คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3056/2548

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ความผิดฐานรับของโจรทรัพย์อันได้มาโดยการชิงทรัพย์ตาม ป.อ. มาตรา 357 วรรคสอง ผู้กระทำความผิดต้องรู้ว่าได้กระทำต่อทรัพย์อันได้มาโดยการชิงทรัพย์ เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้เพียงว่าจำเลยที่ 1 รับนาฬิกาของกลางไว้โดยรู้ว่าเป็นทรัพย์อันได้มาโดยการกระทำความผิดเท่านั้น ยังฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 รู้ว่าเป็นทรัพย์อันได้มาโดยการชิงทรัพย์จึงลงโทษจำเลยที่ 1 ตาม ป.อ. มาตรา 357 วรรคสอง ไม่ได้ ต้องลงโทษตามมาตรา 357 วรรคแรก
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษฐานชิงทรัพย์ แต่ทางพิจารณาได้ความว่าจำเลยที่ 1 กระทำความผิดฐานรับของโจร ศาลมีอำนาจลงโทษในความผิดฐานรับของโจรได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสาม

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 339, 340 ตรี และให้จำเลยทั้งสองร่วมกันคืนหรือใช้ราคาสร้อยคอทองคำหนัก 8 บาท จำนวน 1 เส้น พร้อมพระทองคำตลับทองฝังเพชร ราคา 100,000 บาท แก่ผู้เสียหาย และให้นับโทษของจำเลยที่ 1 ต่อกับโทษของจำเลยที่ 1 ในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 4728/2541, 5604/2541, 6283/2541 ของศาลอาญากรุงเทพใต้ และนับโทษของจำเลยที่ 1 ต่อกับโทษของจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1711/2543 ของศาลอาญากรุงเทพใต้ นับโทษของจำเลยที่ 2 ต่อกับโทษของจำเลยที่ 2 ในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 4728/2541, 5604/2541, 6283/2541 ของศาลอาญากรุงเทพใต้ และนับโทษของจำเลยที่ 2 ต่อกับโทษของจำเลยในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 5603/2541 และโทษของจำเลยในคดีหมายเลขแดงที่ 5022/2543 ของศาลอาญากรุงเทพใต้
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ แต่รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 339 วรรคสี่, 340 ตรี ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 จำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 24 ปี จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพในชั้นสอบสวน เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 16 ปี ให้จำเลยที่ 1 คืนหรือใช้ราคาสร้อยคอทองคำหนัก 8 บาท จำนวน 1 เส้น พร้อมพระทองคำตลับทองฝังเพชร ราคา 100,000 บาท ที่ยังไม่ได้คืนแก่ผู้เสียหาย ยกคำขอให้นับโทษจำเลยที่ 1 ต่อและยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 2
โจทก์และจำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ว่า จำเลยที่ 1 กระทำความผิดฐานชิงทรัพย์ของผู้เสียหายดังที่ศาลล่างทั้งสองมีคำพิพากษาหรือไม่ โจทก์มีนายวิชิต ผู้เสียหาย พันตำรวจตรีประทวน นายประจวบ นายศิริชัย พี่ชายผู้เสียหาย และนางสมชิด ภริยานายประจวบมาเบิกความเป็นพยาน โดยผู้เสียหายเบิกความว่า ขณะเกิดเหตุพยานถูกคนร้ายใช้วัตถุของแข็งตีศีรษะและใบหน้าจนมีอาการมึนงง แต่หลังจากที่เจ้าพนักงานตำรวจแจ้งว่าจับกุมผู้ต้องสงสัยได้และให้พยานดูทรัพย์สินของกลางหลายรายการ พยานดูแล้วจำนาฬิกาของพยานได้ เพราะพยานเป็นผู้ทำหน้าปัดฝังเพชรเองกับมีตำหนิเป็นรอยลอกสีเหลือง พยานยังได้สอบถามจำเลยที่ 1 ถึงสาเหตุที่ทำร้ายพยาน จำเลยที่ 1 ตอบว่าเพราะพยานขัดขืน พันตำรวจตรีประทวนเบิกความว่า เป็นผู้จับกุมจำเลยที่ 1 ตามหมายจับ จากนั้นได้ให้จำเลยที่ 1 พาไปติดตามยึดเอาทรัพย์สินมาหลายรายการ เฉพาะทรัพย์สินของกลางที่ยึดมาจากจำเลยที่ 1 ปรากฏตามบันทึกการจับกุม นายประจวบเบิกความว่า ขณะเกิดเหตุพยานกับนางสมชิดภริยากำลังลอกท่อระบายน้ำเพื่อร่อนหาเศษทองอยู่ในซอยห่างจากจุดเกิดเหตุประมาณ 8 เมตร เห็นชาย 2 คน กำลังต่อสู้กัน แล้วชายคนหนึ่งคือผู้เสียหายล้มลง ส่วนชายอีกคนที่เป็นคนร้ายได้เดินไปซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ที่มีคนขับออกไปจากที่เกิดเหตุ หลังเกิดเหตุเจ้าพนักงานตำรวจเรียกพยานไปสอบปากคำ พยานได้บอกตำหนิรูปพรรณของคนร้ายให้เจ้าพนักงานตำรวจสเกตภาพคนร้ายไว้ แต่ไม่แน่ใจว่าเป็นภาพเดียวกับภาพสเกตคนร้ายหรือไม่ เนื่องจากเหตุเกิดนานแล้ว สำหรับการชี้ตัวคนร้ายนั้น พยานชี้ไปตามที่เจ้าพนักงานตำรวจบอกให้ชี้ นายศิริชัยเบิกความว่า พยานมาถึงที่เกิดเหตุภายหลังจากที่คนร้ายหลบหนีไปแล้ว พยานทราบจากคำบอกเล่าของผู้เสียหายว่าคนร้ายใช้หมวกนิรภัยเป็นอาวุธ ส่วนนางสมชิดเบิกความว่า ไม่รู้เห็นเหตุการณ์ใด ๆ แต่รับว่าได้ลงลายมือชื่อในบันทึกคำให้การชั้นสอบสวน นอกจากนี้ โจทก์ยังมีร้อยตำรวจเอกณัฐพลและพันตำรวจโทสมบูรณ์ พนักงานสอบสวนมาเบิกความสนับสนุนรวมความได้ว่า ในซอยเกิดเหตุมีแสงสว่างทั้งจากหลอดไฟนีออนที่ติดเสาไฟฟ้าและแสงไฟฟ้าตามบ้านใกล้ที่เกิดเหตุ รวมทั้งสอบปากคำนายประจวบและนางสมชิดไว้ ผู้เสียหายดูนาฬิกาโรเล็กซ์ของกลางที่ยึดได้จากจำเลยที่ 1 แล้วจำได้ว่าเป็นของตน ตามบัญชีทรัพย์ถูกประทุษร้ายได้คืน ชั้นสอบสวนจำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพ ส่วนจำเลยที่ 1 มีตัวจำเลยที่ 1 นายจรินทร์ นายจ้างจำเลยที่ 1 และนายมานะ เพื่อนร่วมงานจำเลยที่ 1 มานำสืบต่อสู้ว่า ช่วงเกิดเหตุจำเลยที่ 1 ทำงานอยู่ที่จังหวัดภูเก็ต ในการจับกุมจำเลยที่ 1 เจ้าพนักงานตำรวจ 7 ถึง 8 คน รุมทำร้ายจำเลยที่ 1 จนสลบไป สำหรับของกลางรายการต่าง ๆ ตามบันทึกการจับกุม เจ้าพนักงานตำรวจไปยึดมาจากมารดาและภริยาจำเลยที่ 1 ยกเว้นรายการที่ 4 ซึ่งเป็นนาฬิกาโรเล็กซ์ฝังเพชรเป็นของเจ้าพนักงานตำรวจ และรายการที่ 7 กับที่ 8 ซึ่งเป็นหมวกนิรภัยและรถจักรยานยนต์ไม่ใช่ของจำเลยที่ 1 เหตุที่จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพเพราะถูกทำร้ายร่างกายและถูกขู่ว่าหากไม่ให้การรับสารภาพจะยัดเยียดข้อหาอื่น ๆ ให้อีก เห็นว่า พยานโจทก์ที่ใกล้ชิดกับเหตุการณ์ทั้ง 3 ปาก คือ ผู้เสียหาย นายประจวบ และนางสมชิด คงมีนายประจวบแต่ผู้เดียวที่ยืนยันว่าเห็นคนร้าย แต่พยานปากนี้ก็เบิกความว่า ขณะเกิดเหตุนั้นไม่มีแสงสว่างพอ และในบันทึกคำให้การชั้นสอบสวนของพยาน พยานให้การว่าก่อนเกิดเหตุมีการทะเลาะด่าทอกันจนพยานเข้าใจว่าเป็นเรื่องคนเมาสุราทะเลาะกัน พยานอยู่ห่างจากจุดเกิดเหตุ 25 เมตร ซึ่งแตกต่างกับที่พยานเบิกความตอบโจทก์ข้างต้นว่าอยู่ห่างจากจุดเกิดเหตุประมาณ 8 เมตร พยานมองเห็นเหตุการณ์ไม่ถนัดเพราะมีรถจอดบัง หากจะมองต้องชะโงกหน้าออกไปดูซึ่งตรงกับแผนที่สังเขปแสดงสถานที่เกิดเหตุ ที่ปรากฏว่าจุดเกิดเหตุอยู่หน้ารถที่จอดบังพยาน รวมทั้งที่พยานเบิกความตอบทนายจำเลยทั้งสองถามค้านว่า พยานไม่เห็นหน้าคนร้ายเนื่องจากบริเวณที่เกิดเหตุมืดโดยดูออกแต่เพียงว่าเป็นวัยรุ่นตีกัน พยานอ่านหนังสือไม่ค่อยออกและเจ้าพนักงานตำรวจไม่ได้อ่านข้อความให้ฟัง และพยานเบิกความปฏิเสธว่า ไม่ได้แจ้งตำหนิรูปพรรณของคนร้ายคือ จำเลยที่ 1 ให้เจ้าพนักงานตำรวจฟังตามที่ปรากฏในบันทึกคำให้การดังกล่าว กอปรกับพันตำรวจตรีประทวน ผู้จับกุมจำเลยที่ 1 เบิกความว่า จับกุมจำเลยที่ 1 ตามหมายจับ แต่ปรากฏจากเอกสารดังกล่าวว่าเป็นหมายจับจำเลยที่ 1 ในคดีอื่น และได้ความจากคำเบิกความของพยานตอบโจทก์ถามติงว่า การดำเนินคดีนี้เป็นเรื่องของการขยายผล รวมทั้งร้อยตำรวจเอกณัฐพล พนักงานสอบสวนเบิกความว่า จากการไปตรวจดูที่เกิดเหตุ แสงไฟมองเห็นได้ชัดเจนในระยะห่างประมาณ 20 เมตร ดังนั้น หากนายประจวบอยู่ห่างจากจุดเกิดเหตุ 25 เมตร นายประจวบย่อมไม่น่าจะเห็นหน้าคนร้ายได้ชัดเจน นอกจากนี้ ตามเอกสารภาพสเกตทั้งหมดที่โจทก์อ้างส่งศาลชั้นต้นกลับไม่ปรากฏลายมือชื่อของนายประจวบที่อ้างว่าได้บอกตำหนิรูปพรรณของคนร้ายให้เจ้าพนักงานตำรวจสเกตภาพคนร้ายไว้ ทำให้เป็นข้อที่น่าสงสัยว่าอาจเป็นภาพสเกตของจำเลยที่ 1 ในคดีอื่นก็เป็นได้เพราะจำเลยที่ 1 ถูกฟ้องรวมหลายคดี และในการชี้ตัวจำเลยที่ 1 ก็ได้ความจากนายประจวบว่าเป็นการชี้ไปตามที่เจ้าพนักงานตำรวจบอกให้ชี้ ทำให้เป็นที่น่าสงสัยว่าจำเลยที่ 1 จะเป็นคนร้ายที่ลงมือชิงทรัพย์ของผู้เสียหายหรือไม่ ศาลฎีกาเห็นสมควรยกประโยชน์แห่งความสงสัยในส่วนนี้ให้แก่จำเลยที่ 1 ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227 วรรคสอง กรณีไม่จำต้องวินิจฉัยพยานหลักฐานของจำเลยที่ 1 อย่างไรก็ดีพยานหลักฐานของโจทก์ตามที่นำสืบมาฟังได้ว่านาฬิกาโรเล็กซ์ของกลางซึ่งเจ้าพนักงานตำรวจยึดได้จากจำเลยที่ 1 เป็นของผู้เสียหายที่ถูกคนร้ายชิงเอาไปและเป็นทรัพย์ที่มีราคาสูงเพราะได้ความจากผู้เสียหายซึ่งประกอบอาชีพรับจ้างทำเครื่องประดับจำพวกเพชรมานานถึง 28 ปี ว่าเป็นผู้นำเพชรมาฝังที่หน้าปัดนาฬิกาด้วยตนเองกับจำตำหนิรอยลอกได้ ทั้งได้ใส่นาฬิกาเรือนดังกล่าวมา 10 กว่าปี แต่เมื่อพิจารณาถึงฐานะของจำเลยที่ 1 ที่อ้างว่าเป็นลูกจ้างมีรายได้เพียงวันละ 250 บาท ทำให้มีเหตุผลเชื่อได้ว่าจำเลยที่ 1 รับนาฬิกาของกลางไว้โดยรู้ว่าเป็นทรัพย์อันได้มาโดยการกระทำความผิด ทั้งจำเลยที่ 1 มิได้หลงต่อสู้ แต่เมื่อข้อเท็จจริงยังฟังไม่ได้ว่า จำเลยที่ 1 รู้ว่าเป็นทรัพย์อันได้มาโดยการชิงทรัพย์ จำเลยที่ 1 จึงมีความผิดฐานรับของโจรตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 357 วรรคแรก ซึ่งศาลมีอำนาจลงโทษได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคสาม และเมื่อฟังว่าจำเลยที่ 1 ไม่ได้ชิงทรัพย์ของผู้เสียหาย จึงต้องยกคำขอให้คืนหรือใช้ราคาทรัพย์ของผู้เสียหายที่ยังไม่ได้คืนด้วย
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 357 วรรคแรก จำคุก 5 ปี ยกคำขอให้คืนหรือใช้ราคาทรัพย์ของผู้เสียหายที่ยังไม่ได้คืน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share