คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13985/2553

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ป.วิ.อ. มาตรา 83 วรรคสอง เป็นบทบัญญัติกำหนดให้เจ้าพนักงานผู้จับต้องแจ้งข้อกล่าวหาให้ผู้ถูกจับทราบ ก็เพื่อให้ผู้ถูกจับทราบว่าการกระทำของผู้ถูกจับเป็นความผิด และเพื่อให้ผู้ถูกจับเข้าใจถึงการกระทำของผู้ถูกจับซึ่งเป็นความผิดนั้น เพื่อประโยชน์ในการให้การ ให้ถ้อยคำ หรือต่อสู้คดี โดยเจ้าพนักงานผู้จับไม่จำต้องแจ้งข้อหาความผิดให้ตรงกับที่พนักงานอัยการโจทก์จะฟ้องผู้ถูกจับ เพราะคดียังต้องมีการสอบสวนต่อไปว่าผู้ถูกจับกระทำความผิดหรือไม่และกระทำความผิดฐานใด
คดีนี้ แม้บันทึกการจับกุมแจ้งข้อหาว่าจำเลยมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครอง เมื่อพนักงานสอบสวนแจ้งข้อหาแก่จำเลยว่า มีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ถือว่ามีการสอบสวนในความผิดฐานดังกล่าวแล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง เมื่อโจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยกระทำความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติข้างต้น ศาลย่อมลงโทษจำเลยในความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายตามฟ้องได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 4, 7, 8, 15, 66
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคสาม (2) , 66 วรรคสอง ลดมาตราส่วนโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 76 จำคุก 2 ปี 8 เดือน และปรับ 270,000 บาท ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน แต่ให้กักขังแทนค่าปรับไม่เกิน 1 ปี
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 83 วรรคสอง บัญญัติว่า “ในกรณีที่เจ้าพนักงานเป็นผู้จับ ต้องแจ้งข้อกล่าวหาให้ผู้ถูกจับทราบ หากมีหมายจับให้แสดงต่อผู้ถูกจับ พร้อมทั้งแจ้งด้วยว่าผู้ถูกจับมีสิทธิที่จะไม่ให้การหรือให้การก็ได้และถ้อยคำของผู้ถูกจับนั้นอาจใช้เป็นพยานหลักฐานในการพิจารณาคดีได้ และผู้ถูกจับมีสิทธิที่จะพบและปรึกษาทนายความหรือผู้ซึ่งจะเป็นทนายความ…” ที่บทบัญญัติดังกล่าวกำหนดให้เจ้าพนักงานผู้จับต้องแจ้งข้อกล่าวหาให้ผู้ถูกจับทราบก็เพื่อให้ผู้ถูกจับทราบว่าการกระทำของผู้ถูกจับเป็นความผิด และเพื่อให้ผู้ถูกจับเข้าใจถึงการกระทำของผู้ถูกจับซึ่งเป็นความผิดนั้น เพื่อประโยชน์ในการให้ถ้อยคำหรือต่อสู้คดี โดยเจ้าพนักงานผู้จับไม่จำต้องแจ้งข้อหาความผิดให้ตรงกับที่พนักงานอัยการโจทก์จะฟ้องผู้ถูกจับ เพราะคดียังต้องมีการสอบสวนต่อไปว่าผู้ถูกจับกระทำความผิดหรือไม่และกระทำความผิดฐานใด คดีนี้พนักงานสอบสวนแจ้งข้อหาจำเลยว่า มีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ถือว่ามีการสอบจำเลยในความผิดฐานดังกล่าวแล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง เมื่อโจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยกระทำความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนของกลาง 20 เม็ด น้ำหนัก 1.797 กรัม คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้ 0.546 กรัม ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย และข้อเท้จจริงฟังเป็นยุติข้างต้น ศาลย่อมลงโทษจำเลยในความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีน ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายตามฟ้องได้ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาลงโทษจำเลยเลย ชอบแล้วฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share