คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8961/2554

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์บรรยายฟ้องเพียงว่า จำเลยทั้งสองกับพวกร่วมกันผลิตเมทแอมเฟตามีนจำนวน 50 เม็ด น้ำหนักไม่ปรากฏชัด โดยมิได้บรรยายว่าจำนวนเม็ดของเมทแอมเฟตามีนดังกล่าวเป็นหน่วยการใช้ด้วย จึงไม่อาจรับฟังได้ว่า เมทแอมเฟตามีนจำนวน 50 เม็ด ดังกล่าวที่จำเลยที่ 1 ผลิต และจำเลยที่ 2 เป็นผู้สนับสนุนจำเลยที่ 1 ในการกระทำความผิดฐานผลิตมีปริมาณ 50 หน่วยการใช้หรือมีปริมาณสิบห้าหน่วยการใช้ขึ้นไป กรณีจึงต้องรับฟังข้อเท็จจริงให้เป็นคุณแก่จำเลยทั้งสองว่า เมทแอมเฟตามีนจำนวน 50 เม็ด ดังกล่าวมีจำนวนหน่วยการใช้ไม่ถึงปริมาณที่กำหนดตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคสาม (ใหม่) ซึ่งการผลิตเมทแอมเฟตามีนโดยการแบ่งบรรจุมีจำนวนหน่วยการใช้ไม่ถึงปริมาณที่กำหนดตาม พ.ร.บ.บัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคสาม (ใหม่) เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.บัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 65 วรรคสาม ซึ่งเป็นกฎหมายที่บัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมใหม่และมีเงื่อนไขอันเป็นองค์ประกอบความผิดกับมีระวางโทษจำคุกตั้งแต่สี่ปีถึงสิบห้าปี หรือปรับตั้งแต่แปดหมื่นบาทถึงสามแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ที่เป็นคุณมากกว่ามาตรา 65 วรรคหนึ่ง (เดิม) ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดและมีระวางโทษจำคุกตลอดชีวิต ดังนั้น จึงต้องใช้กฎหมายในส่วนที่เป็นคุณบังคับแก่จำเลยทั้งสองตาม ป.อ. มาตรา 3 จำเลยที่ 1 จึงมีความผิดตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง (เดิม), 65 วรรคสาม (ใหม่), 66 วรรคหนึ่ง (ใหม่) ประกอบ ป.อ. มาตรา 83 และจำเลยที่ 2 มีความผิดตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง (เดิม), 65 วรรคสาม (ใหม่) ประกอบ ป.อ. มาตรา 86 ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นฎีกา ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจหยิบยกขึ้นอ้างและแก้ไขโดยปรับบทกฎหมายให้ถูกต้อง รวมทั้งแก้ไขโทษเสียใหม่ให้เหมาะสมสอดคล้องกับบทกฎหมายที่แก้ไขใหม่ดังกล่าวได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 4, 7, 8, 15, 65, 66, 97, 102 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33, 83, 91 ริบของกลาง และเพิ่มโทษจำเลยที่ 1 ตามกฎหมาย
จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายโดยไม่ได้รับอนุญาต แต่ให้การปฏิเสธฐานผลิตเมทแอมเฟตามีนโดยไม่ได้รับอนุญาตและรับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้เพิ่มโทษ
จำเลยที่ 2 ให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง (เดิม), 65 วรรคหนึ่ง (เดิม), 66 วรรคหนึ่ง (ใหม่) (ที่ถูกประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83) การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ลงโทษฐานผลิตเมทแอมเฟตามีนซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกตลอดชีวิต และไม่อาจเพิ่มโทษจำเลยที่ 1 ได้อีกตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 51 จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวน ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ประกอบมาตรา 53 ให้เปลี่ยนโทษจำคุกตลอดชีวิตเป็นจำคุก 50 ปี คงจำคุก 33 ปี 4 เดือน จำเลยที่ 2 มีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง (เดิม), 65 วรรคหนึ่ง (เดิม) ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86 จำคุก 33 ปี 4 เดือน จำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพในชั้นจับกุม ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 22 ปี 2 เดือน 20 วัน ริบของกลาง คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองประการแรก จำเลยที่ 1 กระทำความผิดฐานร่วมกันผลิตเมทแอมเฟตามีนโดยไม่ได้รับอนุญาต และจำเลยที่ 2 มีความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนจำเลยที่ 1 กระทำความผิดฐานผลิตเมทแอมเฟตามีน ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์หรือไม่ โจกท์มีจ่าสิบตำรวจพิษณุเบิกความว่า วันเกิดเหตุ หลังจากพยานกับพวกจับกุมนางณัฐวดีแล้ว นางณัฐวดีรับว่าร่วมกับจำเลยที่ 1 นำเมทแอมเฟตามีนมาแบ่งบรรจุและขายให้แก่ลูกค้ารายย่อยที่บ้านที่เกิดเหตุ ร้อยตำรวจเอกรุ่งนิรันดร์จึงแจ้งให้พยานไปตรวจสอบ พยานจึงเดินลัดเลาะสันเขื่อนริมแม่น้ำเจ้าพระยาเพื่อเข้าไปด้านข้างของบ้านที่เกิดเหตุ พยานไปแอบดูผ่านช่องกระเบื้องที่แตกอยู่ พบจำเลยทั้งสองกับชายอีก 2 คน นั่งล้อมวงกลางห้องอยู่ในบ้านที่เกิดเหตุเห็นจำเลยทั้งสองกับพวกร่วมกันนำเมทแอมเฟตามีนบรรจุใส่หลอดพลาสติกและใช้ไฟลนปิดหัวท้าย มีถาดสีแดงบรรจุเมทแอมเฟตามีนวางอยู่กลางวง พยานจึงใช้วิทยุสื่อสารแจ้งให้ร้อยตำรวจเอกรุ่งนิรันดร์กับพวกทราบ และย้อนกลับทางเดิมไปสมทบกับร้อยตำรวจเอกรุ่งนิรันดร์กับพวกเข้าทำการจับกุมจำเลยทั้งสองกับพวกขณะกำลังนั่งบรรจุเมทแอมเฟตามีน และโจทก์มีร้อยตำรวจเอกรุ่งนิรันดร์เบิกความว่า ก่อนเกิดเหตุพยานจับกุมนางณัฐวดีในข้อหามีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนโดยไม่ได้รับอนุญาต นางณัฐวดีรับว่าร่วมกับจำเลยที่ 1 นำเมทแอมเฟตามีนมาไว้เพื่อจำหน่ายที่บ้านที่เกิดเหตุ พยานจึงให้จ่าสิบตำรวจพิษณุตรวจที่บ้านที่เกิดเหตุ ประมาณ 5 นาที ได้รับแจ้งทางวิทยุสื่อสารจากจ่าสิบตำรวจพิษณุว่า จำเลยที่ 1 กับพวกกำลังบรรจุเมทแอมเฟตามีนอยู่ในบ้านที่เกิดเหตุ พยานกับพวกจึงไปยังบ้านที่เกิดเหตุ พบจำเลยทั้งสองกับพวกอีกสองคนนั่งล้อมวงอยู่ภายในห้องพัก มีถาดสีแดงวางอยู่กลางวง ในถาดพบเมทแอมเฟตามีน ชนิดเม็ดสีส้มกลมแบน บรรจุอยู่ในหลอดพลาสติกปิดหัวท้าย หลอดละ 1 เม็ด จำนวน 20 หลอด หลอดละ 10 เม็ด จำนวน 3 หลอด และที่ยังไม่ได้บรรจุอีก 100 เม็ด รวม 150 เม็ด กรรไกร 1 อัน มีดคัทเตอร์ 1 อัน ไฟแช็ก 3 อัน หลอดพลาสติกที่ตัดเป็นเศษย่อย ๆ แล้ว 1 ถุง หลอดพลาสติกที่ยังไม่ได้ตัด 1 ถุง และเงินสด 150 บาท ในชั้นจับกุมพยานแจ้งข้อหาแก่จำเลยทั้งสองว่า ร่วมกันผลิตเมทแอมเฟตามีนโดยไม่ได้รับอนุญาต จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพ นอกจากนี้ โจทก์ยังมีพันตำรวจตรีประภัศเบิกความว่า ในชั้นสอบสวน พยานแจ้งข้อหาแก่จำเลยทั้งสองในครั้งแรกว่า ร่วมกันผลิตเมทแอมเฟตามีนโดยไม่ได้รับอนุญาต จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพ ส่วนจำเลยที่ 2 ให้การปฏิเสธ เห็นว่า พยานโจทก์ผู้จับกุมเบิกความสอดคล้องต้องกันตั้งแต่จับกุมนางณัฐวดีได้และทราบจากนางณัฐวดีว่า จำเลยที่ 1 มีส่วนร่วมกระทำความผิดกับนางณัฐวดีด้วย ทั้งจ่าสิบตำรวจพิษณุยังไปแอบซุ่มดูด้วยตนเองก็เห็นจำเลยทั้งสองกับพวกกำลังนั่งล้อมวงช่วยกันแบ่งบรรจุเมทแอมเฟตามีนใส่ในหลอดพลาสติก จึงร่วมกันจับกุมจำเลยทั้งสองกับพวกได้ในขณะยังนั่งล้อมวงกันอยู่ ตามข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าพยานโจทก์ผู้จับกุมเคยรู้จักกับจำเลยทั้งสองมาก่อน จึงไม่มีข้อระแวงสงสัยว่าพยานโจทก์ผู้จับกุมจะแกล้งเบิกความเพื่อปรักปรำจำเลยทั้งสอง เชื่อว่า ต่างเบิกความไปตามความจริง ในชั้นจับกุม พยานโจทก์ผู้จับกุมแจ้งข้อหาแก่จำเลยทั้งสองว่า ร่วมกันผลิตเมทแอมเฟตามีนโดยไม่ได้รับอนุญาต จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพ ส่วนในชั้นสอบสวน พันตำรวจตรีประภัศพนักงานสอบสวน แจ้งข้อหาแก่จำเลยทั้งสองในครั้งแรกว่าร่วมกันผลิตเมทแอมเฟตามีนโดยไม่ได้รับอนุญาต จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพ จำเลยที่ 2 ให้การปฏิเสธ แต่รับว่าจำเลยที่ 2 ได้ช่วยจำเลยที่ 1 แบ่งบรรจุเมทแอมเฟตามีน โดยบันทึกการจับกุมและคำให้การผู้ต้องหาดังกล่าว พยานโจทก์ผู้จับกุมและพนักงานสอบสวนได้ทำขึ้นในวันเกิดเหตุ จำเลยทั้งสองถูกจับกุมพร้อมด้วยเมทแอมเฟตามีนของกลาง โดยเมทแอมเฟตามีนของกลางบางส่วนได้มีการแบ่งบรรจุอยู่ในหลอดพลาสติกปิดหัวท้ายแล้ว ย่อมเป็นหลักฐานมัดตัวจำเลยทั้งสอง จำเลยทั้งสองยังไม่มีโอกาสเสริมแต่งปั้นเรื่องขึ้น เชื่อว่า จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพในชั้นจับกุมและจำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพในชั้นสอบสวนด้วยความสมัครใจ ถึงแม้จะปรากฏว่าในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ได้มีพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ 22) พ.ศ.2547 มาตรา 19 ให้ยกเลิกความใน มาตรา 84 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และให้ใช้ข้อความใหม่แทน โดยในวรรคสุดท้ายของมาตรา 84 ที่แก้ไขใหม่ ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 24 ธันวาคม 2547 เป็นต้นไป บัญญัติว่า “ถ้อยคำใด ๆ ที่ผู้ถูกจับให้ไว้ต่อเจ้าพนักงานผู้จับหรือพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจในชั้นจับกุมหรือรับมอบตัวผู้ถูกจับ ถ้าถ้อยคำนั้นเป็นคำรับสารภาพของผู้ถูกจับว่าตนได้กระทำความผิด ห้ามมิให้รับฟังเป็นพยานหลักฐาน…” แต่บทบัญญัติมาตรา 84 วรรคท้าย ที่แก้ไขใหม่ดังกล่าว หาได้มีผลย้อนหลังไปกระทบกระทั่งถึงคำรับสารภาพในชั้นจับกุมของจำเลยทั้งสองที่เจ้าพนักงานผู้จับได้มาโดยชอบด้วยกฎหมาย และโจทก์ได้ส่งอ้างเป็นพยานหลักฐานโดยชอบด้วยกฎหมายในสำนวนนี้ก่อนวันที่กฎหมายที่แก้ไขใหม่มีผลใช้บังคับไม่ ศาลฎีกาจึงนำคำรับสารภาพในชั้นจับกุมของจำเลยทั้งสองมารับฟังเป็นพยานหลักฐานประกอบพยานหลักฐานอื่นของโจทก์ลงโทษจำเลยทั้งสองได้ พยานหลักฐานของจำเลยทั้งสองมีแต่เพียงจำเลยทั้งสองและนางณัฐวดีกล่าวอ้างลอย ๆ ว่า ขณะเกิดเหตุ จำเลยทั้งสองกับพวกไม่ได้ร่วมกันแบ่งบรรจุเมทแอมเฟตามีน เป็นเรื่องที่เจ้าพนักงานตำรวจกลั่นแกล้งปรักปรำจำเลยทั้งสอง โดยจำเลยทั้งสองไม่มีพยานหลักฐานอื่นมาสืบสนับสนุนไม่มีน้ำหนักหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ ข้อเท็จจริงรับฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่าจำเลยที่ 1 กระทำความผิดฐานร่วมกันผลิตเมทแอมเฟตามีนโดยไม่ได้รับอนุญาต และจำเลยที่ 2 กระทำความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนจำเลยที่ 1กระทำความผิดฐานผลิตเมทแอมเฟตามีนตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า จำเลยที่ 1 ลงลายมือชื่อในคำให้การผู้ต้องหา โดยเข้าใจว่าเป็นคำให้การรับสารภาพในข้อหามีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายโดยไม่ได้รับอนุญาต จำเลยที่ 1 ไม่ทราบมาก่อนว่าพนักงานสอบสวนได้บันทึกข้อความว่า จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพในข้อหาร่วมกันผลิตเมทแอมเฟตามีนโดยไม่ได้รับอนุญาตด้วยนั้น เห็นว่า ข้อกล่าวอ้างดังกล่าวของจำเลยที่ 1 ขัดแย้งกับเนื้อความในเอกสารที่พันตำรวจตรีประภัศ พนักงานสอบสวนทำขึ้นในวันเกิดเหตุ ซึ่งปรากฏว่าได้มีการแจ้งข้อหาแก่จำเลยที่ 1 ครั้งแรกว่าร่วมกันผลิตเมทแอมเฟตามีนโดยไม่ได้รับอนุญาตเพียงข้อหาเดียวเป็นการชัดแจ้งอยู่ในตัว ย่อมไม่ทำให้จำเลยที่ 1 เกิดความสับสนในข้อหา ข้อกล่าวอ้างของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวจึงขัดต่อเหตุผลไม่อาจรับฟัง ส่วนที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า จำเลยที่ 2 เพียงเข้าไปซื้อเมทแอมเฟตามีนจากจำเลยที่ 1 เมื่อตามทางนำสืบของโจทก์ไม่ปรากฏว่าพยานโจทก์ซึ่งไปแอบซุ่มดูได้เบิกความถึงจำเลยที่ 2 ว่า มีพฤติการณ์เกี่ยวข้องกับการผลิตเมทแอมเฟตามีนอย่างไร จึงไม่อาจรับฟังลงโทษจำเลยที่ 2 ได้นั้น เห็นว่า แม้จ่าสิบตำรวจพิษณุจะไม่ได้เบิกความในรายละเอียดถึงการกระทำของจำเลยที่ 2 แต่ก็ยังคงได้ความจากคำเบิกความของจ่าสิบตำรวจพิษณุว่า ขณะแอบซุ่มดูอยู่นั้นได้เห็นทุกคนรวมทั้งจำเลยที่ 2 ที่อยู่ในห้องที่เกิดเหตุนั้นนำเมทแอมเฟตามีนมาแบ่งบรรจุใส่หลอดพาสติกและใช้ไฟลนปิดหัวท้าย ย่อมเป็นการเพียงพอที่จะรับฟังได้แล้วว่า จำเลยที่ 2 ให้การช่วยเหลือจำเลยที่ 1ในการกระทำความผิดฐานผลิตเมทแอมเฟตามีน ฎีกาข้อนี้ของจำเลยที่ 2 จึงไม่อาจรับฟัง ที่จำเลยที่ 2 ฎีกาต่อไปว่า โจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องและขอให้ลงโทษจำเลยที่ 2 ฐานเป็นผู้สนับสนุนมาในคำขอท้ายฟ้อง การที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 2 ฐานเป็นผู้สนับสนุนจำเลยที่ 1 ในการกระทำความผิดฐานผลิตเมทแอมเฟตามีน ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 นั้น เห็นว่า แม้โจทก์จะฟ้องจำเลยทั้งสองกับพวกว่า ร่วมกันผลิตเมทแอมเฟตามีนโดยไม่ได้รับอนุญาต และโจทก์ได้นำสืบไปตามข้อหาดังระบุมาในฟ้องแล้ว แต่เมื่อทางพิจารณาได้ความว่าตามพฤติการณ์ของจำเลยที่ 2 เป็นเพียงการช่วยเหลือจำเลยที่ 1ในการกระทำความผิดฐานผลิตเมทแอมเฟตามีน ศาลย่อมมีอำนาจลงโทษจำเลยที่ 2 ฐานเป็นผู้สนับสนุนจำเลยที่ 1 ในการกระทำความผิดฐานผลิตเมทแอมเฟตามีน ซึ่งมีโทษเบากว่าโทษที่โจทก์ขอมาในฟ้องได้ การที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยมาเช่นนั้น จึงมิใช่เป็นการพิพากษาเกินคำขอ ฎีกาข้อนี้ของจำเลยที่ 2 จึงไม่อาจรับฟังเช่นกัน ฎีกาข้ออื่นของจำเลยทั้งสองนอกจากนี้ไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัยและไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลงไป ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 ฐานผลิตเมทแอมเฟตามีนโดยไม่ได้รับอนุญาต และลงโทษจำเลยที่ 2 ฐานเป็นผู้สนับสนุน จำเลยที่ 1 ในการกระทำความผิดฐานผลิตเมทแอมเฟตามีนนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษายืนตามกันมาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง (เดิม), 65 วรรคหนึ่ง (เดิม), 66 วรรคหนึ่ง (ใหม่) (ที่ถูก ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83) และจำเลยที่ 2 มีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง (เดิม), 65 วรรคหนึ่ง (เดิม) ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86 นั้น เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 4 (แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 5 พ.ศ.2545 มาตรา 3) ได้ให้บทนิยามคำว่า หน่วยการใช้ หมายความว่า เม็ด ซอง ขวดหรือหน่วยอย่างอื่นที่ทำขึ้น ซึ่งโดยปกติสำหรับการเสพหนึ่งครั้ง ตามบทนิยามดังกล่าว คำว่าหน่วยการใช้ ย่อมหมายถึง ปริมาณยาเสพติดให้โทษในรูปร่างลักษณะที่แตกต่างกันไปหลายอย่าง ซึ่งแต่ละอย่างทำขึ้นโดยปกติสำหรับการใช้เสพหนึ่งครั้ง ดังนั้น เมื่อโจทก์บรรยายฟ้องเพียงว่า จำเลยทั้งสองกับพวกร่วมกันผลิตเมทแอมเฟตามีนจำนวน 50 เม็ด น้ำหนักไม่ปรากฏชัด โดยมิได้บรรยายว่าจำนวนเม็ดของเมทแอมเฟตามีนดังกล่าวเป็นหน่วยการใช้ด้วย จึงไม่อาจรับฟังได้ว่า เมทแอมเฟตามีนจำนวน 50 เม็ด ดังกล่าวที่จำเลยที่ 1 ผลิต และจำเลยที่ 2 เป็นผู้สนับสนุนจำเลยที่ 1 ในการกระทำความผิดฐานผลิตเมทแอมเฟตามีนดังที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัย มีปริมาณห้าสิบหน่วยการใช้หรือมีปริมาณสิบห้าหน่วยการใช้ขึ้นไป กรณีจึงต้องรับฟังข้อเท็จจริงให้เป็นคุณแก่จำเลยทั้งสองว่า เมทแอมเฟตามีนจำนวน 50 เม็ด ดังกล่าวมีจำนวนหน่วยการใช้ไม่ถึงปริมาณที่กำหนดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคสาม (ใหม่) ซึ่งการผลิตเมทแอมเฟตามีนโดยการแบ่งบรรจุมีจำนวนหน่วยการใช้ไม่ถึงปริมาณที่กำหนดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคสาม (ใหม่) เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 65 วรรคสาม ซึ่งเป็นกฎหมายที่บัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมใหม่และมีเงื่อนไขอันเป็นองค์ประกอบความผิดกับมีระวางโทษจำคุกตั้งแต่สี่ปีถึงสิบห้าปี หรือปรับตั้งแต่แปดหมื่นบาทถึงสามแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ที่เป็นคุณมากกว่ามาตรา 65 วรรคหนึ่ง (เดิม) ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดและมีระวางโทษจำคุกตลอดชีวิต ดังนั้น จึงต้องใช้กฎหมายในส่วนที่เป็นคุณบังคับแก่จำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3 จำเลยที่ 1 จึงมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง (เดิม), 65 วรรคสาม (ใหม่), 66 วรรคหนึ่ง (ใหม่) ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ซึ่งให้ใช้กฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดลงโทษแก่จำเลยที่ 1 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 แต่ความผิดฐานผลิตเมทแอมเฟตามีนโดยไม่ได้รับอนุญาต ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 65 วรรคสาม (ใหม่) และความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายโดยไม่ได้รับอนุญาต ตามมาตรา 66 วรรคหนึ่ง (ใหม่) มีอัตราโทษเท่ากัน จึงให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ฐานร่วมกันผลิตเมทแอมเฟตามีนโดยไม่ได้รับอนุญาต ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 65 วรรคสาม (ใหม่) และจำเลยที่ 2 มีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง (เดิม), 65 วรรคสาม (ใหม่) ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86 ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นฎีกา ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจยกขึ้นอ้างและแก้ไขโดยปรับบทกฎหมายให้ถูกต้อง รวมทั้งแก้ไขโทษเสียใหม่ให้เหมาะสมสอดคล้องกับบทกฎหมายที่แก้ไขใหม่ดังกล่าวได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 ส่วนคำขอให้เพิ่มโทษจำเลยที่ 1 เพราะจำเลยที่ 1 เคยได้รับโทษจำคุกในคดีอื่นมาก่อน และภายในเวลาห้าปีนับแต่วันพ้นโทษ จำเลยที่ 1 ได้มากระทำความผิดคดีนี้ซ้ำอีกนั้น ปรากฏว่าในระหว่างพิจารณาของศาลฎีกาได้มีพระราชบัญญัติล้างมลทินในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมีพระชนมพรรษา 80 พรรษา พ.ศ.2550 มาตรา 4 ใช้บังคับ ซึ่งมีผลให้ล้างมลทินแก่จำเลยที่ 1 ซึ่งต้องคำพิพากษาโดยให้ถือว่าจำเลยที่ 1 มิได้เคยถูกลงโทษในความผิดนั้นมาก่อน กรณีจึงไม่อาจเพิ่มโทษจำเลยที่ 1 ได้
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง (เดิม), 65 วรรคสาม (ใหม่), 66 วรรคหนึ่ง (ใหม่) ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 การกระทำความผิดของจำเลยที่ 1 ฐานร่วมกันผลิตเมทแอมเฟตามีนโดยไม่ได้รับอนุญาต ตามมาตรา 65 วรรคสาม (ใหม่) และความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายโดยไม่ได้รับอนุญาต ตามมาตรา 66 วรรคหนึ่ง (ใหม่) เป็นความผิดกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ซึ่งแต่ละบทมีอัตราโทษเท่ากัน ให้ลงโทษฐานร่วมกันผลิตเมทแอมเฟตามีนโดยไม่ได้รับอนุญาต ตามมาตรา 65 วรรคสาม (ใหม่) จำคุก 12 ปี และจำเลยที่ 2 มีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง(เดิม), 65 วรรคสาม (ใหม่) ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86 จำคุก 8 ปี เมื่อลดโทษให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 คนละหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 แล้ว คงจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 8 ปี และจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 5 ปี 4 เดือน ยกคำขอที่ให้เพิ่มโทษจำเลยที่ 1 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share