แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546 มาตรา 26 บัญญัติว่า ภายใต้บังคับบทบัญญัติแห่งกฎหมายอื่น ไม่ว่าเด็กจะยินยอมหรือไม่ ห้ามมิให้ผู้ใดกระทำการดังต่อไปนี้ (8) ใช้หรือยินยอมให้เด็กเล่นการพนันไม่ว่าชนิดใดหรือเข้าไปในสถานที่เล่นการพนัน สถานค้าประเวณี หรือสถานที่ที่ห้ามมิให้เด็กเข้า ประกอบกับเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัตินี้เพื่อให้เด็กได้รับการอุปการะเลี้ยงดู อบรมสั่งสอน และมีพัฒนาการที่เหมาะสม อันเป็นการส่งเสริมความมั่นคงของครอบครัว รวมทั้งป้องกันมิให้เด็กถูกทารุณกรรมตกเป็นเครื่องมือในการแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ หรือถูกเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม ทั้งกฎกระทรวงซึ่งออกตามความมาตรา 59 แห่ง พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 ข้อ 12 (2) กำหนดวันเวลาและเงื่อนไขให้เด็กเข้าไปใช้บริการร้านวีดิทัศน์ก็เพื่อประโยชน์ในการคุ้มครองสวัสดิภาพของเด็กมิให้เข้าไปอยู่ในสถานที่อันอาจชักนำไปในทางเสียหาย โดยเล็งเห็นว่าเวลาดังกล่าวเป็นเวลาที่เด็กควรจะเข้ารับการศึกษาในโรงเรียนหรือสถานศึกษา เพื่อศึกษาหาความรู้ พัฒนาตนเองในด้านการเรียน เพื่อเด็กจะมีการเจริญเติบโตและพัฒนาการให้สมวัย เพื่อเป็นพลเมืองดีมีอนาคต เป็นกำลังสำคัญของชาติต่อไป การที่จำเลยซึ่งเป็นเจ้าของร้านเกมอยู่ในบังคับกฎกระทรวงข้างต้นได้ปล่อยปละละเลยให้เด็กซึ่งมิใช่บุคคลภายในครอบครัวของจำเลยเข้าไปในร้านในเวลาที่กฎหมายกำหนดห้าม แม้เด็กจะอยู่บริเวณหน้าจอคอมพิวเตอร์เพื่อรอที่จะเล่นเกมแต่ยังไม่ได้ใช้บริการเล่นเกมหรือยังไม่ได้จ่ายเงินเพื่อซื้อบริการก็ตาม การกระทำของจำเลยก็เป็นความผิดตามบทบัญญัติกฎหมายดังกล่าวแล้ว
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546 มาตรา 4, 5, 22, 26, 78
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546 มาตรา 26 (8), 78 ปรับ 1,000 บาท ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวพิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่รับฟังเป็นที่ยุติโดยคู่ความไม่โต้แย้งในชั้นนี้ได้ว่า จำเลยเป็นเจ้าของผู้ประกอบกิจการร้านวีดิทัศน์ชื่อร้าน “โฟนด็อดเน็ต” ให้บริการเครื่องคอมพิวเตอร์เพื่อเล่นเกมคอมพิวเตอร์และอินเตอร์เน็ตโดยเก็บเงินค่าบริการ อยู่ในบังคับกฎกระทรวงซึ่งออกตามความในมาตรา 59 แห่งพระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 ฉบับลงวันที่ 24 กันยายน 2552 ข้อ 12 (2) ที่กำหนดให้เด็กอายุตั้งแต่สิบห้าปีขึ้นไปแต่ไม่เกินสิบแปดปีเข้าใช้บริการได้ตั้งแต่เวลา 14.00 นาฬิกา แต่ไม่เกิน 22.00 นาฬิกา ในวันจันทร์ถึงวันศุกร์ ตามวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุดังฟ้องมีนายวัชระและนายกฤษณะซึ่งเป็นเด็กอายุ 16 ปี ทั้งสองคน และยังไม่บรรลุนิติภาวะด้วยการสมรส เข้าไปในร้านวีดิทัศน์ของจำเลยอันเป็นเวลาต้องห้ามตามกฎกระทรวงข้างต้น
มีปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามคำพิพากษาศาลล่างทั้งสองหรือไม่ เห็นว่า พระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546 มาตรา 26 บัญญัติว่า ภายใต้บังคับบทบัญญัติแห่งกฎหมายอื่น ไม่ว่าเด็กจะยินยอมหรือไม่ ห้ามมิให้ผู้ใดกระทำการ ดังต่อไปนี้ (8) ใช้หรือยินยอมให้เด็กเล่นการพนันไม่ว่าชนิดใดหรือเข้าไปในสถานที่เล่นการพนัน สถานค้าประเวณี หรือสถานที่ที่ห้ามมิให้เด็กเข้า ประกอบกับเหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติดังกล่าวระบุเจตนารมณ์ไว้ในหมายเหตุท้ายพระราชบัญญัติว่า เพื่อให้เด็กได้รับการอุปการะเลี้ยงดู อบรมสั่งสอนและมีพัฒนาการที่เหมาะสมอันเป็นการส่งเสริมความมั่นคงของครอบครัว รวมทั้งป้องกันมิให้เด็กถูกทารุณกรรมตกเป็นเครื่องมือในการแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบหรือถูกเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม อีกทั้งกฎกระทรวงซึ่งออกตามความในมาตรา 59 แห่งพระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 ฉบับลงวันที่ 24 กันยายน 2552 ข้อ 12 (2) กำหนดวันเวลาและเงื่อนไขให้เด็กเข้าใช้บริการร้านวีดิทัศน์ก็เพื่อประโยชน์ในการคุ้มครองสวัสดิภาพของเด็ก มิให้เข้าไปอยู่ในสถานที่อันอาจชักนำไปในทางเสียหาย โดยเล็งเห็นว่าเวลาดังกล่าวเป็นเวลาที่เด็กควรจะเข้ารับการศึกษาในโรงเรียนหรือสถานศึกษา เพื่อศึกษาหาความรู้ พัฒนาตนเองในด้านการเรียน เพื่อเด็กจะมีการเจริญเติบโตและพัฒนาการให้สมวัยเพื่อเป็นพลเมืองดี มีอนาคต เป็นกำลังสำคัญของชาติต่อไป เช่นนี้ เมื่อข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่า จำเลยซึ่งเป็นเจ้าของร้านเกมอยู่ในบังคับกฎกระทรวงข้างต้นได้ปล่อยปละละเลยให้เด็กซึ่งมิใช่บุคคลภายในครอบครัวของจำเลยเข้าไปในร้านในเวลาที่กฎหมายกำหนดห้าม แม้เด็กจะอยู่บริเวณหน้าจอคอมพิวเตอร์เพื่อรอที่จะเล่นเกมแต่ยังไม่ได้ใช้บริการเล่นเกมหรือยังไม่ได้จ่ายเงินเพื่อซื้อบริการก็ตาม การกระทำของจำเลยก็เป็นความผิดตามบทบัญญัติกฎหมายดังกล่าวแล้ว ส่วนข้ออ้างอื่นตามฎีกาของจำเลยไม่จำต้องวินิจฉัยเพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลงไป ดังนั้น ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน