คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4250/2561

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คำสั่งของอัยการสูงสุดที่มีคำสั่งให้ดำเนินคดีอาญาจำเลยทั้งสองซึ่งเป็นผู้ถูกกล่าวหาตามฐานความผิดและบทกฎหมายที่ผู้ตรวจการอัยการทำความเห็นเสนอให้อัยการสูงสุดพิจารณาสั่ง โดยอัยการสูงสุดมีคำสั่งมอบหมายให้อัยการจังหวัดบึงกาฬซึ่งเป็นพนักงานอัยการแห่งท้องที่ตามเขตอำนาจศาลรับผิดชอบดำเนินคดีอาญาฟ้องจำเลยทั้งสองต่อศาลจังหวัดบึงกาฬ โจทก์เป็นพนักงานอัยการจังหวัดบึงกาฬจึงมีอำนาจและหน้าที่ตาม ป.วิ.อ. และ พ.ร.บ.องค์กรอัยการและพนักงานอัยการ พ.ศ.2553 มาตรา 14 (2) มีอำนาจฟ้องคดีและลงชื่อเป็นโจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองได้ และอำนาจฟ้องคดีนี้เป็นไปโดยผลของกฎหมาย ทั้งการมอบหมายของอัยการสูงสุดดังกล่าวหาจำต้องมอบอำนาจให้กระทำการแทนตาม ป.พ.พ. ลักษณะตัวแทนแต่อย่างใดไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86, 149, 157
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นพิพากษาใหม่ตามรูปคดีในประเด็นที่เหลือต่อไป
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ โดยจำเลยทั้งสองฎีกาว่า อัยการสูงสุดมิได้มีหนังสือมอบหมายหรือมอบอำนาจให้พนักงานอัยการจังหวัดบึงกาฬเป็นโจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองต่อศาล คำฟ้องโจทก์จึงไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 นั้น ข้อเท็จจริงฟังได้ตามเอกสารความเห็นและคำสั่งสำนวน ส.1 (แบบ อ.ก. 4) และใบต่อความเห็นและคำสั่งสำนวน ส.1 (แบบ อ.ก.4) ว่ามีการทำความเห็นและคำสั่งเพื่อโปรดพิจารณาเป็นลำดับชั้นขึ้นไป โดยผู้ตรวจการอัยการ (ผตอ.) ทำความเห็นเสนออัยการสูงสุดว่า “พิจารณาแล้ว ข้อเท็จจริงตามรายงานการไต่สวน คดีมีพยานบุคคลจำนวนหลายปากให้การสอดคล้องต้องกัน ประกอบพยานเอกสารยืนยันการกระทำความผิดของผู้ถูกกล่าวหาทั้งสองตามที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติและขอให้ดำเนินคดีอาญาฟ้อง คดีมีพยานหลักฐานพอฟ้อง เห็นควรดำเนินคดีอาญาฟ้องผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 ฐานเป็นเจ้าพนักงานเรียก รับ หรือยอมจะรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดสำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบ เพื่อกระทำการหรือไม่กระทำการอย่างใดในตำแหน่ง ไม่ว่าการนั้นจะชอบหรือมิชอบด้วยหน้าที่ และฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149, 157 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ.2502 มาตรา 5, 13 เห็นควรดำเนินคดีอาญาฟ้องผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 ฐานเป็นผู้สนับสนุนผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149, 157 ประกอบมาตรา 86 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ.2502 มาตรา 5, 13 คดีนี้เหตุเกิดที่ตำบลหนองหัวช้าง อำเภอพรเจริญ จังหวัดบึงกาฬ ซึ่งอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีของศาลจังหวัดบึงกาฬ เห็นควรมอบหมายให้อัยการจังหวัดบึงกาฬรับผิดชอบดำเนินคดี และเห็นควรแจ้งคณะกรรมการ ป.ป.ช. ทราบ เพื่อให้ดำเนินการส่งตัวผู้ถูกกล่าวหาทั้งสองไปยังสำนักงานอัยการจังหวัดบึงกาฬเพื่อฟ้องคดีต่อศาลจังหวัดบึงกาฬภายในอายุความตามกฎหมายต่อไป” ซึ่งอัยการสูงสุดพิจารณารายงานเอกสารและความเห็นดังกล่าวแล้ว มีคำสั่งว่า “ดำเนินคดีอาญาฟ้องผู้ถูกกล่าวหาทั้งสองตามฐานความผิดและบทกฎหมาย มอบหมายและจัดการตามที่ ผตอ.เสนอ” เห็นว่า คำสั่งของอัยการสูงสุดดังกล่าวเป็นคำสั่งให้ดำเนินคดีอาญาจำเลยทั้งสองซึ่งเป็นผู้ถูกกล่าวหาตามฐานความผิดและบทกฎหมายที่ผู้ตรวจการอัยการทำความเห็นเสนอให้อัยการสูงสุดพิจารณาสั่ง โดยอัยการสูงสุดมีคำสั่งมอบหมายให้อัยการจังหวัดบึงกาฬซึ่งเป็นพนักงานอัยการแห่งท้องที่ตามเขตอำนาจศาลรับผิดชอบดำเนินคดีอาญาฟ้องจำเลยทั้งสองต่อศาลจังหวัดบึงกาฬ โจทก์เป็นพนักงานอัยการจังหวัดบึงกาฬจึงมีอำนาจและหน้าที่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาและตามกฎหมายอื่นซึ่งบัญญัติว่าเป็นอำนาจและหน้าที่ของสำนักงานอัยการสูงสุดหรือพนักงานอัยการตามพระราชบัญญัติองค์กรอัยการและพนักงานอัยการ พ.ศ.2553 มาตรา 14 (2) มีอำนาจฟ้องคดีและลงชื่อเป็นโจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองได้ และอำนาจฟ้องคดีนี้เป็นไปโดยผลของกฎหมาย ทั้งการมอบหมายของอัยการสูงสุดดังกล่าวหาจำต้องมอบอำนาจให้กระทำการแทนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ลักษณะตัวแทนแต่อย่างใด ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 วินิจฉัยมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share