คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5649/2550

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การขอแถลงการณ์ด้วยปาก คู่ความอาจขอมาในคำฟ้องอุทธรณ์โดยไม่จำต้องทำเป็นคำร้องติดมากับฟ้องอุทธรณ์ ถ้าศาลอุทธรณ์เห็นสมควรอนุญาตให้คู่ความแถลงการณ์ด้วยปากก็ให้พิจารณาคดีโดยเปิดเผยต่อหน้าคู่ความทั้งสองฝ่าย การอนุญาตให้คู่ความแถลงการณ์ด้วยปากหรือไม่เป็นดุลพินิจของศาลอุทธรณ์โดยเฉพาะ คู่ความไม่มีสิทธิยกขึ้นฎีกา

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 (1) (3)
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 (1) (3) วรรคสอง จำคุก 4 ปี
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการแรก การที่ศาลชั้นต้นไม่อนุญาตให้จำเลยเดินเผชิญสืบบริเวณที่เกิดเหตุชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ศาลฎีกาตรวจสำนวนแล้วปรากฏว่า ตามรายงานกระบวนพิจารณาศาลชั้นต้นนัดสืบพยานจำเลยตั้งแต่วันที่ 28 มีนาคม 2544 ถึงวันที่ 27 พฤศจิกายน 2545 ไม่ปรากฏว่าจำเลยขอให้ศาลเดินเผชิญสืบแต่อย่างใด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในนัดสุดท้ายตามรายงานกระบวนพิจารณาฉบับลงวันที่ 27 พฤศจิกายน 2545 ระบุว่า จำเลยนำพยานเข้าเบิกความได้ 2 ปาก แล้วแถลงว่าหมดพยานจำเลยเพียงเท่านี้ และขอยื่นคำแถลงการณ์ปิดคดีภายใน 20 วัน นอกจากนี้ในสำนวนก็ไม่ปรากฏคำร้องของจำเลยที่ขอให้ศาลชั้นต้นเดินเผชิญสืบบริเวณที่เกิดเหตุ ดังนั้น ที่จำเลยฎีกาอ้างว่า จำเลยได้แถลงขอเดินเผชิญสืบต่อผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนในศาลชั้นต้นแล้ว แต่ผู้พิพากษาศาลชั้นต้นมิได้บันทึกไว้ในรายงานกระบวนพิจารณา จึงเป็นข้อเท็จจริงที่ไม่ปรากฏในสำนวน ฎีกาของจำเลยจึงเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงเพื่อนำไปสู่การวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมาย เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลย 4 ปี ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จึงเป็นกรณีที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นและให้ลงโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี คดีจึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ที่จำเลยฎีกาประการต่อมาว่า การที่ศาลอุทธรณ์ไม่อนุญาตให้จำเลยแถลงการณ์ด้วยปากโดยให้เหตุผลว่า คดีนี้มิได้พิจารณาคดีโดยเปิดเผยและจำเลยมิได้ทำเป็นคำร้องติดมากับฟ้องอุทธรณ์เป็นการไม่ชอบ เพราะแม้จำเลยไม่ได้ทำเป็นคำร้อง แต่เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมศาลอุทธรณ์ควรอนุญาตให้จำเลยแถลงการณ์ด้วยปากนั้น เห็นว่า การขอแถลงการณ์ด้วยปาก คู่ความอาจขอมาในคำฟ้องอุทธรณ์โดยไม่จำต้องทำเป็นคำร้องติดมากับฟ้องอุทธรณ์ ถ้าศาลอุทธรณ์เห็นสมควรอนุญาตให้คู่ความแถลงการณ์ด้วยปากก็ให้พิจารณาคดีโดยเปิดเผยต่อหน้าคู่ความทั้งสองฝ่ายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 203 และการอนุญาตให้คู่ความแถลงการณ์ด้วยปากหรือไม่เป็นดุลพินิจของศาลอุทธรณ์โดยเฉพาะ คู่ความไม่มีสิทธิฎีกาได้ กรณีนี้ถือได้ว่าศาลอุทธรณ์ไม่อนุญาตให้จำเลยแถลงการณ์ด้วยปาก จำเลยจึงไม่มีสิทธิยกขึ้นฎีกา ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
พิพากษายกฎีกาของจำเลย

Share