คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1094/2545

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 2 เป็นผู้ขนส่งสินค้าพิพาท ใบตราส่งตามที่จำเลยที่ 2 เป็นผู้ออกให้แก่ผู้ส่ง เป็นแบบพิมพ์ใบตราส่งที่มีไว้ใช้ในการรับขนส่งของจำเลยที่ 1 วัตถุประสงค์ของจำเลยที่ 1 ที่ได้จดทะเบียนไว้ได้ระบุถึงวัตถุประสงค์ข้อหนึ่งว่าประกอบกิจการขนส่งและขนถ่ายสินค้าและคนโดยสารทั้งทางบก ทางน้ำ ทางอากาศ ทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศ รวมทั้งรับบริการนำของออกจากท่าเรือตามพิธีศุลกากร และการจัดระวางการขนส่งทุกชนิด เหมือนกับจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 เคยประกอบกิจการรับขนของร่วมกัน ทั้งไม่ปรากฏพฤติการณ์ว่าจำเลยที่ 1 เลิกประกอบกิจการรับขนของหรือจดทะเบียนเลิกบริษัทแล้ว พฤติการณ์ของจำเลยทั้งสองจึงฟังได้ว่า จำเลยทั้งสองได้ร่วมกันขนส่งสินค้าพิพาท
จำเลยที่ 1 เป็นผู้ขนส่งร่วมกับจำเลยที่ 2 จำเลยทั้งสองจึงต้องร่วมกันรับผิดชดใช้ค่าเสียหายของสินค้าพิพาทให้แก่โจทก์ในฐานะผู้รับช่วงสิทธิจากผู้รับตราส่ง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองผู้ร่วมขนส่งสินค้าของโจทก์และสินค้าได้รับความเสียหาย ขอให้ร่วมกันชำระเงินและดอกเบี้ยคิดถึงวันฟ้องรวมเป็นเงินจำนวน ๙๑๗,๗๔๑.๘๑ บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี จากต้นเงินจำนวน ๘๘๙,๔๑๔.๕๐ บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ ๑ ให้การและแก้ไขคำให้การว่า จำเลยที่ ๑ ไม่ได้เป็นผู้ขนส่งหรือผู้ขนส่งอื่น เพราะจำเลยที่ ๑ ได้ให้จำเลยที่ ๒ เช่าเรือโสณมัยไปในลักษณะเป็นการเช่าเรือเปล่า (Bare Boat) ซึ่งจำเลยที่ ๑ ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในการขนส่งสินค้าพิพาท เป็นหน้าที่ของจำเลยที่ ๒ ในฐานะผู้ขนส่งและถือว่าจำเลยที่ ๒ เป็นเจ้าของเรือโสณมัยตามระยะเวลาในสัญญาเช่าเรือ จำเลยที่ ๑ ได้รับเพียงค่าเช่าเรือไม่ได้มีส่วนได้เสียในค่าระวาง จำเลยที่ ๒ นำแบบพิมพ์ใบตราส่งของจำเลยที่ ๑ ไปออกให้แก่ผู้ส่งโดยพลการ จำเลยที่ ๑ ไม่ได้รู้เห็นหรือเกี่ยวข้องด้วย ความเสียหายของสินค้าพิพาทเกิดขึ้นเพราะผู้ส่งเองนำสินค้าไม่ได้มาตราฐานและคุณภาพตามที่กำหนด ทำให้สินค้าเป็นสนิมและจับตัวเป็นก้อนเมื่อเวลาผ่านไป เรือโสณมัยได้ผ่านการตรวจสอบโดยหน่วยงานที่ได้รับการยอมรับเป็นสากล และมีใบรับรองเป็นหลักประกัน นายเรือและลูกเรือได้ดูแลเอาใจใส่ในการขนส่งเป็นอย่างดี ความเสียหายของสินค้าพิพาทเกิดขึ้นเนื่องจากเรือต้องผจญพายุฝนและคลื่นทะเลจัดซึ่งเป็นเหตุสุดวิสัยหรือภยันตรายหรืออุบัติเหตุแห่งท้องทะเลหรือน่านน้ำที่ใช้เดินเรือหรือเหตุอื่นใดที่มิใช่ความผิดหรือความประมาทเลินเล่อหรือยู่ในความรู้เห็นของผู้ขนส่ง และมิใช่ความผิดหรือประมาทเลินเล่อของตัวแทนหรือลูกจ้างของผู้ขนส่ง จำเลยที่ ๑ จึงไม่ต้องรับผิด โจทก์รับช่วงสิทธิมาฟ้องไม่ได้เพราะโจทก์จ่ายเงินค่าสินไหมทดแทนไปมากกว่าความเสียหายที่แท้จริง จึงเป็นการจ่ายตามอำเภอใจ ความเสียหายที่โจทก์อ้างสูงเกินความเป็นจริง อย่างมากคงไม่เกิน ๑๐๐,๐๐๐ บาท และโจทก์ไม่ได้หักความเสียหายส่วนแรก ๐.๕ เปอร์เซ็นต์ของสินค้าทั้งหมดตามเงื่อนไขของกรมธรรม์ประกันภัย ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ ๒ ให้การว่า จำเลยที่ ๒ ไม่ได้เป็นเจ้าของเรือโสณมัย แต่จำเลยที่ ๒ เป็นเพียงตัวแทนเจ้าของเรือที่ได้ตกลงรับขนสินค้าพิพาทให้แก่บริษัทเกลือเจริญ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ผู้ส่ง โดยจำเลยที่ ๒ เช่าเรือดังกล่าวเพื่อทำการรับขนสินค้าทางทะเลโดยได้รับบำเหน็จค่าระวาง เมื่อเรือโสณมัยเดินทางถึงท่าเรือปลายทางที่ประเทศมาเลเซีย ผู้รับตราส่งเป็นผู้จัดการหากรรมกรและพาหนะไปรับสินค้าจากเรือเอง ปรากฏว่าตัวแทนผู้รับตราส่งรับมอบสินค้าไปในสภาพและจำนวนที่ครบถ้วนเรียบร้อยไม่มีความเสียหายแต่อย่างใด หากสินค้าพิพาทเกิดความเสียหายก็เป็นเพราะความผิดของผู้ส่งหรือผู้รับตราส่งเอง และพบความเสียหายภายหลังจากที่เรือโสณมัยและหรือจำเลยที่ ๒ ผู้ขนส่งได้ส่งมอบสินค้าพิพาทให้แก่ผู้รับตราส่งแล้ว ความเสียหายจึงมิได้เกิดขึ้นระหว่างการขนส่ง จำเลยที่ ๒ จึงไม่ต้องรับผิด เรือโสณมัยได้รับการตรวจสอบดูแลอยู่เป็นประจำและมีความพร้อมทั้งเครื่องมืออุปกรณ์รวมทั้งตัวเรืออยู่ในสภาพเรียบร้อยใช้ขนส่งทางทะเลได้เป็นอย่างดี ไม่ปรากฏว่าเรือโสณมัยเสียหายเนื่องจากตัวเรือรั่วซึมและมีน้ำเข้าตัวเรือในระหว่างการขนส่งสินค้า ความเสียหายของสินค้าพิพาทจึงเป็นเพราะความประมาทเลินเล่อและเป็นความผิดของผู้รับตราส่งหรือตัวแทนผู้รับตราส่งที่นำรถบรรทุกมาขนสินค้าในระหว่างฝนตกเอง จำเลยที่ ๒ จึงไม่ต้องรับผิด ขอให้ยกฟ้อง
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิจารณาแล้วพิพากษาให้จำเลยที่ ๒ ชำระเงินจำนวน ๘๘๙,๔๑๔.๕๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปีของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ ๒๘ มิถุนายน ๒๕๔๒ จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่ดอกเบี้ยคิดถึงวันฟ้องต้องไม่เกินจำนวน ๒๘,๓๒๗.๓๑ บาท และให้จำเลยที่ ๒ ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ ๒๐,๐๐๐ บาท ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ ๑ ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๑ ให้เป็นพับ
โจทก์และจำเลยที่ ๒ อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยแล้ว… มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์และจำเลยที่ ๒ เป็นข้อแรกว่า จำเลยทั้งสองเป็นผู้ขนส่งสินค้าพิพาทหรือไม่ โจทก์อุทธรณ์ว่า จำเลยที่ ๑ ร่วมกับจำเลยที่ ๒ ขนส่งสินค้าพิพาท ส่วนจำเลยที่ ๒ อุทธรณ์ว่า จำเลยที่ ๒ เป็นเพียงตัวแทนเรือของจำเลยที่ ๑ นั้น โจทก์มีนายปฏิพัทธ์ ดิษฐเทศ เจ้าหน้าที่ฝ่ายต่างประเทศของบริษัทเกลือเจริญ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ผู้ส่งสินค้า มาเบิกความประกอบบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงว่า ผู้ส่งได้ว่าจ้างจำเลยที่ ๒ ให้ทำการขนส่งสินค้าพิพาท โดยนำเรือโสณมัยของจำเลยที่ ๑ มาทำการขนส่ง จำเลยทั้งสองร่วมกันรับขนส่งสินค้าพิพาท จำเลยที่ ๒ เป็นผู้รับชำระค่าระวางและออกใบตราส่งเอกสารหมาย จ.๕ เห็นว่า แม้ใบตราส่งเอกสารหมาย จ.๕ จะลงชื่อผู้ขนส่งและประทับตราของจำเลยที่ ๒ โดยมีคำภาษาอังกฤษว่า AS AGENT ซึ่งมีความหมายว่าในฐานะตัวแทนที่ตราประทับดังกล่าวด้วย แต่นายยูน วิน กรรมการผู้มีอำนาจของจำเลยที่ ๒ ก็มาเบิกความประกอบถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงรับว่า ก่อนเกิดพิพาทคดีนี้ บริษัทรวมชัยชิปปิ้ง จำกัด ได้เสนอสินค้าเกลือที่พิพาทเพื่อให้จำเลยที่ ๒ บรรทุกไปส่งยังท่าเรือมะละกา ประเทศมาเลเซีย จำเลยที่ ๒ รับขนส่งให้และเป็นผู้ออกใบตราส่ง ข้อเท็จจริงย่อมฟังได้ชัดแจ้งว่า จำเลยที่ ๒ เป็นผู้ขนส่งสินค้าพิพาท ทั้งข้อเท็จจริงฟังได้ว่าใบตราส่งตามเอกสารหมาย จ.๕ ที่จำเลยที่ ๒ เป็นผู้ออกให้แก่ผู้ส่งนั้น เป็นแบบพิมพ์ใบตราส่งของจำเลยที่ ๑ ที่จำเลยที่ ๑ มีไว้ใช้ในการรับขนส่งของจำเลยที่ ๑ แม้จำเลยที่ ๑ จะมีนายสมศักดิ์ สำราญ กรรมการผู้มีอำนาจของจำเลยที่ ๑ และนางสาววราภรณ์ จึ่งเจริญ ซึ่งเคยทำงานในตำแหน่งกรรมการผู้มีอำนาจของจำเลยที่ ๒ มาเบิกความประกอบบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ ๑ ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการรับขนส่งสินค้าพิพาท เป็นเรื่องจำเลยที่ ๑ ให้จำเลยที่ ๒ เช่าเรือโสณมัยในลักษณะเช่าเรือเปล่า กับมีนายสาโรช แสนสุข ซึ่งเคยทำงานเป็นนายเรือให้แก่สายการเดินเรือต่าง ๆ มาเบิกความประกอบบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงว่า ได้พิจารณาสัญญาเช่าเรือเอกสารหมาย ล.๒ แล้วมีความเห็นว่า จำเลยที่ ๑ เป็นเพียงเจ้าของเรือโสณมัยไม่ถือว่าจำเลยที่ ๑ เป็นผู้ขนส่ง เพราะจำเลยที่ ๑ ไม่ได้เป็นผู้ทำสัญญารับขนของทางทะเลกับผู้ส่งของ หรือไม่ได้รับมอบหมายจากผู้ขนส่งให้ทำการขนส่งสินค้าพิพาท ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศได้พิจารณาถึงวัตถุประสงค์ของจำเลยที่ ๑ ที่ได้จดทะเบียนไว้ตามหนังสือรับรองเอกสารหมาย จ.๒ ซึ่งได้ระบุถึงวัตถุประสงค์ของจำเลยที่ ๑ รวมทั้งวัตถุประสงค์ประกอบธุรกิจบริการในข้อ (๙) ว่า ประกอบกิจการขนส่งและขนถ่ายสินค่าและคนโดยสารทั้งทางบก ทางน้ำ ทางอากาศ ทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศ รวมทั้งรับบริการนำของออกจากท่าเรือตามพิธีศุลกากร และการจัดระวางการขนส่งทุกชนิด เหมือนกับจำเลยที่ ๒ คำต่อคำ และนายสมศักดิ์ก็เบิกความตอบคำถามค้านของทนายโจทก์รับว่า ก่อนหน้านี้จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ เคยประกอบกิจการรับขนของร่วมกัน แต่หลังจากให้เช่าเรือไปแล้ว ก็ไม่ได้ประกอบกิจการร่วมกัน แต่ก็ไม่มีเหตุผลจากทางนำสืบของจำเลยทั้งสองว่าเหตุใดจำเลยที่ ๑ จึงเลิกประกอบกิจการรับขนของ ทั้งไม่ปรากฏพฤติการณ์ว่าจำเลยที่ ๑ เลิกประกอบกิจการรับขนของหรือจดทะเบียนเลิกบริษัทแล้วแต่อย่างใด คงมีแต่นายสมศักดิ์มาเบิกความลอย ๆ ตอบคำถามติงของทนายจำเลยที่ ๑ ว่า หลังจากให้จำเลยที่ ๒ เช่าเรือไปแล้ว จำเลยที่ ๑ ก็ไม่ได้ประกอบกิจการขนส่งทางทะเลอีก ทั้งตามบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงของนายยูน วิน ก็รับว่า เมื่อจำเลยที่ ๒ เช่าเรือโสณมัยมาจากจำเลยที่ ๑ แล้ว การขนส่งสินค้ายังคงต้องใช้แบบพิมพ์ใบตราส่งของจำเลยที่ ๑ ทุกครั้ง เพราะเจ้าของสินค้ามีความเชื่อถือฐานะของเจ้าของเรือมากกว่าผู้เช่า การออกใบตราส่งจึงเป็นการออกโดยความยินยอมของจำเลยที่ ๑ นอกจากนี้ในส่วนที่เกี่ยวกับการเช่าเรือโสณมัยนั้นก็ไม่ปรากฏหลักฐานการจ่ายค่าเช่าเรือของจำเลยที่ ๒ และการเสียภาษีเงินได้ในเงินค่าเช่าของจำเลยที่ ๑ พยานหลักฐานของโจทก์ประกอบกับพฤติการณ์ของจำเลยทั้งสองจึงฟังได้ว่า จำเลยทั้งสองได้ร่วมกันขนส่งสินค้าพิพาท อุทธรณ์ของโจทก์ฟังขึ้น อุทธรณ์ของจำเลยที่ ๒ ฟังไม่ขึ้น…
เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยที่ ๑ เป็นผู้ขนส่งร่วมกับจำเลยที่ ๒ ดังที่ได้วินิจฉัยมาแล้ว จำเลยทั้งสองจึงต้องร่วมกันรับผิดชดใช้ค่าเสียหายของสินค้าพิพาทให้แก่โจทก์ในฐานะผู้รับช่วงสิทธิจากผู้รับตราส่ง ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้จำเลยที่ ๒ รับผิดต่อโจทก์แต่เพียงผู้เดียว ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน ๘๘๙,๔๑๔.๕๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี นับแต่วันที่ ๒๘ มิถุนายน ๒๕๔๒ จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่ดอกเบี้ยคิดถึงวันฟ้องต้องไม่เกิน ๒๘,๓๒๗.๓๑ บาท ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ ๒๐,๐๐๐ บาท ส่วนในชั้นอุทธรณ์ให้จำเลยที่ ๑ ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ ยกเว้นค่าทนายความระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๑ ให้เป็นพับ และให้จำเลยที่ ๒ ใช้ค่าทนายความจำนวน ๕,๐๐๐ บาท แทนโจทก์.

นายวัส ติงสมิตร ผู้ช่วยฯ
นางสาวสุดรัก สุขสว่าง ย่อ
นายไพโรจน์ โรจน์อภิรักษ์กุล ตรวจ
นายไมตรี ศรีอรุณ ผู้ช่วยฯ/ตรวจ

Share