คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1836/2539

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ในคดีเดิมโจทก์ที่1และที่3ฟ้องจำเลยอ้างสิทธิในที่ดินโฉนดเลขที่3083และที่ดินมือเปล่าที่พิพาทแต่คำขอท้ายฟ้องขอให้บังคับขับไล่จำเลยออกไปจากที่ดินโฉนดเลขที่3083เท่านั้นมิได้ขอให้บังคับเกี่ยวกับที่ดินมือเปล่าดังนั้นที่ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อพิพาทว่าจำเลยครอบครองที่ดินพิพาทส่วนที่เป็นที่ดินมือเปล่าจนได้สิทธิหรือไม่แล้ววินิจฉัยว่าจำเลยครอบครองที่ดินพิพาทแทนโจทก์ที่1และที่3โดยการเช่าซึ่งยังไม่สิ้นอายุนั้นเป็นการวินิจฉัยนอกคำขอท้ายฟ้องและถือไม่ได้ว่าเป็นประเด็นที่ได้วินิจฉัยมาแล้วในคดีเดิมคำฟ้องในสำนวนคดีหลังจึงไม่เป็นฟ้องซ้ำตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา142วรรคแรกประกอบมาตรา148วรรคแรกและข้อวินิจฉัยเกี่ยวกับที่ดินพิพาทที่เป็นที่ดินมือเปล่าดังกล่าวย่อมไม่ผูกพันคู่ความในสำนวนคดีหลังที่ศาลจะวินิจฉัยว่าโจทก์ทั้งสิบมีสิทธิครอบครองร่วมกับจำเลยโดยจำเลยครอบครองที่ดินพิพาทแทนโจทก์ทั้งสิบหรือไม่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา145วรรคแรก

ย่อยาว

คดีทั้งสองสำนวนนี้ศาลสั่งรวมพิจารณาให้เรียกสำนวนแรกโจทก์ทั้งสิบฟ้องว่าโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 จำเลย นายสายหยุด จินดาและนายบัญญัติ จินดา เป็นเจ้าของรวมในที่ดินพิพาท เนื้อที่ประมาณ 30 ไร่เศษ โจทก์ที่ 4 ถึงที่ 10 เป็นบุตรของนายบัญญัติซึ่งถึงแก่กรรมเมื่อปี 2508 โจทก์ที่ 4 ถึงที่ 10 จึงร่วมกันครอบครองที่ดินส่วนของนายบัญญัติต่อมา ที่ดินดังกล่าวอยู่ด้านทิศใต้ของที่ดินโฉนดเลขที่ 3038 (ที่ถูกคือ 3083) ตำบลกาหลง ทิศเหนือ (ที่ถูกคือทิศใต้) ติดที่ดินของนายหยูตันประเสริฐ ทิศตะวันออกติดที่ดินของนายสืบ จินดา ทิศตะวันตกติดที่ดินของนายเที่ยง กลิ่นทุม เมื่อต้นเดือนมกราคม 2535จำเลยได้นำเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดสมุทรสาครไปรังวัดที่ดินมือเปล่าดังกล่าวมาเพื่อดำเนินการออกโฉนดโดยมีชื่อของจำเลยแต่เพียงผู้เดียวเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ โจทก์ทั้งสิบจึงบอกกล่าวให้จำเลยไปยื่นคำขอต่อเจ้าพนักงานที่ดินร่วมกันกับโจทก์เพื่อทำการรังวัดออกโฉนดและแบ่งแยกที่ดินออกเป็นส่วนสัดระหว่างโจทก์ทั้งสิบกับจำเลย แต่จำเลยเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยไปยื่นคำขอต่อเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดสมุทรสาครร่วมกับโจทก์ทั้งสิบเพื่อออกโฉนดเป็นชื่อของโจทก์ทั้งสิบและจำเลยถือกรรมสิทธิ์ร่วมกัน และทำการรังวัดแบ่งแยกให้แก่โจทก์ทั้งสิบ
จำเลยให้การว่า โจทก์ทั้งสิบไม่ได้เป็นเจ้าของร่วมในที่ดินตามฟ้อง และโจทก์ไม่เคยเข้าครอบครองที่ดินดังกล่าวแต่อย่างใดฟ้องโจทก์เคลือบคลุม ขอให้ยกฟ้อง
สำนวนหลัง จำเลยฟ้องว่า จำเลย โจทก์ที่ 1 และที่ 3เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมที่ดินโฉนดเลขที่ 3083 เนื้อที่ 109 ไร่ซึ่งเดิมด้านทิศใต้เป็นที่ดินมือเปล่า เนื้อที่ประมาณ 45 ไร่ทางด้านทิศใต้ของที่ดินมือเปล่าติดกับที่ดินโฉนดเลขที่ 7954 จำเลยได้เข้าไปแผ้วถางที่ดินมือเปล่าเพื่อทำเป็นนากุ้งและครอบครองตลอดมาจนถึงปัจจุบันเกินกว่า 10 ปี จำเลยจึงได้สิทธิครอบครองจำเลยได้ยื่นหนังสือต่อสำนักงานที่ดินจังหวัดสมุทรสาครเพื่อขอออกโฉนดในที่ดินมือเปล่า ต่อมาเจ้าพนักงานรังวัดได้ไปรังวัดที่ดินดังกล่าวแต่ไม่สามารถดำเนินการได้ เพราะโจทก์ที่ 1 และที่ 3ได้โต้แย้งคัดค้าน ขอให้บังคับโจทก์ที่ 1 และที่ 3 ดำเนินการถอนคำร้อง คำขอโต้แย้งคัดค้านการขอรังวัดเพื่อออกโฉนดของจำเลยต่อเจ้าพนักงานที่ดินสำนักงานที่ดินจังหวัดสมุทรสาคร หากโจทก์ที่ 1 และที่ 3 ไม่ปฎิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนา
โจทก์ที่ 1 และที่ 3 ในสำนวนหลังให้การว่า โจทก์ที่ 1 และที่ 3 ฟ้องขับไล่จำเลยออกไปจากที่ดินพิพาทตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 472/2528 (ที่ถูกคือ 479/2528) ของศาลชั้นต้น คดีดังกล่าวจำเลยให้การว่า จำเลยครอบครองทำประโยชน์ในที่พิพาทโดยใช้ทำนากุ้งแต่เพียงผู้เดียวเป็นเวลา 5 ปี ที่ดินพิพาทจึงเป็นของจำเลย ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า ที่ดินมือเปล่าทางทิศใต้ของที่ดินโฉนดเลขที่ 3083 เป็นที่ดินที่จำเลยครอบครองแทนโจทก์ที่ 1 และที่ 3 จำเลยจึงไม่มีสิทธิครอบครอง คดีดังกล่าวถึงที่สุด ฟ้องของจำเลยจึงเป็นฟ้องซ้ำ ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา จำเลยถึงแก่กรรม นางเยาวณี ตันประเสริฐทายาทของจำเลยยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทน ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้โจทก์ที่ 1 และที่ 3 ดำเนินการถอนคำร้องโต้แย้งการขอรังวัดเพื่อออกโฉนดของจำเลยต่อเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดสมุทรสาคร หากโจทก์ที่ 1 และที่ 3 ไม่ปฎิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา พิพากษายกฟ้องโจทก์ทั้งสิบสำนวนแรก
โจทก์ ทั้ง สิบ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ทั้งสิบฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ทั้งสิบข้อแรกมีว่า คำฟ้องในสำนวนคดีหลังเป็นฟ้องซ้ำกับคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 479/2528 ของศาลชั้นต้นหรือไม่ โจทก์ฎีกาว่าในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 479/2528 ของศาลชั้นต้นนั้น ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นพิพาทว่า จำเลยครอบครองที่ดินพิพาทส่วนที่เป็นที่ดินมือเปล่าจนได้สิทธิหรือไม่ และได้ฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยครอบครองที่ดินพิพาทแทนโจทก์ที่ 1 และที่ 3 โดยจำเลยมิได้อุทธรณ์คำพิพากษาในส่วนนี้ จึงต้องรับฟังเป็นยุติว่าจำเลยครอบครองที่ดินพิพาทแทนโจทก์ คำฟ้องในสำนวนคดีหลังจึงเป็นฟ้องซ้ำกับคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 479/2528 ของศาลชั้นต้น เห็นว่าในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 479/2528 ของศาลชั้นต้น ปรากฎว่าโจทก์ที่ 1 และที่ 3 เป็นโจทก์ฟ้องจำเลยอ้างสิทธิของโจทก์ที่ 1 และที่ 3ในที่ดินโฉนดเลขที่ 3083 และที่ดินมือเปล่าคือที่ดินพิพาทในคดีทั้งสองสำนวนนี้ แต่คำขอท้ายฟ้องขอให้บังคับขับไล่จำเลยออกไปจากที่ดินเพียงโฉนดเลขที่ 3083 เท่านั้น มิได้ขอให้บังคับเกี่ยวกับที่ดินมือเปล่า แต่ได้ขอให้บังคับจำเลยใช้ค่าเสียหาย จำเลยให้การอ้างสิทธิครอบครองในที่ดินมือเปล่าด้วย ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นพิพาทประเด็นหนึ่งว่า จำเลยครอบครองที่ดินพิพาทส่วนที่เป็นที่ดินมือเปล่าจนได้สิทธิหรือไม่ แล้ววินิจฉัยว่า จำเลยครอบครองที่ดินพิพาทแทนโจทก์ที่ 1 และที่ 3 โดยการเช่าซึ่งยังไม่สิ้นอายุและพิพากษายกฟ้องโจทก์ที่ 1 และที่ 3 โจทก์ที่ 1 และที่ 3อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าสัญญาเช่าสิ้นสุดลงแล้วจำเลยต้องคืนที่ดินที่เช่าและชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ที่ 1 และที่ 3 และวินิจฉัยว่า ในการเกณฑ์คำนวณค่าเสียหายเนื่องจากคำขอท้ายฟ้องขอให้บังคับจำเลยออกไปจากที่ดินโฉนดที่ 3083 เท่านั้น การที่ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นพิพาทว่าจำเลยครอบครองที่ดินพิพาทส่วนที่เป็นที่ดินมือเปล่าจนได้สิทธิหรือไม่ ย่อมเป็นการวินิจฉัยนอกคำขอท้ายฟ้อง จึงไม่นำเอาที่ดินมือเปล่ามารวมคำนวณค่าเสียหายด้วย และพิพากษากลับให้จำเลยส่งมอบที่ดินส่วนของโจทก์ที่ 1 และที่ 3 ตามโฉนดที่ 3083 คืนพร้อมกับใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ที่ 1 และที่ 3 จำเลยฎีกาโดยไม่มีปัญหาขึ้นสู่ศาลฎีกาเกี่ยวกับที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยเรื่องศาลชั้นต้นวินิจฉัยนอกคำขอท้ายฟ้อง ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าจำเลยผิดสัญญาเช่า แต่โจทก์ที่ 1และที่ 3 ต่างเป็นเจ้าของในที่ดินที่เช่าซึ่งยังมิได้มีการแบ่งแยกการครอบครองเป็นส่วนสัด โจทก์ที่ 1 และที่ 3 หามีสิทธิขอให้จำเลยส่งมอบที่ดินส่วนของโจทก์ที่ 1 และที่ 3 ไม่ และพิพากษาแก้เป็นว่าให้ยกฟ้องโจทก์ที่ 1 และที่ 3 ที่ขอให้จำเลยและบริวารส่งมอบและออกจากที่ดินโฉนดที่ 3083 ในส่วนของโจทก์ที่ 1และที่ 3 เสีย นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์แสดงให้เห็นว่าประเด็นพิพาทในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 479/2528ของศาลชั้นต้นเฉพาะข้อที่ว่าจำเลยได้ครอบครองที่ดินพิพาทส่วนที่เป็นที่ดินมือเปล่าจนได้สิทธิหรือไม่นั้นเป็นอันยุติตามคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ว่าจะวินิจฉัยให้ไม่ได้เพราะเกินคำขอท้ายฟ้องจึงถือไม่ได้ว่าเป็นประเด็นที่ได้วินิจฉัยแล้วในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 479/2528 ของศาลชั้นต้น คำฟ้องในสำนวนคดีหลังจึงไม่เป็นฟ้องซ้ำกับคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 479/2528 ของศาลชั้นต้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ทั้งสิบข้อสองมีว่า โจทก์ทั้งสิบมีสิทธิครอบครองร่วมกับจำเลยโดยจำเลยครอบครองที่ดินพิพาทแทนโจทก์ทั้งสิบหรือไม่ เห็นว่าข้อเท็จจริงตามที่ศาลล่างทั้งสองฟังมาโดยไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกาเป็นยุติว่า จำเลยเป็นผู้ครอบครองที่ดินพิพาทและข้อเท็จจริงฟังมาข้างต้นว่า ประเด็นพิพาทในสำนวนคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 479/2528 ของศาลชั้นต้นในข้อที่ว่าจำเลยครอบครองที่ดินพิพาทส่วนที่เป็นที่ดินมือเปล่าจนได้สิทธิหรือไม่นั้นเป็นประเด็นที่ยังมิได้วินิจฉัยในคดีดังกล่าวดังนั้น ข้อวินิจฉัยเกี่ยวกับที่ดินพิพาทที่เป็นที่ดินมือเปล่าของศาลชั้นต้นเช่นนั้นย่อมไม่ผูกพันคู่ความในคดีทั้งสองสำนวนนี้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 145 วรรคแรก สำหรับคดีทั้งสองสำนวนนี้โจทก์ทั้งสิบมีโจทก์ที่ 3 ที่ 4 และนายอาชวะนวลวิมล ผู้รับมอบอำนาจโจทก์ที่ 1 เบิกความทำนองเดียวกันว่าจำเลยเช่าที่ดินพิพาทจากโจทก์ที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 ทำนากุ้งตามสัญญาเช่าเอกสารหมาย จ.1 ในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 479/2528ของศาลชั้นต้น แต่ปรากฎข้อความในสัญญาเช่าที่ดินกรรมสิทธิ์รวมมิได้ระบุถึงที่ดินพิพาทซึ่งเป็นที่ดินที่ยังไม่มีหลักฐานแสดงกรรมสิทธิ์แต่อย่างใด กลับได้ความจากคำเบิกความของโจทก์ที่ 4ซึ่งเบิกความในคดีแพ่งหมายเลขแดงดังกล่าวว่า ที่ดินที่โจทก์ที่ 4 เป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วยจะเป็นที่ดินมือเปล่าอยู่ด้วยหรือไม่ไม่ทราบ ที่โจทก์ที่ 2 เบิกความว่าให้จำเลยเช่าที่ดินมีโฉนดซึ่งโจทก์ทั้งสิบและจำเลยมีกรรมสิทธิ์ร่วมกัน รวมทั้งที่ดินพิพาทด้วยนั้นก็เป็นคำเบิกความลอย ๆ ทั้งยังเบิกความว่าครั้งสุดท้ายโจทก์ที่ 2 ให้จำเลยเช่าที่ดินปีใดจำไม่ได้และยังเบิกความตอบคำถามค้านทนายจำเลยว่า มาลงชื่อในสัญญาเช่าภายหลังโดยสัญญาเช่าทำเมื่อปี 2522 โจทก์ที่ 2 โอนกรรมสิทธิ์ที่ส่วนของโจทก์ที่ 2 ที่มีโฉนดให้แก่จำเลยเมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2519 คำของโจทก์ที่ 2 จึงขัดต่อเหตุผลเพราะเมื่อจำเลยรับโอนกรรมสิทธิ์มาแล้วก็ไม่มีเหตุที่จะต้องเช่าจากโจทก์ที่ 2 อีก ยิ่งกว่านั้น โจทก์ที่ 2 ยังได้เบิกความในคดีแพ่งหมายเลขแดงดังกล่าวว่า เพิ่งทราบว่ามีที่ดินนอกโฉนดตอนที่นายอาชวะนำสัญญาเช่ามาให้ลงชื่อ คำของโจทก์ที่ 2จึงไม่มีน้ำหนักให้รับฟัง สำหรับโจทก์ที่ 5 ถึงที่ 10 ก็มิได้มาเบิกความยืนยันว่าจำเลยครอบครองที่ดินพิพาทแทนโจทก์ที่ 5ถึงที่ 10 โดยอาศัยสิทธิของโจทก์ที่ 5 ถึงที่ 10 ประการใดบ้างส่วนจำเลยมีนางเยาวณี ตันประเสริฐ ผู้เข้าเป็นคู่ความแทนจำเลยนายเทียมหยู ตันประเสริฐ บุตรเขยจำเลย เป็นพยานเบิกความทำนองเดียวกันว่าจำเลยและพยานทั้งสองร่วมกันบุกเบิกหักร้างถางป่าในที่ดินพิพาทเพื่อทำนากุ้งตั้งแต่ปี 2522 ตลอดมาถึงปัจจุบันซึ่งสอบคล้องกับคำของนายสำเภา กลิ่นทุม และนายยงยุทธ จินดาพยานโจทก์ซึ่งเบิกความว่าเห็นจำเลยและนายเทียมหยูบุกเบิกทำกินในที่ดินพิพาทเพียงลำพัง และนางเยาวณีเบิกความตอบทนายจำเลยถามติงว่าสัญญาเช่าที่จำเลยเคยทำให้ไว้นั้นระบุว่าเป็นการเช่าที่ดินมีกรรมสิทธิ์รวมไม่เกี่ยวข้องกับที่ดินมือเปล่า โดยจำเลยมีนางแฉล้ม รอดสุภา นางสงวน บุญมี เป็นพยานเบิกความสนับสนุนว่าเมื่อประมาณปี 2522 พยานทั้งสองกับคดีอื่นประมาณ 7 คนรับจ้างจำเลยหักร้างถางพงที่ดินพิพาทเพื่อทำนากุ้ง พยานหลักฐานของจำเลยน่าเชื่อกว่าพยานหลักฐานของโจทก์ทั้งสิบ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยครอบครองที่ดินพิพาทโดยลำพังมิได้ครอบครองแทนโจทก์ทั้งสิบ จำเลยจึงเป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทโจทก์ทั้งสิบหาได้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทร่วมกับจำเลยดังโจทก์ทั้งสิบฎีกาไม่ เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้เช่นนี้ จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ดังที่โจทก์ทั้งสิบฎีกา”
พิพากษายืน

Share