แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
หนังสือสัญญาเช่าตึกแถว ระบุว่าผู้เช่าจะไม่นำตึกแถวออกให้ผู้อื่นเช่าช่วงเว้นแต่จะได้รับความยินยอมเป็นหนังสือจากผู้ให้เช่า การนำตึกแถวดังกล่าวออกให้เช่าช่วงจึงต้องได้รับความยินยอมจากผู้เสียหายซึ่งเป็นผู้ให้เช่าเสียก่อน สัญญาเช่าช่วงระหว่าง ฉ. ผู้เช่ากับจำเลยและ ก. ไม่มีผลผูกพันผู้เสียหาย จำเลยและ ก. จึงอยู่ในตึกแถวดังกล่าวในฐานะเป็นบริวารของ ฉ. เมื่อจำเลยไม่ชำระค่าเช่าแก่ผู้เสียหายตามที่ตกลงไว้กับ ฉ. จำเลยตกเป็นฝ่ายผิดนัด ผู้ให้เช่ามีสิทธิยึดถือครอบครองตึกแถวและทรัพย์ในตึกแถวดังกล่าวได้ จำเลยจึงไม่มีสิทธิเข้าไปในตึกแถวที่เกิดเหตุได้อีก
บันทึกข้อตกลงประกอบการเช่า ข้อ 2. ระบุว่า “ทรัพย์สินใด ๆ ที่ผู้เช่าได้ก่อสร้างต่อเติมและตกแต่งตัวอาคารโดยเป็นค่าใช้จ่ายของผู้เช่าทั้งหมดนั้น ผู้เช่าตกลงยินยอมให้ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของเจ้าของอาคารสถานที่ที่ให้เช่านั้นทันที รวมทั้งวัสดุอุปกรณ์และสิ่งของต่าง ๆ ที่ผู้เช่าต้องนำเข้าไว้ใช้ในกิจการร้านอาหารของผู้เช่าทั้งสิ้นนับแต่วันที่ได้นำเข้ามาในบ้านเช่า ยกเว้นตู้โค้กและแผงไฟชื่อป้ายหน้าร้านนอกตัวอาคาร” ซึ่ง ฉ. ย่อมต้องผูกพันตามข้อสัญญาดังกล่าว และถือได้ว่าทรัพย์ดังกล่าวเป็นทรัพย์ที่ ฉ. ในฐานะผู้เช่าต้องนำเข้าไว้ใช้ในกิจการร้านอาหารของ ฉ. ทั้งสิ้น ทรัพย์ดังกล่าวจึงตกเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้เสียหายทันทีนับแต่วันที่นำเข้าไว้ในตึกแถว ฉ. จึงไม่มีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์ดังกล่าวอีกต่อไป และไม่อาจโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์ดังกล่าวให้แก่จำเลยและ ก. ได้
ตาม ป.อ. มาตรา 1 (4) บัญญัติว่า “เคหสถาน หมายความว่า ที่ซึ่งใช้เป็นที่อยู่อาศัย เช่น เรือน โรง เรือ หรือแพ ซึ่งคนอยู่อาศัย และให้หมายความรวมถึงบริเวณของที่ซึ่งใช้เป็นที่อยู่อาศัยนั้นด้วย จะมีรั้วล้อมหรือไม่ก็ตาม” ดังนั้น แม้ขณะเกิดเหตุตึกแถวดังกล่าวไม่มีคนอยู่อาศัย แต่โดยสภาพแล้วตึกแถวดังกล่าวเป็นที่ซึ่งใช้เป็นที่อยู่อาศัย จึงเป็นเคหสถาน การที่จำเลยกับพวกเข้าไปในตึกแถวโดยไม่ได้รับอนุญาตแล้วเอาทรัพย์ซึ่งตกเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้เสียหายตามบันทึกข้อตกลงออกไปจากตึกแถวดังกล่าวโดยเจตนาทุจริต จึงเป็นความผิดฐานลักทรัพย์ในเคหสถาน
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 335, 336 ทวิ, 358, 362, 364, 365 ให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ที่ยังไม่ได้คืน จำนวน 45,200 บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 (3) (7) วรรคสอง, 336 ทวิ, 358, 362, 364, 365 (2) ประกอบมาตรา 83 การกระทำของจำเลยเป็นการกระทำอันเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 (3) (7) วรรคสอง ประกอบมาตรา 336 ทวิ ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 3 ปี ให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ที่ยังไม่ได้คืนจำนวน 45,200 บาท แก่ผู้เสียหาย ส่วนข้อหาอื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยกับพวกร่วมกันกระทำความผิด ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นหรือไม่ เห็นว่า พยานโจทก์ทั้งสองเบิกความมีรายละเอียดสอดคล้องเชื่อมโยงกันเป็นลำดับเหตุการณ์ ทั้งยังมีข้อสาระสำคัญตรงกับข้อเท็จจริงที่พยานทั้งสองให้การชั้นสอบสวนตามบันทึกคำให้การ จึงเชื่อว่าพยานทั้งสองเบิกความไปตามความจริง แม้จำเลยให้การปฏิเสธตลอดมา โดยอ้างว่าจำเลยมิใช่บริวารของนายฉลาด จำเลยเป็นเจ้าของทรัพย์ตามบัญชีทรัพย์ถูกประทุษร้าย มิได้งัดทำลายประตูเหล็กม้วนหน้าตึกแถวที่เกิดเหตุ และมิได้กระทำการใดอันเป็นการรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของผู้เสียหายโดยปกติสุขก็ตาม แต่เมื่อหนังสือสัญญาเช่าตึกแถว ระบุว่าผู้เช่าจะไม่นำตึกแถวออกให้ผู้อื่นเช่าช่วงเว้นแต่จะได้รับความยินยอมเป็นหนังสือจากผู้ให้เช่า การนำตึกแถวดังกล่าวออกให้เช่าช่วงจึงต้องได้รับความยินยอมจากผู้เสียหายซึ่งเป็นผู้ให้เช่าเสียก่อน แต่เมื่อนายฉลาดเบิกความตอบทนายจำเลยถามค้านว่า จำเลยและนางสาวกัลย์สุดาจ่ายค่าเซ้งร้านให้พยานเป็นเงิน 80,000 บาท และเบิกความตอบโจทก์ถามติงว่า พยานไม่เคยแจ้งเรื่องข้อตกลงและเงินจำนวนดังกล่าวให้ผู้เสียหายทราบ จึงยังฟังไม่ได้ว่านายฉลาดนำตึกแถวออกให้เช่าช่วงโดยได้รับความยินยอมจากผู้เสียหาย สัญญาเช่าช่วงระหว่างนายฉลาดกับจำเลยและนางสาวกัลย์สุดาจึงไม่มีผลผูกพันผู้เสียหาย จำเลยและนางสาวกัลย์สุดาจึงอยู่ในตึกแถวดังกล่าวในฐานะเป็นบริวารของนายฉลาด และเมื่อจำเลยไม่ชำระค่าเช่าแก่ผู้เสียหายตามที่ตกลงไว้กับนายฉลาด จำเลยย่อมทราบดีว่าจำเลยตกเป็นฝ่ายผิดนัด ผู้ให้เช่ามีสิทธิยึดถือครอบครองตึกแถวและทรัพย์ในตึกแถวดังกล่าวได้ จำเลยจึงไม่มีสิทธิเข้าไปในตึกแถวที่เกิดเหตุได้อีก และเมื่อนายสมชายเบิกความว่า ไม่ทราบว่าจำเลยกับนางสาวกัลย์สุดาเข้าไปในตึกแถวที่เกิดเหตุได้อย่างไร รวมถึงเบิกความตอบทนายจำเลยถามค้านว่า ประตูเหล็กม้วนหน้าตึกแถวมีรอยงัด มีการถอดกุญแจออกตรงตามที่ปรากฏในภาพถ่าย การที่จำเลยเบิกความว่า นายสมชายซึ่งเป็นผู้ดูแลและถือกุญแจปิดเปิดประตูตึกแถวที่เกิดเหตุ เป็นผู้เปิดประตูตึกแถวดังกล่าวให้จำเลยและนางสาวกัลย์สุดากับพวกเข้าไปในตึกแถวดังกล่าวหลังจากที่ได้ตกลงเจรจาที่สถานีตำรวจให้นางสาวกัลย์สุดาขนของออกจากตึกแถวดังกล่าวได้แล้ว จึงขัดกับสภาพประตูเหล็กม้วนและข้อตกลงในสัญญา ไม่มีน้ำหนักรับฟัง และแม้นายฉลาดเบิกความว่า เงินค่าเซ้งดังกล่าวถือเป็นค่าทรัพย์ที่มีอยู่ในร้านเช่น ถ้วย ชาม โต๊ะ เก้าอี้ภายในร้านซึ่งมีอยู่ก่อนแล้วก็ตาม แต่เมื่อตามบันทึกข้อตกลงประกอบการเช่า ข้อ 2. ระบุว่า “ทรัพย์สินใด ๆ ที่ผู้เช่าได้ก่อสร้างต่อเติมและตกแต่งตัวอาคารโดยเป็นค่าใช้จ่ายของผู้เช่าทั้งหมดนั้น ผู้เช่าตกลงยินยอมให้ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของเจ้าของอาคารสถานที่ที่ให้เช่านั้นทันที รวมทั้งวัสดุอุปกรณ์และสิ่งของต่าง ๆ ที่ผู้เช่าต้องนำเข้าไว้ใช้ในกิจการร้านอาหารของผู้เช่าทั้งสิ้นนับแต่วันที่ได้นำเข้ามาในบ้านเช่า ยกเว้นตู้โค้กและแผงไฟชื่อป้ายหน้าร้านนอกตัวอาคาร” ซึ่งนายฉลาดย่อมต้องผูกพันตามข้อสัญญาดังกล่าว และถือได้ว่าทรัพย์ดังกล่าวเป็นทรัพย์ที่นายฉลาดในฐานะผู้เช่าต้องนำเข้าไว้ใช้ในกิจการร้านอาหารของนายฉลาดทั้งสิ้น ทรัพย์ดังกล่าวจึงตกเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้เสียหายทันทีนับแต่วันที่นำเข้าไว้ในตึกแถว นายฉลาดจึงไม่มีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์ดังกล่าวอีกต่อไป และไม่อาจโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์ดังกล่าวให้แก่จำเลยและนางสาวกัลย์สุดาได้ เมื่อจำเลยไม่มีพยานหลักฐานใดมานำสืบแสดงให้ปรากฏว่าทรัพย์ตามบัญชีทรัพย์ถูกประทุษร้าย เป็นทรัพย์ที่จำเลยและนางสาวกัลย์สุดาซื้อมาเพิ่มเติมหลังจากที่เข้าประกอบกิจการร้านอาหารต่อจากนายฉลาดแล้ว พยานหลักฐานของโจทก์จึงมีน้ำหนักมั่นคงรับฟังได้โดยปราศจากสงสัยว่าจำเลยร่วมกับพวกงัดประตูเหล็กม้วนหน้าตึกแถวที่เกิดเหตุ จนเป็นเหตุให้ประตูเหล็กม้วนดังกล่าวได้รับความเสียหาย และจำเลยเข้าไปในตึกแถวดังกล่าวโดยไม่ได้รับอนุญาต จึงเป็นการรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของผู้เสียหายโดยปกติสุข รวมถึงการที่จำเลยกับพวกร่วมกันขนทรัพย์ตามบัญชีทรัพย์ถูกประทุษร้าย อันตกเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้เสียหายแล้วออกไปจากตึกแถวดังกล่าว โดยเจตนาทุจริต การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดตามที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษามานั้นศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
อนึ่ง ที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า จำเลยกับพวกไม่มีความผิดฐานลักทรัพย์ในเคหสถานตามฟ้อง เนื่องจากอาคารตึกแถวที่พิพาทไม่มีคนเช่าและคนเฝ้าดูแล เพียงปิดล็อกไว้เท่านั้น อาคารตึกแถวดังกล่าวในขณะนั้นจึงไม่เป็นเคหสถานนั้น เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 1 (4) บัญญัติว่า “เคหสถาน หมายความว่า ที่ซึ่งใช้เป็นที่อยู่อาศัย เช่น เรือน โรง เรือ หรือแพ ซึ่งคนอยู่อาศัย และให้หมายความรวมถึงบริเวณของที่ซึ่งใช้เป็นที่อยู่อาศัยนั้นด้วย จะมีรั้วล้อมหรือไม่ก็ตาม” ดังนั้น แม้ขณะนั้นตึกแถวที่เกิดเหตุไม่มีคนอยู่อาศัยก็ตาม แต่โดยสภาพแล้วตึกแถวดังกล่าวเป็นที่ซึ่งใช้เป็นที่อยู่อาศัยจึงเป็นเคหสถาน การที่จำเลยกับพวกเข้าไปในตึกแถวที่เกิดเหตุโดยไม่ได้รับอนุญาตแล้วลักทรัพย์ จึงเป็นการลักทรัพย์ในเคหสถาน และเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้โจทก์ไม่ได้ฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจวินิจฉัยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
พิพากษากลับว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 (3) (7) (8) วรรคสอง ประกอบมาตรา 336 ทวิ, 358, 365 (2) ประกอบมาตรา 362, 364, 83 การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 (3) (7) (8) วรรคสอง ประกอบมาตรา 336 ทวิ ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 3 ปี ให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ที่ยังไม่ได้คืนจำนวน 45,200 บาท แก่ผู้เสียหาย