คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4946/2554

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้จำเลยบรรยายฟ้องว่าโจทก์ทั้งสิบสองร่วมกันเป็นโจทก์ฟ้องจำเลยต่อศาลว่า เอาความอันเป็นเท็จฟ้องจำเลยต่อศาล แต่ความจริงเป็นกรณีที่สมาคม ย. เป็นโจทก์ฟ้องจำเลยก็ตาม แต่เมื่อข้อเท็จจริงปรากฎว่าโจทก์ทั้งสิบสองกระทำการในฐานะกรรมการอำนวยการซึ่งเป็นผู้แทนของสมาคมที่เป็นนิติบุคคลและเป็นผู้มีอำนาจดำเนินกิจการของสมาคม ย. ตาม ป.พ.พ. มาตรา 70 และ 86 ประกอบกับธรรมนูญและข้อบังคับของสมาคมกำหนดให้คณะกรรมการอำนวยการของสมาคม ทำหน้าที่บริหารงานของสมาคม ทั้งในขณะที่โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 11 ทำหนังสือมอบให้โจทก์ที่ 12 ฟ้องจำเลยดังกล่าว โจทก์ที่ 1 เป็นผู้รักษาการในตำแหน่งนายกสมาคม ย. โดยคณะกรรมการอำนวยการมีมติให้โจทก์ที่ 1 มีอำนาจในการสั่งการและลงนามในเอกสารใดๆ เสมือนเป็นนายกสมาคมทุกประการ ถือได้ว่าโจทก์ทั้งสิบสองเป็นตัวการร่วมกับสมาคม ย. ฟ้องจำเลยด้วย จำเลยจึงมีอำนาจฟ้องโจทก์ทั้งสิบสองเป็นคดีอาญาดังกล่าวได้ ที่จำเลยฟ้องโจทก์ทั้งสิบสองเป็นคดีดังกล่าวจึงไม่เป็นฟ้องเท็จ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 175
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่า คดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 12 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ลงโทษจำคุก 3 เดือน และปรับ 3,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 1 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาในชั้นฎีกาเพียงว่า คดีอาญาหมายเลขดำที่ 3249/2544 ของศาลอาญากรุงเทพใต้ ที่จำเลยฟ้องว่า โจทก์ทั้งสิบสองเป็นโจทก์ฟ้องคดีอาญาหมายเลขดำที่ 2662/2543 ของศาลแขวงพระนครใต้นั้นเป็นการฟ้องเท็จ เพราะความจริงแล้ว สมาคมเป็นโจทก์ฟ้องเองหรือไม่
ที่จำเลยฎีกาว่า ศาลอุทธรณ์อ้างรายงานการประชุมคณะกรรมการอำนวยการของสมาคมครั้งที่ 2/2543 ลงวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2543 วาระที่ 11.1 แสดงข้อความบันทึกไว้เป็นนัยว่า สมาคมมีมติให้ดำเนินคดีอาญาแก่จำเลย และคณะกรรมการอำนวยการทุกคนมีมติแต่งตั้งให้โจทก์ที่ 1 ผู้รักษาการแทนนายกสมาคมเป็นผู้มีอำนาจฟ้องร้องดำเนินคดีแก่จำเลยนั้น จำเลยเห็นว่า การประชุมดังกล่าวเป็นการประชุมที่ไม่ชอบ เพราะจำเลยซึ่งเป็นนายกสมาคมไม่รู้ว่ามีการประชุม ทั้งๆ ที่จำเลยอยู่ปฏิบัติหน้าที่ได้ และไม่เคยมอบหมายให้ผู้ใดปฏิบัติหน้าที่แทน นอกจากนี้ฎีกาจำเลยยังอ้างด้วยว่าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 70 และธรรมนูญกับข้อบังคับของสมาคม บทที่ 4 ข้อ 1 กำหนดว่า “นายกสมาคม มีหน้าที่ดูแลผลประโยชน์ต่างๆของสมาคม เป็นประธานการประชุมทุกครั้ง ลงนามในเอกสารในนามสมาคม…” แสดงว่า โจทก์ทั้งสิบสองมิใช่บุคคลที่มีอำนาจลงนามแทนสมาคมได้ ดังนั้น เมื่อโจทก์ทั้งสิบสองไปลงนามแทนสมาคม ย่อมไม่อาจถือได้ว่าเป็นการกระทำในนามสมาคม นั้น ศาลฎีกาเห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ยุติดังกล่าวข้างต้นว่า จำเลยพ้นจากตำแหน่งนายกสมาคม ตั้งแต่วันที่ 24 เมษายน 2542 เป็นต้นไป และเมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2542 คณะกรรมการอำนวยการมีมติมอบหมายให้โจทก์ที่ 1 ซึ่งเป็นอุปนายกคนที่ 1 รักษาการในตำแหน่งนายกสมาคม โดยมีอำนาจในการสั่งการและลงนามในเอกสารใดๆ เสมือนนายกสมาคมทุกประการ ดังนั้นการประชุมคณะกรรมการอำนวยการครั้งที่ 2/2543 เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2543 ที่มีโจทก์ที่ 1 ซึ่งเป็นผู้รักษาการในตำแหน่งนายกสมาคมเป็นประธานในที่ประชุม จึงเป็นการประชุมที่ชอบแล้ว แม้จำเลยไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเรียกประชุมและร่วมกันประชุมนั้นก็ตาม ส่วนการที่โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 11 ทำหนังสือมอบอำนาจเมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2543 ให้โจทก์ที่ 12 ฟ้องจำเลยต่อศาลแขวงพระนครใต้ ในข้อหาปลอมเอกสาร ใช้เอกสารปลอมและแจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จแล้ว โจทก์ที่ 12 ในฐานะผู้รับมอบอำนาจฟ้องจำเลยต่อศาลแขวงพระนครใต้เป็นคดีอาญาหมายเลขดำที่ 2662/2543 เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2543 นั้น ศาลฎีกาเห็นว่าเป็นเรื่องที่โจทก์ทั้งสิบสองกระทำการในฐานะกรรมการอำนวยการซึ่งเป็นผู้แทนของสมาคมที่เป็นนิติบุคคล และเป็นผู้มีอำนาจดำเนินกิจการของสมาคม ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 70 และ 86 ประกอบกับธรรมนูญและข้อบังคับของสมาคม บทที่ 1 ข้อ 1 ที่กำหนดว่าให้คณะกรรมการอำนวยการของสมาคมทำหน้าที่บริหารงานของสมาคมทั้งในขณะที่โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 11 ทำหนังสือมอบอำนาจนั้น โจทก์ที่ 1 ก็เป็นผู้รักษาการในตำแหน่งนายกสมาคม โดยคณะกรรมการอำนวยการมีมติให้โจทก์ที่ 1 มีอำนาจในการสั่งการและลงนามในเอกสารใดๆ เสมือนเป็นนายกสมาคมทุกประการ โจทก์ทั้งสิบสองย่อมมีอำนาจทำการแทนสมาคม โดยโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 11 มอบอำนาจให้โจทก์ที่ 12 ฟ้องจำเลย และโจทก์ที่ 12 ฟ้องจำเลยตามที่ได้รับมอบอำนาจ รวมทั้งลงลายมือชื่อในเอกสารที่เกี่ยวข้องได้ตามคดีอาญาหมายเลขดำที่ 2662/2543 ดังกล่าว จึงเป็นกรณีที่สมาคมเป็นโจทก์ฟ้องจำเลยเองดังที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัย ฎีกาทั้งสองประการนี้ฟังไม่ขึ้น
อย่างไรก็ตาม จากข้อเท็จจริงที่ฟังได้ยุติข้างต้นว่า โจทก์ทั้งสิบสองกับจำเลยมีข้อขัดแย้งกันเกี่ยวกับการเลือกตั้งกรรมการในคณะกรรมการอำนวยการของสมาคม ซึ่งเป็นผู้บริหารงานของสมาคม อันเป็นผลให้มีการฟ้องคดีแพ่งและคดีอาญากันหลายคดี และโจทก์ทั้งสิบสองถือประโยชน์จากการที่เป็นฝ่ายคุมเสียงข้างมากในคณะกรรมการอำนวยการดำเนินการให้คณะกรรมการอำนวยการมีมติให้จำเลยพ้นจากสมาชิกภาพของสมาคม อันเป็นผลให้จำเลยขาดคุณสมบัติในการเป็นนายกสมาคมและพ้นจากตำแหน่งนายกสมาคมด้วย รวมทั้งมีมติให้ดำเนินคดีอาญาแก่จำเลยโดยมีโจทก์ทั้งสิบสองเป็นผู้ดำเนินคดีแทนสมาคม กรณีจึงถือได้ว่าโจทก์ทั้งสิบสองเป็นตัวการร่วมฟ้องคดีอาญาหมายเลขดำที่ 2662/2543 ของศาลแขวงพระนครใต้กับสมาคมด้วย จำเลยจึงมีอำนาจฟ้องโจทก์ทั้งสิบสองฐานฟ้องเท็จต่อศาลอาญากรุงเทพใต้เป็นคดีอาญาหมายเลขดำที่ 3249/2544 ดังที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยไว้ ซึ่งเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ดังนั้น แม้จำเลยไม่ได้ยกขึ้นอ้างในชั้นฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจและเห็นสมควรหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 และเมื่อจำเลยมีอำนาจฟ้องโจทก์ทั้งสิบสองแล้วก็ถือไม่ได้ว่าจำเลยเอาความอันเป็นเท็จฟ้องโจทก์ต่อศาลว่ากระทำความผิดอาญาอันเป็นความผิดฐานฟ้องเท็จ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 175 ดังที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัย กรณีไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยข้ออ้างประการอื่นตามฎีกาจำเลย เพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลงไป
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง

Share