คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 278/2545

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 52(2) ในการลดโทษประหารชีวิตถ้าจะลดกึ่งหนึ่งให้ลดเป็นโทษจำคุกตลอดชีวิตหรือโทษจำคุกตั้งแต่ 25 ปีถึง 50 ปี ซึ่งศาลจะลดโทษให้เพียงใดเป็นดุลพินิจของศาล ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับพฤติการณ์แห่งการกระทำความผิดว่าร้ายแรงหรือไม่เพียงใด เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าจำเลยที่ 1เป็นภริยาผู้ตายสมคบกับจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ฆ่าผู้ตายแล้วยังใช้น้ำมันราดและจุดไฟเผาศพผู้ตายเพื่อปิดบังซ่อนเร้นการตาย พฤติการณ์แห่งคดีจึงเป็นการกระทำความผิดร้ายแรงและไม่เกรงกลัวต่อกฎหมายบ้านเมือง ที่ศาลล่างทั้งสองใช้ดุลพินิจลดโทษให้จำเลยที่ 1 กึ่งหนึ่งจากโทษประหารชีวิตเป็นโทษจำคุกตลอดชีวิตนั้น เหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งคดีแล้ว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 3 มีอาวุธปืนลูกซองสั้นขนาด 12 ไม่มีเครื่องหมายทะเบียนจำนวน 1 กระบอก และกระสุนปืนขนาดเดียวกันจำนวนหลายนัดไว้ในครอบครอง และพาอาวุธปืนดังกล่าวติดตัวไปตามถนนในหมู่บ้าน อันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย แล้วจำเลยทั้งสี่ร่วมกันใช้อาวุธปืนกับมีมีดปลายแหลม 1 เล่มเป็นอาวุธยิงฟันและแทงประทุษร้ายร่างกายนายวิเชียร นรสิงห์ ผู้ตายโดยเจตนาฆ่าและโดยไตร่ตรองไว้ก่อน เป็นเหตุให้นายวิเชียรถึงแก่ความตาย หลังจากนั้นจำเลยทั้งสี่ร่วมกันช่วยซ่อนเร้น ย้าย และทำลายศพผู้ตายโดยใช้น้ำมันราดและจุดไฟเผาศพเพื่อปิดบังการตายและเหตุแห่งการตายของผู้ตาย เหตุเกิดที่ตำบลสุขเดือนห้า กิ่งอำเภอเนินขาม จังหวัดชัยนาท หลังเกิดเหตุเจ้าพนักงานยึดได้หน้าแว่นกระสุนปืนลูกซองเบอร์ 12 จำนวน 2 ชิ้น หมอนรองกระสุนปืนลูกซอง 1 ชิ้น มีดปลายแหลมด้ามไม้รวมด้ามยาว14 นิ้ว 1 เล่ม จากที่เกิดเหตุและยึดรถยนต์กระบะหมายเลขทะเบียน บง 142 ชัยนาท 1 คัน ซึ่งเป็นทรัพย์ที่ใช้ในการกระทำความผิดดังกล่าวข้างต้นเป็นของกลาง ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33, 83, 91, 199, 289,371 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิดดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 7, 8 ทวิ,72, 72 ทวิ และริบของกลาง

จำเลยทั้งสี่ให้การรับสารภาพ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสี่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 199, 289 (ที่ถูกมาตรา 289(4))ประกอบมาตรา 83 ข้อหาฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนให้ลงโทษประหารชีวิตจำเลยทั้งสี่ ข้อหาทำลายศพจำคุกคนละ 1 ปีและจำเลยที่ 3 มีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืนพ.ศ. 2490 มาตรา 7, 8 ทวิ วรรคหนึ่ง, 72 วรรคหนึ่ง,72 ทวิ วรรคสอง ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 371 ข้อหามีอาวุธปืน จำคุก 1 ปี ข้อหาพาอาวุธปืนเป็นความผิดกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบทลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 90 จำคุก 6 เดือน จำเลยทั้งสี่ให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษลดให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ประกอบมาตรา 52 (ที่ถูกมาตรา 52(2)) ข้อหาฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนให้จำคุกจำเลยทั้งสี่ตลอดชีวิต ข้อหาทำลายศพจำคุกคนละ 6 เดือน และลงโทษจำเลยที่ 3 ข้อหามีอาวุธปืนจำคุก 6 เดือน ข้อหาพาอาวุธปืนจำคุก 3 เดือน แต่เนื่องจากลงโทษจำเลยทั้งสี่ข้อหาฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนจำคุกตลอดชีวิตแล้วจึงไม่อาจนำโทษในข้อหาอื่นมารวมได้คงลงโทษจำเลยทั้งสี่จำคุกตลอดชีวิต(ที่ถูกเมื่อรวมโทษทุกกระทงแล้วให้จำคุกจำเลยทั้งสี่ไว้ตลอดชีวิต)ของกลางอื่นนอกจากรถยนต์กระบะหมายเลขทะเบียน บง 142 ชัยนาท ให้ริบ

จำเลยที่ 1 และที่ 2 อุทธรณ์ ส่วนโจทก์ จำเลยที่ 3 และที่ 4ไม่อุทธรณ์ศาลชั้นต้นส่งสำนวนไปยังศาลอุทธรณ์ภาค 1 ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 245 วรรคสอง

ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน

จำเลยที่ 1 ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ว่า ที่ศาลล่างทั้งสองใช้ดุลพินิจลดโทษให้จำเลยที่ 1เหลือจำคุกตลอดชีวิต นั้น เหมาะสมหรือไม่ โดยจำเลยที่ 1 ฎีกาขอให้ลดโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 52(2) คือจำคุกตั้งแต่ 25 ปีถึง 50 ปี เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 52(2) ในการลดโทษประหารชีวิตถ้าจะลดกึ่งหนึ่ง ให้ลดเป็นโทษจำคุกตลอดชีวิตหรือโทษจำคุกตั้งแต่ 25 ปีถึง 50 ปีซึ่งศาลจะลดโทษให้เพียงใด เป็นดุลพินิจของศาลทั้งนี้ขึ้นอยู่กับพฤติการณ์แห่งการกระทำความผิดว่าร้ายแรงหรือไม่เพียงใดข้อเท็จจริงได้ความว่า จำเลยที่ 1 เป็นภริยาผู้ตายสมคบกับจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ฆ่าผู้ตาย เมื่อฆ่าผู้ตายแล้วยังใช้น้ำมันราดและจุดไฟเผาศพผู้ตายเพื่อปิดบังซ่อนเร้นการตายตามพฤติการณ์แห่งคดีนับเป็นการกระทำความผิดร้ายแรงและไม่เกรงกลัวต่อกฎหมายบ้านเมืองที่ศาลล่างทั้งสองใช้ดุลพินิจลดโทษให้จำเลยที่ 1 กึ่งหนึ่งจากโทษประหารชีวิตเป็นโทษจำคุกตลอดชีวิตนั้นเหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งคดีแล้วไม่มีเหตุที่ศาลฎีกาจะเปลี่ยนแปลงแก้ไข ฎีกาของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share