คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6119/2559

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

สิทธิเรียกร้องในกรณีหนี้เงินที่ต้องชำระเพื่อผ่อนทุนคืนเป็นงวดๆ ย่อมเกิดขึ้นนับแต่ผิดนัด อายุความฟ้องเรียกเงินตามจำนวนที่ค้างจึงต้องบังคับตามมาตรา 193/33 (2) แห่ง ป.พ.พ. ซึ่งมีกำหนดอายุความ 5 ปี หาใช่อายุความ 10 ปีไม่ เมื่อเริ่มนับแต่วันที่ 16 กรกฎาคม 2548 ถึงวันที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอรับชำระหนี้จำนองต่อศาลในวันที่ 27 สิงหาคม 2556 จึงเกิน 5 ปี หนี้เงินกู้อันเป็นหนี้ประธานจึงขาดอายุความ เมื่อหนี้เงินกู้ขาดอายุความกรณีจึงต้องด้วย ป.พ.พ. มาตรา 745 ที่บัญญัติให้สิทธิแก่เจ้าหนี้ซึ่งเป็นผู้รับจำนองสามารถที่จะบังคับเอากับตัวทรัพย์จำนองได้แม้หนี้ประธานจะขาดอายุความแล้ว แต่จะบังคับเอาดอกเบี้ยที่ค้างชำระในการจำนองเกินกว่าห้าปีไม่ได้ ซึ่งดอกเบี้ยที่เกินกว่าห้าปีที่ผู้จำนองไม่ต้องรับผิดนั้น เป็นบทบังคับไม่ให้ลูกหนี้ซึ่งเป็นผู้จำนองต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้ อันเป็นเรื่องเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนที่ศาลยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5)

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องจากศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 66,000 บาท แก่โจทก์ และร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 1,500 บาท แต่จำเลยทั้งสองไม่ชำระหนี้ โจทก์จึงนำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินโฉนดเลขที่ 23265 ตำบลบ้านฉาง (บางหลวงฝั่งเหนือ) อำเภอเมืองปทุมธานี (เชียงราก) จังหวัดปทุมธานี พร้อมสิ่งปลูกสร้างของจำเลยที่ 2 ซึ่งถือกรรมสิทธิ์รวมกับนางอำภา เพื่อบังคับคดีขายทอดตลาดนำเงินมาชำระแก่โจทก์
ผู้ร้องยื่นคำร้องขอรับชำระหนี้จำนองที่ดินที่เจ้าพนักงานบังคับคดียึดไว้ในคดีนี้เป็นเงิน 1,112,514.22 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 18 ต่อปี ของต้นเงิน 425,843.88 บาท นับถัดจากวันยื่นคำร้องจนกว่าจะชำระเสร็จ หากโจทก์สละสิทธิในการบังคับคดีหรือเพิกเฉยไม่ดำเนินการบังคับคดีต่อไปผู้ร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ผู้ร้องเข้าสวมสิทธิบังคับคดีแทนโจทก์
โจทก์ จำเลยที่ 2 และนางอำภา ไม่ยื่นคำคัดค้าน
ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้ว มีคำสั่งให้ผู้ร้องได้รับชำระหนี้จำนองจากการขายทอดตลาดที่ดินโฉนดเลขที่ 23265 ตำบลบ้านฉาง (บางหลวงฝั่งเหนือ) อำเภอเมืองปทุมธานี (เชียงราก) จังหวัดปทุมธานี เป็นเงิน 425,843.88 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 9.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 28 สิงหาคม 2556 ย้อนหลังขึ้นไปเป็นเวลา 5 ปี และเรียกดอกเบี้ยในอัตราดังกล่าวนับแต่วันที่ 28 สิงหาคม 2556 จนถึงวันขายทอดตลาดทรัพย์จำนอง โดยให้มีสิทธิได้รับชำระหนี้ก่อนเจ้าหนี้สามัญ ส่วนจำนวนหนี้นอกนั้นให้ผู้ร้องเฉลี่ยได้อย่างเจ้าหนี้สามัญ หากโจทก์สละสิทธิหรือเพิกเฉยไม่บังคับคดี ให้ผู้ร้องมีสิทธิบังคับคดีแทนโจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ในส่วนดอกเบี้ยให้ผู้ร้องได้รับชำระหนี้จำนองในอัตราร้อยละ 14.25 ต่อปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นที่ยุติว่าเมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2539 จำเลยที่ 2 และนางอำภา ได้กู้ยืมเงินผู้ร้องจำนวน 570,000 บาท ดอกเบี้ยอัตรา MLR ต่อปี (ขณะทำสัญญาร้อยละ 13.25 ต่อปี) กำหนดชำระเงินต้นคืนเป็นรายเดือน เดือนละไม่น้อยกว่า 6,800 บาท ชำระงวดแรกตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2539 เป็นต้นไป หากผิดนัดยอมให้ผู้ร้องคิดดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยและเรียกหนี้ทั้งหมดคืนได้ทันที ตามสัญญาเงินกู้ เพื่อเป็นหลักประกันการชำระหนี้ ผู้กู้ได้นำที่ดินโฉนดเลขที่ 23265 ตำบลบ้านฉาง (บางหลวงฝั่งเหนือ) อำเภอเมืองปทุมธานี (เชียงราก) จังหวัดปทุมธานี จดทะเบียนจำนองไว้แก่ผู้ร้องวงเงิน 570,000 บาท ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 18 ต่อปี ตามสัญญาจำนอง ผู้กู้ตกลงทำประกันภัยทรัพย์สินอันเป็นหลักประกันไว้กับบริษัทประกันภัยโดยให้ผู้ร้องเป็นผู้รับประโยชน์ และให้ผู้กู้เป็นผู้ชำระเบี้ยประกันภัย ตามหนังสือยินยอมในการทำสัญญาประกันภัย ถ้าผู้กู้ไม่จัดการทำประกันภัยดังกล่าวและผู้ร้องได้ทำประกันภัยแทน ผู้กู้ยอมให้ผู้ร้องทบเบี้ยประกันภัยรวมเข้ากับยอดเงินกู้ที่ค้างชำระและคิดดอกเบี้ยในอัตราเดียวกันกับต้นเงินกู้ ต่อมาผู้กู้ผิดนัดชำระหนี้ ผู้ร้องจึงคิดดอกเบี้ยตามประกาศกระทรวงการคลัง ประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย และประกาศของผู้ร้อง คำนวณยอดหนี้ ณ วันที่ 14 สิงหาคม 2556 ปรากฏยอดหนี้ค้างชำระเป็นต้นเงิน 419,915.06 บาท ดอกเบี้ย 680,257.02 บาท มีเงินต้นค่าเบี้ยประกันภัยค้างชำระ 5,928.82 บาท ดอกเบี้ย 3,683.25 บาท รวมเป็นต้นเงิน 425,843.88 บาท ดอกเบี้ย 683,940.27 บาท โจทก์คิดดอกเบี้ยจนถึงวันที่ 27 สิงหาคม 2556 เป็นเงิน 686,670.34 บาท รวมเป็นต้นเงินและดอกเบี้ยค้างชำระ ณ วันที่ 27 สิงหาคม 2556 เป็นเงิน 1,112.514.22 บาท ตามรายการคำนวณยอดหนี้ ต่อมาโจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาดเพื่อนำเงินมาชำระหนี้ตามคำพิพากษาแก่โจทก์
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ร้องว่า หนี้เงินกู้ขาดอายุความแล้วหรือไม่ เห็นว่า เมื่อพิจารณาบัญชีรายการคำนวณยอดหนี้ แม้จะได้ความตามที่ผู้ร้องยกขึ้นกล่าวอ้างมาในฎีกาว่า จำเลยที่ 2 ได้ชำระเงินให้แก่ผู้ร้องครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2548 โดยจำเลยที่ 2 ได้โอนเงินจากบัญชีเลขที่ 1341048004 มาชำระดอกเบี้ยที่ค้างชำระจำนวน 10.05 บาท และถือว่าลูกหนี้ผิดนัดงวดที่เหลือทั้งหมดตลอดมานับแต่วันนั้น แต่สิทธิเรียกร้องในกรณีที่หนี้เงินที่ต้องชำระเพื่อผ่อนทุนคืนเป็นงวดๆ ย่อมเกิดขึ้นนับแต่นั้น อายุความฟ้องเรียกเงินตามจำนวนที่ค้างจึงต้องบังคับตามมาตรา 193/33 (2) แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งมีกำหนดอายุความ 5 ปี หาใช่อายุความ 10 ปีไม่ และเมื่อเริ่มนับแต่วันที่ 16 กรกฎาคม 2548 ถึงวันที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอรับชำระหนี้จำนองต่อศาลในวันที่ 27 สิงหาคม 2556 จึงเกิน 5 ปีหนี้เงินกู้อันเป็นหนี้ประธานจึงขาดอายุความ เมื่อหนี้เงินกู้ขาดอายุความกรณีจึงต้องด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 745 ที่บัญญัติให้สิทธิแก่เจ้าหนี้ซึ่งเป็นผู้รับจำนองสามารถที่จะบังคับเอากับตัวทรัพย์จำนองได้แม้หนี้ประธานจะขาดอายุความแล้ว แต่จะบังคับเอาดอกเบี้ยที่ค้างชำระในการจำนองเกินกว่าห้าปีไม่ได้ ซึ่งดอกเบี้ยเกินกว่าห้าปีที่ผู้จำนองไม่ต้องรับผิดนั้น เป็นบทบังคับไม่ให้ลูกหนี้ซึ่งเป็นผู้จำนองต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้ อันเป็นเรื่องเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนที่ศาลยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยในส่วนหนี้เงินกู้ที่มีการจำนองเป็นประกันว่าขาดอายุความและให้บังคับเอากับทรัพย์จำนองในส่วนของดอกเบี้ยที่ค้างชำระได้เพียง 5 ปีนั้น ชอบแล้ว ฎีกาของผู้ร้องฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share