คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2410/2545

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้จำเลยจะอ้างว่าเมทแอมเฟตามีนของกลางไม่ใช่ของจำเลย แต่การที่จำเลยรับจ้างขับรถยนต์กระบะเพื่อส่ง คนร้ายโดยรู้อยู่แล้วว่ามีเมทแอมเฟตามีนอันเป็นยาเสพติดให้โทษนั้นอยู่ในความยึดถือหรือความปกครองดูแลของจำเลยด้วย ถือได้ว่าจำเลยมีเมทแอมเฟตามีนของกลางไว้ในครอบครอง เมื่อจำเลยกับคนร้ายได้กระทำร่วมกัน การกระทำของจำเลยจึงถือได้ว่าเป็นตัวการ มิใช่เป็นเพียงผู้สนับสนุนแต่อย่างใด

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 4, 7, 15, 66, 67, 102 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33, 83, 91, 138 ริบเมทแอมเฟตามีน เฮโรอีน และรถยนต์ของกลาง บวกโทษจำคุกของจำเลยที่รอการลงโทษไว้ในคดีก่อน เข้ากับโทษจำคุกของจำเลยในคดีนี้
จำเลยให้การปฏิเสธ แต่รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้บวกโทษ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง, 67 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 138 วรรคหนึ่ง การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้เรียงกระทงลงโทษ
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนการมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง, 67 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86 กระทงหนึ่งและมีความผิดฐานมีเฮโรอีนไว้ในครอบครองตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง, 67 อีกกระทงหนึ่ง (แต่โจทก์ไม่ได้อุทธรณ์)… ให้ยกฟ้องในความผิดฐานต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติการตามหน้าที่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 138
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาพิจารณาแล้ว คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยเป็นตัวการร่วมกระทำความผิดฐาน มีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตหรือไม่ เห็นว่า การกระทำความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตนั้นเป็นความผิดที่เกิดขึ้นและมีอยู่ต่อเนื่องกันไปตลอดเวลานับตั้งแต่เมื่อบุคคล ผู้นั้นได้ยึดเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตจนกระทั่งขนเคลื่อนย้ายไป เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าคนร้ายซึ่งมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองได้มาว่าจ้างจำเลยให้ขับรถยนต์กระบะไปส่งยังจุดหมายปลายทาง โดยจำเลยรู้จักกับคนร้ายเป็นอย่างดี และจำเลยรู้อยู่แล้วว่าเมทแอมเฟตามีนจำนวน 1,000 เม็ด ของกลาง คนร้ายจะนำไปจำหน่ายที่สถานที่ก่อสร้างในอำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ ตามบันทึกคำให้การของผู้ต้องหา การที่เจ้าพนักงานตำรวจจับกุมจำเลยและยึดได้เมทแอมเฟตามีนจำนวน 1,000 เม็ด ของกลาง แม้จำเลยจะอ้างว่า เมทแอมเฟตามีนของกลางไม่ใช่ของจำเลย แต่การที่จำเลยรู้อยู่แล้วว่าเป็นเมทแอมเฟตามีนอันเป็นยาเสพติดให้โทษ เมื่อจำเลยรับจ้างขับรถยนต์กระบะเพื่อส่งคนร้ายโดยมียาเสพติดให้โทษนั้นอยู่ในความยึดถือหรือความปกครองดูแลของจำเลยด้วย ก็ถือว่าได้ว่าจำเลยมีเมทแอมเฟตามีนของกลางไว้ในครอบครอง เมื่อจำเลยกับคนร้ายกระทำร่วมกันเพื่อให้บรรลุตามความประสงค์ร่วมกันในการกระทำดังกล่าว โดยการกระทำแต่ละขั้นตอนเป็นสาระสำคัญก่อให้เกิดเป็นความผิดขึ้น การกระทำของจำเลยจึงถือได้ว่าเป็นตัวการ มิใช่เป็นเพียงผู้สนับสนุนการกระทำความผิดดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 วินิจฉัย ฎีกาข้อนี้ของโจทก์ฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง, 67 ประกอบด้วยประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 ให้จำคุก 10 ปี ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 6 ปี 8 เดือน บวกโทษจำคุก 1 ปี 6 เดือน ของจำเลยที่รอการลงโทษไว้ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 267/2540 ของศาลจังหวัดแม่ฮ่องสอนเข้ากับโทษจำคุกของจำเลยในคดีนี้ รวมจำคุก 7 ปี 14 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5.

Share