คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6662/2557

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่บริษัทเงินทุน ธ. ทำสัญญาซื้อขายหนี้เงินกู้จากธนาคาร ด. ตามสัญญาซื้อขายหนี้เงินกู้โดยมีข้อตกลงว่าธนาคาร ด. ตกลงโอนสิทธิและหน้าที่ตามสัญญากู้เงินและกู้เบิกเงินเกินบัญชีทั้งหมดให้แก่บริษัทเงินทุน ธ. เมื่อธนาคาร ด. เป็นเจ้าหนี้จำเลยทั้งห้าในมูลหนี้เงินกู้และมูลหนี้เบิกเงินเกินบัญชี และสิทธิการเป็นเจ้าหนี้ของธนาคาร ด. เป็นสิทธิที่อยู่ในสภาพเปิดช่องให้โอนกันได้ มิใช่สิทธิเฉพาะตัวหรือมีกฎหมายห้ามโอน การโอนสิทธิเรียกร้องในหนี้รายนี้ย่อมกระทำได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 303 ทั้งการโอนสิทธิเรียกร้องดังกล่าวมิได้มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งตามกฎหมายตามมาตรา 150 ธนาคาร ด. จึงสามารถโอนสิทธิเรียกร้องตามสัญญากู้เงินและสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีให้แก่บริษัทเงินทุน ธ. ได้ แม้บริษัทเงินทุน ธ. มิได้เป็นบริษัทบริหารสินทรัพย์ตาม พ.ร.ก.บริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ.2541 แต่ไม่มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายใดห้ามโอนสิทธิเรียกร้องที่เป็นหนี้ด้อยคุณภาพว่าจะต้องเป็นไปแต่เฉพาะตามกฎหมายพิเศษนอกเหนือจากประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และแม้บริษัทเงินทุน ธ. จะทำสัญญาซื้อหนี้เงินกู้จากธนาคาร ด. ภายหลังธนาคาร ด. ฟ้องคดีแล้ว โจทก์จึงรับโอนสิทธิเรียกร้องของธนาคาร ด. ได้ เนื่องจากโจทก์เป็นบริษัทบริหารสินทรัพย์สามารถยื่นคำร้องขอเข้าสวมสิทธิเป็นคู่ความแทนธนาคาร ด. ในคดีนี้ได้โดยชอบตาม พ.ร.ก.บริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ.2541 และแม้จะมิได้บอกกล่าวการโอนไปยังจำเลยที่ 1 และที่ 5 หรือจำเลยที่ 1 และที่ 5 ไม่ได้ยินยอมด้วยในการโอนนั้น มีผลเพียงว่าโจทก์ในฐานะผู้รับโอนจะยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้จำเลยที่ 1 และที่ 5 ไม่ได้เท่านั้น หาได้ทำให้การโอนสิทธิเรียกร้องดังกล่าวไม่สมบูรณ์แต่อย่างใด
ร. เป็นพนักงานสินเชื่อของโจทก์ มีหน้าที่ติดตามดูแลลูกค้าของโจทก์ สาขาราชประสงค์ และได้ตรวจสอบเอกสารของลูกค้ารวมทั้งฝ่ายจำเลยคดีนี้ และ ว. เป็นพนักงานบัญชีของโจทก์ มีหน้าที่ควบคุมดูแลฝ่ายบัญชีลูกค้าของโจทก์ รวมทั้งตรวจสอบเอกสารของลูกค้า ได้เบิกความรับรองพยานเอกสารว่ามีอยู่จริงและถูกต้อง แม้พยานโจทก์จะมิได้รู้เห็นขณะทำพยานเอกสาร แต่เป็นผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับพยานเอกสาร และเมื่อได้ตรวจสอบเอกสารต่าง ๆ แล้วก็สามารถรับรองความถูกต้องแท้จริงได้ การที่ศาลล่างทั้งสองรับฟังคำเบิกความของพยานทั้งสองจึงไม่ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 95 (2)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งห้าร่วมกันชำระเงิน 296,180,075.39 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงินตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชี 19,237,538.32 บาท และของต้นเงินตามสัญญากู้เงินทั้งสองฉบับ 192,600,006.50 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากไม่ชำระให้ยึดทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาด หากไม่พอชำระหนี้ให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งห้าขายทอดตลาดนำเงินชำระหนี้แก่โจทก์จนครบ
จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 4 และที่ 5 ให้การและแก้ไขคำให้การขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 3 ขาดนัดยื่นคำให้การ
ระหว่างพิจารณา บริษัทบริหารสินทรัพย์เอ็น เอฟ เอส จำกัด ยื่นคำร้องขอเข้าสวมสิทธิเป็นคู่ความแทนโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชี 20,608,405.19 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 12 ต่อปี ของต้นเงิน 18,099,260.80 บาท นับแต่วันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 15 มีนาคม 2543) จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ โดยให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ร่วมรับผิด 15,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 30 ธันวาคม 2541 จนถึงวันฟ้อง และอัตราร้อยละ 12 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยทั้งห้าร่วมกันชำระหนี้ตามสัญญากู้เงินฉบับแรก 128,143,551.76 บาท และชำระหนี้ตามสัญญากู้เงินฉบับที่สอง 138,507,489.13 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 12 ต่อปี ของต้นเงินตามสัญญากู้ฉบับแรก 92,600,006.50 บาท และของต้นเงินตามสัญญากู้ฉบับที่สอง 100,000,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ถ้าไม่ชำระให้ยึดทรัพย์จำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 8924, 11143, 11382 และ 91086 ตำบลสามเสนใน (สามเสนในฝั่งเหนือ) อำเภอดุสิต (บางซื่อ) กรุงเทพมหานคร พร้อมสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินคือห้องชุดเลขที่ 404, 404/1 ถึง 404/8 อาคารเลขที่เอ และเลขที่ 406/1 ถึง 406/12, 406/14 ถึง 406/62 อาคารเลขที่บี ชื่ออาคารชุดพหลโยธิน เรสซิเด้นท์ ออกขายทอดตลาด หากได้เงินไม่พอให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสองออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์จนครบกับให้จำเลยทั้งห้าร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนด ค่าทนายความ 80,000 บาท
จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 5 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 5 ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่า มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 5 ข้อแรกว่า การที่ศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์เข้าสวมสิทธิแทนธนาคารดีบีเอส ไทยทนุ จำกัด (มหาชน) ชอบหรือไม่ เห็นว่า การที่บริษัทเงินทุน ธนชาติ จำกัด (มหาชน) ทำสัญญาซื้อขายหนี้เงินกู้จากธนาคารดีบีเอส ไทยทนุ จำกัด (มหาชน) ตามสัญญาซื้อขายหนี้เงินกู้ โดยมีข้อตกลงว่าธนาคารดีบีเอส ไทยทนุ จำกัด (มหาชน) ตกลงโอนสิทธิและหน้าที่ตามสัญญากู้เงินและกู้เบิกเงินเกินบัญชีทั้งหมดให้แก่บริษัทเงินทุน ธนชาติ จำกัด (มหาชน) เป็นสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 303 เมื่อธนาคารดีบีเอส ไทยทนุ จำกัด (มหาชน) เป็นเจ้าหนี้จำเลยทั้งห้าในมูลหนี้เงินกู้และมูลหนี้เบิกเงินเกินบัญชี และสิทธิการเป็นเจ้าหนี้ของธนาคารดีบีเอส ไทยทนุ จำกัด (มหาชน) เป็นสิทธิที่อยู่ในสภาพเปิดช่องให้โอนกันได้ มิใช่สิทธิเฉพาะตัวหรือมีกฎหมายห้ามโอน การโอนสิทธิเรียกร้องในหนี้รายนี้ย่อมกระทำได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 303 ทั้งการโอนสิทธิเรียกร้องดังกล่าวมิได้มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งตามกฎหมายดังที่บัญญัติไว้ตามมาตรา 150 ธนาคารดีบีเอส ไทยทนุ จำกัด (มหาชน) จึงสามารถโอนสิทธิเรียกร้องตามสัญญากู้เงินและสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีให้แก่บริษัทเงินทุน ธนชาติ จำกัด (มหาชน) ได้ แม้บริษัทเงินทุน ธนชาติ จำกัด (มหาชน) มิได้เป็นบริษัทบริหารสินทรัพย์ตามพระราชกำหนดบริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ.2541 แต่ไม่มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายใดห้ามโอนสิทธิเรียกร้องที่เป็นหนี้ด้อยคุณภาพว่าจะต้องเป็นไปแต่เฉพาะตามกฎหมายพิเศษนอกเหนือจากประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และแม้บริษัทเงินทุน ธนชาติ จำกัด (มหาชน) จะทำสัญญาซื้อหนี้เงินกู้ จากธนาคาร ดีบีเอส ไทยทนุ จำกัด (มหาชน) ภายหลังฟ้องคดีแล้ว ดังนั้น โจทก์จึงรับโอนสิทธิเรียกร้องของธนาคารดีบีเอส ไทยทนุ จำกัด (มหาชน) ต่อมาจากบริษัทเงินทุน ธนชาติ จำกัด (มหาชน) ได้ เนื่องจากโจทก์เป็นบริษัทบริหารสินทรัพย์สามารถยื่นคำร้องขอเข้าสวมสิทธิเป็นคู่ความแทนธนาคารดีบีเอส ไทยทนุ จำกัด (มหาชน) ในคดีนี้ได้โดยชอบตามพระราชกำหนดบริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ.2541 และแม้จะมิได้บอกกล่าวการโอนไปยังจำเลยที่ 1 และที่ 5 หรือจำเลยที่ 1 และที่ 5 ไม่ได้ยินยอมด้วยในการโอนนั้น มีผลเพียงว่าโจทก์ในฐานะผู้รับโอนจะยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้จำเลยที่ 1 และที่ 5 ไม่ได้ หาได้ทำให้การโอนสิทธิเรียกร้องดังกล่าวไม่สมบูรณ์แต่อย่างใดไม่ ฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 5 ดังกล่าวฟังไม่ขึ้น ส่วนที่จำเลยที่ 1 และที่ 5 ฎีกาว่า สัญญาซื้อขายหนี้เงินกู้ระหว่างโจทก์กับบริษัทเงินทุน ธนชาติ จำกัด (มหาชน) ทำขึ้นในภายหลังวันปิดบัญชีซึ่งล่วงเลยกำหนดเวลาตาม ทั้งไม่ปรากฏว่ามีการแจ้งและยื่นแผนงานการรับซื้อหรือรับโอนแก่ธนาคารแห่งประเทศไทยและการโอนสิทธิเรียกร้องในคดีนี้เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ชำระค่าขึ้นศาลและค่าภาษีอากรเป็นการไม่สุจริต ทั้งเป็นการซื้อขายความกันนั้น ปัญหาดังกล่าวจำเลยที่ 1 และที่ 5 เพิ่งยกขึ้นอ้างในชั้นฎีกา จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ต้องห้ามฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 5 ต่อไปมีว่า การที่ศาลล่างทั้งสองรับฟังคำเบิกความของพยานโจทก์ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 95 (2) หรือไม่ เห็นว่า นายวีรศักดิ์เป็นพนักงานสินเชื่อของโจทก์ มีหน้าที่ติดตามดูแลลูกค้าของโจทก์สาขาราชประสงค์ และได้ตรวจสอบเอกสารของลูกค้ารวมทั้งจำเลยคดีนี้ และนายวิวัฒน์เป็นพนักงานบัญชีของโจทก์ มีหน้าที่ควบคุมดูแลฝ่ายบัญชีลูกค้าของโจทก์ รวมทั้งตรวจสอบเอกสารของลูกค้า ได้เบิกความรับรองพยานเอกสารว่ามีอยู่จริงและถูกต้อง แม้พยานโจทก์จะมิได้รู้เห็นขณะทำพยานเอกสาร แต่พยานโจทก์เป็นผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับพยานเอกสาร และเมื่อได้ตรวจสอบเอกสารต่าง ๆ แล้วก็สามารถรับรองความถูกต้องแท้จริงได้ ทั้งเอกสารต่าง ๆ ที่โจทก์อ้างมา จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 5 ก็หาได้นำสืบหักล้างว่าไม่ถูกต้องหรือไม่สมบูรณ์แต่อย่างใดไม่ การที่ศาลล่างทั้งสองรับฟังคำเบิกความของพยานทั้งสองจึงไม่ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 95 (2) ฎีกาของจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 5 ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 5 ต่อไปมีว่า สัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชี สัญญากู้เงินและสัญญาค้ำประกัน รับฟังเป็นพยานหลักฐานตามประมวลรัษฎากร มาตรา 118 ได้หรือไม่ เห็นว่า สัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชี สัญญากู้เงินและสัญญาค้ำประกันดังกล่าวเป็นเอกสารที่จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 5 ทำขึ้นให้ไว้แก่ธนาคารดีบีเอส ไทยทนุ จำกัด (มหาชน) โดยจำเลยแต่ละคนแต่ฝ่ายเดียวต่างลงลายมือชื่อไว้เป็นพยาน จึงเป็นเพียงหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อผู้เบิกเงินเกินบัญชีและผู้ค้ำประกันเท่านั้น มิใช่หนังสือสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชี หนังสือสัญญากู้เงินและหนังสือสัญญาค้ำประกันอันจะถือเป็นตราสารที่ต้องปิดอากรแสตมป์บริบูรณ์ตามความมุ่งหมายแห่งประมวลรัษฎากร มาตรา 103, 104 และ 118 จึงไม่จำต้องวินิจฉัยว่าเอกสารดังกล่าวถือได้ว่าชำระค่าอากรแสตมป์ถูกต้องแล้วหรือไม่อีกต่อไป สัญญาดังกล่าวย่อมรับฟังเป็นพยานหลักฐานได้ ฎีกาของจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 5 ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 5 ต่อไปมีว่า โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยได้เพียงใด โดยจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 5 ฎีกาว่า แม้โจทก์จะมีสิทธิคิดดอกเบี้ยตามอัตราเดิมที่สถาบันการเงินมีสิทธิคิดจากลูกหนี้แต่ต้องคิดดอกเบี้ย ณ วันที่ได้รับโอนสินทรัพย์มาตามมาตรา 10 แห่งพระราชกำหนดบริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ. 2541 แต่เมื่อโจทก์ได้รับโอนสิทธิจำนองมาเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2544 หากมีสิทธิคิดดอกเบี้ยก็ต้องคิดตั้งแต่วันดังกล่าวนั้น เห็นว่า ตามมาตรา 10 แห่งพระราชกำหนดดังกล่าว บัญญัติให้บริษัทบริหารสินทรัพย์เรียกเก็บดอกเบี้ยจากลูกหนี้ตามสัญญาเดิมได้ไม่เกินอัตราดอกเบี้ยตามสัญญาเดิม ณ วันที่รับโอนมา แต่ถ้าสัญญาเดิมได้กำหนดอัตราดอกเบี้ยเป็นอัตราลอยตัว และไม่มีฐานในการคำนวณของสถาบันการเงินเดิมให้อ้างอิงได้ ให้คำนวณอัตราดอกเบี้ยตามหลักเกณฑ์ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด ดังนั้น โจทก์ผู้สวมสิทธิจึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยในอัตราเดิมตามที่ระบุไว้ในสัญญาเดิม เพียงแต่เมื่อสัญญาเดิมได้กำหนดอัตราดอกเบี้ยเป็นอัตราลอยตัว และโจทก์ได้รับโอนหนี้รายนี้ต่อมาแล้ว สิทธิในการคิดดอกเบี้ยของโจทก์ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดตามพระราชกำหนดบริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ.2541 มาตรา 10 วรรคหนึ่ง เท่านั้น หาใช่ว่าโจทก์จะคิดดอกเบี้ยจากจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 5 ได้นับแต่วันที่รับโอนสินทรัพย์ดังที่ฎีกามาไม่ ฎีกาของจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 5 ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น ส่วนที่จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 5 ฎีกาว่า ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 และร้อยละ 12 ต่อปี เป็นการกำหนดเบี้ยปรับที่สูงเกินส่วนนั้น เห็นว่า ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น ให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 5 ร่วมกันชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 30 ธันวาคม 2541 จนถึงวันฟ้องและอัตราร้อยละ 12 ต่อปี นับแต่วันฟ้องของยอดหนี้ที่จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 5 จะต้องรับผิดจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 5 มิได้ยกขึ้นอุทธรณ์ว่า ศาลชั้นต้นพิพากษาไม่ถูกต้องหรือไม่ชอบด้วยเหตุผลใด และที่ถูกต้องเป็นอย่างไร เพิ่งยกปัญหาดังกล่าวขึ้นฎีกา จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ ต้องห้ามฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
อนึ่ง ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยทั้งห้าชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 12 ต่อปี ของต้นเงินตามสัญญากู้เงินและสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์คงที่ตลอดไปนั้นไม่ชอบ เพราะตามสัญญาดังกล่าวมีข้อตกลงให้ธนาคารดีบีเอส ไทยทนุ จำกัด (มหาชน) มีสิทธิคิดดอกเบี้ยในลักษณะที่สามารถปรับเปลี่ยนขึ้นหรือลงได้ตามประกาศของธนาคารดีบีเอส ไทยทนุ จำกัด (มหาชน) และตามประกาศของธนาคารดีบีเอส ไทยทนุ จำกัด (มหาชน) ได้ประกาศเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยเงินให้สินเชื่อเป็นระยะ ๆ จึงเห็นสมควรกำหนดให้โจทก์มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยสำหรับหนี้ตามสัญญากู้เงินนับถัดจากวันฟ้องในอัตราเอ็ม แอล อาร์ บวก 3 ต่อปี โดยปรับเปลี่ยนขึ้นลงตามประกาศของธนาคารดีบีเอส ไทยทนุ จำกัด (มหาชน) แต่ไม่ให้เกินร้อยละ 12 ต่อปี ส่วนหนี้ตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชี ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 18,099,260.80 บาท ทั้งในวงเงินและส่วนที่เกินวงเงินในอัตราเดียวคือร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 31 ธันวาคม 2541 จนถึงวันฟ้องนั้น ปรากฏตามตารางการเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยของหนี้เบิกเงินเกินบัญชี ว่าโจทก์คิดดอกเบี้ยจากจำเลยที่ 1 ในวงเงิน 15,000,000 บาท นับแต่วันที่ 31 ธันวาคม 2541 จนถึงวันที่ 3 มกราคม 2542 ในอัตราร้อยละ 15.5 ต่อปี หลังจากนั้นคิดดอกเบี้ยร้อยละ 13, 12, 10.75 และร้อยละ 10.25 ต่อปี จนถึงวันฟ้อง ซึ่งเป็นอัตราเอ็ม โอ อาร์ บวก 0.25 ต่อปี และนับแต่วันฟ้องโจทก์ขอดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยผิดนัด แต่ตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีมิได้ระบุไว้โดยชัดแจ้งว่าหากจำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ชำระหนี้ยอมให้โจทก์คิดดอกเบี้ยสินเชื่อผิดนัดดังกล่าว คงกำหนดให้คิดดอกเบี้ยอัตราสูงสุดเฉพาะในส่วนที่เกินวงเงิน ดังนั้น นับแต่วันที่ 31 ธันวาคม 2541 โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยในหนี้เบิกเงินเกินบัญชีภายในวงเงิน 15,000,000 บาท ได้เพียงอัตราเอ็ม โอ อาร์ บวก 0.25 ต่อปี จึงเห็นสมควรกำหนดให้จำเลยที่ 1 ชำระดอกเบี้ยแก่โจทก์ในวงเงิน 15,000,000 บาท ในอัตราดังกล่าวนับแต่วันที่ 31 ธันวาคม 2541 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่ดอกเบี้ยนับแต่วันที่ 31 ธันวาคม 2541 จนถึงวันฟ้องไม่ให้เกินร้อยละ 15 ต่อปี และนับถัดจากวันฟ้องไม่ให้เกินร้อยละ 12 ต่อปี ส่วนหนี้ที่เกินวงเงิน 15,000,000 บาท คือ 3,099,260.80 บาท นั้นให้คิดดอกเบี้ยนับแต่วันที่ 31 ธันวาคม 2541 จนถึงวันฟ้องอัตราร้อยละ 15 ต่อปี และนับถัดจากวันฟ้องให้คิดดอกเบี้ยอัตราเอ็ม โอ อาร์ บวก 2.5 ต่อปี แต่ไม่ให้เกินร้อยละ 12 ต่อปี ตามคำพิพากษาของศาลล่างทั้งสอง ทั้งนี้ ให้หักเงินที่จำเลยที่ 1 ชำระแก่โจทก์ในวันที่ 18 มกราคม 2542 จำนวน 591.50 บาท ออกจากหนี้ดอกเบี้ยในวันดังกล่าว ส่วนจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ต้องรับผิดในดอกเบี้ยอัตราเดียวกับจำเลยที่ 1 ทั้งนี้เพื่อให้เป็นไปตามภาวะตลาดการเงินตามประกาศของธนาคารดีบีเอส ไทยทนุ จำกัด (มหาชน) และประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งออกตามความในมาตรา 14 แห่งพระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ พ.ศ.2505 (เดิม) แต่เนื่องจากได้มีการโอนหนี้รายนี้ต่อมาให้แก่โจทก์ สิทธิในการคิดดอกเบี้ยของโจทก์ย่อมต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดตามพระราชกำหนดบริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ.2541 มาตรา 10 วรรคหนึ่ง ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) และเมื่อความรับผิดของจำเลยทั้งห้าเป็นหนี้ร่วมจึงมีผลถึงจำเลยที่ 3 และที่ 4 ที่มิได้ฎีกาด้วยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 245 (1) ประกอบด้วยมาตรา 246 และ 247
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีจำนวน 18,099,260.80 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราเอ็ม โอ อาร์ บวก 0.25 ต่อปี ของต้นเงิน 15,000,000 บาท นับแต่วันที่ 31 ธันวาคม 2541 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่ดอกเบี้ยนับแต่วันที่ 31 ธันวาคม 2541 จนถึงวันฟ้องไม่ให้เกินร้อยละ 15 ต่อปี ส่วนดอกเบี้ยนับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปไม่ให้เกินร้อยละ 12 ต่อปี และดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 3,099,260.80 บาท นับแต่วันที่ 31 ธันวาคม 2541 จนถึงวันฟ้อง และดอกเบี้ยอัตราเอ็ม โอ อาร์ บวก 2.5 ต่อปี ของต้นเงิน 3,099,260.80 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่ไม่ให้เกินร้อยละ 12 ต่อปี ทั้งนี้ให้หักเงิน 591.50 บาท ที่จำเลยที่ 1 ชำระในวันที่ 18 มกราคม 2542 ออกจากจำนวนหนี้ในวันดังกล่าวโดยหักชำระดอกเบี้ยก่อน ส่วนจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ให้ร่วมรับผิดชำระหนี้เบิกเงินเกินบัญชี 15,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราเดียวกันกับจำเลยที่ 1 นับแต่วันที่ 31 ธันวาคม 2541 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ทั้งนี้ดอกเบี้ยในหนี้เบิกเงินเกินบัญชีที่โจทก์คิดจากจำเลยที่ 1 ดังกล่าวนับแต่วันที่ 31 ธันวาคม 2541 จนถึงวันฟ้องไม่ให้เกิน 2,509,144.39 บาท ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น กับไม่ให้เกินยอดหนี้เบิกเงินเกินบัญชีถึงวันฟ้องตามคำฟ้อง และให้จำเลยทั้งห้าชำระดอกเบี้ยในหนี้ตามสัญญากู้เงินนับถัดจากวันฟ้องในอัตราเอ็ม แอล อาร์ บวก 3 ต่อปี โดยปรับเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยขึ้นลงตามประกาศของธนาคารดีบีเอส ไทยทนุ จำกัด (มหาชน) เรื่องอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อและอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อฉบับที่จะประกาศต่อ ๆ ไปหลังวันฟ้องตามช่วงระยะเวลาที่ประกาศดังกล่าวแต่ละฉบับมีผลใช้บังคับ ทั้งนี้ เมื่อไม่มีฐานในการคำนวณของธนาคารดีบีเอส ไทยทนุ จำกัด (มหาชน) ใช้อ้างอิง ให้คำนวณอัตราดอกเบี้ยตามหลักเกณฑ์ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดตามพระราชกำหนดบริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ.2541 มาตรา 10 วรรคหนึ่ง หากจำเลยทั้งห้าไม่ชำระให้ยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 8924, 11143, 11382 และ 91086 พร้อมห้องชุดเลขที่ 404, 404/1 ถึง 404/8 อาคารเลขที่เอ ชื่ออาคารชุดพหลโยธิน เซนเตอร์ และเลขที่ 406/1 ถึง 406/12, 406/14 ถึง 406/62 อาคารเลขที่บี ชื่ออาคารชุดพหลโยธิน เรสซิเด้นท์ ออกขายทอดตลาดชำระหนี้แก่โจทก์ ถ้าได้เงินไม่พอให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งห้าออกขายทอดตลาดชำระหนี้แก่โจทก์เท่าที่จำเลยแต่ละคนต้องรับผิดจนครบถ้วน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share