คำวินิจฉัยที่ 4/2556

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

ผู้ฟ้องคดีเป็นเอกชนยื่นฟ้องเจ้าหน้าที่ของรัฐและหน่วยงานทางปกครองอ้างว่าเป็นผู้ครอบครองที่ดิน น.ส. ๓ แต่ถูกกรมชลประทาน ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ปักหลักกันเขตรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของผู้ฟ้องคดี ผู้ฟ้องคดีแจ้งให้แก้ไข แต่ผู้อำนวยการโครงการชลประทานจังหวัดมหาสารคาม ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ชี้แจงว่าการปักหลักกันเขตได้กระทำตามแนวเขตโดยถูกต้อง ขอให้พิพากษาหรือมีคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองถอนหลักเขตให้อยู่ตามแนวคันดินชลประทานตามที่ระบุไว้ใน น.ส. ๓ หรือให้เวนคืนที่ดินของผู้ฟ้องคดีในกรณีที่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองยังคงปักหลักเขตชลประทานตามที่ปักในปัจจุบัน ส่วนผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองให้การว่า น.ส. ๓ ของผู้ฟ้องคดีมีเนื้อที่เกินกว่าที่เจ้าของที่ดินเดิมได้แจ้งการครอบครองไว้ อันเป็นการรุกล้ำสาธารณสมบัติของแผ่นดิน การปักหลักเขตใหม่เป็นการซ่อมเขตตามแนวเขตเดิมและเป็นไปโดยถูกต้อง การที่ศาลจะพิพากษาหรือมีคำสั่งตามที่ผู้ฟ้องคดีขอได้นั้น จำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่า ที่ดินพิพาทเป็นสิทธิของผู้ฟ้องคดีหรือเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินเป็นสำคัญ อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๔/๒๕๕๖

วันที่ ๒๔ มกราคม ๒๕๕๖

เรื่อง คดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน

ศาลปกครองขอนแก่น
ระหว่าง
ศาลจังหวัดมหาสารคาม

การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลปกครองขอนแก่นโดยสำนักงานศาลปกครองส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องคดีโต้แย้งอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องอำนาจศาลในคดีนั้น

ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๕ มกราคม ๒๕๕๓ นายบุญสวน ศรีกะกูล ผู้ฟ้องคดี ยื่นฟ้อง ผู้อำนวยการโครงการชลประทานจังหวัดมหาสารคาม ที่ ๑ กรมชลประทาน ที่ ๒ ผู้ถูกฟ้องคดี ต่อศาลปกครองขอนแก่น เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๑๕๕/๒๕๕๓ ความว่า ผู้ฟ้องคดีเป็นผู้ครอบครองที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. ๓) เลขที่ ๕๙ เนื้อที่ ๒๔ ไร่ ๓ งาน ๔๐ ตารางวา ตั้งอยู่ที่ ตำบลบรบือ อำเภอบรบือ จังหวัดมหาสารคาม แบ่งขายให้กระทรวงการคลัง (เพื่อการคลองชลประทาน) เมื่อวันที่ ๒๕ กันยายน ๒๕๑๘ เนื้อที่ ๑ ไร่ ๒ งาน ๒๐ ตารางวา ได้รับความเดือดร้อนเสียหายจากการที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ปักหลักกันเขตบริเวณท้ายทำนบดินอ่างเก็บน้ำเอกสัตย์สุนทรรุกล้ำเข้าไปในที่ดิน น.ส. ๓ ของผู้ฟ้องคดีประมาณ ๒๐ เมตร สืบเนื่องจากเจ้าหน้าที่รังวัดได้ทำการรังวัดที่ดินเพื่อออกโฉนดที่ดินตามคำขอของผู้ฟ้องคดี ทำให้ทราบว่าจะต้องกันที่ดินของผู้ฟ้องคดีให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ เพื่อทำอ่างเก็บน้ำเอกสัตย์สุนทร จึงได้มีหนังสือแจ้งให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ พิจารณาแก้ไขเรื่องดังกล่าว แต่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ มีหนังสือแจ้งว่า อ่างเก็บน้ำเอกสัตย์สุนทร ก่อสร้างเมื่อปี ๒๔๙๖ แต่เอกสารสิทธิของผู้ฟ้องคดีออกเมื่อปี ๒๕๐๔ การปักหลักเขตของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ จะต้องกันเขตไว้ก่อนปี ๒๔๙๖ และใน น.ส. ๓ แจ้งว่าทิศตะวันตกจรดคันดินชลประทาน หมายถึง เขตชลประทานที่กันไว้ด้านท้ายคันดิน ต่อมาผู้ฟ้องคดีจึงร้องเรียนต่อสำนักงานชลประทานที่ ๖ และสำนักงานชลประทานที่ ๖ มีหนังสือแจ้งในทำนองเดียวกับหนังสือชี้แจงของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และชี้แจงเพิ่มเติมว่า ที่ดินของผู้ฟ้องคดีได้ถูกแนวคลองฝั่งซ้ายตัดผ่าน โดยผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ได้ทำการจัดซื้อแล้วเมื่อวันที่ ๒๕ กันยายน ๒๕๑๘ กว้าง ๒๐ เมตร เนื้อที่ ๑ ไร่ ๒ งาน ๒๐ ตารางวา ได้ทำการรังวัดแบ่งแยกที่ดินจากแนวหลักเขตชลประทานบริเวณท้ายทำนบดิน ไม่ได้รังวัดแบ่งแยกจากตัวทำนบดิน ผู้ฟ้องคดีเห็นว่าการชี้แจงแนวเขตของผู้อำนวยการสำนักชลประทานที่ ๖ และผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ไม่ถูกต้อง ขอให้ศาลพิพากษาหรือมีคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองถอนหลักเขตให้อยู่ตามแนวคันดินชลประทานตามที่ระบุไว้ในหนังสือรับรองการทำประโยชน์ดังเดิม หรือให้เวนคืนที่ดินของผู้ฟ้องคดีในกรณีที่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองยังคงปักหลักเขตชลประทานบริเวณท้ายทำนบดินตามที่ปักหลักเขตในปัจจุบัน
ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองให้การว่า ผู้ฟ้องคดีมีเพียงสิทธิครอบครองตาม น.ส. ๓ ดังกล่าว โดยได้รับโอนมรดกที่ดินพิพาทจากนายสี ศรีกะกูล ซึ่งซื้อที่ดินพิพาทมาจากนางเต็ม ศรีกะกูล หรือมูลนี ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินพิพาทในขณะที่กรมชลประทานเข้าดำเนินการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำเอกสัตย์สุนทรในปี ๒๔๙๖ โดยเป็นที่ดินไม่มีหลักฐานแสดงกรรมสิทธิ์ในที่ดิน หรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ หรือได้แจ้งการครอบครองไว้ นางเต็มได้แจ้งการครอบครองหลังจากที่กรมชลประทานได้เข้าทำการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำเอกสัตย์สุนทรแล้วเสร็จ แต่เมื่อปี ๒๕๐๒ นางเต็มได้ยื่นคำขอออก น.ส. ๓ และทางราชการได้ออก น.ส. ๓ เลขที่ ๕๙ เนื้อที่ ๒๔ ไร่ ๓ งาน ๔๐ ตารางวา ให้แก่นางเต็มเมื่อปี ๒๕๐๔ ปรากฏว่า ที่ดินตาม น.ส. ๓ ดังกล่าวมีเนื้อที่มากกว่าหลักฐานแบบแจ้งการครอบครอง อันทำให้เห็นได้ว่า การออก น.ส. ๓ ดังกล่าว เจ้าของอาจจะนำชี้เขตออกมาจนจรดคันดินชลประทาน ทำให้ได้เนื้อที่เกินกว่าที่ได้แจ้งการครอบครองไว้ อันเป็นการรุกล้ำทรัพย์สินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน การที่ชลประทานเข้าไปปักหลักเขตใหม่จึงเป็นการซ่อมเขตตามแนวเขตเดิม ไม่ได้มีการแก้ไขแนวแต่อย่างใด ผู้ฟ้องคดีไม่ใช่ผู้เสียหาย ขอให้ยกฟ้อง
ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า คดีนี้เป็นการโต้แย้งกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท ประเด็นแห่งคดีจะต้องพิสูจน์ว่า ผู้ฟ้องคดีมีสิทธิในที่ดินพิพาทโดยชอบหรือไม่ ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินที่ผู้ฟ้องคดีมีสิทธิครอบครองโดยชอบ หรือเป็นที่สาธารณประโยชน์ อันเป็นภาระการพิสูจน์ให้เป็นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และประมวลกฎหมายที่ดินว่าด้วยการออกหนังสือแสดงสิทธิในที่ดิน จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองขอนแก่นพิจารณาแล้วเห็นว่า เมื่อพิเคราะห์บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๒๑๘ และมาตรา ๒๒๓ วรรคหนึ่ง ประกอบกับพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง จะเห็นได้ว่า ศาลยุติธรรมเป็นศาลที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีโดยทั่วไป เว้นแต่คดีที่รัฐธรรมนูญหรือกฎหมายบัญญัติให้อยู่ในอำนาจของศาลอื่น ในขณะที่ศาลปกครองเป็นศาลที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีพิพาทระหว่างหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกับเอกชน หรือระหว่างหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐด้วยกัน อันเนื่องมาจากการกระทำหรือการละเว้นการกระทำที่มีลักษณะเป็นการใช้อำนาจทางปกครองตามกฎหมาย หรือการกระทำหรือการละเว้นการกระทำที่ต้องรับผิดชอบในการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายหรือเป็นการดำเนินกิจการทางปกครองตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยดังกล่าว รวมถึงคดีพิพาทตามที่มีกฎหมายบัญญัติให้อยู่ในอำนาจของศาลปกครองด้วย ทั้งนี้ เว้นแต่เรื่องที่กฎหมายบัญญัติยกเว้นไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองดังที่กล่าวมา ดังนั้น หากคดีใดอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง และไม่เข้าข้อยกเว้นตามที่กฎหมายบัญญัติ ศาลปกครองย่อมมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีนั้นได้ อีกทั้งการพิจารณาเขตอำนาจของศาลในคดีพิพาทต่างๆ จะต้องพิจารณาจากคำฟ้องและคำขอของผู้ฟ้องคดีเป็นหลัก มิใช่พิจารณาจากคำให้การของผู้ถูกฟ้องคดี เนื่องจากคำให้การเป็นการยกข้อต่อสู้ของผู้ถูกฟ้องคดี ซึ่งเป็นการกล่าวอ้างในประเด็นเนื้อหาแห่งคดี เมื่อพิจารณาคำฟ้องและคำขอของผู้ฟ้องคดีโดยตลอดแล้วเห็นได้ว่า เป็นกรณีที่ผู้ฟ้องคดีฟ้องว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ เป็นกรมในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงเป็นหน่วยงานทางปกครอง และผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ เป็นเจ้าหน้าที่ในสังกัดของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ จึงเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ได้ใช้อำนาจตามพระราชบัญญัติการชลประทานหลวง พุทธศักราช ๒๔๘๕ ออกประกาศกระทรวงเกษตร เมื่อวันที่ ๒๐ ตุลาคม ๒๕๐๓ กำหนดให้อ่างเก็บน้ำเอกสัตย์สุนทร ตั้งอยู่ในท้องที่ตำบลบรบือ อำเภอบรบือ จังหวัดมหาสารคาม เป็นทางน้ำชลประทานประเภท ๔ และได้ทำการปักหลักกันเขตบริเวณบริเวณท้ายทำนบดินอ่างเก็บน้ำเอกสัตย์สุนทร เข้าไปในเขตที่ดิน น.ส. ๓ ของผู้ฟ้องคดี ประมาณ ๒๐ เมตร โดยไม่ได้รับความยินยอมและมิได้มีการเวนคืนที่ดินตามกฎหมาย กรณีจึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ อันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ คดีจึงมีประเด็นที่ศาลจะต้องวินิจฉัยว่า การที่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองได้ปักหลักกันเขตบริเวณท้ายทำนบดินอ่างเก็บน้ำเอกสัตย์สุนทร เป็นการใช้อำนาจที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่เท่านั้น สำหรับประเด็นปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยกฎหมายของหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. ๓) ทะเบียนครอบครองเลขที่ ๕๙
ของผู้ฟ้องคดี นั้น แม้เป็นประเด็นเกี่ยวพันกันที่ศาลจำต้องวินิจฉัยก่อนจึงจะวินิจฉัยประเด็นหลักแห่งคดีได้ก็ตาม แต่ศาลปกครองย่อมมีอำนาจวินิจฉัยประเด็นเกี่ยวพันดังกล่าวได้ ตามข้อ ๔๑ วรรคสอง แห่งระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๓ แม้การวินิจฉัยประเด็นเกี่ยวพันดังกล่าวจะต้องพิจารณาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์หรือประมวลกฎหมายที่ดิน ซึ่งเป็นกฎหมายทั่วไปก็ตาม แต่การนำบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวมาใช้บังคับแก่คดีก็มิใช่เกณฑ์การพิจารณาลักษณะคดีว่าอยู่ในอำนาจของศาลใด อีกทั้งไม่มีบทบัญญัติใดแห่งกฎหมายห้ามศาลปกครองมิให้นำประมวลกฎหมายดังกล่าวมาใช้บังคับแก่คดี ศาลปกครองจึงนำบทบัญญัติแห่งกฎหมายในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์หรือประมวลกฎหมายที่ดินมาวินิจฉัยประเด็นเกี่ยวพันที่จำต้องวินิจฉัยก่อนจึงจะวินิจฉัยประเด็นหลักแห่งคดีได้ คดีนี้จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
ศาลจังหวัดมหาสารคามพิจารณาแล้วเห็นว่า ผู้ฟ้องคดีอ้างว่าที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. ๓) ทะเบียนครอบครองเลขที่ ๕๙ ตำบลบรบือ อำเภอบรบือ จังหวัดมหาสารคาม เป็นของผู้ฟ้องคดี ถูกผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ปักหลักกันเขตบริเวณท้ายทำนบดินอ่างเก็บน้ำเอกสัตย์สุนทร รุกล้ำเข้าไปในที่ดินของผู้ฟ้องคดีประมาณ ๒๐ เมตร ส่วนผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองให้การปฏิเสธคำฟ้องของผู้ฟ้องคดีว่า ผู้ฟ้องคดีไม่มีสิทธิในที่ดินดังกล่าวเพราะที่ดินที่พิพาทอยู่ในอ่างเก็บน้ำเอกสัตย์สุนทร ซึ่งได้ก่อสร้างเมื่อปี ๒๔๙๖ อันเป็นทรัพย์สินสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ประเด็นหลักแห่งคดีที่ต้องวินิจฉัยจึงมีว่า ที่ดินที่พิพาทเป็นของผู้ฟ้องคดีหรือเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดิน คดีดังกล่าวนี้เป็นคดีโต้แย้งสิทธิในที่ดินที่พิพาทว่าที่ดินที่พิพาทเป็นของผู้ใดจะต้องพิจารณาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หรือประมวลกฎหมายที่ดิน เมื่อได้วินิจฉัยว่า ที่ดินที่พิพาทเป็นของผู้ใดแล้วจึงจะนำไปสู่ประเด็นวินิจฉัยที่ว่า การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ปักหลักกันเขตบริเวณท้ายทำนบดินอ่างเก็บน้ำเอกสัตย์สุนทรรุกล้ำเข้าไปในคดีของผู้ฟ้องคดีหรือไม่ เป็นการละเมิดผู้ฟ้องคดีหรือไม่ และจะต้องชดใช้ค่าเวนคืนหรือไม่ ซึ่งประเด็นดังกล่าวนี้เป็นเพียงประเด็นย่อยหลังจากที่ได้มีคำวินิจฉัยในเรื่องที่ว่า ที่ดินที่พิพาทเป็นของผู้ใดก่อน คดีจึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้แม้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ จะเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ และผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ เป็นหน่วยงานทางปกครองตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ แต่ตามคำฟ้องผู้ฟ้องคดีอ้างว่า ผู้ฟ้องคดีเป็นผู้ครอบครองที่ดิน น.ส. ๓ เลขที่ ๕๙ เนื้อที่ ๒๔ ไร่ ๓ งาน ๔๐ ตารางวา ต่อมาผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ได้ปักหลักกันเขตบริเวณท้ายทำนบดินอ่างเก็บน้ำเอกสัตย์สุนทรรุกล้ำเข้าไปในที่ดินดังกล่าวประมาณ ๒๐ เมตร ผู้ฟ้องคดีจึงแจ้งให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ พิจารณาแก้ไข แต่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ แจ้งว่า อ่างเก็บน้ำเอกสัตย์สุนทร ก่อสร้างเมื่อปี ๒๔๙๖ แต่เอกสารสิทธิของผู้ฟ้องคดีออกเมื่อปี ๒๕๐๔ การปักหลักเขตของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ จะต้องกันเขตไว้ก่อนปี ๒๔๙๖ และใน น.ส. ๓ แจ้งว่าทิศตะวันตกจรดคันดินชลประทาน หมายถึง เขตชลประทานที่กันไว้ด้านท้ายคันดิน ต่อมาผู้ฟ้องคดีจึงร้องเรียนต่อสำนักงานชลประทานที่ ๖ และสำนักงานชลประทานที่ ๖ ได้แจ้งในทำนองเดียวกับหนังสือชี้แจงของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และชี้แจงเพิ่มเติมว่า ที่ดินของผู้ฟ้องคดีได้ถูกแนวคลองฝั่งซ้ายตัดผ่าน โดยผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ได้ทำการจัดซื้อแล้วเมื่อวันที่ ๒๕ กันยายน ๒๕๑๘ กว้าง ๒๐ เมตร เนื้อที่ ๑ ไร่ ๒ งาน ๒๐ ตารางวา ได้ทำการรังวัดแบ่งแยกที่ดินจากแนวหลักเขตชลประทานบริเวณท้ายทำนบดิน ไม่ได้รังวัดแบ่งแยกจากตัวทำนบดิน ขอให้ศาลพิพากษาหรือมีคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองถอนหลักเขตให้อยู่ตามแนวคันดินชลประทานตามที่ระบุไว้ในหนังสือรับรองการทำประโยชน์ดังเดิม หรือให้เวนคืนที่ดินของผู้ฟ้องคดีในกรณีที่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองยังคงปักหลักเขตชลประทานบริเวณท้ายทำนบดินตามที่ปักหลักเขตในปัจจุบัน ส่วนผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองให้การว่า ผู้ฟ้องคดีมีเพียงสิทธิครอบครองตาม น.ส. ๓ ดังกล่าว โดยได้รับโอนมรดกที่ดินพิพาทจากนายสี ศรีกะกูล ซึ่งซื้อที่ดินพิพาทมาจากนางเต็ม ศรีกะกูล หรือมูลนี ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินพิพาทในขณะที่กรมชลประทานเข้าดำเนินการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำเอกสัตย์สุนทรในปี ๒๔๙๖ โดยเป็นที่ดินไม่มีหลักฐานแสดงกรรมสิทธิ์ในที่ดิน หรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ หรือได้แจ้งการครอบครองไว้ นางเต็มได้แจ้งการครอบครองหลังจากที่กรมชลประทานได้เข้าทำการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำเอกสัตย์สุนทรแล้วเสร็จ แต่เมื่อปี ๒๕๐๒ นางเต็มได้ยื่นคำขอออก น.ส. ๓ และทางราชการได้ออก น.ส. ๓ เลขที่ ๕๙ ให้แก่นางเต็มเมื่อปี ๒๕๐๔ ปรากฏว่า ที่ดินตาม น.ส. ๓ ดังกล่าวมีเนื้อที่มากกว่าหลักฐานแบบแจ้งการครอบครอง อันทำให้เห็นได้ว่า การออก น.ส. ๓ ดังกล่าว เจ้าของอาจจะนำชี้เขตออกมาจนจรดคันดินชลประทาน ทำให้ได้เนื้อที่เกินกว่าที่ได้แจ้งการครอบครองไว้ อันเป็นการรุกล้ำทรัพย์สินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน การที่ชลประทานเข้าไปปักหลักเขตใหม่จึงเป็นการซ่อมเขตตามแนวเขตเดิม ไม่ได้มีการแก้ไขแนวแต่อย่างใด ผู้ฟ้องคดีไม่ใช่ผู้เสียหาย ขอให้ยกฟ้อง การที่ศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งตามที่ผู้ฟ้องคดีขอได้นั้น จำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่า ที่ดินส่วนที่พิพาทเป็นสิทธิของผู้ฟ้องคดีหรือเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินเป็นสำคัญ อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของ
ศาลยุติธรรม
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่างนายบุญสวน ศรีกะกูล ผู้ฟ้องคดี ผู้อำนวยการโครงการชลประทานจังหวัดมหาสารคาม ที่ ๑ กรมชลประทาน ที่ ๒ ผู้ถูกฟ้องคดี อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) ไพโรจน์ วายุภาพ (ลงชื่อ) สุวัฒน์ วรรธนะหทัย
(นายไพโรจน์ วายุภาพ) (นายสุวัฒน์ วรรธนะหทัย)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) หัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล (ลงชื่อ) จรัญ หัตถกรรม
(นายหัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล) (นายจรัญ หัตถกรรม)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) พลโท สถาพร เกียรติภิญโญ (ลงชื่อ) พลโท อาชวัน อินทรเกสร
(สถาพร เกียรติภิญโญ) (อาชวัน อินทรเกสร)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

Share