คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 59/2507

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เช็คซึ่งให้ใช้เงินในเมืองเดียวกันกับที่ออกเช็ค ถ้าผู้ทรงเช็คไม่ยื่นเช็คแก่ธนาคารเพื่อให้ใช้เงินภายในหนึ่งเดือนนับแต่วันออกเช็คนั้นก็ทำให้ผู้ทรงเช็คเสียสิทธิบางอย่างดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 990 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เท่านั้น ไม่ทำให้ผู้กระทำผิดพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คฯ พ้นผิดไปด้วย
จำเลยที่ 2 เป็นกรรมการผู้จัดการของจำเลยที่ 1 อันเป็นบริษัทนิติบุคคลจำเลยที่ 3 เป็นกรรมการของบริษัทจำเลยที่ 2 กับที่ 3 เซ็นชื่อสั่งจ่ายเงินในเช็คในนามของบริษัทจำเลยที่ 1 ให้ใช้เงินสูงกว่าจำนวนที่มีอยู่ในบัญชีในขณะที่ออกเช็คโดยเจตนาจะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็คนั้น ดังนี้ จำเลยที่ 2,3 ย่อมได้ชื่อว่าได้ร่วมกับจำเลยที่ 1 ออกเช็ครายนี้ จึงต้องมีความผิดในฐานเป็นตัวการด้วย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคล จำเลยที่ 2 เป็นกรรมการผู้จัดการและจำเลยที่ 3 เป็นกรรมการของบริษัทจำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2504 จำเลยทั้ง 3 ได้บังอาจร่วมกันออกเช็คธนาคารทหารไทย จำกัด สั่งจ่ายเงิน 20,000 บาท ลงวันสั่งจ่าย 31 มีนาคม 2504 และลงชื่อจำเลยที่ 2, 3 เป็นผู้สั่งจ่ายและประทับตราของบริษัทจำเลยที่ 1 (ตามเงื่อนไขที่ตกลงไว้กับธนาคาร)ให้แก่นายทรง คุนานุกร เป็นการชำระหนี้เงินที่ยืมไปใช้จ่ายในการดำเนินกิจการของบริษัท ต่อมาวันที่ 5 มิถุนายน 2504 นายทรงได้นำเช็คไปขึ้นเงินที่ธนาคารนั้น ธนาคารได้ปฏิเสธการจ่ายเงิน เพราะเงินในบัญชีของจำเลยไม่พอจ่ายตามเช็ค นายทรงจึงแจ้งให้จำเลยที่ 2-3 ทราบ จำเลยก็ไม่นำเงินไปชำระ ทั้งนี้ โดยจำเลยทั้งสามได้ร่วมกันออกเช็คให้ใช้เงินมีจำนวนสูงกว่าที่มีอยู่ในบัญชีธนาคารอันจะพึงให้ใช้เงินได้ในขณะออกเช็ค และโดยเจตนาจะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็คนั้น ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497 มาตรา 3

จำเลยทั้ง 3 ให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามบทมาตราที่โจทก์อ้างให้จำคุกจำเลยที่ 2-3 คนละ 2 เดือน และปรับจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 10,000 บาท

จำเลยที่ 2, 3 อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยที่ 2 ฎีกาปัญหาข้อกฎหมาย

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า

1. ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 990 ถ้าเป็นเช็คให้ใช้เงินในเมืองเดียวกันกับที่ออกเช็ค ผู้ทรงเช็คต้องยื่นเช็คแก่ธนาคารเพื่อให้ใช้เงินภายในหนึ่งเดือนนับแต่วันออกเช็คนั้นมิฉะนั้นผู้ทรงเช็คหมดสิทธิที่จะไล่เบี้ยเอาแก่ผู้สลักหลังและเสียสิทธิอันมีต่อผู้สั่งจ่ายเท่าที่จะเกิดความเสียหายอย่างหนึ่งอย่างใดแก่ผู้สั่งจ่ายเพราะการที่ละเลยไม่ยื่นเช็คเสียภายในหนึ่งเดือนเท่านั้น ซึ่งหาเกี่ยวข้องกับการกระทำผิดฐานออกเช็คโดยเจตนาจะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็ค หรือออกเช็คให้ใช้เงินมีจำนวนสูงกว่าจำนวนเงินที่มีอยู่ในบัญชีอันจะพึงให้ใช้เงินได้ในขณะที่ออกเช็คนั้น ดังเช่นที่ได้ความในคดีนี้ไม่หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ การที่ผู้ทรงเช็คละเลยเช่นนั้น เพียงแต่ทำให้ผู้ทรงเช็คเสียสิทธิบางอย่างดังกล่าวแล้วเท่านั้น หาทำให้ผู้กระทำผิดพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คฯ พ้นผิดไปด้วยไม่ฎีกาของจำเลยที่ว่าผู้เสียหายนำเช็คไปเบิกเงินที่ธนาคารล่วงเลยวันที่สั่งจ่ายสองเดือนเศษ ผู้เสียหายในฐานะผู้ทรงเช็คจึงต้องเสียสิทธิที่มีต่อจำเลยที่ 1 ในอันจะเป็นความผิดแก่ผู้สั่งจ่ายเช็คไปตามกฎหมายด้วยนั้น จึงฟังไม่ขึ้น

2. การดำเนินกิจการอันเป็นความประสงค์ของบริษัท ย่อมแสดงจากผู้แทนทั้งหลายของบริษัทนั้น จำเลยที่ 2 เป็นกรรมการผู้จัดการของบริษัทจำเลยที่ 1 และมีอำนาจสั่งจ่ายเงินในเช็คแทนบริษัทร่วมกับจำเลยที่ 3 หรือกรรมการอีกคนหนึ่งตามเงื่อนไขที่ตกลงไว้กับธนาคารเมื่อจำเลยที่ 2 กับที่ 3 ได้เซ็นชื่อสั่งจ่ายเงินในเช็คให้ใช้เงินสูงกว่าจำนวนที่มีอยู่ในบัญชีในขณะที่ออกเช็คโดยเจตนาจะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็คนั้นแล้วก็ได้ชื่อว่าจำเลยที่ 2ได้ร่วมกับจำเลยที่ 1 และที่ 3 ออกเช็ครายนี้ จึงต้องมีความผิดฐานเป็นตัวการด้วย ฎีกาจำเลยที่อ้างว่าบริษัทจำเลยที่ 1 เป็นผู้ออกจำเลยที่ 2, 3 เป็นผู้เซ็นชื่อสั่งจ่ายในเช็คตามระเบียบข้อบังคับของบริษัท มิได้หมายความว่าจำเลยที่ 2, 3 เป็นผู้ออกเช็คสั่งจ่ายเงินนั้น ก็ฟังไม่ขึ้น

พิพากษายืน

Share