คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5376/2544

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คำว่า “จำหน่าย” ตามความหมายในมาตรา 4 แห่ง พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 หมายความว่า ขาย จ่าย แจก แลกเปลี่ยน ให้ การที่จำเลยเป็นผู้จัดหายาเสพติดให้โทษมาให้แก่ ช. โดย ช. ต้องมอบเงินให้แก่จำเลยส่วนจำเลยจะไปหายาเสพติดให้โทษมาจากที่ใด อย่างไร หาได้เกี่ยวข้องกับ ช.ไม่ ช. เป็นเพียงผู้ต้องการยาเสพติดให้โทษ เมื่อมอบเงินให้จำเลยไปจำเลยก็จัดหายาเสพติดให้โทษมามอบให้ตามที่ ช. ต้องการ จึงต้องถือว่าจำเลยอยู่ในฐานะ ผู้จำหน่ายโดยไม่ต้องคำนึงว่ายาเสพติดให้โทษดังกล่าวจะเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยหรือไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้อง ขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๔, ๗, ๘, ๑๕, ๖๖, ๖๗, ๑๐๒ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๑
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๑๕ วรรคหนึ่ง, ๖๖ วรรคหนึ่ง จำคุก ๕ ปี คำให้การรับสารภาพของจำเลยในชั้นสอบสวนและทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาคดี มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๘ หนึ่งในสาม คงจำคุก ๓ ปี ๔ เดือน
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค ๖ พิพากษาแก้เป็นว่า ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๘ กึ่งหนึ่ง คงจำคุก ๒ ปี ๖ เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่าในวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง ช. ได้มอบเงินจำนวน ๓๖๐ บาท ให้จำเลยเพื่อไปจัดหาเมทแอมเฟตามีนมาให้ และจำเลยได้นำเมทแอมเฟตามีนตามฟ้องมาให้ ช. จึงถูก เจ้าพนักงานตำรวจมาฟ้องเป็นคดีนี้ จำเลยฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายว่าจำเลยเป็นเพียงผู้ไปซื้อยาเสพติดให้โทษ จากบุคคลภายนอกแทน ช. ถือไม่ได้ว่าเป็นการจำหน่าย ตามความหมายในมาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. ๒๕๒๒ การกระทำดังกล่าวของจำเลยไม่เป็นความผิดตามฟ้อง เห็นว่า คำว่า จำหน่าย ตามมาตรา ๔ ดังกล่าวนั้น หมายความว่า ขาย จ่าย แจก แลกเปลี่ยน ให้ กรณีของจำเลย ปรากฏว่าจำเลยเป็นผู้จัดหายาเสพติดให้โทษมาให้แก่ ช. โดย ช. ต้องมอบเงินให้แก่จำเลยส่วนจำเลยจะไปหายาเสพติดให้โทษมาจากที่ใด อย่างไรหาได้เกี่ยวข้องกับ ช. ไม่ ช. เป็นเพียงผู้ต้องการยาเสพติดให้โทษ เมื่อมอบเงินให้จำเลยไปจำเลยก็จัดหายาเสพติดให้โทษมามอบให้ตามที่ ช. ต้องการ จึงต้องถือว่าจำเลยอยู่ในฐานะผู้จำหน่ายตามความหมายในมาตรา ๔ ดังกล่าว โดยไม่ต้องคำนึงว่ายาเสพติด ดังกล่าวจะเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยหรือไม่ ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน.

Share