แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดิน พร้อมตึกแถวสามชั้นครึ่งหนึ่งคูหากับจำเลยในราคา 3,200,000 บาท โจทก์ชำระเงินดาวน์ในวันทำสัญญา 300,000 บาท ส่วนที่เหลือจะชำระเมื่อจำเลยปลูกสร้างตึกแถวแล้วเสร็จ แต่มิได้กำหนดเวลาชำระหนี้ไว้ เมื่อจำเลยปลูกสร้างตึกแถวแล้วเสร็จพร้อมที่จะโอนให้แก่โจทก์ โจทก์ย่อมมีหน้าที่รับโอนตึกแถวพร้อมที่ดินดังกล่าวและชำระราคาส่วนที่เหลือแก่จำเลย แต่โจทก์ไม่ประสงค์จะชำระราคาที่เหลือให้แก่จำเลย แม้ทั้งโจทก์และจำเลยต่างมิได้ถือเอาเงื่อนไขในการชำระหนี้เป็นสาระสำคัญ เนื่องจากจำเลยกำลังบอกขายตึกแถวพร้อมที่ดินให้แก่ผู้อื่นเพื่อประโยชน์ของโจทก์ก็ตาม แต่ย่อมเป็นที่เห็นได้ว่าไม่เป็นการแน่นอนว่าจำเลยจะสามารถจัดการขายตึกแถวพร้อมที่ดินให้เป็นผลสำเร็จได้ โจทก์ย่อมมีเวลาเพียงพอในการเตรียมเงินให้พร้อมเพื่อชำระให้แก่จำเลย แต่การที่จำเลยมีหนังสือแจ้งให้โจทก์ชำระเงินที่ค้างชำระแก่จำเลยภายใน 15 วัน นับแต่วันที่โจทก์ได้รับหนังสืออันเป็นเวลาหลังจากที่จำเลยปลูกสร้างตึกแถวแล้วเสร็จและพร้อมที่จะโอนให้แก่โจทก์เกือบ 1 ปี อันเป็นการบอกกล่าวให้โจทก์ชำระหนี้ภายในเวลาอันสมควรแล้ว หนังสือดังกล่าวมีข้อความระบุชัดว่า หากล่วงพ้นกำหนดเวลา 15 วันแล้ว โจทก์ไม่ชำระราคาส่วนที่เหลือ จำเลยขอถือเอาหนังสือฉบับนั้นเป็นการแสดงเจตนาเลิกสัญญา เมื่อโจทก์ไม่ชำระเงินภายในเวลาที่จำเลยกำหนด สัญญาจะซื้อจะขายตึกแถวพร้อมที่ดินระหว่างโจทก์กับจำเลยย่อมเป็นอันเลิกกันเมื่อล่วงพ้น 15 วัน นับแต่วันที่โจทก์ได้รับหนังสือทวงถาม อันเป็นผลจากการที่จำเลยแสดงเจตนาบอกเลิกสัญญาไปยังโจทก์ หาใช่เป็นเรื่องที่โจทก์กับจำเลยสมัครใจตกลงเลิกสัญญาต่อกันไม่ โจทก์กับจำเลยซึ่งเป็นคู่สัญญาแต่ละฝ่ายจำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งได้กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิม
เงินดาวน์ที่โจทก์ชำระให้แก่จำเลยในวันทำสัญญาไม่ปรากฏว่าเป็นการให้ไว้แก่จำเลยเพื่อเป็นประกันการที่จะปฏิบัติตามสัญญา จึงต้องถือเป็นส่วนหนึ่งของราคาที่โจทก์ชำระให้แก่จำเลยล่วงหน้า มิใช่เงินมัดจำที่จำเลยจะริบได้
โจทก์ตกเป็นผู้ผิดนัดตาม ป.พ.พ. มาตรา 204 วรรคสอง ซึ่งผลแห่งการนี้จำเลยมีสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทนจากโจทก์เพื่อความเสียหายอันเกิดแต่การที่โจทก์ผิดนัดได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 215 การที่โจทก์ไม่ชำระเงิน ให้แก่จำเลยเป็นเหตุให้จำเลยต้องเสียดอกเบี้ยให้แก่ธนาคารสำหรับจำนวนเงินดังกล่าว ค่าเสียหายดังกล่าวเป็นค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายอันเกิดแก่พฤติการณ์พิเศษตามมาตรา 222 วรรคสอง เมื่อไม่ได้ความว่าจำเลยแจ้งให้โจทก์ทราบถึงความเสียหายที่จำเลยจะได้รับจากการที่โจทก์ผิดนัดไม่ชำระหนี้นั้น จึงฟังไม่ได้ว่าโจทก์ได้คาดเห็นหรือควรจะได้คาดเห็นถึงความเสียหายเช่นนั้นล่วงหน้าก่อนแล้ว แต่การที่โจทก์ผิดนัดไม่ชำระหนี้แก่จำเลยย่อมทำให้จำเลยได้รับความเสียหาย แม้จำเลยจะนำสืบถึงค่าเสียหายไม่ได้ ศาลก็มีอำนาจคิดคำนวณให้ได้ตามพฤติการณ์แห่งคดีประกอบกับความสุจริตในการดำเนินคดี
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยคืนเงินที่รับไว้ตามสัญญาจะซื้อจะขายจำนวน 1,313,600 บาท แก่โจทก์ พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 1,200,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 1,200,000 บาท แก่โจทก์ พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงิน 300,000 บาท นับแต่วันที่ 19 เมษายน 2539 จากต้นเงิน 200,000 บาท นับแต่วันที่ 14 มิถุนายน 2539 จากต้นเงิน 300,000 บาท นับแต่วันที่ 30 มิถุนายน 2539 และจากต้นเงิน 400,000 บาท นับแต่วันที่ 3 ตุลาคม 2539 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ แต่ดอกเบี้ยถึงวันที่ 15 ตุลาคม 2540 รวมกันแล้วต้องไม่เกิน 113,600 บาท ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความให้ 6,000 บาท
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ให้จำเลยใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ 4,000 บาท แทนโจทก์
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้เถียงกันรับฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 19 เมษายน 2539 โจทก์ได้ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินโฉนดเลขที่ 35823 พร้อมตึกแถวสามชั้นครึ่งหนึ่งคูหากับจำเลยในราคา 3,200,000 บาท โจทก์ชำระเงินดาวน์ในวันทำสัญญา 300,000 บาท ส่วนที่เหลือจะชำระเมื่อจำเลยปลูกสร้างตึกแถวเสร็จแล้วแต่มิได้กำหนดเวลาชำระหนี้ไว้หลังจากนั้นจำเลยได้ลงมือปลูกสร้างตึกแถวดังกล่าว ในระหว่างนั้นโจทก์ได้ชำระราคาตึกแถวพร้อมที่ดินแก่จำเลยอีก 3 ครั้ง คือ เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2539 ชำระ 200,000 บาท วันที่ 30 มิถุนายน 2539 ชำระ 300,000 บาท และวันที่ 3 ตุลาคม 2539 อันเป็นช่วงเวลาที่ตึกแถวแล้วเสร็จชำระอีก 400,000 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 1,200,000 บาท หลังจากนั้นโจทก์ไม่ชำระราคาอีกเลย ต่อมาวันที่ 5 สิงหาคม 2540 อันเป็นเวลาหลังจากที่จำเลยปลูกสร้างตึกแถวแล้วเสร็จประมาณ 10 เดือน จำเลยมีหนังสือทวงถามให้โจทก์ชำระเงินส่วนที่เหลืออีก 2,000,000 บาท แก่จำเลยภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือมิฉะนั้นจะถือว่าโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาซึ่งจำเลยขอถือเอาหนังสือฉบับดังกล่าวเป็นการบอกเลิกสัญญาและริบเงินที่โจทก์ชำระแล้วเสียทั้งสิ้น โจทก์ได้รับหนังสือฉบับนั้นแล้วเพิกเฉยไม่ชำระเงินแก่จำเลย แต่กลับมอบให้ทนายความมีหนังสือลงวันที่ 25 สิงหาคม 2540 แจ้งแก่จำเลยว่า โจทก์ประสงค์จะเลิกสัญญากับจำเลยและขอให้จำเลยคืนเงิน 1,200,000 บาท แก่โจทก์
คดีมีประเด็นข้อพิพาทมาสู่การวินิจฉัยของศาลฎีกาตามฎีกาของจำเลยเพียงข้อเดียวว่า จำเลยมีหน้าที่ต้องคืนเงินจำนวนดังกล่าวพร้อมด้วยดอกเบี้ยแก่โจทก์หรือไม่ เห็นว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 387 บัญญัติว่า “ถ้าคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งไม่ชำระหนี้อีกฝ่ายหนึ่งจะกำหนดระยะเวลาพอสมควร แล้วบอกกล่าวให้ฝ่ายนั้นชำระหนี้ภายในระยะเวลานั้นก็ได้ ถ้าและฝ่ายนั้นไม่ชำระหนี้ภายในระยะเวลาที่กำหนดให้ไซร้ อีกฝ่ายหนึ่งจะบอกเลิกสัญญาเสียก็ได้” และมาตรา 391 บัญญัติว่า “เมื่อคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งได้ใช้สิทธิเลิกสัญญาแล้วคู่สัญญาแต่ละฝ่ายจำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งได้กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิม แต่ทั้งนี้จะให้เป็นที่เสื่อมเสียแก่สิทธิของบุคคลภายนอกหาได้ไม่
” และความใน วรรคสุดท้ายว่า “การใช้สิทธิเลิกสัญญานั้นหากระทบกระทั่งถึงสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายไม่” เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติตามคำเบิกความของโจทก์และจำเลยตรงกันว่า จำเลยปลูกสร้างตึกแถวแล้วเสร็จพร้อมที่จะโอนให้แก่โจทก์ ตั้งแต่ต้นเดือนตุลาคม 2539 โจทก์ย่อมมีหน้าที่รับโอนตึกแถวพร้อมที่ดินดังกล่าวและชำระราคาส่วนที่เหลืออีก 2,000,000 บาท แก่จำเลย แต่โจทก์หาได้ชำระเงินจำนวนนั้นไม่ และโจทก์ไม่ประสงค์จะชำระราคาที่เหลือให้แก่จำเลยมาตั้งแต่แรกที่จำเลยปลูกสร้างตึกแถวแล้วเสร็จ หาใช่โจทก์ประสงค์จะปฏิบัติการชำระหนี้ตามสัญญาแต่ไม่สามารถดำเนินการได้ทันเพราะจำเลยไม่ให้เวลาตามสมควร เมื่อพิเคราะห์ว่า โจทก์เป็นฝ่ายเพิกเฉยไม่ชำระราคาส่วนที่เหลือให้แก่จำเลยนับตั้งแต่ต้นเดือนตุลาคม 2539 เป็นต้นมา แม้จะได้ความว่าในช่วงเวลานั้นทั้งโจทก์และจำเลยต่างมิได้ถือเอา เงื่อนไขในการชำระหนี้เป็นสาระสำคัญ เนื่องจากจำเลยกำลังบอกขายตึกแถวพร้อมที่ดินให้แก่ผู้อื่นเพื่อประโยชน์ของโจทก์ตามที่โจทก์ขอร้องก็ตาม แต่ย่อมเป็นที่เห็นได้ว่าไม่เป็นการแน่นอนว่าจำเลยจะสามารถจัดการขายตึกแถวพร้อมที่ดินให้เป็นผลสำเร็จได้ โจทก์ย่อมมีเวลาเพียงพอในการเตรียมเงินให้พร้อมเพื่อชำระให้แก่จำเลย การที่จำเลยมีหนังสือแจ้งให้โจทก์ชำระเงินที่ค้างชำระอยู่อีก 2,000,000 บาท แก่จำเลยภายใน 15 วัน นับแต่วันที่โจทก์ได้รับหนังสือ อันเป็นเวลาหลังจากวันที่จำเลยปลูกสร้างตึกแถวแล้วเสร็จและพร้อมที่จะโอนให้แก่โจทก์เกือบ 1 ปี จึงเป็นการบอกกล่าวให้โจทก์ชำระหนี้ภายในเวลาอันสมควรแล้ว เมื่อหนังสือดังกล่าวมีข้อความระบุชัดว่า หากล่วงพ้นกำหนดเวลา 15 วันแล้ว โจทก์ไม่ชำระราคาส่วนที่เหลือจำเลยขอถือเอาหนังสือฉบับนั้นเป็นการแสดงเจตนาเลิกสัญญา ดังนั้น เมื่อโจทก์ ไม่ชำระเงิน 2,000,000 บาท ภายในเวลาที่จำเลยกำหนดสัญญาจะซื้อจะขายตึกแถวพร้อมที่ดินระหว่างโจทก์กับจำเลยย่อมเป็นอันเลิกกันเมื่อล่วงพ้น 15 วัน นับแต่วันที่โจทก์ได้รับหนังสือทวงถามนั้น อันเป็นผลจากการที่จำเลยแสดงเจตนาบอกเลิกสัญญาไปยังโจทก์หาใช่เป็นเรื่องที่โจทก์กับจำเลยสมัครใจตกลงเลิกสัญญาต่อกันในภายหลังดังที่ ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยไม่ โจทก์กับจำเลยซึ่งเป็นคู่สัญญาแต่ละฝ่ายจำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งได้กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิม กล่าวคือ จำเลยมีหน้าที่คืนเงิน 1,200,000 บาท ที่รับไว้พร้อมดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391 วรรคหนึ่งและวรรคสอง แม้โจทก์จะได้ชำระเงินดาวน์จำนวน 300,000 บาท อันเป็นส่วนหนึ่งของเงินจำนวน 1,200,000 บาท ดังกล่าวให้แก่จำเลยในวันทำสัญญาก็ตาม แต่ข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าเป็นการให้ไว้แก่จำเลยเพื่อเป็นประกันการที่จะปฏิบัติตามสัญญา จึงต้องถือเป็นส่วนหนึ่งของราคาที่โจทก์ชำระให้แก่จำเลยล่วงหน้า มิใช่เงินมัดจำที่จำเลยจะริบได้ ทั้งไม่มีข้อสัญญาให้จำเลยมีสิทธิริบเงินที่โจทก์ชำระแล้วได้ เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าที่จำเลยมีหนังสือทวงถามให้โจทก์ชำระเงินส่วนที่เหลือภายใน 15 วัน นับแต่วันที่โจทก์ได้รับหนังสือ แล้วโจทก์เพิกเฉยไม่ชำระหนี้ภายในกำหนดเวลานั้น โจทก์ย่อมตกเป็นผู้ผิดนัดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 204 วรรคสอง ซึ่งบัญญัติว่า “
ถ้าได้กำหนดเวลาชำระหนี้ได้ตามวันแห่งปฏิทินและลูกหนี้มิได้ชำระหนี้ตามกำหนดไซร้ ท่านว่าลูกหนี้ตกเป็นผู้ผิดนัดโดยมิพักต้องเตือนเลย วิธีเดียวกันนี้ท่านให้ใช้บังคับแก่กรณีที่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าก่อนการชำระหนี้ ซึ่งได้กำหนดเวลาลงไว้อาจคำนวณนับได้โดยปฏิทินนับแต่วันที่ได้บอกกล่าว” โดยผลแห่งการนี้จำเลยมีสิทธิเรียกเอาสินไหมทดแทนจากโจทก์เพื่อความเสียหายอันเกิดแต่การที่โจทก์ผิดนัดได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 215 เมื่อการที่โจทก์ไม่ชำระเงิน 2,000,000 บาท ให้แก่จำเลยเป็นเหตุให้จำเลยต้องเสียดอกเบี้ยให้แก่ธนาคารสำหรับจำนวนเงินดังกล่าวในอัตราร้อยละ 17.5 ต่อปี หรือเท่ากับปีละ 350,000 บาท แต่ค่าเสียหายดังกล่าวมิใช่ ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายเช่นที่ตามปกติย่อมเกิดขึ้นแต่การไม่ชำระหนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 222 วรรคหนึ่ง ถือว่าเป็นค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายอันเกิดแต่พฤติการณ์พิเศษ ตามมาตรา 222 วรรคสอง เมื่อไม่ได้ความว่าจำเลยแจ้งให้โจทก์ทราบถึงความเสียหายที่จำเลยจะได้รับจากการที่โจทก์ผิดนัดไม่ชำระหนี้นั้น จึงฟังไม่ได้ว่าโจทก์ได้คาดเห็นหรือควรจะได้คาดเห็นถึงความเสียหายเช่นนั้นล่วงหน้าก่อนแล้ว จำเลยจะเรียกร้องให้โจทก์รับผิดชำระดอกเบี้ยร้อยละ 17.5 ต่อปี ในหนี้เงิน 2,000,000 บาทไม่ได้อย่างไรก็ดี การที่โจทก์ผิดนัดไม่ชำระหนี้แก่จำเลยย่อมทำให้จำเลยได้รับความเสียหาย ดังนั้นแม้จำเลยจะนำสืบถึงค่าเสียหายไม่ได้ ศาลก็มีอำนาจคิดคำนวณให้ได้ตามพฤติการณ์แห่งคดีโดยเปรียบเทียบกับอัตราดอกเบี้ยของหนี้เงินในระหว่างที่ลูกหนี้ผิดนัด ตามมาตรา 224 วรรคหนึ่ง ประกอบกับความสุจริตในการดำเนินคดี และเห็นสมควรให้จำเลยคืนเงินแก่โจทก์บางส่วนเป็นเงิน 900,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ฎีกาของจำเลยฟังขึ้นบางส่วน
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงิน 900,000 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่ วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ