แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ป.พ.พ. มาตรา 1585 วรรคหนึ่ง ให้ตั้งผู้ปกครองผู้เยาว์ได้เฉพาะกรณีผู้เยาว์ไม่มีบิดามารดาหรือบิดามารดาถูกถอนอำนาจปกครอง การที่มารดาตาย ส่วนบิดายังมีชีวิตอยู่และมิได้ถูกถอนอำนาจปกครอง แม้บิดามารดาจะจดทะเบียนหย่าโดยตกลงให้มารดาเป็นผู้ปกครองผู้เยาว์แต่ฝ่ายเดียว ก็เป็นเรื่องการตกลงตามมาตรา 1520 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 1566 วรรคสอง (6) เท่านั้น มิใช่เป็นกรณีที่บิดาถูกถอนอำนาจปกครองเพราะการจะถอนอำนาจปกครองจะต้องมีเหตุตามมาตรา 1582 และเป็นอำนาจของศาล ดังนั้น เมื่อมารดาของผู้เยาว์ซึ่งเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองแต่ผู้เดียวตามที่ตกลงขณะที่จดทะเบียนหย่าถึงแก่กรรม อำนาจปกครองผู้เยาว์จึงกลับมาอยู่แก่บิดาฝ่ายเดียวตามมาตรา 1566 วรรคสอง (1) เมื่อผู้เยาว์ยังมีบิดาซึ่งยังไม่ถูกถอดถอนอำนาจปกครองจึงไม่อาจตั้งผู้ปกครองได้ ผู้ร้องซึ่งเป็นน้าผู้เยาว์จึงไม่มีสิทธิยื่นคำร้องขอให้ตั้งผู้ปกครอง
ป.พ.พ. มาตรา 1582 ให้อำนาจศาลถอนอำนาจปกครองได้โดยลำพังไม่ต้องให้ผู้ใดร้องขอ หากมีเหตุตามบทบัญญัติดังกล่าว คดีนี้แม้ผู้ร้องไม่มีอำนาจยื่นคำร้องขอถอนอำนาจปกครองของบิดาผู้เยาว์ แต่เมื่อความปรากฏต่อศาลว่าบิดาของผู้เยาว์ถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำเกี่ยวกับการจำหน่ายยาเสพติดและไม่ได้อุปการะเลี้ยงดูผู้เยาว์ โดยให้อยู่ในความดูแลของผู้ร้องถือได้ว่า บิดาประพฤติชั่วอย่างร้ายแรงและใช้อำนาจปกครองแก่ตัวผู้เยาว์โดยมิชอบ ศาลจึงมีอำนาจพิพากษาให้ถอนอำนาจปกครองบิดาผู้เยาว์ และเมื่อผู้เยาว์ไม่มีผู้ใช้อำนาจปกครองเนื่องจากมารดาตายและบิดาถูกถอนอำนาจปกครอง ประกอบกับผู้เยาว์อยู่ในความอุปการะเลี้ยงดูของผู้ร้องตลอดมา ทั้งบิดาผู้เยาว์ยินยอมให้ผู้ร้องเป็นผู้ปกครอง ศาลจึงตั้งผู้ร้องเป็นผู้ปกครองผู้เยาว์ได้
ย่อยาว
ผู้ร้องยื่นคำร้องขอว่า ผู้ร้องเป็นน้องของนางจิรัฐธิกา นางสาวหทัยชนก อายุ ๑๘ ปี ผู้เยาว์เป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของนางจิรัฐธิกากับนายสุรศักดิ์ ต่อมานางจิรัฐธิกากับนายสุรศักดิ์ได้จดทะเบียนหย่าโดยให้บุตรอยู่ในอำนาจปกครองของมารดา หลังจากนั้นนางจิรัฐธิกาถึงแก่กรรมด้วยอุบัติเหตุ ทำให้ผู้เยาว์ไม่มีผู้ปกครอง ผู้ร้องเป็นน้าของผู้เยาว์ มีความประสงค์จะขอเป็นผู้ปกครองของผู้เยาว์ ขอให้ศาลมีคำสั่งตั้งผู้ร้องเป็นผู้ปกครองของนางสาวหทัยชนกผู้เยาว์
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้อง
ผู้ร้องอุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกาโดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้นตาม ป.วิ.พ. มาตรา ๒๒๓ ทวิ
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงได้ความว่าผู้ร้องเป็นน้าของผู้เยาว์ซึ่งเป็นบุตรของนางจิรัฐธิกากับนายสุรศักดิ์ ต่อมานางจิรัฐธิกาและนายสุรศักดิ์จดทะเบียนหย่าจากการเป็นสามีภริยาและมีข้อตกลงให้บุตรผู้เยาว์อยู่ในความปกครองของมารดา ตามบันทึกหลังทะเบียนการหย่า หลังจากนั้นนางจิรัฐธิกาถึงแก่กรรม ส่วนนายสุรศักดิ์ถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำจังหวัดอุตรดิตถ์ เกี่ยวกับเรื่องจำหน่ายยาเสพติดให้โทษ ในการจะตั้งผู้ปกครองผู้เยาว์นั้น ป.พ.พ. มาตรา ๑๕๘๕ วรรคหนึ่ง ให้ตั้งได้เฉพาะกรณีผู้เยาว์ไม่มีบิดามารดาหรือบิดามารดาถูกถอนอำนาจปกครองเสียแล้ว ข้อเท็จจริงได้ความว่ามารดาของผู้เยาว์ถึงแก่กรรม ส่วนบิดาของผู้เยาว์ยังมีชีวิตอยู่และมิได้ถูกถอนอำนาจปกครองแต่อย่างใด แม้บิดาและมารดาจะจดทะเบียนหย่าโดยตกลงให้มารดาเป็นผู้ปกครองผู้เยาว์แต่ฝ่ายเดียวก็เป็นเรื่องการตกลงตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๕๒๐ วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา ๑๕๖๖ วรรคสอง (๖) เท่านั้น มิใช่เป็นกรณีที่บิดาถูกถอนอำนาจปกครองเพราะการจะเพิกถอนอำนาจปกครองนั้นจะต้องมีเหตุตามมาตรา ๑๕๘๒ และเป็นอำนาจของศาล ดังนั้น เมื่อมารดาของผู้เยาว์ซึ่งเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองแต่ผู้เดียวตามที่ตกลงขณะจดทะเบียนหย่าถึงแก่กรรม อำนาจปกครองผู้เยาว์ก็กลับมาอยู่แก่บิดาฝ่ายเดียวตามมาตรา ๑๕๖๖ วรรคสอง (๑) เมื่อผู้เยาว์ยังมีบิดาซึ่งยังไม่ถูกถอนอำนาจปกครองจึงไม่อาจตั้งผู้ปกครองได้ ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิยื่นคำร้องขอให้ตั้งผู้ปกครอง แต่อย่างไรก็ตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๕๘๒ วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ถ้าผู้ใช้อำนาจปกครองเป็นคนไร้ความสามารถหรือเสมือนไร้ความสามารถโดยคำสั่งศาลก็ดี ใช้อำนาจปกครองเกี่ยวแก่ตัวผู้เยาว์โดยมิชอบก็ดี ประพฤติชั่วร้ายก็ดี ในกรณีเหล่านี้ศาลจะสั่งเอง หรือจะสั่งเมื่อญาติของผู้เยาว์หรืออัยการร้องขอให้ถอนอำนาจปกครองเสียบางส่วนหรือทั้งหมดก็ได้” แสดงให้เห็นว่าในการถอนอำนาจปกครองนั้น กฎหมายได้ให้อำนาจศาลถอนเสียได้โดยลำพังไม่ต้องให้ผู้ใดร้องขอก็ได้ หากมีเหตุตามบทบัญญัติกฎหมายดังกล่าว ดังนั้น แม้ในขณะผู้ร้องยื่นคำร้อง ผู้ร้องจะไม่มีอำนาจยื่นก็ตาม แต่เมื่อความปรากฏต่อศาลว่า พฤติการณ์ที่บิดาของผู้เยาว์ถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำเกี่ยวกับการจำหน่ายยาเสพติด และไม่ได้อุปการะเลี้ยงดูผู้เยาว์ โดยให้อยู่ในความดูแลของผู้ร้อง กรณีถือได้ว่า บิดาของผู้เยาว์ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรงและใช้อำนาจปกครองแก่ตัวผู้เยาว์โดยมิชอบ ศาลจึงมีอำนาจพิพากษาให้ถอนอำนาจปกครองบิดาผู้เยาว์ และเมื่อผู้เยาว์ไม่มีผู้ใช้อำนาจปกครองเนื่องจากมารดาถึงแก่ความตาย และบิดาถูกถอนอำนาจปกครองประกอบกับผู้เยาว์อยู่ในความอุปการะเลี้ยงดูของผู้ร้องตลอดมา ทั้งบิดาของผู้เยาว์ยินยอมให้ผู้ร้องเป็นผู้ปกครองของผู้เยาว์ การให้ตั้งผู้ร้องเป็นผู้ปกครองผู้เยาว์ย่อมเหมาะสมกว่า
พิพากษากลับ ให้ถอนอำนาจปกครองผู้เยาว์จากนายสุรศักดิ์ บิดา และตั้งผู้ร้องเป็นผู้ปกครองของผู้เยาว์ ตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๕๘๕ วรรคหนึ่ง ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นและชั้นฎีกาให้เป็นพับ.