คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4274/2543

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ได้นำเจ้าพนักงานบังคับคดีไปยึดที่ดินแปลงพิพาท แต่เนื่องจากยังหาตำแหน่งของที่ดินไม่พบจึงมิได้ทำการยึด เจ้าพนักงานบังคับคดีเพียงแต่ทำการอายัดที่ดินแปลงพิพาท ผู้ร้องอ้างว่าเป็นของผู้ร้องไว้ แต่การร้องขัดทรัพย์จึงร้องได้เฉพาะกรณีที่มีการยึดทรัพย์เท่านั้น ไม่รวมถึงการอายัดทรัพย์ด้วย ผู้ร้องจะอ้างว่า การอายัดทรัพย์เป็นการโต้แย้งสิทธิของผู้ร้องตามป.วิ.พ.มาตรา 55 หาได้ไม่เพราะ ป.วิ.พ.ภาค 4 ลักษณะ 2 เรื่อง การบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่งได้บัญญัติถึงเรื่องนี้ไว้ตามลำดับเป็นขั้นตอนแล้ว

ย่อยาว

ผู้ร้องยื่นคำร้องขอว่า คดีนี้ศาลตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีทำการยึดทรัพย์ของจำเลยที่ ๓ โจทก์ได้นำเจ้าพนักงานบังคับคดีไปทำการยึดทรัพย์ของจำเลยที่ ๓ คือ ที่ดินโฉนดเลขที่ ๙๕๑๑ จังหวัดชลบุรี และที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.๓) เลขที่ ๓๐ แต่ไม่สามารถทำการยึดที่ดินทั้งสองแปลงได้เนื่องจากไม่ทราบตำแหน่งที่ตั้งของที่ดินทั้งสองแปลง เจ้าพนักงานบังคับคดีจึงได้ทำการอายัดที่ดินทั้งสองแปลงดังกล่าวไว้เมื่อวันที่ ๘ มิถุนายน ๒๕๓๗ ที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.๓) เลขที่ ๓๐ มิใช่ทรัพย์สินของจำเลยที่ ๓ เนื่องจากผู้ร้องได้ซื้อที่ดินดังกล่าวมาจากจำเลยที่ ๓ โดยสุจริตและเสียค่าตอบแทนในราคา๑,๐๐๐,๐๐๐ บาท ซึ่งจำเลยที่ ๓ ได้รับเงินไปจากผู้ร้องแล้วตั้งแต่วันที่ ๑๐ มกราคม๒๕๓๔ และได้ส่งมอบการครอบครองที่ดินแปลงดังกล่าวให้แก่ผู้ร้องแล้ว แต่ยังไม่ได้จดทะเบียนโอนที่ดินเนื่องจากจำเลยที่ ๓ หาหนังสือรับรองการทำประโยชน์ไม่พบผู้ร้องก็ได้ครอบครองที่ดินโดยมีเจตนายึดถือเพื่อตนและได้เข้าทำประโยชน์แล้ว ผู้ร้องจึงเป็นผู้มีสิทธิครอบครองและเป็นเจ้าของที่ดินแปลงดังกล่าวโดยชอบด้วยกฎหมายขอให้มีคำสั่งให้โจทก์ถอนการอายัด
โจทก์ยื่นคำคัดค้านว่า ข้ออ้างของผู้ร้องไม่เป็นความจริง ในปัจจุบันหลักฐานทางทะเบียนของที่ดินที่อายัดไว้เป็นของจำเลยที่ ๓ และที่ดินดังกล่าวยังไม่ได้ออกใบแทนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.๓) ฉบับที่อ้างว่าสูญหาย หากจำเลยที่ ๓ กับผู้ร้องซื้อขายที่ดินกันจริง การซื้อขายต่างไม่มีเจตนาที่จะจดทะเบียนโอนกันตามกฎหมาย การซื้อขายจึงเป็นโมฆะ ที่ดินยังเป็นของจำเลยที่ ๓ ขอให้ยกคำร้องขอ
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ยกคำร้องขอ
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า โจทก์ได้นำเจ้าพนักงานบังคับคดีไปยึดที่ดินแปลงพิพาท แต่เนื่องจากยังหาตำแหน่งของที่ดินไม่พบจึงมิได้ทำการยึด เจ้าพนักงานบังคับคดีเพียงแต่ทำการอายัดที่ดินแปลงพิพาทตาม น.ส.๓ เลขที่ ๓๐ ซึ่งผู้ร้องอ้างว่าเป็นของผู้ร้องไว้ มีปัญหาข้อกฎหมายมาสู่ศาลฎีกาตามฎีกาของผู้ร้องว่า ผู้ร้องมีสิทธิยื่นคำร้องขอให้ปล่อยทรัพย์พิพาทหรือไม่เห็นว่า ตามคำร้องขอของผู้ร้องนั้นผู้ร้องร้องขอให้ปล่อยทรัพย์ที่ยึดซึ่งเป็นเรื่องการร้องขัดทรัพย์ บทบัญญัติในเรื่องนี้ต้องเป็นไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๘๘ ซึ่งบัญญัติว่า “ภายใต้บังคับบทบัญญัติแห่งมาตรา ๕๕ ถ้าบุคคลใดกล่าวอ้างว่าจำเลยหรือลูกหนี้ตามคำพิพากษาไม่ใช่เจ้าของทรัพย์สินที่เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ยึดไว้ ก่อนที่ได้เอาทรัพย์สินเช่นว่านี้ออกขายทอดตลาดหรือจำหน่ายโดยวิธีอื่น บุคคลนั้นอาจยื่นคำร้องขอต่อศาลที่ออกหมายบังคับคดีให้ปล่อยทรัพย์สินเช่นว่านั้น…” การร้องขัดทรัพย์จึงร้องได้เฉพาะกรณีที่มีการยึดทรัพย์เท่านั้นไม่รวมถึงการอายัดทรัพย์ด้วย ที่ผู้ร้องอ้างว่า การอายัดทรัพย์เป็นการโต้แย้งสิทธิของผู้ร้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๕๕ ผู้ร้องจึงจำต้องใช้สิทธิร้องขัดทรัพย์ตามมาตรา ๒๘๘ เพราะไม่มีบทกฎหมายอื่นให้ใช้นั้นเป็นความเข้าใจของผู้ร้องเอง แท้จริงแล้วมิได้เป็นเช่นนั้นเพราะประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งภาค ๔ ลักษณะ ๒ เรื่อง การบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่งได้บัญญัติถึงเรื่องนี้ไว้ตามลำดับเป็นขั้นตอนแล้ว
พิพากษายืน.

Share