คำวินิจฉัยที่ 69/2556

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

คดีที่โจทก์ทั้งหกเป็นเอกชนยื่นฟ้องจำเลย ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ อ้างว่า จำเลยรังวัดเพื่อออก น.ส.ล. แปลงป่าช้าบ้านโคกยางทับที่ดินที่โจทก์ทั้งหกครอบครอง โจทก์ทั้งหกได้ยื่นคำขอคัดค้านแล้ว แต่เจ้าพนักงานที่ดินแจ้งให้ใช้สิทธิทางศาล ขอให้พิพากษาว่าโจทก์ทั้งหกเป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินและห้ามจำเลยเข้าเกี่ยวข้องในที่ดินพิพาท เห็นว่า การที่ศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งตามคำขอของโจทก์ทั้งหกได้นั้น จำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่าที่ดินพิพาทโจทก์ทั้งหกเป็นผู้มีสิทธิครอบครองตามที่กล่าวอ้างหรือเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินเป็นสำคัญ แล้วจึงจะพิจารณาในประเด็นอื่นต่อไป จึงเป็นคดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๖๙/๒๕๕๖

วันที่ ๔ กรกฎาคม ๒๕๕๖

เรื่อง คดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน

ศาลจังหวัดนางรอง
ระหว่าง
ศาลปกครองนครราชสีมา

การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลจังหวัดนางรองโดยสำนักงานศาลยุติธรรมส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น

ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๑๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๔ นางสำราญ บุญซำ ที่ ๑ กับพวกรวม ๖ คน โจทก์ ยื่นฟ้องนายอำเภอชำนิ จำเลย ต่อศาลจังหวัดนางรอง เป็นคดีแพ่งหมายเลขดำที่ ๑๑๗/๒๕๕๔ ความว่า โจทก์ทั้งหกเป็นเจ้าของที่ดินมือเปล่าโดยครอบครองทำประโยชน์ต่อเนื่องกันมาโดยตลอดจนถึงปัจจุบัน เมื่อวันที่ ๖ มิถุนายน ๒๕๒๖ จำเลยรังวัดที่ดินเพื่อออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงแปลงป่าช้าบ้านโคกยางทับที่ดินของโจทก์ทั้งหก ต่อมาวันที่ ๒๗ ธันวาคม ๒๕๕๓ เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดบุรีรัมย์ สาขานางรอง แจ้งให้โจทก์ทั้งหกยื่นคำขอคัดค้านการออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง “แปลงป่าช้าบ้านโคกยางสาธารณประโยชน์” แปลงที่ ๑ และแปลงที่ ๒ โจทก์ทั้งหกได้ยื่นคำขอคัดค้านแล้ว และเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดบุรีรัมย์ สาขานางรอง ได้แจ้งให้ไปใช้สิทธิทางศาลภายในกำหนด ๖๐ วัน การกระทำของจำเลยเป็นการรบกวนการครอบครองโดยปกติสุขของโจทก์ทั้งหก ขอให้พิพากษาว่าโจทก์ทั้งหกเป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทและห้ามมิให้จำเลยเข้าเกี่ยวข้องในที่ดินพิพาท
จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การ
จำเลยยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า ตามคำฟ้องของโจทก์ทั้งหกอ้างว่า จำเลยกระทำการในทางปกครองอันเป็นการใช้อำนาจตามกฎหมายละเมิดสิทธิ กรณีจึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดหรือความรับผิดอย่างอื่นของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย คดีจึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) และ (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒
ศาลจังหวัดนางรองพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้คู่ความโต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินพิพาทว่าโจทก์ทั้งหกมีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาท หรือที่ดินพิพาทเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดิน อันเป็นสิทธิของบุคคลเกี่ยวกับที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ ๔ มาตรา ๑๒๙๘ และมาตรา ๑๓๐๔ ประกอบประมวลกฎหมายที่ดิน โดยจะต้องพิจารณาถึงสิทธิครอบครองและการใช้ประโยชน์ในที่ดินพิพาท คดีนี้จึงไม่มีประเด็นโต้แย้งเกี่ยวกับการออกคำสั่งหรือการใช้อำนาจตามกฎหมายของเจ้าหน้าที่ของรัฐว่าไม่ชอบด้วยกฎหมายแต่อย่างใด ดังนั้น ศาลที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์และประมวลกฎหมายที่ดินจึงได้แก่ศาลยุติธรรม
ศาลปกครองนครราชสีมาพิจารณาแล้วเห็นว่า การออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงนั้น เป็นอำนาจหน้าที่ของนายอำเภอในการขอออกและทำการรังวัดชี้แนวเขต อันเป็นการใช้อำนาจทางปกครองที่มีผลกระทบต่อสิทธิหน้าที่ของบุคคล เมื่อคดีนี้โจทก์ทั้งหกฟ้องว่าจำเลยขอรังวัดและรังวัดที่สาธารณประโยชน์ทับที่ดินของตน จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดหรือความรับผิดอย่างอื่นของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง สำหรับประเด็นปัญหาว่าโจทก์ทั้งหกเป็นผู้มีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทหรือไม่นั้น เป็นประเด็นปัญหาข้อเท็จจริงที่ศาลจะต้องพิจารณาในเนื้อหาของคดี อันเป็นเพียงประเด็นปัญหาย่อยหนึ่งในหลายประเด็นปัญหาที่จะพิจารณาว่า การออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงแปลงดังกล่าวชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ และแม้จะต้องพิจารณาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์หรือประมวลกฎหมายที่ดินก็ตาม แต่ก็มิใช่เกณฑ์การพิจารณาว่าคดีอยู่ในอำนาจพิจารณาของศาลใด อีกทั้งไม่มีบทบัญญัติใดห้ามศาลปกครองมิให้นำบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวมาใช้บังคับแก่คดีได้ นอกจากนั้น มาตรา ๗๑ (๔) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ได้บัญญัติให้คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลปกครองที่เกี่ยวกับสิทธิแห่งทรัพย์สินมีผลผูกพันบุคคลภายนอก คู่กรณีที่เกี่ยวข้องอาจอ้างกับบุคคลภายนอกได้ เว้นแต่บุคคลภายนอกจะมีสิทธิดีกว่า อันยืนยันให้เห็นว่าศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีที่เกี่ยวกับสิทธิแห่งทรัพย์สินและนำบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวมาวินิจฉัยข้อพิพาทในคดีได้ อีกทั้งการพิจารณาว่าการออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ มิได้พิจารณาเฉพาะประเด็นว่าโจทก์ทั้งหกเป็นผู้มีสิทธิครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทหรือไม่ แต่ยังต้องพิจารณาในประเด็นว่าหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงได้ออกโดยถูกต้องตามขั้นตอนหรือวิธีการตามที่กฎหมายกำหนดหรือไม่ด้วย ซึ่งประเด็นดังกล่าวก็อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองเช่นเดียวกัน

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้โจทก์ทั้งหกเป็นเอกชนยื่นฟ้องจำเลย ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ อ้างว่า จำเลยรังวัดเพื่อออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงแปลงป่าช้าบ้านโคกยางทับที่ดินที่โจทก์ทั้งหกครอบครอง โจทก์ทั้งหกได้ยื่นคำขอคัดค้านแล้ว แต่เจ้าพนักงานที่ดินแจ้งให้ใช้สิทธิทางศาล ขอให้พิพากษาว่าโจทก์ทั้งหกเป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินและห้ามจำเลยเข้าเกี่ยวข้องในที่ดินพิพาท ส่วนจำเลยขาดนัดยื่นคำให้การ เห็นว่า การที่ศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งตามคำขอของโจทก์ทั้งหกได้นั้น จำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่าที่ดินพิพาท โจทก์ทั้งหกเป็นผู้มีสิทธิครอบครองตามที่กล่าวอ้างหรือเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินเป็นสำคัญ แล้วจึงจะพิจารณาในประเด็นอื่นต่อไป จึงเป็นคดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่างนางสำราญ บุญซำ ที่ ๑ กับพวกรวม ๖ คน โจทก์ นายอำเภอชำนิ จำเลย อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) ไพโรจน์ วายุภาพ (ลงชื่อ) สุวัฒน์ วรรธนะหทัย
(นายไพโรจน์ วายุภาพ) (นายสุวัฒน์ วรรธนะหทัย)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) หัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล (ลงชื่อ) จรัญ หัตถกรรม
(นายหัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล) (นายจรัญ หัตถกรรม)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) พลโท สุขสันต์ สิงหเดช (ลงชื่อ) พลโท อาชวัน อินทรเกสร
(สุขสันต์ สิงหเดช) (อาชวัน อินทรเกสร)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

Share