่ 1 ที่ 2 นั้น บริษัทโจทก์มีกรรมการรวม 5 คน และผู้ที่มีอำนาจลงชื่อผูกพันโจทก์คือจำเลยที่ 1ซึ่งเป็นกรรมการผู้จัดการร่วมกับจำเลยที่ 2 หรือ นายประเสริฐคนใดคนหนึ่งรวมเป็นสองคนและประทับตราสำคัญของโจทก์ เห็นว่ากรณีความผิดที่ได้กระทำต่อนิติบุคคลซึ่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 5(3) บัญญัติให้ผู้จัดการหรือผู้แทนอื่น ๆ ของนิติบุคคลเป็นผู้ฟ้องคดีแทนนั้น ถ้าผู้จัดการหรือผู้แทนอื่น ๆเหล่านั้นกลับเป็นผู้กระทำผิดต่อนิติบุคคลนั้นเสียเอง ก็เป็นที่เห็นได้ชัดว่าผู้กระทำผิดจะไม่ฟ้องคดีแทน นิติบุคคลเพื่อกล่าวหาตนเอง เมื่อเป็นดังนี้ บรรดาผู้เป็นหุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้นซึ่งมีประโยชน์ได้เสียร่วมกับนิติบุคคลนั้นย่อมได้รับความเสียหายทั้งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1169 ก็บัญญัติไว้ว่าถ้ากรรมการทำให้เกิดความเสียหายแก่บริษัทและบริษัทไม่ฟ้องคดีผู้ถือหุ้นคนใดคนหนึ่งฟ้องคดีได้ ดังนี้โดยนิตินัยย่อมถือว่านายประเสริฐซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นและเป็นกรรมการคนหนึ่งของโจทก์เป็นผู้เสียหาย จึงมีสิทธิฟ้องคดีอาญาหรือแจ้งความร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ฐานยักยอกทรัพย์ของโจทก์ดังกล่าวข้างต้นได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 28(2), 123ประกอบด้วยมาตรา 2(4) เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ตามที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า นายประเสริฐในฐานะกรรมการของโจทก์ได้ร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนกล่าวหาว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันยักยอกทรัพย์ของโจทก์ แต่ต่อมานายประเสริฐได้ถอนคำร้องทุกข์นั้นแล้วดังนั้นไม่ว่านายประเสริฐจะดำเนินการดังกล่าวทั้งหมดในฐานะกระทำการแทนโจทก์หรือในฐานะผู้ถือหุ้นตามที่โจทก์ฎีกาสิทธิที่โจทก์จะนำคดีอาญามาฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 ย่อมระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39(2)
พิพากษายืน

Share